1 ก.พ. 2022 เวลา 10:21 • ประวัติศาสตร์
• NATO - Warsaw Pact สองขั้วสำคัญในยุคสงครามเย็น
1
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปี 1945 โลกก็ได้เข้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่เกือบจะในทันที ซึ่งความขัดแย้งนี้ที่ว่านี้ก็คือ สงครามเย็น (Cold War) อันเป็นความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐฯ กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต
1
ผลพวงจากเหตุการณ์ปิดล้อมเบอร์ลิน (Berlin Blockade) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1948 ถึง 1949 ส่งผลให้สหรัฐฯ พร้อมด้วยชาติพันธมิตรในยุโรปตะวันตกได้ประกาศก่อตั้งพันธมิตรทางการทหารที่เรียกว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) หรือชื่อย่อ นาโต (NATO) ในวันที่ 4 เมษายน 1949
NATO ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่กำลังขยายอิทธิพลอยู่ในยุโรปตะวันออก NATO มีชาติสมาชิกแรกเริ่มประกอบไปด้วย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส โปรตุเกส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และนอร์เวย์ โดยชาติสมาชิกเหล่านี้ ได้ทำข้อตกลงในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในกรณีที่ชาติสมาชิกถูกโจมตีด้วยอาวุธ
ต่อมา NATO ก็มีชาติสมาชิกเพิ่มเข้ามาได้แก่ กรีซและตุรกีในปี 1952 และเยอรมนีตะวันตกในปี 1955 ปรากฏว่าการเข้าร่วม NATO ของเยอรมนีตะวันตก ได้ส่งผลให้สหภาพโซเวียตตัดสินใจก่อตั้งพันธมิตรทางการทหารของตนเพื่อตอบโต้ฝ่าย NATO
1
ซึ่งกลุ่มพันธมิตรของสหภาพโซเวียตถูกเรียกว่า องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Pact) ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 1955 นำโดยสหภาพโซเวียตและชาติคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกอันได้แก่ โปแลนด์ ฮังการี เชคโกสโลวาเกีย บัลแกเรีย โรมาเนีย เยอรมนีตะวันออก และแอลเบเนีย (ภายหลังแอลเบเนียถอนตัวไปในปี 1962)
เมื่อถึงช่วงทศวรรษที่ 1980 สหภาพโซเวียตและชาติคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกเกิดความอ่อนแอ ส่งผลให้ Warsaw Pact อ่อนแอตามไปด้วย ตรงข้ามกับ NATO ที่เข้มแข็งมากขึ้นและได้สมาชิกเพิ่มเข้ามา นั่นก็คือสเปนในปี 1982
สุดท้ายในวันที่ 1 กรกฎาคม 1991 Warsaw Pact ก็ได้ถูกยุบทิ้งลง เช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตและชาติคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกที่ล่มสลายในเวลาไล่เลี่ยกัน
หลังการล่มสลายของ Warsaw Pact และสหภาพโซเวียต NATO ก็กลายเป็นพันธมิตรทางทหารที่มีอิทธิพลเพียงกลุ่มเดียวในยุโรป NATO มีสมาชิกเพิ่มเข้ามาไล่ตั้งแต่ สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ ฮังการีในปี 1999 บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนียในปี 2004 แอลเบเนีย โครเอเชียในปี 2009 มอนเตเนโกรในปี 2017 และมาชิโดเนียเหนือในปี 2020 ที่ผ่านมา
แผนที่แสดงถึงการเพิ่มสมาชิกของ NATO โดยประเทศสีเหลือง คือประเทศที่มีโอกาสเข้าร่วมกับ NATO ในอนาคต ได้แก่ยูเครน บอสเนียฯ และจอร์เจีย
ส่วนในอนาคตก็ยังมีประเทศอย่าง ยูเครน บอสเนียฯ และจอร์เจีย ที่มีโอกาสที่จะเข้าร่วมกับ NATO อย่างไรก็ตามในประเด็นของยูเครน ก็ได้ทำให้ NATO เกิดข้อขัดแย้งกับรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็เพราะว่า รัสเซียไม่ต้องการให้ยูเครนที่เปรียบเสมือนเป็นเขตอิทธิพลเดิมของตน ไปเป็นพวกกับทาง NATO ได้ เพราะจะเท่ากับว่า รัสเซียปล่อยให้มี 'ศัตรู' ในสวนหลังบ้านของตน
1
ประเด็นนี้เอง คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัสเซียส่งกองกำลังเข้ามาประชิดชายแดนยูเครน ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่า รัสเซียอาจจะบุกโจมตียูเครน จนนำไปสู่สงครามกับ NATO ได้ ซึ่งสถานการณ์นี้ ก็ต้องเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทหารรัสเซียเข้าประชิดชายแดนยูเครน อันเป็นผลจากการที่ยูเครนไปมีความสัมพันธ์กับ NATO
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา