Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Varaya Yoga 🌳 วารยา โยคะ 🧘
•
ติดตาม
2 ก.พ. 2022 เวลา 11:47 • สุขภาพ
EP. 1 "การฟังเสียง.. ร่างกายตนเอง"
"ในความเงียบ. มีเสียงต่างๆ ทับซ้อนอยู่มากมาย"
หลังมื้ออาหารเที่ยง ขณะรอให้อาหารค่อยๆ ย่อย...เริ่มวางแผนว่าบ่ายนี้นี้จะฝึกโยคะ เมื่อท้องว่างพอ
เมื่อไหร่ อีกชั่วโมงล่ะมั๊ง ... ไม่แน่ ยังไงก็ต้องลองสังเกตดู
การเตรียมร่างกายก่อนฝึกโยคะของทุกสำนัก... ครูจะคอยบอกให้ผู้ฝึกระวังและดูว่าก่อนฝึกไม่ควรมีอาหารแน่นอยู่ในท้อง... ขณะฝึกครูจะคอยบอกเราให้ดูการจัดวางร่างกายขณะเข้าท่า ให้ดูลมหายใจเข้า และออก ให้ดูความตึงขณะอยู่ในท่า. ให้ดูความรู้สึกในร่างกายตลอดคลาส ไปจนถึง ขณะที่พักในท่าศพอาสนะ
ช่างมีอะไรให้ สังเกต ให้ดู มากมายหลายรายการ ตามคิวกำกับของครู
ทำไมครูต้องคอยบอกให้นักเรียน "ฟังเสียงร่างกายของตัวเอง" ล่ะ ?
การฟังเสียงร่างกายระหว่างการฝึกโยคะ ช่วยอะไรเราได้บ้างในการฝึกโยคะ
1. การฝึกโดยไม่ฟังร่างกายของตัวเอง อาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บ
ไม่ว่าเราจะเป็นคนแข็งแรง หรืออ่อนแอ ตัวแข็ง หรือยืดหยุ่น ในการฝึกโยคะผู้ฝึกทุกคนต้องสังเกตเฝ้าดูความรู้สึกภายในร่างกายของตนเองตลอดการฝึก
ความตึง ความปวดระหว่างการยืดและเหยียดในอาสนะ มักเป็นความรู้สึกแรกๆ ที่ใช้สังเกตได้ง่ายและเห็นได้ชัดเจนในคนที่กล้ามเนื้อตึง จนบางทีความตึง ความปวดกลายเป็นความทรมานที่คนตัวแข็งเข็ดขยาดและกลัวโยคะ หรืออาจเข้าใจผิดไปว่าโยคะเป็นกิจกรรมของคนตัวอ่อน
อันที่จริงแล้ว การเป็นคนตัวอ่อนที่สามารถเข้าท่าระดับลึกได้ แต่หลงลืมไม่ฟังเสียงร่างกายของตนเองนั้น กลับเป็นความเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บจากการฝึกยิ่งกว่า โดยเฉพาะคนที่ข้อต่อในร่างกายเปิดกว่าปกติ (hypermobility) มักมีการบาดเจ็บต่อเนื่องเกิดขึ้นได้หากการยืดที่เกิดขึ้นในท่าเป็นการยืดในส่วนเอ็นในข้อต่อ ไม่ใช่การยืดเหยียดของกล้ามเนื้อ (** เฉพาะส่วนของปัญหาของการฝึกโยคะ ของ hypermobility นี้ จำเป็นต้องขยายความเป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเขียนถึงในครั้งถัดไป **)
สิ่งสำคัญที่ทุกคนจำเป็นต้องเข้าใจในการฝึกอย่างปลอดภัยคือ...
