3 ก.พ. 2022 เวลา 11:29 • ปรัชญา
ถ้าปัญญาในทางโลก ที่หมายถึงความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ จากการสังเกตุจดจํา คิดวิเคราะห์ เราก็จะลืมตาเป็นปรกติกันอยู่แล้ว ผู้เขียนคงหมายถึงปัญญาทางธรรมรึปล่าว ปัญญาทางโลกกับปัญญาทางธรรม มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งปัญญาทางโลกเกิดจากสมองหรือความคิดวิเคราะห์ แต่ปัญญาทางธรรมเกิดจากความไม่คิดวิเคราะห์ แต่เป็นการเห็นตัวสภาวะ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป มีการปรุงแต่ง หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา บางครั้งการปรุงแต่งนั้นมีเหตุ ปัจจัยที่ทําให้เกิด เราก็จะเห็นการเกิดดับของมันต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ซึ่งจะเห็นอย่างนั้นได้ มิได้เกิดขึ้นมาลอยๆแต่ได้มาจากการฝึกสติหรือเจริญสติอย่างต่อเนื่องมานานจนเห็น สรรพสิ่งต่างๆไม่ใช่คน สัตว์ สิ่งของอีกต่อไป
ตัวอย่างเช่น การมองเห็นผู้หญิง
- ปัญญาทางโลก ผู้หญิงเป็นสิ่งมีชีวิต ที่
โครโมโซม xy ผมยาว ชอบแต่งตัวตามสมัยนิยม ชอบให้คนเอาอกเอาใจ ผู้หญิงเป็นเพศแม่ มี่จะเป็นผู้ตั้งครรภ์ ให้กําเนิดทารก.......ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบผู้หญิงสวย เซ็กซี่ นิสัยดี อยากแต่งงานด้วย
- ปัญญาทางธรรม สิ่งที่มองเห็นน่ะ ไม่มีคําว่าผู้หญิงผู้ชาย อะไรทั้งนั้น มีแต่สิ่งมีชีวิตหรือเป็นขันธ์ชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยรูปกับนามที่เคลื่อนไหวอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ความสวย น่ามองเกิดจากจิตปรุงแต่งหรือความคิดปรุงแต่งทั้งนั้น
การมองเห็นทั้งสองแบบ ถ้าเกิดจากความคิดก็ไม่ถือว่าเป็นปัญญาทางธรรม เพราะถือว่าเป็นการนําความรู้ในสัญญามาใช้ มิได้เกิดจากเห็นจริงๆ
ในสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นวิธีการเจริญสติ 4 อย่าง ที่ใช้สติกําหนดรู้ความเคลื่อนไหวของของ 4 อย่างและใช้เป็นฐานให้จิตตั้งมั่น นั่นคือ 1. กาย 2. จิต 3. เวทนา 4. ธรรม พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บอกให้หลับตาทําสมาธิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ที่เราคุ้นกับคําว่าหลับตานั่งสมาธิเสียมากกว่า โดยการกําหนด
ลมหายใจเข้า-ออก( อานาปานสติสูตร ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานกาย เป็นสมถะสมาธิที่หวังผลเพื่อความสงบ ต้องเดินควบคู่ไปกับวิปัสสนา จึงจะเกิดปัญญา) เราคุ้นเคยกับการนั่งหลับตาทําสมาธิมาช้านาน โดยอาศัยอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งให้จิตจดจ่อ ( ลมหายใจ, คําบริกรรม พุทธ- โธ่) จนบางครั้งเราก็หลงเข้าไปในสมถะ เจอแต่ความสงบ หลงทางไปกับวิปัสนู ไม่ใช่วิปัสสนา โดยที่ปัญญาไม่เกิด ขั้นตอนการเดินจิตเข้าสู่วิปัสสนา มีให้ศึกษาอยู่ทั่วไปจะไม่ขอแนะนําณ. ที่นี้
เราไม่เคยได้ยินคําว่า นอนสมาธิ คุกเข่าสมาธิ เคลื่อนไหวสมาธิ ซักผ้าสมาธิ ถูบ้านสมาธิ กินข้าวสมาธิ ซึ่งก็เป็นฐานกายเหมือนกันคือการกําหนดรู้อิริยาบถหรือความเคลื่อนไหวของร่างกาย ในขณะ้ดียวกันถ้าเราปฎิบัติไปบ่อยๆ เราจะรู้สึกถึงเวทนาที่เกิด ( ปวดแข้งขา ชอบ ไม่ชอบ ทรมาน มีความสุข) รู้สึกถึงจิตและเจตสิกประกอบ นั่นคือความคิดปรุงแต่ง ที่เกิดขณะปฏิบัติ ( พอใจ ดีใจ ฟุ้งซ่าน รําคาญ เฉยๆ น่าเบื่อ ไม่เอา เลิกทําดีกว่า ) จนรู้สึกถึงสภาวะธรรมที่ต่อเนื่องในจิต
บางคนก็เริ่มต้นฝึกจากฐานจิตเลย อย่างที่เกจิอาจารย์เรียกว่าการดูจิต ดูการเคลื่อนไหวของความคิด รู้สึกถึงความคิดที่เปลี่ยนไปมา ในขณะที่ทํางาน ทํากิจวัตรประจำวันไปด้วย
เมื่อ เจริญสติบ่อยๆ เกิดความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง แรกๆก็อาจจะรู้แค่กายเคลื่อนไหว แต่นานๆไปจะรู้ครบหมดทุกฐาน สติจะพัฒนาเป็นสมาธิและปัญญาในที่สุด
หมายเหตุ: ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวสาย หลวงพ่อเทียน หนังสือ " แด่เธอผู้รู้สึกตัว"
โฆษณา