Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The People
•
ติดตาม
26 ก.พ. 2022 เวลา 11:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์ - น้าต๋อย เซมเบ้
ตำนานนักพากย์ช่อง 9 การ์ตูน ผู้เติบโตโดยมี ‘การ์ตูน’ หล่อเลี้ยงชีวิต
“พลังคลื่นเต่าสะท้านฟ้าาาาาาาา!!!”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประโยคด้านบนคือประโยคที่อ่านทีไรก็มีเสียงออกมาด้วย ซึ่งเสียงนั้นก็ไม่ใช่ใครนอกจากนักพากย์หนังและการ์ตูนในตำนานอย่าง ‘นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์’ หรือ ‘น้าต๋อย เซมเบ้’ แห่งช่อง 9 การ์ตูน
ไม่ใช่แค่เสียงปล่อยพลังของ ‘ซุนโงกุน’ จาก ‘ดราก้อนบอล’ (ประโยคด้านบน) เท่านั้นที่น้าต๋อยเป็นผู้พากย์เสียงภาษาไทย เพราะน้าต๋อยยังโด่งดังจากการพากย์ตัวละครญี่ปุ่นอีกมากมายทั้ง ‘ไจแอนท์’ จาก ‘โดราเอมอน’ / ‘ดร.โนริมากิ เซมเบ้’ จาก ‘ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่’ / ‘นาโอโตะ’ จาก ‘หน้ากากเสือ’ / ‘หน้ากากทักซิโด้’ (ชิบะ มาโมรุ) จาก ‘เซเลอร์มูน’ และ ‘โมริ โคโกโร่’ จาก ‘โคนัน เจ้าหนูยอดนักสืบ’
สำหรับน้าต๋อยแล้ว เส้นทางชีวิตสายการ์ตูนของเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือฉาบด้วยความสนุกสนานตลอดเวลาอย่างที่ใครคิด หากแต่ต้องผ่านเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานและต้องรับแรงกดดันมากมาย โดยเฉพาะยุคสมัยที่แม้แต่บทในมือก็มาไม่ครบจนต้องดำน้ำด้นสดกันทั้งทีม
The People สัมภาษณ์น้าต๋อย เซมเบ้ เกี่ยวกับเส้นทางที่เขาก้าวเดินตั้งแต่วัยเด็กจนขึ้นแท่นนักพากย์ระดับตำนานในวันนี้ รวมไปถึงการ์ตูนตัวโปรดของน้าต๋อย ประสบการณ์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และ ‘บทพิสูจน์’ อันเป็น ‘คำตอบ’ ของคำถามที่ว่า ‘เด็กที่ดูการ์ตูนจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน?’
// เด็กชายผู้ชื่นชอบการ์ตูน
‘หน้ากากเสือ’ (Tiger Mask) เป็นการ์ตูนว่าด้วยเรื่องราวของนักมวยปล้ำที่ซ่อนเร้นใบหน้าไว้ใต้หน้ากากเสือ และต้องต่อกรกับคู่ต่อสู้คนอื่น ๆ ที่ถูกส่งมาปราบเขา การ์ตูนเรื่องนี้ถูกนำกลับมาฉายอีกครั้งโดยช่อง 9 การ์ตูน หลังจากที่ช่อง 4 บางขุนพรหมเคยนำมาออกอากาศก่อนหน้านั้น
น้าต๋อยเล่าให้ฟังว่า หน้ากากเสือที่เขาดูสมัยอยู่ประมาณ ป. 6 - ป. 7 คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากเป็นนักพากย์ โดยหวังว่าสักวันจะมีโอกาสพากย์เสียงเป็นตัวเอกของเรื่องอย่างที่เคยได้ชมในสมัยเด็กบ้าง ในช่วงเวลานั้น การ์ตูนที่โด่งดังคือการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่น โดยเรื่องแรกที่น้าต๋อยจำได้คือเรื่อง ‘สิงห์น้อยเจ้าป่า’ (The Jungle Emperor) ที่โด่งดังพอ ๆ กับเรื่อง ‘เจ้าหนูปรมาณู’ (Astro Boy) ซึ่งทั้ง 2 เรื่องถือเป็นการ์ตูนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
“สมัยนั้นมีโทรทัศน์อยู่ 2 ช่อง มีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งปัจจุบันก็คือช่อง 9 อสมท. และช่อง 7 ขาวดำ ไม่ใช่ช่อง 7 สีนะครับ สมัยนี้ก็คือช่อง 5 สนามเป้า ช่อง 7 ขาวดำสมัยนั้นคือฉายการ์ตูนครั้งแรกของเมืองไทยเลย มีเรื่องของ ‘ฟูจิมารุ’ ที่เป็นนินจา แล้วก็มี ‘อะตอมมิกบอย’ (เจ้าหนูปรมาณู) เข้ามา แล้วก็สิงห์น้อยเจ้าป่า ซึ่งผมดูทั้ง 3 เรื่องสมัย ป. 4 - ป. 5
“ไอ้มดแดงไม่ได้ฉายที่ช่อง 4 หรือช่อง 9 มันฉายทางช่อง 7 ขาวดำ ช่อง 5 มันเป็นตัวเลือกแรกเลย ตอนนั้นผมอยู่ประมาณ ม.ศ. 1 หรือ ม.ศ. 2 ช่วงไอ้มดแดงตัวแรก แล้วก็มียอดมนุษย์อุลตร้าแมนก็ฉายทางช่อง 5 สนามเป้า ผมก็ดูตั้งแต่ตอนนั้น ตอนนั้นผมชอบเรื่องไอ้มดแดงมาก ถ้าเป็นหนังคนเล่นนะ ถ้าเป็นการ์ตูนจะชอบฟูจิมารุ เจ้าหนูนินจา แล้วก็มาไลโอจัง ดูได้ไม่ติด”
จากเด็กชายตัวน้อยที่ชื่นชอบการดูการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ น้าต๋อยกลับกลายเป็นเด็กผู้มีความฝันในการเป็นนักพากย์เนื่องมาจากประสบการณ์สุดประทับใจในสถานีโทรทัศน์ที่ได้พ่อพาเข้าไปชม
พ่อของน้าต๋อยทำงานเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์มาตั้งแต่ยุคแรก โดยดูแลเรื่องของเครื่องฉายและตัดต่อฟิล์ม ทำให้น้าต๋อยได้มีโอกาสไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก และเมื่อพ่อเข้าทำงานในสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม น้าต๋อยก็ได้ตามพ่อของเขาไปศึกษาเรื่องฟิล์มและดูการทำงานภายในอยู่เสมอ
“สมัยนั้นผมไปดูที่ห้องพากย์ เรื่องหน้ากากเสือ ก็ตื่นเต้นมาก โตขึ้นอยากเป็นนักพากย์เลย มันฉายประมาณปี 2510 หรือ 2509 ประมาณนี้ หลังจากนั้นมาอีกประมาณ 12 - 13 ปี ก็มาฉายทางช่อง 9 อสมท. แล้วผมก็ได้พากย์เป็นหน้ากากเสือ ตอนที่ดูอยู่ประถม พอสิบกว่าปีผ่านไป ผมเรียนจบ ทำงานที่ อสมท. ก็ได้เป็นนักพากย์พากย์เรื่องนี้จริง ๆ”
// จากเด็กชายหน้าจอสู่นักพากย์บนจอระดับตำนาน
น้าต๋อยฝึกพากย์เสียงครั้งแรกราวปี 2516 - 2517 สมัยที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเขาเริ่มต้นจากการพากย์ภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง ‘สามเกลอหัวแข็ง’ รวมถึงเรื่องที่เป็นที่รู้จักคือ ‘Little House in Paris’
