Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The People
•
ติดตาม
22 ก.พ. 2022 เวลา 11:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
หม่ำ จ๊กมก - เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา
‘นักแสดงตลก’ กับ ‘ชีวิตจริงจัง’ ฉบับคนรักหนังที่พูดไปใครก็ไม่เชื่อ
“พี่เป็นผู้ประกาศข่าวก็ได้นะ ถ้าให้พูด เพียงแค่คนจะเชื่อถือหรือเปล่า เพราะคนบ้านเรา คือมึงเป็นตลกก็คือตลก พอพูดจริงไม่เชื่อหรอก ความเร็วของเรือ นอตนะเว้ย การสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เขาเรียกริกเตอร์ 30,000 ฟุตก็คือ 9 กิโลเมตรกว่าเกือบ 10 กิโลเมตร นี่เห็นไหม หม่ำพูดจริง”
1
นักแสดงตลกระดับแนวหน้าของประเทศไทย ‘เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา’ หรือ ‘หม่ำ จ๊กมก’ เล่าถึง ‘ความจริงจัง’ ที่บอกไปก็แทบจะไม่มีใครเชื่อว่า นอกจากเขาจะชื่นชอบการดูสารคดีเพื่อหาสาระความรู้แล้ว เขายังชอบดูภาพยนตร์ ไม่ว่าจะภาพยนตร์ไทย จีน ญี่ปุ่น อเมริกัน หรืออินเดีย เพื่อศึกษาวิธีการเล่าเรื่อง และนำมาพัฒนาภาพยนตร์ของตนเอง
หลังกลายเป็นที่จดจำจากตำแหน่งนักแสดงตลก หม่ำผันตัวไปเป็นพิธีกร ผู้เขียนบท ผู้อำนวยการสร้าง รวมไปถึงผู้กำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาของเขาไม่ได้สะท้อนเพียงการเติบโตของชายหนุ่มจากจังหวัดยโสธรคนหนึ่ง แต่ยังสะท้อนถึงสภาพสังคมในแวดวงตลกและสภาพสังคมโดยรอบ โดยเฉพาะมุมมองที่เปลี่ยนไปของใครหลายคนจากการนำพาเสน่ห์ของชาว ‘อีสาน’ มาให้ผู้ชมทั่วประเทศได้รู้จักและหลงรักผ่านภาพยนตร์ของหม่ำ จ๊กมก ซึ่งเรื่องล่าสุดคือ ‘ส้ม ปลา น้อย’ ที่ฉายไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564
// จากยโสธรสู่ดาวตลกในคาเฟ่
เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา คือเด็กหนุ่มที่ตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านในจังหวัดยโสธร เพื่อมาตามหาโอกาสอันยิ่งใหญ่ในเมืองหลวง เขาเริ่มต้นจากการเป็น ‘คอนวอย’ ผู้มีหน้าที่ยกสัมภาระในวงดนตรี โดยหม่ำเล่าว่า เขาเองก็มีช่วงที่ถูกจับพลัดจับผลูไปลองใส่ชุดของแดนเซอร์ชายอยู่เหมือนกัน
1
“ไม่ได้เป็นแดนเซอร์ เกือบจะเป็น พอใส่ชุดแล้วชุดมันรัด ใส่แล้วหำปลิ้น ใครมันจะไปกล้า แล้วซ้อมเต้นกันสิบกว่าคน มีพี่ได้คนเดียว เอาหม่ำคนเดียวเลย ตอนนั้นเป็นแบกของด้วย แบกของแบกกลอง เป็นคอนวอย แต่พอใส่ชุดแล้วพี่ไม่เอาเลย กางเกงรัด ๆ มันก็ปูดขึ้นมาข้าง ไข่อยู่ข้างหนึ่ง อันนั้นอยู่อีกข้างหนึ่ง เราก็ไม่กล้าเต้น
“แต่เป็นคนชอบเต้นนะ ชอบเต้น ชอบร้อง ถ้าเรื่องเต้นนี่ก็ไม่แพ้ใครเหมือนกัน แต่พรหมลิขิตมันอาจจะถูกขีดเขียนให้มาทางนี้ ทุกอย่างมันถูกขีดเส้นไว้หมดแล้ว”