ร่างกายของคนเราแต่ละคน มีความสามารถและข้อจำกัดแตกต่างกัน แม้แต่ การเข้าท่าได้ลึกเท่ากันของคนฝึกสองคน. คนหนึ่งอาจเป็นการฝึกอย่างถูกต้องซึ่งเกิดจากการฝึกฝนในขั้นสูง แต่สำหรับอีกคนหนึ่ง อาจเป็นการทำร้ายข้อต่อของตนอย่างไม่รู้ตัว กรณีหลังนี้เป็นปัญหาของผู้เขียนเองซึ่งท้ายสุด. จำเป็นต้องปรับแนวทางการฝึกให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
2. การฝึกโดยไม่ฟังเสียงร่างกายตนเอง อาจทำให้การฝึกไม่พัฒนา
อาสนะ(ท่าโยคะ)เป็นการฝืนกายวิภาคตามธรรมชาติของมนุษย์เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทในรูปแบบต่างๆ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเข้าท่าไม่ได้ทันทีในครั้งแรก การฝึกโดยสังเกตร่างกาย การจัดวางท่าและการหายใจ ให้ถูกต้อง ร่างกายจะปรับตัวและมีพัฒนาการในการฝึกได้ ในทางตรงกันข้าม หากเรามองข้ามเสียงของร่างกายไป นอกจากการฝึกจะไม่ก้าวหน้าแล้ว การวางใจไว้ผิดที่กลับจะทำให้เกิดการบาดเจ็บ
ผู้ฝึกใหม่มักจะยังไม่มั่นใจว่าควรวางความสนใจไว้ที่จุดไหนในคลาสโยคะ. เมื่อฝืนทำท่าให้ลึกเพื่อไปให้เหมือนท่าของครูหรือเพื่อนร่วมคลาสที่ฝึกฝนมานานกว่า มักลงเอยว่าผู้ฝึกใหม่อาจเจ็บตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือ ข้อต่อ แม้แต่สำหรับผู้ฝึกมานาน การไม่ฟังร่างกายก็เป็นการประมาทที่ท้ายสุดจะทำให้บาดเจ็บได้ไม่ต่างกัน
3. หากไม่ฟังร่างกายตนเอง เราอาจหลงฝึกในแนวทางหรือสไตล์ที่ไม่เหมาะสม
นิ้วมือทั้งห้าของคนเราไม่เท่ากันฉันใด คนแต่ละคนมีร่างกายที่แข็งแรงหรือยืดหยุ่นไม่เท่ากันฉันนั้น หากเราไม่สังเกต ตนเอง เราก็อาจไม่พบแนวทางที่เหมาะกับร่างกายของเราและอาจหลับหูหลับตาฝึกไปจนส่งผลเสียกับร่างกายในระยะยาว
โยคะนั้นมีการสอนในหลากหลายแนวทาง ก่อนที่เราจะลงหลักปักฐานกับแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เราควรถามตัวเองก่อนว่า (1) เราต้องการฝึกโยคะไปเพื่ออะไร (2) สภาพร่างกายของเรา และ (3) อุปนิสัยของเรานั้นเป็นอย่างไร
เป็นไปได้ว่าเป้าหมาย สภาพร่างกาย และอุปนิสัยของเราอาจไม่ได้สอดคล้องกัน ซึ่งอุปนิสัยอาจทำให้เราตะบี้ตะบันมุ่งฝึกในทางที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง
ยกตัวอย่างเช่น พาวเวอร์ โยคะ(Power Yoga) วิยาสะโยคะ ( Vinyasa Yoga) Ashtanga Yoga แบบเข้มข้นและadvance เป็นสไตล์การฝึกที่มีความสนุก ท้าทายอย่างที่มีลักษณะ ดุ เด็ดเผ็ด มันส์ ใช้พลังงานสูง เหมาะกับผู้ที่ร่างกายแข็งแรงพอสมควรเป็นพื้นฐาน. การฝึกโยคะในแนวนี้จะได้ออกกำลังเผาผลาญแคลอรี่จำนวนมากกว่าโยคะในแนวบำบัด อย่าง Restorative yoga / Gentle yoga อย่างไรก็ดี ผู้ฝึกที่มีปัญหาสุขภาพ มีพละกำลังจำกัด หรือมีธาตุไฟแปรปรวนอยู่ ควรระมัดระวังโดยฝึกเพียงเท่าที่ไหว หรือเลี่ยงไปฝึกแนวทางที่ผ่อนคลายกว่า
ด้วยประสบการณ์ตรงจากการบาดเจ็บจากการฝึกอย่างไม่เหมาะสม แถมยังเป็นการฝึกเอาความสะใจเป็นที่ตั้ง ฟังเสียงในร่างกายน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายบอบช้ำหลายครั้ง (โดยเป็นความผิดของตัวผู้ฝึกเองทั้งหมด)
ดังนั้น สิ่งที่ต่อไปต้องระลึกเสมอในการเลือกฝึกนั่นคือ
"เราต้องประมาณตน และคอยทบทวนตัวเองอยู่เสมอ"
"ถึงเราฝึกได้ แต่เราเจ็บตัว... นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง"
"... ถูกใจ ไม่ได้แปลว่าจะ 'ถูกจริต' เสมอไป...."
นอกจากเหตุผลหลักๆ ทั้งหมดแล้ว การฟังร่างกายตนเองคือกระบวนการหลักที่ทำให้เกิดภาวะ "โยคะ" หรือ การรวมหรือประสานกันในการฝึกอาสนะ หากการฝึกโยคะกลายเป็นการออกท่าทางเพียงภายนอกโดยไม่มีการสังเกตโลกที่ดำเนินอยู่ภายใน ผู้ฝึกจะพลาดการสื่อสารกับตนเอง และไม่ได้สัมผัสความสงบภายในซึ่งสำคัญยิ่งกว่า
ดังนั้น ก่อนคลาสและระหว่างคลาสในวันนี้ ลองเช็กอิน (check in) กับร่างกาย จิตใจตัวเองสักนิด ผูกมิตรกับลมหายใจสักหน่อย แล้วฝึกต่อไปๆ แบบนี้จนกลายเป็นนิสัย
ขอให้โยคะนำทางผู้ฝึกทุกท่านให้มีสุขภาพกายใจแข็งแรงค่ะ... นมัสเต 🙏
โยคะ
1 บันทึก
6
3
4
1
6
3
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย