3 ก.พ. 2022 เวลา 03:30 • การตลาด
กรณีศึกษา Boost Juice ปั้นแบรนด์สมูททีอย่างไร ให้เติบโตเกือบ 600 สาขา
น้ำผลไม้ปั่น หรือ “สมูทที” เครื่องดื่มที่ใครหลายคนรู้สึกคุ้นเคย และดูธรรมดา
แต่ใครจะไปคิดว่า ในวันนี้จะมีคนที่สามารถสร้างแบรนด์น้ำผลไม้ปั่น
จนประสบความสำเร็จ และสามารถขยายสาขาไปได้หลายร้อยแห่ง
ทั้ง ๆ ที่ในหลายประเทศก็คงจะมีร้านน้ำผลไม้ปั่นอยู่แล้วนับไม่ถ้วน
ซึ่งร้านที่ว่านั้น ก็คือ Boost Juice ร้านสมูทที ที่มีคนตั้งตารอตั้งแต่รู้ว่าจะมาเปิดสาขาที่สยามพารากอน และถึงแม้ว่าจะเปิดมาได้สักพักแล้ว ก็ยังมีคนต่อคิวยาวอยู่เป็นระยะ
แล้วอะไรที่ทำให้ Boost Juice แตกต่างจากร้านน้ำผลไม้ปั่นทั่วไป ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี 1999 หรือเมื่อ 22 ปีที่แล้ว
มีผู้หญิงชาวออสเตรเลียที่ชื่อว่าคุณ Janine Allis ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา และหนึ่งสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้เธอตลอดทริปนั้นก็คือ ผู้คนดื่มสมูททีกันเป็นจำนวนมาก
ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เธอมองย้อนกลับมาที่ประเทศบ้านเกิดอย่างออสเตรเลียว่า ตลาดอาหารจานด่วน มักจะมีแต่อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทำให้ผู้คนที่ต้องการทานอาหารหรือเครื่องดื่มแบบเร่งรีบ ต้องจำใจทานอาหารเหล่านี้อย่างไม่มีทางเลือก
1
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงทำให้คุณ Janine Allis ตัดสินใจ เริ่มต้นปลุกปั้น Boost Juice ขึ้นในปี 2000
หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วตลาดอาหารจานด่วน มาเกี่ยวข้องกับ “สมูททีผลไม้” ได้อย่างไร ?
เรื่องนี้ก็เป็นเพราะว่าคุณ Janine Allis ต้องการวางจุดยืนให้แบรนด์ Boost Juice เป็นร้านที่สามารถเสิร์ฟเครื่องดื่มให้ลูกค้าได้ในเวลาอันสั้น เหมาะกับคนที่เร่งรีบ เนื่องจากด้วยความที่บางเมนูมีส่วนผสมจากผลไม้ ผัก และโยเกิร์ต จึงทำให้การดื่มสมูททีแก้วเดียวก็สามารถ “รองท้องระหว่างวัน” ได้
อย่างเช่น เมนู Brekkie สมูททีผลไม้ ที่ทาง Boost Juice คิดค้นมาให้เหมาะกับการทานเป็นอาหารเช้า ที่ดีต่อสุขภาพ แถมยังถือไปดื่มที่ไหนก็สะดวก
และถ้าหากลูกค้ามาสั่งเมนูนี้ก่อนเวลา 11 โมง ก็จะได้รับ Protein Ball หรือขนมที่อัดแน่นด้วยโปรตีน “ฟรี” โดยวิธีนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าเลือกมาใช้บริการในช่วงเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลาย ๆ เชนร้านอาหารจานด่วน มักจะมีการแข่งขันเรื่องชุดเมนูอาหารเช้า เพื่อแย่งลูกค้าให้เข้าร้านกันอย่างดุเดือด
สำหรับในปัจจุบัน Boost Juice ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนสามารถขยายสาขาไปแล้วกว่า 580 แห่ง ใน 13 ประเทศ โดยโมเดลธุรกิจของ Boost Juice จะเน้นเป็นแบบการขายแฟรนไชส์ ทำให้มีการขยายสาขาได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด
2
อย่างไรก็ตาม กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างในวันนี้ จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นของ Boost Juice นั้นก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมด เนื่องจากในช่วงเริ่มแรกที่ก่อตั้งธุรกิจ Boost Juice คุณ Janine Allis และสามี ไม่ได้มีเงินทุนมาก ต่อมาจึงต้องขายบ้าน เพื่อมาใช้เป็นทุนในการสร้างธุรกิจ
ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังต้องขายหุ้นกว่า 70% ในบริษัท “Retail Zoo” ซึ่งเป็นเจ้าของเชนร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ที่สองสามีภรรยาคู่นี้สร้างขึ้นมาเองกับมือ เพื่อแลกกับเงินจำนวน 2,314 ล้านบาท
ซึ่งแม้ว่าจะมีการเทขายหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท Retail Zoo ไปแล้ว ทั้งคู่ก็ยังคงมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ Boost Juice ก็ถูกนำมาอยู่ภายใต้เครือ Retail Zoo จนถึงปัจจุบัน
แต่อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ธุรกิจแนวบาร์สมูททีนั้นถือว่ายังค่อนข้างใหม่ สำหรับชาวออสเตรเลีย ในสมัยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว
แล้วสงสัยหรือไม่ว่า Boost Juice มีวิธีเอาชนะใจผู้บริโภคในออสเตรเลียอย่างไร ?