หลังจากนั้นหม่ำได้เล่าว่า ตลกในยุคของเขาโดยมากจะมาจากคณะลูกทุ่งหรือคณะลิเก ซึ่งความตลกดังกล่าวเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ไม่สามารถสอนกันได้ แม้จะตั้งโรงเรียนขึ้นสอนเฉพาะทางก็ตาม จากความชื่นชอบการเล่นตลกที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นอุปนิสัยส่วนตัว หม่ำได้ฉายแววความเก่งกาจในการสร้างความบันเทิงให้กับผู้คนรอบข้าง จนในที่สุด โอกาสครั้งแรกบนเวทีก็มาถึง
“จำได้เลย น่าจะที่แก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นอะไรที่เขินมากครั้งแรกที่เล่น แต่พอครั้งที่สองมันก็จะเริ่มเข้าทาง เรามันกล้าแสดงออกอยู่แล้ว เพียงแค่เราตื่นเวที ตื่นคนดูแค่นั้นเอง ครั้งที่สองครั้งที่สามมามันก็เริ่มพลิ้ว จากนั้นก็รู้สึกสบาย ๆ เหมือนมานั่งคุยกัน
“เล่นสัก 2 - 3 ปีนี่แหละ แล้วก็มาตั้งคณะตัวเอง เล่นตามคาเฟ่ คณะเก้ายอด เล็ก ๆ จนเทพ โพธิ์งาม มาเจอ ทีนี้ก็เริ่มเข้าคาเฟ่ชัด ๆ จากวงลูกทุ่ง ก็เริ่มมีคนรู้จัก ยุคนั้นเป็นยุคบ้านผีปอบดังมาก แล้วก็เป็นยุควิดีโอตลก อยู่คณะเทพ โพธิ์งาม ยุคนั้นเป็นยุคที่คนเฟื่องคนฟู แล้ววิดีโอเข้ามาเมืองไทยใหม่ ๆ”
เมื่อถามถึงแนวทางการเล่นตลกของหม่ำ เขาอธิบายว่า ตนเองเป็นคนที่ไม่ชอบเล่นตลกด้วยเสียง “แอ๊ เอ้ว” เพราะรู้สึกหนวกหู โดยหม่ำจะเน้นการเล่นแบบธรรมชาติ เล่นหน้าเล่นตา ไม่มีการนัดแนะมากกว่า
“ตลกสไตล์ไม่เหมือนกัน บางคนก็เล่นนัดแนะกันเป็นจังหวะโจ๊ะจ๊ะอ๊า โจ๊ะจะแอ๊ แต่อันนี้ไม่มี จะไม่เล่นแบบแฮ้ ๆ หนวกหู เล่นหน้าเล่นตา เล่นช็อตเอาเองตามธรรมชาติ ชีวิตจริงของคน โดนอำก็แค่มอง ทำหน้า ไม่มีอิ๊แอ๊ะ”
หม่ำเล่าเสริมว่า ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การเล่นตลกเองก็ต้องเปลี่ยนตามเพื่อให้ทันยุคทันสมัย เช่นเดียวกับสาเหตุที่รายการ ‘ชิงร้อยชิงล้าน’ ยังสามารถอยู่รอดได้ เพราะพวกเขาเล่นมุกล้ำไปก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนบางครั้ง หากเล่นมุกออกไป แต่ผู้ชมไม่รู้สึกตลกก็ต้องตีเนียนพูดไปว่า “นั่นไง ไม่ตลกจริง ๆ ด้วย รู้งี้ไม่เล่นดีกว่า แป้กอีกแล้วกู” ซึ่งในอดีต หม่ำบอกว่าจะไม่มีการที่ตลกมาเล่นตัวเองแบบนี้ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยน ทำให้การเล่นตัวเองแนวนี้สามารถทำได้แล้ว
“เมื่อก่อนอำกันซึ่งหน้าก็ไม่เล่นกันหรอก เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยน บางทีเล่นไม่ขำปั๊บ กูนึกแล้ว มันไม่ขำจริง ๆ ด้วย เสือกดันทุรังเล่น สมัยก่อนมันพูดไม่ได้ แล้วดักมุกดักอะไรพวกนี้ ตลกร่วมรุ่นเดียวกันเวลาเล่นกับพี่ถึงระวังเนื้อระวังตัว สังเกตดูสิ มาเล่นกับพี่ มึงเตรียมมา มึงเตรียมตัวตายเลย ถ้ามึงเตี๊ยมกันมา มึงเตรียมตัวตายได้เลย ถ้านี่อยู่นะ”