“ตอนนั้นผมอายุแค่ 17 - 18 พากย์เป็นตัวหนุ่ม ๆ แล้วก็มาพากย์หนังจีน เรื่องแรกที่เข้ามาทางเมืองไทยคือ ‘ขบวนการเปาเปียว’ ฉายทางช่อง 9 อสมท. เรื่องที่สองคือ ‘เปาบุ้นจิ้น’ ฉายทางช่อง 3 มันมาก่อน ‘มังกรหยก’ ผมพากย์หนังฝรั่งมาเยอะมาก พอมาพากย์หนังการ์ตูนปรากฏว่าเด็กไม่ติดเสียง”
น้าต๋อยเล่าถึงอุปสรรคในการพากย์เสียงการ์ตูนว่า เพราะเขาใช้สไตล์ในการพากย์ภาพยนตร์ต่างประเทศทำให้ไม่เป็นที่สนใจของเด็กมากนัก ประกอบกับอุปสรรคเรื่องบทพากย์ ซึ่งในยุคนั้น ผู้ที่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นยังน้อย ทำให้สคริปต์ที่ได้รับมาเป็นเพียงสคริปต์ที่ใช้ในการถ่ายทำที่มีการขีดฆ่าบทและมีคำตกหล่นอยู่มาก บทจึงหายไปหลายหน้า และนักพากย์ก็ต้องเริ่มกระบวนการ ‘ด้นสด’ กันเอง
“คนแปลเขาไม่ได้แปลผิด แต่บทมันหายไปหลายหน้า พวกผมก็พากย์สดออกอากาศ ก็ใช้มุกกันเต็มที่ กลับกลายเป็นเด็กติด ด้นสดทุกคน มันสอนให้เรารู้จักการแก้สถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วไม่มีพากย์ซ่อม สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์เลย”
น้าต๋อยเล่าถึงความแตกต่างระหว่างการพากย์เสียงในอดีตและปัจจุบันให้ฟังเพิ่มเติม โดยเขายืนยันว่า สมัยก่อนการพากย์เสียงเป็นที่ท้าทายมาก ต้องมีการซ้อมก่อนออกอากาศ เพราะเมื่อพากย์จริงเป็นการพากย์สด ไม่มีโอกาสแก้ไข หากพากย์ผิดเพียงนิดเดียว คนดูก็อาจไม่เข้าใจได้ “แล้วเขาก็จะต่อว่ามา”
“สมัยนี้มันง่าย เป็นการอัดเทปลงคอมพิวเตอร์ มันแก้ไขง่าย ไม่มีข้อผิดพลาดเลย มันก็จะดี เพอร์เฟกต์มาก แต่มันไร้อารมณ์ มุกต่าง ๆ มันไม่ออกมา เพราะการพากย์หนังการ์ตูนจริง ๆ แล้ว สมัยนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่าพากย์ แล้วผู้ผลิตเองก็ยังไม่เข้าใจคำว่าพากย์
“พากย์หนังหมายความว่า เราจะต้องเอาหนังเรื่องนั้นมาตีแผ่ในบริบทที่มันเหมาะสมในมณฑลนั้น ๆ ในประเทศนั้น ๆ สังคมนั้น ๆ คือแปรเปลี่ยนให้สังคมนั้นยอมรับวัฒนธรรมที่มาจากเมืองนอกแล้วกลายเป็นเมืองไทยให้ได้ เขาก็จะพากย์สนุกสนาน เฮฮา ใส่มุกบ้าง
“ตัวร้ายสุด ๆ ผมจะเปลี่ยนให้มันไม่ร้าย อย่าง ‘ฟรีซเซอร์’ ในดราก้อนบอล มันเป็นตัวร้ายมาก ๆ ผมก็พากย์ให้มันแต๋วไปเลย เพราะมันทาเล็บ เพื่อลดความโหดร้าย เพราะต้องพากย์ให้เด็กดู สมัยนี้มันพากย์ตามต้นฉบับเป๊ะ ๆ ซึ่งมันก็ดูดีนะ แต่ถามเด็กที่ดูแล้ว เด็กเล็ก ๆ 3 - 4 ขวบ 5 ขวบ เด็กไม่ติด ดูก็ได้ ไม่ดูก็ได้ เด็กรุ่นนี้ถึงชอบมุกตลกถูกต้องไหม?
“เวลาผมพากย์ไจแอนท์ ผมจะใส่มุกตลกเวอร์ไปเลย เฮ้! โนบิตะมานี่ดิ เด็กก็จะชอบมากกว่าพากย์ตามฟิล์ม ซึ่งเรียกว่า ‘Dubbing’ พากย์ตามสำเนียงของเขา แต่ในการพากย์ของเรา เราจะใส่องค์ประกอบโดยรวมว่า เด็กเราชอบแบบไหน อะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในปัจจุบัน ก็ใส่เข้าไป มันจะเกิดอรรถรสใหม่ ๆ เข้ามา”
น้าต๋อยแสดงความเห็นว่า การ์ตูนในสมัยก่อนพากย์ได้สนุกกว่าการ์ตูนยุคปัจจุบัน โดยที่ตัวน้าต๋อยเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าพากย์แบบไหนดีกว่ากัน เพียงแค่ความสนุกเร้าใจไม่สามารถเทียบสมัยก่อนได้
“สมัยก่อนเราใส่อุทานเสริมบทเข้าไปเยอะมาก เราพากย์สด ปฏิภาณไหวพริบต้องเฉียบมาก ถึงต่อมาจะเริ่มพากย์อัดเทป แก้ไขได้ แต่เราก็จะยึดพื้นฐานเดิมคือ ต้องพากย์ให้เด็กสนุก การ์ตูนต้องพากย์ให้เด็กดูสนุกนะ เราไม่ได้พากย์ให้ผู้ใหญ่ดู หรือนักวิจารณ์การ์ตูนดู เพราะพวกเขาดูการ์ตูนแบบเครียด เราพากย์ให้เด็กดู ตอนเด็กดูจะมีสปอนเซอร์เป็นพวกขนม เด็กซื้อขนมกินระหว่างดู บริษัทการ์ตูนก็อยู่ได้ แต่ถ้านักวิจารณ์การ์ตูนดู เขาไม่ได้ซื้อขนม เขาดูแค่ต้องพากย์ให้เหมือนญี่ปุ่น มันไม่มีทางเหมือนหรอก เสียงคนมันไม่เหมือนกัน แต่จะให้เหมือนก็เปิดออริจินัลซาวนด์ง่ายดี
“ถ้าให้ผมพากย์ ผมก็จะพากย์สไตล์ผม ผมไม่ได้ทำให้หนังเสีย ผมจะพากย์ให้หนังมันสนุกมากขึ้น ใส่เสียงทะเล้นเพื่อลดความตึงเครียด ผมไม่อยากให้คนดูเครียด สมัยนี้มันสร้างการ์ตูนเรท R แบบรุนแรงด้วย บางทีคอขาด เด็กจะตกใจ เด็กอาจจะผวา แล้วมันไม่มีเวลาที่จะลง สมัยทางช่อง 9 เขาจะเลือกเวลาลง เลือกเรทที่เด็กดู โดราเอมอน 3 ขวบ ดูได้ทั้งครอบครัว บางเรื่อง 14 ขึ้น เด็กก็คงไม่สนุก ผมเลยจะพากย์ไม่ให้โหดร้าย”
สำหรับน้าต๋อย ตัวละครที่เขาชื่นชอบจำนวน 2 ตัว ได้แก่ ไจแอนท์ จาก โดราเอมอน และซุนโงกุน จาก ดราก้อนบอล โดยทั้งสองเป็นตัวละครที่น้าต๋อยได้พากย์เสียงมากว่า 40 ปี จนถึงปัจจุบันก็ยังคงพากย์อยู่ แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงปีที่ 30 ของการคร่ำหวอดในวงการ น้าต๋อยได้มีความฝันว่าเมื่ออายุ 60 ก็อยากจะมีผลงานเป็นของตนเองโดยเก็บเงินจากการพากย์ ซึ่งหนังเรื่องนั้นก็คือ ‘อัศวินคริสตัลไนท์’ (Crystal Knight)
“ผมได้ขบวนการ 5 สีจากเมืองนอกเป็นแรงบันดาลใจ แต่เราสร้างคาแรคเตอร์เอง ใบหน้า เกราะต่าง ๆ สร้างขึ้นมา ให้เด็กไทยสร้าง สถานที่ถ่ายทำก็ใช้ในเมืองไทยหมดเลย ราชบุรี ถ้ำค้างคาว ท่าเรือแถวระยอง ชลบุรี สะพานแขวน ก็สู้กันตรงนั้นเลย แม้จะมีคนดูน้อย คือพอฉายไปเสร็จภาคแรก ภาค 2 ทางช่อง 5 เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ นโยบายใหม่เลยไม่ได้ฉาย มันก็เคว้ง แต่ภูมิใจนะครับที่ทำมัน เรามีเนื้อเรื่องของเราเอง ไม่เหมือนญี่ปุ่น”
จากประสบการณ์ที่สั่งสมในวงการพากย์มาอย่างยาวนาน น้าต๋อยกลายเป็นบุคคลระดับตำนานที่ใช้เสียงและความชอบที่มีต่อการ์ตูนหล่อเลี้ยงชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตน้าต๋อยก็หวังว่าการ์ตูนจะยังเป็นความสุขของใครหลายคนเสมอ
// ขอบคุณอาชีพนักพากย์และการ์ตูนที่เลี้ยงชีวิต
ปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่วงการพากย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งน้าต๋อยเองก็ชื่นชมและให้คำแนะนำเอาไว้ว่า
“เด็กรุ่นใหม่เก่ง แต่ต้องทำการบ้านด้วย เอาหนังเก่า ๆ มาลองฝึกพากย์ พากย์เป็นหลาย ๆ ตัว อย่าเจาะจงว่าจะต้องพากย์เป็นตัวเอก ฉันจะต้องเป็นนางเอก นักพากย์ต้องพากย์ได้ทุกเสียง พากย์ได้ทุกอารมณ์ นักพากย์คือนักแสดง นักแสดงที่แสดงได้หมดทั้งพระเอกและผู้ร้าย คนแก่ เด็ก ตัวตลก ถ้าพากย์แต่พระเอก แล้ววันหนึ่งมีพระเอกคนใหม่มา คุณก็ตกกระป๋อง เพราะฉะนั้นต้องเป็นนักแสดง ทำได้ทุกแบบ พากย์ได้ทุกบทบาทถึงจะเรียกว่าเป็นนักพากย์
“นักพากย์คือผู้ปั้นอารมณ์ของเสียง โดยใช้เสียงแท้ของเราเป็นตัวก่อให้เกิดอารมณ์แก่คนดู แต่ต้องปั้นอารมณ์ก่อน ดูคาแรคเตอร์ แล้วเอาอารมณ์เข้าไป ดูคลิปที่ผมสอนพากย์ได้ที่ยูทูบ ‘Natoi Sembe Official’ มีจนถึงเป็นผู้ประกาศข่าวเลย เพราะจริง ๆ ผมไม่ได้ถูกฝึกเป็นนักพากย์ ผมถูกฝึกครั้งแรกเป็นผู้ประกาศข่าว แต่บังเอิญเสียงผมมันไม่แน่น ก็เลยไปสารคดีแล้วก็พากย์หนัง”
จากที่ยุคหนึ่ง ผู้ใหญ่ต่างอ้างว่าไม่สามารถหาประโยชน์อะไรจากการ์ตูนได้จนถึงขั้นเกิดวาทกรรมว่า การ์ตูนมอมเมาเยาวชน น้าต๋อยได้บอกว่า สำหรับเขา การ์ตูนกลับกลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตที่มอบให้ทั้งที่อยู่อาศัยและครอบครัวอย่างในปัจจุบัน
“ถ้าผมไม่ได้พากย์การ์ตูนก็คงไม่ได้อยู่จนถึงทุกวันนี้
“คำว่ามอมเมามีมานานแล้ว ใครอยากดังก็พิทักษ์เด็กเอาไว้ สำหรับผมมันให้ความสนุกสนานมากกว่าความมอมเมานะ
“แฟนคลับของผมคงจะอายุ 40 กว่า มีครอบครัว มีลูกกันแล้ว การ์ตูนไม่ได้ทำให้พวกคุณแย่ลงใช่ไหม?”
