2 ก.พ. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
โอกาสของสินค้าไทยกับตลาด Private brand ในญี่ปุ่น
Private brand คืออะไร?
Private brand นั้นอาจมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น House brand หรือ Private label เป็นต้น แต่ล้วนหมายถึง แบรนด์ที่มีร้านค้าปลีก และผู้กระจายสินค้าร่วมกันจำหน่ายตรงให้กับผู้บริโภค ส่วนมากจะวางจำหน่ายในช่องทางของตนเอง อาทิเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองตามสาขาต่างๆ โดยมีจุดเด่นที่ราคาประหยัดกว่าแบรนด์ทั่วไปในท้องตลาด ด้วยคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน หรือทดแทนกันได้ เดิมจะเป็นกลุ่มสินค้า โภคภัณฑ์ต่างๆ แต่ปัจจุบันเริ่มขยายไปในหลากหลายกลุ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์ของสินค้า Private brand ในสมัยก่อนส่วนมากจะเป็น "สินค้าทางเลือกในราคา ย่อมเยาแทนสินค้า National brand หรือ สินค้าที่ผู้ผลิตรายใหญ่วางจำหน่ายทั่วประเทศ" ซึ่งเกิดจากแนวคิด โครงสร้างราคาสินค้า 3 ระดับ (ต่ำ / ทั่วไป / สูง) ที่เน้นเรื่องราคาเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันแนวคิดมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา
โดยมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมา เช่น คุณภาพสุขภาพของผู้บริโภค ความเกี่ยวข้องกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจจะมีการสร้างแบรนด์ออกมาหลายแบรนด์ ซึ่งมีจุดเด่นของแต่ละแบรนด์ที่ต่างกัน เพื่อให้สามารถจับกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งแบรนด์ที่เน้นราคาย่อมเยา แบรนด์ที่อาจจะมีราคาสูงแต่เน้นคุณภาพ แบรนด์สินค้าที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่าดีต่อสุขภาพผู้บริโภค เป็นต้น
ความเป็นมา และแนวโน้มตลาดสินค้า Private brand ในญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่นเอง แนวคิดของสินค้า Private brand ก็เป็นทิศทางของสินค้าทางเลือกราคาถูก สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลือกซื้อสินค้าเรื่อยมา แต่ในปี 2550 บริษัท Seven & iHoldings Co., Ltd. ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น หรือ 7-Eleven ญี่ปุ่น ได้วางจำหน่ายสินค้า Private brand ของตนออกมาภายใต้แบรนด์ “Seven Premium” ถือเป็นจุดเริ่มต้น การสร้างมาตรฐานใหม่ของแนวคิด Private brand ในญี่ปุ่นที่เป็นสินค้า Private brand แต่ก็เป็นสินค้าพรีเมียม หรือสินค้าที่เน้นคุณภาพมากกว่าการเน้นว่าต้องเป็นสินค้าราคาถูกนั่นเอง
สินค้า Private brand “Seven Premium” ของ Seven & i Holdings Co., Ltd. ญี่ปุ่น (ที่มา: https://www.7andi.com/company/challenge/12597/2.html)
ซึ่งต่อมา ในปี 2551 ได้เกิด Lehman Shock หรือ Hamburger Crisis ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย อันเกิดจากการล่มสลายของวาณิชธนกิจเก่าแก่ อย่างบริษัท Lehman Brothers ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และทำให้บทบาทของสินค้า Private brand ในฐานะสินค้าทางเลือกเด่นมากขึ้นในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของสินค้า Private brand ในช่วงนั้น ก็เริ่มไปในทิศทางของการให้ความสำคัญเรื่องราคา โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ราคาต่ำ / ราคาปานกลาง (มาตรฐาน) / ราคาสูง (พรีเมียม)
ทั้งนี้ บริษัทรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงในเรื่องสินค้า Private brand ในตอนนั้น ได้แก่ 7-Eleven ญี่ปุ่น (แบรนด์ Seven Premium) และซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ AEON (แบรนด์ TOPVALU) ก็ได้พยายามนำเสนอสินค้า Private brand ที่อยู่ในช่วงราคาสูงกว่าราคามาตรฐาน หรือเรียกว่าสินค้าระดับพรีเมียมออกมาจำนวนมาก โดยเฉพาะในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร และต่อมาแนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างราคา 3 ระดับนี้ก็เป็นเรื่องทั่วไปที่ผู้บริโภคญี่ปุ่นคุ้นชินในที่สุด
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับสินค้า Private brand ของผู้บริโภคในญี่ปุ่นนั้น คือ เหตุการณ์ แผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิใน โทโฮกุ ปี 2554 ที่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นได้รับความเสียหายอย่างมาก ในช่วงนั้นผู้คนเข้าร้านสะดวกซื้อ และซื้อสินค้า Private brand แทนที่จะซื้อสินค้า National brand กันราวกับเป็นเรื่องธรรมดา กล่าวคือ ผู้บริโภคยอมรับในแบรนด์ของแต่ละร้านสะดวกซื้อที่ทำออกมาวางจำหน่าย ทั้งความหลากหลายของประเภทสินค้า และจุดแข็งในเรื่องราคาที่น่าดึงดูดใจ จึงทำให้ร้านสะดวกซื้อสามารถแข่งขันกับสินค้า Private brand ของแต่ละซูเปอร์มาร์เก็ตได้มากขึ้น
ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นเองไม่เน้นแต่จะผลิตสินค้าราคาถูกออกมาเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าพรีเมียมด้วย แนวคิดการทำสินค้า Private brand ที่เป็นพรีเมียมจึงมีให้เห็นกันมากขึ้นเรื่อยมา นอกจากนั้น ร้านขายยา และของใช้ในชีวิตประจำวัน (Drugstore) และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ (Discount store) ก็ลงมามีส่วนร่วมในตลาด Private brand เช่นกัน แต่จะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าราคาถูก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องวางกลยุทธ์ดึงดูดผู้บริโภคในเชิงลึกให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเน้นที่ราคาเป็นหลักก็ตาม
เนื่องจากกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ไม่ได้เน้นการทำสินค้า Private brand ราคาถูกมากนัก แต่เน้นจุดแข็งของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และกลุ่มธุรกิจที่เน้นการทำสินค้า Private brand ราคาถูก เช่น ร้านขายยา และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ทำออกมาแข่งขันกัน ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตเองต้องพัฒนาสินค้าที่ไม่เพียงให้ความสำคัญแค่เรื่องราคาออกมาสู้ในตลาด
กล่าวคือ ซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่น จึงทำสินค้า Private brand จำพวกของสด เช่น เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้น ปลาที่ตนนำเข้ามาเอง ผักหั่นพร้อมทาน ตลอดจนผลไม้ที่ได้ความนิยมในญี่ปุ่น เช่น กล้วยซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตนำเข้าโดยตรงเพื่อมาวางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเองก็มีให้เห็นกันมากขึ้น และต่อมาปัจจัยที่ได้รับความสนใจในการพัฒนาสินค้า Private brand นอกเหนือจากเรื่องราคา ก็คือ “ไลฟ์สไตล์ ของผู้บริโภค”
หากพิจารณาถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ก็จะพบว่า แนวคิดการให้คุณค่าในแต่ละอย่างสำหรับแต่ละผู้บริโภคเองก็แตกต่างกัน กล่าวคือ สำหรับผู้บริโภครายหนึ่ง อาจจะมองเห็นคุณค่าตรงจุดนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะกลายเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณค่าสำหรับผู้บริโภคอีกรายก็เป็นไปได้ เนื่องจากผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ที่มีการใช้ชีวิตที่หลากหลาย และแตกต่างกันนั่นเอง เช่น “ออร์แกนิก (Organic)”
ผู้บริโภคบางรายให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าที่ถึงแม้จะมีราคาสูง แต่ขอให้เป็นออร์แกนิก นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องในสินค้ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ ปริมาณน้ำตาล /เกลือเป็น อย่างไร เป็นสินค้า Fair trade หรือไม่ สินค้าที่จำหน่ายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน จึงกล่าวได้ว่า เวลาผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าในปัจจุบัน ปัจจัยเรื่องราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดอีกต่อไป สรุปได้ว่าตลาดสินค้า Private brand ในญี่ปุ่น ราคา และไลฟ์สไตล์ จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดนั่นเอง
ทิศทางของสินค้า Private brand ในญี่ปุ่น
สินค้า Private brand นั้น เนื่องจากผู้ค้าปลีกผลิตสินค้าขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลที่เก็บได้จากช่อง ทางการขายของตน ทำให้สามารถวิเคราะห์ความต้องการความนิยมของลูกค้าที่ซื้อสินค้าในร้านของตนได้ และ เนื่องจากการมีช่องทางจำหน่ายของตนอยู่แล้ว เช่น 7-Eleven ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในญี่ปุ่นเองมี 21,227 สาขา ทั่วญี่ปุ่น (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) ในขณะที่ AEON มี 19,288 สาขาทั่วญี่ปุ่น (รวมร้านสาขาในเครือทั้งหมด) นับเป็นความแข็งแกร่งของช่องทางการขายสินค้าได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่สินค้า National brand ต้องลงทุนสูง ใช้เงินทุน และเวลาในการสร้างภาพลักษณ์ และรักษาตำแหน่งในตลาด ตลอดจนต้องทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงสำรวจความนิยม ความพึงพอใจของผู้บริโภคเอง และที่สำคัญต้องหาช่องทางจำหน่ายเองด้วย กล่าวคือ หากสินค้านั้นๆ ไม่มีศักยภาพพอก็อาจจะไม่สามารถเข้าไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อได้นั่นเอง
อีกจุดแข็งของสินค้า Private brand ในญี่ปุ่นนั้นก็คือ การที่ผู้ค้าปลีกส่วนมากร่วมผลิตกับผู้ผลิตรายใหญ่ใน ญี่ปุ่น ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพได้อีกขั้น สินค้า Private brand นั้นปัจจุบันจะมีการแสดงชื่อผู้จำหน่าย และ ผู้ผลิตอยู่ที่บรรจุภัณฑ์ ซึ่งต่างจากในช่วงแรกที่แนวโน้มของสินค้า Private brand ในญี่ปุ่น เป็นการแสดงเพียงว่าเป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ของตน แต่ไม่แสดงชื่อผู้ผลิต (ผู้ที่ผู้ค้าปลีกไปจ้างให้ผลิต)
ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มระแวงถึงความน่าเชื่อถือของสินค้า แต่จากการแสดงชื่อผู้ผลิต และผู้จำหน่ายร่วมกัน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกวางใจได้มากขึ้น เพราะรู้ถึงแหล่งที่มาของสินค้า ถึงแม้ว่าอาจจะมีการตัดสินใจเข้าร่วมการผลิต หรือรับจ้างผลิตสินค้า Private brand ให้กับผู้ค้าปลีกนั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายนักสำหรับบริษัทผู้ผลิต National brand ที่เป็นรายใหญ่ๆ เพราะแม้ปริมาณสินค้า Private brand อาจจะขายได้มากขึ้น แต่ก็อาจจะส่งผลให้ยอดขาย สินค้า National brand ของตนลดลง
อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนของแนวคิดนี้ก็เปลี่ยนไป เมื่อ SUNTORY ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศร่วมมือผลิตเบียร์ Private brand ให้ 7-Eleven ญี่ปุ่น ทำให้แนวคิดที่เดิมทีมีแต่ผู้ผลิตขนาดเล็ก และขนาดกลางเท่านั้นก็ยอมรับผลิตให้ผู้ค้าปลีกเปลี่ยนไป ทำให้ในปัจจุบัน สินค้า Private brand ที่ผู้ผลิต National brand รายใหญ่ในญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตนั้นกลายเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไป
สินค้าเบียร์ Private brand “Seven Premium” ซึ่งร่วมผลิตกับบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ SUNTORY (ที่มา: https://www.suntory.co.jp/beer/the-brew/)
โดยเฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของญี่ปุ่น เนื่องจากการขายสินค้า Private brand นี้ไม่ต้องผ่านผู้ค้าส่ง ทำให้สัดส่วนกำไรสูงกว่าสินค้า National brand ประมาณร้อยละ 5-10 อีกทั้งผู้ค้าปลีกยังสามารถระบุวัตถุดิบ แหล่งที่มา วิธีการผลิต ดีไซน์บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกด้วย