1
การทำงานในวงการตลกมาเกือบ 40 ปีของหม่ำทำให้เขามองเห็นทั้งช่องทางในการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งใน ‘สมาคมศิลปินตลก (ประเทศไทย)’ ที่หวังจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักแสดงตลกให้ดีขึ้น
“เกือบ 300 - 400 คน ตลกเนี่ย บางทีงานมันก็ไม่ค่อยมี แล้วมาช่วงโควิด-19 ด้วย มันก็ปากกัดตีนถีบ ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองกันทุกคน ปัญหาคือเรื่องงาน มันไม่มีงานมาหล่อเลี้ยงกับตัวเขาเอง แต่บางทีมันก็พูดลำบากนะ ถ้าเล่นอย่างนี้กูก็ไม่จ้าง ต้องดูตัวเองด้วยบางที อันนี้ไม่ได้ตำหนินะ แต่เล่าให้ฟังว่า นี่ก็เหมือนกัน นี่ก็ต้องรักษาเพดานบินตัวเองไว้เหมือนกันนะ รักษามาตรฐานการต่อยไว้ด้วยนะ ถ้าไม่รักษา ใครจะจ้าง”
1
นอกจากเวลาที่ใช้ไปกับการทำงาน หม่ำยังเปิดบ้านเพื่อเชิญชวนผู้คนมาร่วมรับประทานอาหารที่เขาแจกจ่ายอยู่เสมอ รวมไปถึงช่วยเหลือประธานสมาคมศิลปินตลกรุ่นน้องอยู่ตลอด โดยหวังว่าสักวันคุณภาพชีวิตของผู้คนจะดีขึ้นกว่าเดิม
// ชีวิตจริงจังของหม่ำจ๊กมก
เคล็ดไม่ลับของหม่ำ จ๊กมก ในการหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาเส้นทางอาชีพของเขาคือการ ‘ศึกษาหาความรู้’ ผ่านการรับชมสารคดีและภาพยนตร์ ซึ่งหม่ำบอกว่า พูดไปก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อ
1
“ถ้าตัวตนที่ชอบก็คงเป็นตลกนั่นแหละ แต่ที่จริงมันปรับใช้กันได้หมดนะ พี่เป็นผู้ประกาศข่าวก็ได้ รู้จริงด้วย เพียงแค่คนจะเชื่อถือหรือเปล่าแค่นั้นแหละ เพราะคนบ้านเรา คือมึงเป็นตลกก็คือตลก พอพูดจริงไม่เชื่อหรอก วันนี้หุ้นอะไรขึ้น นิเคอิว่ะ ร้อยตรี ร้อยโท สังเกตอะไร หนึ่งดาวถ้าเป็นทหารเขาเรียกหมวดเลย ตำรวจก็เหมือนกันเรียกหมวด สองดาวเขาก็เรียกร้อยโท ผู้กองเขาก็เรียกสามดาว ห้าดาวไม่มี ห้าดาวมันไก่ย่าง ปี 1939 จนถึง 1945 นั้นคือสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาโดนแหย่ด้วยญี่ปุ่น ไปยิงเพิร์ลฮาร์เบอร์ของเขา นั่นเห็นไหม ที่พูดมานี่พูดจริง ไม่ได้พูดเล่น พูดจริง แต่คน เห้ย! พูดตลกดี ไม่ได้ตลก พูดจริง
“คนตลกรู้มากได้เปรียบนะ นี่พูดประจำ ชอบอ่าน ชอบฟัง ชอบดู แล้วยิ่งหนังนี่นะ หนังฝรั่ง หนังไทย หนังแขก หนังจีน มาเลยมาคุยกันเลยหนัง”
1
ไม่ว่าจะเป็นหนังสัญชาติใด หนังสนุก หนังที่ถูกมองว่าน่าเบื่อ หนังยาว หนังสั้น หรือจะหนังรางวัล หม่ำก็ดูจนจบ เพราะเขาถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง รวมไปถึงความน่าเบื่อที่เกิดขึ้นคือครูที่ช่วยเป็นตัวอย่างในการพัฒนาหนังของเขาได้