1. เครื่องดื่มผักผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ใส่สารกันบูด ไม่แต่งกลิ่น และไม่ใช้สีสังเคราะห์
แต่รสชาติต้องดี ดื่มง่าย เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม แม้คนที่ไม่ได้ทานอาหารเพื่อสุขภาพเป็นประจำก็ทานได้
2. พนักงานต้องมีใจบริการ และยินดีที่จะให้คำแนะนำอย่างเป็นมิตร เพราะด้วยความที่ร้านและสินค้าค่อนข้างใหม่ในตลาด ณ ขณะนั้น
จึงอาจทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าการสั่งเมนูเครื่องดื่มที่ร้าน Boost Juice เป็นเรื่องชวนสับสน และเป็นอุปสรรคในการมาใช้บริการ
ดังนั้นพนักงาน ซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด จึงควรมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำอย่างสุภาพและเป็นมิตร เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสบายใจขณะที่มาใช้บริการ และไม่รู้สึกเขินอายที่เลือกสั่งเมนูไม่เป็น
3. สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่การตกแต่งร้าน ไปจนถึงแพ็กเกจจิง จะมีการคุมธีมให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยแบรนด์จะเลือกใช้สีเขียวสดใส และโลโก Boost เด่นสะดุดตา เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำแบรนด์ของลูกค้า
นอกจากนี้ อีกหนึ่งการตลาดที่น่าสนใจของ Boost Juice คือการใช้แอปพลิเคชันเกม Free the Fruit และ Find the Fruit เพื่อให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้น โดยผู้เล่นจะได้รับรางวัลเป็นเครื่องดื่ม หรือบัตรกำนัลของ Boost Juice
โดยมีรายงานว่า Free the Fruit แอปพลิเคชันเกมแรกของบริษัทมียอดดาวน์โหลดไปกว่า 329,889 ครั้ง และมีคนไปแลกรางวัลที่ร้านถึง 225,970 รางวัล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของแคมเปญนี้ ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้หลายแสนครั้ง
ซึ่งแม้จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัท แต่ก็ทำให้ผู้คนมีโอกาสได้ทดลองสินค้า และอาจจะเปลี่ยนมาเป็น “ลูกค้า” ในอนาคต
 
สำหรับในปัจจุบัน Retail Zoo ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Boost Juice ได้เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น Bain Capital ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์การลงทุนใน Domino's Pizza, Dunkin' Brands และ Burger King แต่หน้าที่ในการบริหารก็ยังคงเป็นของคุณ Janine Allis ซึ่งเธอรับตำแหน่งเป็นประธานบริษัท
โดย Bain Capital มีแผนที่จะนำ Retail Zoo เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาด จึงทำให้ต้องเลื่อนการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกไปก่อน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
นอกจากคุณ Janine Allis จะเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจหญิงมากความสามารถแล้ว เธอยังเป็นนักลงทุนในรายการ Shark Tank ของประเทศออสเตรเลียอีกด้วย
โฆษณา