จึงทำให้ตลาดสินค้า Private brand ในญี่ปุ่นคึกคักมากขึ้นเรื่อยมา สำหรับผู้ผลิตนั้น ก็มีข้อดีเช่นกัน ตรงที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจตลาด หรือค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ และไม่ต้องหาช่องทางการจำหน่ายเอง ตลอดจนไม่ต้องรับความเสี่ยงกรณีสินค้าที่ผลิตขายไม่ได้ หรือต้องรับคืนสินค้ากรณีสินค้าขายไม่หมดอีกด้วย ในขณะที่ทางฝั่งผู้บริโภค ก็ไม่ได้ไม่มีข้อเสียอะไร แต่กลับเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคให้หลากหลายนั่นเอง
ตัวอย่างสินค้า Private brand ในญี่ปุ่น
แบรนด์ “Seven Premium” ของ Seven & i Holdings (7-Eleven ของญี่ปุ่น)
สำหรับ “Seven Premium” ซึ่งเป็น Private brand ของ Seven & i Holdings นั้น ในปัจจุบันก็มีการแบ่งออกเป็น 5 แบรนด์ย่อยได้แก่ “Seven Premium” ซึ่งเป็น Private brand เริ่มแรกที่ออกมาวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และออกสินค้ารายการใหม่ๆ เรื่อยมา
“Seven Premium Gold” ก็เป็น การยกระดับของสินค้า Private brand ขึ้นไปอีกขั้น ถือเป็นกลุ่มสินค้าพรีเมียมที่สุดที่วางจำหน่ายอยู่ อาทิเช่น สินค้ารสชาติเยี่ยมที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับเชฟชื่อดัง หรือผู้ผลิตรายใหญ่ ร้านค้าที่ได้รางวัลมิชิลิน เป็นต้น
“Seven Premium Fresh” สินค้าที่เป็นของสด เช่น ผักสด ผลไม้ เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ไข่ไก่ เป็นต้น
“Seven Cafe” กลุ่มสินค้าพวกกาแฟสด ขนมต่างๆ และ “Seven Premium Lifestyle” ซึ่งเป็นสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู เสื้อผ้า อาหารสัตว์ หน้ากากอนามัย และสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ
กล่าวได้ว่าครอบคลุมรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเกือบทั้งหมด และหากพิจารณาจากรายงานผลประกอบการในปีงบประมาณ 2563 จะเห็นว่า จำนวนรายการสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งในปี 2563 มีวางจำหน่ายถึง 4,150 รายการ และยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยมาเช่นกัน โดยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2563 สินค้า Private brand มียอดขายอยู่ที่ 1.45 ล้านล้านเยน (ประมาณ 4.23 แสนล้านบาท) และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวต่อไปในอนาคต
ตัวอย่างสินค้า Private brand ที่ผลิตในไทย และวางจำหน่ายในญี่ปุ่น
เนื่องจากในปัจจุบัน ข้อมูลผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายนั้น ระบุไว้อย่างชัดเจนที่บรรจุภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ก่อนตัดสินใจซื้อ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ Private brand ที่ผลิตในไทย และวางจำหน่ายในญี่ปุ่นนั้น มีหลากหลายตั้งแต่ของกินของใช้ อาหารทานเล่น อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง กาแฟ และอื่นๆ ซึ่งส่วนมากจะมีจุดแข็งของสินค้าที่โดดเด่นต่างๆ อาทิเช่น กาแฟดอยตุงที่ผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่ายให้กับร้านขายปลีกเฉพาะทาง Kaldi ที่เน้นขายจุดเด่นของรสชาติกาแฟดองตุงที่มีลักษณะพิเศษ
นอกจากนี้ ก็ยังมีการนำภาพลักษณ์ของสินค้าไทยมาเป็นปัจจัยในการเลือกที่จะตัดสินใจผลิตสินค้านั้นๆ ที่ไทยอีกด้วย เช่น ซอส “มวยไทย” ซึ่งเป็นซอสอเนกประสงค์ของ kaldi และเส้นเล็กกึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง แบรนด์ “TOPVALU” ชอง AEON ซึ่งทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ฉลาก บ่งชี้ความเป็นไทย
ทั้งนี้สำหรับสินค้าอื่นๆ ที่เป็นสินค้าที่ไทยมีกำลังการผลิต และส่งออกมาก หรือกล่าวได้ว่า มีศักยภาพในการผลิตอยู่แล้ว ทั้งมีคุณภาพ และต้นทุนไม่สูงมาก หากเทียบการผลิตในญี่ปุ่นเอง ก็เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ผลิตในไทย และวางจำหน่ายในช่องทางค้าปลีกต่างๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น สินค้าทูน่ากระป๋อง (แบบก้อน / แบบฉีก) / ขิงดองหั่นซอย (สินค้าแช่เย็น) / อาหารแมว แบบต่างๆ / ผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แช่แข็งแปรรูป เช่น กระเจี๊ยบเขียวหั่นแว่น ถั่วฝักยาว หั่นท่อน หรือ มะม่วงสุกหั่นชิ้นผสมแอปเปิลหั่นชิ้นแช่แข็ง เป็นต้น
โอกาสของสินค้าไทยในตลาด Private brand ญี่ปุ่น
เนื่องด้วยเทรนด์สินค้า Private brand ในญี่ปุ่นนั้นมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากผู้ค้าปลีกล้วนมีแนวคิดที่ จะเน้นการขายสินค้า Private brand ของตนมากขึ้น เนื่องด้วยสัดส่วนผลกำไรที่มากกว่าสินค้า National brand นั่นเอง ทั้งสินค้าที่มีอยู่เดิม และสินค้าที่วางแผนจะพัฒนาใหม่ออกมาวางจำหน่ายนั้น ล้วนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีสำหรับประเทศไทย
กล่าวคือ เนื่องด้วยไทยและญี่ปุ่น เป็นคู่ค้าที่ดีต่อกัน ประกอบกับมีผู้ผลิตญี่ปุ่นหลายรายที่ผลิตสินค้าต่างๆ ในไทย และส่งมาวางขายในญี่ปุ่นจำนวนมาก ตลอดจนบางบริษัทก็ยังมีการเปิดโรงงานในไทย เพื่อผลิตสินค้านำเข้ามาญี่ปุ่น หรือส่งออกไปประเทศต่างๆ เช่นกัน ทั้งนี้สินค้าที่ผลิตในไทย และจำหน่ายอยู่ในญี่ปุ่นภายใต้ National brand ของบริษัทญี่ปุ่น และไทยเองก็มีจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม สินค้า อุปโภคบริโภค อาหารแห้ง ผลไม้แห้ง ผลไม้แปรรูป ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ค้าปลีกก็มีแนวโน้มที่อยากจะผลิตสินค้า Private brand เหล่านั้นของตนออกมาวางจำหน่ายในช่องทางตนเองมากขึ้น ทำให้มีการติดต่อผู้ผลิตในไทยโดยตรง อาจผ่านการเจรจาทางธุรกิจที่กรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศจัดขึ้นเป็นระยะๆ หรือติดต่อขอความร่วมมือประสานงานกับบริษัทไทย นอกจากนั้นก็ยังมีการติดต่อผ่านบริษัทคู่ค้าของตน บริษัทที่รับผิดชอบในการนำเข้า และจัดจำหน่ายในช่องทางของตนอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากแนวโน้มสินค้า Private brand ไม่ได้เน้นที่ต้องเป็นสินค้าราคาถูกเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัย เรื่องไลฟ์สไตล์เป็นหลักด้วย ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ Organic ซึ่งเริ่ม ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือสินค้าเพื่อสุขภาพที่ไม่ได้เน้นสินค้าราคาถูก เป็นต้น ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่บริษัทญี่ปุ่นเองก็จับตามองเช่นกัน
เทรนด์สินค้า Private brand ของร้านค้าปลีกในญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ตลอดจนการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาเทรนด์ของสินค้าที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นให้ดี เพื่อพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจ กรณีบริษัทญี่ปุ่นหาผู้ผลิตในไทยเพื่อมาทำสินค้า Private brand ของตน
แต่ทั้งนี้ เงื่อนไขคุณภาพต่างๆ สำหรับตลาดญี่ปุ่นถือเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาทำความเข้าใจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อาทิเช่น หากเป็นสินค้า Organic การจะใช้คำว่า “Organic” ได้นั้น บริษัทผู้ผลิตจำเป็นต้องผ่านมาตรฐาน “JAS” ของญี่ปุ่น หรือเรื่องฉลากบรรจุภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่น ต้องมีภาษาญี่ปุ่น ตลอดจนคุณภาพสินค้าที่ต้องผ่านมาตรฐานที่กำหนด และเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางในการทำธุรกิจกับคู่ค้าญี่ปุ่น ควรเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมเจรจาทางการค้าออนไลน์ ออฟไลน์ที่กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานต่างเสริมการค้าในต่างประเทศจัดขึ้น รวมถึงการออกบูทในงานนิทรรศการแสดงสินค้าในญี่ปุ่นด้วย
โฆษณา