น้าต๋อยเอ่ยถามเพื่อชวนผู้อ่านย้อนความทรงจำไปถึงวัยเด็กที่ยังนั่งดูการ์ตูนอยู่กับบ้าน
ในปี 2530 หลังกระแสการ์ตูนมอมเมาเยาวชนกำลังเป็นประเด็นถกเถียง น้าต๋อยเคยถูกถามว่า “เด็กที่ดูการ์ตูนโตขึ้นจะเป็นคนอย่างไร?” ซึ่งน้าต๋อยไม่สามารถให้คำตอบได้จนกระทั่งปี 2551 - 2552 น้าต๋อยป่วยหนักด้วยโรคหอบหืด และลาวงการพากย์ไปในปี 2554
“หลังจากนั้นอีกปีสองปี ผมเข้าโรงพยาบาลเกือบตาย หมอบอกน้าต๋อยเป็นวัณโรคกระดูกสันหลัง ผสมกับหืดหอบและไซนัส ผมนึกถึงซุนโงกุนว่าตอนที่มันสู้กับศัตรูแล้วเจ็บหนัก มันก็ยังลุกขึ้นมา แล้วเราเป็นคนพากย์เองจะยอมแพ้ตายไปเหรอ?”
หลังจากนั้นน้าต๋อยก็มีแรงฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้รับการผ่าตัดจากแพทย์ฝีมือดีที่เข้ามากุมมือน้าต๋อยแล้วบอกว่า เขาจะช่วยน้าต๋อยให้ได้ เพราะเขาดูการ์ตูนที่น้าต๋อยพากย์มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งนอกจากแพทย์ก็ยังมีวิสัญญีแพทย์และพยาบาลอีกหลายคนที่มาบอกว่า พวกเขาคือเด็กน้อยที่เมื่อ 30 ปีก่อนเคยดูการ์ตูนอยู่หน้าโทรทัศน์
นั่นคือคำตอบของคำถามว่า “เด็กที่ดูการ์ตูน โตขึ้นจะเป็นคนอย่างไร?” และเส้นทางชีวิตของตำนานนักพากย์อย่างน้าต๋อย เซมเบ้ ก็คือบทพิสูจน์ที่แท้จริงว่า การ์ตูนไม่ใช่สิ่งเสพติดที่มอมเมาเยาวชนแต่อย่างใด หากแต่เป็นเศษเสี้ยวใหญ่ ๆ ในความทรงจำ รวมถึงแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครเติบโตได้อย่างงดงาม
สำหรับใครสนใจติดตามผลงานของน้าต๋อย สามารถติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก
https://www.facebook.com/natoisembe/
รวมไปถึงช่องยูทูบ
https://www.youtube.com/c/NatoiSembeOfficial
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ: น้าต๋อย เซมเบ้ และแฟนเพจ
https://www.facebook.com/natoisembe/
อ้างอิง
สัมภาษณ์น้าต๋อย เซมเบ้
https://www.youtube.com/watch?v=UoHa31YSY8s
#ThePeople #น้าต๋อยเซมเบ้ #Interview
3 บันทึก
5
3
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย