2 ก.พ. 2022 เวลา 01:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
รายได้จากคริปโต/โทเคน
แต่ละประเภทเอามายื่นเสียภาษีอย่างไร ?
และคิดเป็นเงินได้ที่ได้รับในวันไหนบ้าง
1
สรุปจากคู่มือเสียภาษีคริปโตของกรมสรรพากร แยกเป็นแต่ละประเภทเงินได้ในการยื่นภาษีให้ดูครับ
รายได้จากคริปโต/โทเคน เอามายื่นเสียภาษีอย่างไร
อธิบายเพิ่มเติมตามนี้ครับ...
1. สามารถนำขาดทุนมาหักกำไรได้ (ดูเป็นรายปีภาษี)
2. วิธีคำนวณต้นทุนให้ใช้ FIFO หรือ ถัวเฉลี่ย (แยกเป็นรายเหรียญ)
3. การวัดมูลค่ายึดตามวันที่ "ได้รับ" หรือ "เกิดรายการ"
โดยกรณีนี้ใช้สำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคล
เมื่อเทรดผ่าน Exchange ที่อยู่ในการควบคุมของกลต.
อย่าลืมศึกษาเพิ่มเติมจากคู่มือฉบับเต็มด้วยนะครับ
กำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 หรือตามมาตรา 40(4)(ซ) หรือ (ฌ) แล้วแต่กรณี โดยความหมายของแต่ละมาตราเป็นดังนี้
มาตรา 40(4)(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล
มาตรา 40(4)(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
โดยจะเห็นว่าในกรณีที่เป็นกำไรที่เกิดขึ้น จะหมายความรวมถึง การจำหน่าย จ่าย โอน และ แลกเปลี่ยนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการขายเป็นเงินบาท แลกเป็นคริปโตหรือโทเคนสกุลอื่น โดยมีเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนไว้แบบนี้จะถือเป็นเงินได้ทั้งหมดครับ (แต่สามารถหักขาดทุนจากกำไรได้ หากเป็นการเทรดผ่าน Exchange ไทยที่กลต.กำกับดูแล)
โดยต้องคำนวณตามหลักการคิดต้นทุนด้วยวิธี FIFO หรือ ถัวเฉลี่ย ขึ้นอยู่กับแนวทางที่เลือกใช้ โดยแยกตามประเภทของเหรียญ และหากใช้วิธีไหนแล้วให้ใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี
สำหรับกรณีที่ไม่มีการขายใดๆ หรือขายแล้วเหลือเหรียญใดไว้ ต้นทุน ณ สิ้นปีเป็นต้นทุนที่ต้องยกไปสำหรับปีถัดไปด้วย
สวนกรณีที่ได้รับผลประโยชน์จากการถือครองโทเคน ไม่วาจะเป็นการ Staking Farming หรือใด ๆ ก็ตาม จะถือเป็นเงินได้ในวันที่ได้รับผลตอบแทนนั้น และเมื่อนำมาเสียภาษีแล้วจะใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อมีการขายได้
รายได้หรือผลประโยชน์
กรณีได้รับจากการทำงาน จะถือเป็นเงินได้จากการทำงาน โดยขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำว่าเป็นอย่างไร
หากเป็นตามสัญญาจ้างแรงงานหรือประโยชน์ส่วนเพิ่มจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 แต่ถ้าหากได้รับเป็นค่าจ้างจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2
ผู้มีเงินได้จะคิดเป็นเงินได้เมื่อวันที่ได้รับและนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี ซึ่งหลังจากนั้นสามารถใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณหากมีการขายหรือแลกเปลี่ยนในอนาคตได้เช่นกัน
รายได้จากการทำงาน
กรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการได้มาของเหรียญ เช่น การขุด การรับให้ หรือผลประโยชน์ที่ได้จากคริปโตจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 โดย
การขุด จะถือเป็นเงินได้เมื่อมีการขาย โดยให้ใช้ต้นทุนในการขุดทั้งหลายมาคิดเป็นต้นทุนได่ โดยยึดตามหลักกฎหมายคล้ายกับนิติบุคคล (เช่น สินทรัพย์คิดค่าเสื่อม) มาคำนวณเป็นต้นทุนต่อหน่วย เพื่อใช้ในการคำนวณเป็นต้นทุนเมื่อมีการขาย ซึ่งจะเลือกใช้วิธี FIFO หรือ ถัวเฉลี่ยก็ได้ และแยกคำนวณเป็นรายเหรียญ
การได้รับมา จะถือเป็นเงินได้ที่ได้เปล่า ซึ่งอาจจะมาจากการเข้าร่วมกิจกรรม หรือได้รับมาจากการส่งเสริมการขาย หรือได้เปล่าจากบุคคลอื่นก็ตาม ซึ่งจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 และไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจจะไม่ต้องเสียภาษี เช่น การได้รับจากญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ หรือบุคคลอื่น ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับภาษีการรับให้ โดยอยู่ที่วงเงินไม่เกิน 10 ล้าน / 20 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับผู้ให้
สุดท้ายผลประโยชน์ที่ได้จากการถือครองคริปโตไม่ว่าจะเป็นการ Staking Farming หรืออื่นๆ จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่งแตกต่างจากฝั่งของโทเคนถือเป็นประเภทที่ 4 แต่อย่างไรก็ตามหลักการจะคิดเหมือนกันครับ เพียงแค่ต่างแค่ประเภทเงินได้
รายได้อื่นๆ
#TAXBugnoms #ภาษี #คริปโต #คริปโตเคอร์เรนซี่ #Cryptocurrency #Bitcoin
โฆษณา