หนังที่หม่ำรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากที่สุดคือหนังครอบครัวที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในบ้าน เพราะเมื่อดูทีไร เขาก็จะนึกถึงครอบครัวตนเองอยู่เสมอ โดยหม่ำยกตัวอย่างหนังเรื่อง ‘No Time to Die’ (2012) หนังเจมส์ บอนด์ ภาคสุดท้ายของ ‘แดเนียล เครก’ ให้ฟังว่า ในฉากจบของเรื่อง บทเพียงแค่ประโยคเดียวก็สามารถสื่อถึงความรักและความสัมพันธ์ได้ ถึงขนาดที่ทำให้เขาน้ำตาคลอตาม หรือจะเป็นเรื่อง ‘I Am Sam’ (2001) หม่ำก็บอกว่า “พี่ร้องไห้แบบ ฌอน เพนน์ เลย”
2
แต่บทบาทของคนดูหนังกับคนทำหนังนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง หม่ำในฐานะนักแสดงไม่อาจรับบทเป็นทุกอย่างได้เหมือนตอนที่เขาเป็นผู้ชม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะภาพจำที่คนดูมองเขาว่าเป็นนักแสดงตลกด้วย
“ถ้าจะทำหนังให้คนร้องไห้ แล้วคนจะเชื่อใช่ไหม คนคิดว่าเราเป็นตลก นี่แหละปัญหาคือ ไม่เหมือนฝรั่งนะ พระเอกหลายคนก็เล่นเป็นโจร แฮร์ริสัน ฟอร์ดก็เป็นโจร แบรด พิตต์เป็นโจรก็มี แต่บ้านเราไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคนดูมันแตกต่าง จะบอกว่าบ้านเรายังช้ากว่าเขาก็พูดได้ ถ้าเป็นโจรก็เป็นโจรแบบตลก ๆ เป็นโจรจริง ๆ ไม่ได้ คนไม่เชื่อถือ
“บางคนชอบหนังเรื่อง ‘เฉิ่ม’ ที่เล่นกับนุ่น แต่คอตลกเขาไม่ชอบนะ นี่แหละเราก็ถูกตราหน้าว่าเป็นคนที่ทำให้เขาหัวเราะ ตอนเล่นเราก็อึดอัด เดินช้า ทำอะไรก็ช้า ซึ่งไม่ใช่คาแรคเตอร์เราอยู่แล้ว แต่ถ้าถาม เล่นได้ไหม เล่นได้สบาย เราเป็นนักแสดง”
ด้วยมุมมองและกระแสตอบรับจากผู้ชมทำให้ภาพยนตร์แนวเดียวกับ ‘เฉิ่ม’ (2548) ยังไม่มีออกมาให้เห็นเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคต หม่ำยังคงมีแนวภาพยนตร์ดังกล่าวอยู่ในความคิดของเขา เช่นเดียวกับภาพยนตร์แนวอีสานที่เป็นเอกลักษณ์อันน่าภูมิใจ
// เสน่ห์อีสานผ่านฟิล์ม
“ถ้าเป็นหนังอีสาน พี่เป็นคนอีสานอยู่แล้ว พี่เข้าใจได้ว่ามันควรเป็นแนวไหน วิถีของคนอีสานมีอะไรน่าสนใจเยอะ ภาษามันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง วัฒนธรรม แล้วก็นิสัยของคนอีสานเป็นคนซื่อ บางทีมีข่าวของคนอีสาน เขาไม่ได้โง่ แค่เขาไม่อยากพูด เขาคนจริงใจ รักใครรักจริง”
หม่ำเล่าถึงความเป็นอีสานที่ตัวเขาภูมิใจ ซึ่งหนึ่งในภาพยนตร์อันโด่งดังก็คือ ‘แหยมยโสธร’ (2548) ที่นอกจากจะการันตี ‘รอยยิ้ม’ และ ‘เสียงหัวเราะ’ ที่ผู้ชมจะได้รับแล้ว เสน่ห์และวิถีชีวิตอันน่าสนใจของคนอีสานก็ถูกนำเสนออยู่ในทุกช่วงทุกตอน เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่หม่ำร่วมกำกับและนำแสดงอย่าง ‘ส้ม ปลา น้อย’
เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ของคนหนุ่มสาวสองสามคนอย่าง ส้ม (อุ้ม - อิษยา ฮอสุวรรณ) ปลา (ครูเต้ย - อภิวัฒน์ บุญเอนก) และน้อย (โตโน่ - ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) ก็มีเหตุให้ ‘พระมหาชัย’ (หม่ำ จ๊กมก) ต้องปวดหัว แถมยังต้องเปลี่ยนบทบาทจากพระนักพัฒนา กลายมาเป็นพี่อ้อยพี่ฉอดฉบับจำเป็นอยู่เหมือนกัน โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นอีกครั้งที่หม่ำได้ใส่ความเข้าถึงง่ายลงไปในตัวบท
2
“ส้ม ปลา น้อย กลิ่นมันก็เป็นภาคอีสานอยู่แล้ว พระเอกมันก็เป็นคนพื้นที่ มีคนอื่นจะมาแย่งพื้นที่ของหัวใจ มันเป็นเรื่องราวใกล้ ๆ ตัว คนไทยถ้าทำ ต้องทำอะไรใกล้ ๆ ตัว ผัวมีเมียน้อย เมียมีผู้ชายคนอื่น นินทาเจ้านายเป็นเรื่องใกล้ตัว นี่ยังนินทาอยู่เลยเนี่ย ช่องตัวเองด้วยเนี่ยเวิร์คพอยท์ แต่นินทาในทางที่ดีนะ”
นอกจากในจอจะมีแต่ความสนุกสนานและเสียงหัวเราะแล้ว หม่ำยังเล่าถึงการทำงานเบื้องหลังอีกว่า นักแสดงรุ่นน้องทุกคนล้วนทำงานกันแบบมืออาชีพที่สามารถเฮฮาจัดเต็มไปพร้อมกันได้ โดยตัวหม่ำยกให้บรรยากาศในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ เพราะการดุหรือทำให้เกิดความเครียดจะส่งผลต่อการทำงานที่ไม่สนุกเท่าเดิม
“ดุแล้วเดี๋ยวเด็กมันจะเกร็ง บางทีก็มีให้เครียดบ้าง แต่ก็เดินออกจากมอนิเตอร์บ้าง ไปนั่งคนเดียว ให้ผู้ช่วยเขาทำไป บางทีมันก็มีบ้าง แต่เราไม่อารมณ์เสียกับนักแสดง หรือกับใครก็แล้วแต่ในกอง ตั้งแต่เด็กไฟเลย ไม่เอา
“อันนี้เล่าขำ ๆ นะ เอกชัย ศรีวิชัย ตอนทำหนัง เอกชัยเขาขึ้น เราก็บอกท่าน ใจเย็น ๆ เดี๋ยวเด็กมันจะทำงานไม่ปกติ มันจะสนุกตรงไหนล่ะ เขาก็เย็นลง ถ้าดุปั๊บกองมันจะลน เสิร์ฟข้าวเสิร์ฟอะไรลนไปหมด
1
“เคยเจอเรื่องหนึ่ง มันเสิร์ฟน้ำทั้งวัน ข้าวไม่ได้แดกเลยวันนั้น จุกน้ำ มันลนไง ทั้งเป๊ปซี่ ทั้งน้ำแดง ปากแดงเถือกเลยถ่ายไม่ได้ มันก็เสิร์ฟน้ำทั้งวัน น้ำครับพี่ น้ำครับพี่ คัตปั๊บ น้ำครับพี่ คัตปั๊บ น้ำครับพี่ เฉพาะซีนนั้นมันกี่คัตอะ 5 คัต มึงกินไป 5 แก้วแล้วนะ เป๊ปซี่แก้วหนึ่ง น้ำแดงแก้วหนึ่ง น้ำเย็นอีกแก้วหนึ่ง เนี่ย ลนไง”
1
แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องส้ม ปลา น้อย ที่หม่ำมาในบทพระสงฆ์นักพัฒนาแล้ว บรรยากาศในกองถ่ายและบรรยากาศในภาพยนตร์ถือว่าผ่อนคลายและเฮฮาเป็นอย่างยิ่ง หากใครที่ยังไม่ได้รับชมก็สามารถรับชมเรื่องราวของส้ม ปลา น้อย ได้ในโรงภาพยนตร์ และรอดูกันต่อในอนาคตว่า หม่ำ จ๊กมก จะมีแผนเปลี่ยนความจริงจังของเขามาเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่อย่างไรบ้าง
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม
.
#ThePeople #Interview #หม่ำจ๊กมก #ส้มปลาน้อย
12 บันทึก
10
1
2
12
10
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย