5 ก.พ. 2022 เวลา 11:18 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
"เมื่อศัพท์เกาหลี กลายเป็นคำสากล 26 คำเกาหลี ที่ถูกเพิ่มลงในพจนานุกรมอังกฤษ Oxford  ฉบับปรับปรุงล่าสุด" อัปเดตความรู้เกาหลีไปกับคอลัมน์ "เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า"
ภาพจาก www.shutterstock.com
คุณผู้อ่านเคยได้ยินคำว่า “โคเรียนเวฟ” (Korean Wave) ไหมคะ จริงๆ คำนี้บางคนก็เรียกสั้นๆ ว่า “เคเวฟ” (K-wave) เป็นคำศัพท์ที่พูดถึงกระแสความนิยมของวัฒนธรรมเกาหลีที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรมความบันเทิงเช่น ซีรีส์ หนัง เพลง รวมถึงการเต้นเคป็อปที่นิยมกัน สำหรับประเทศไทย เราเริ่มได้ยินคำนี้ในช่วงราวต้นปี 2000 โดยโคเรียนเวฟ เป็นคำภาษาอังกฤษที่ถูกแปลงมาจากคำศัพท์ภาษาเกาหลีคือคำว่า “ฮัน-รยู” (한류) ‘ฮัน’ ย่อมาจาก ฮันกุก ที่แปลว่าประเทศเกาหลีใต้ ส่วน ‘รยู’ แปลว่าคลื่น รวมกันเป็น “คลื่น (ของความคลั่งไคล้) ในประเทศเกาหลีใต้” ศัพท์คำนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นช่วงกลางปี 1990 โดยนักหนังสือพิมพ์ชาวปักกิ่ง ที่พยายามหาคำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์กระแสความนิยมหรือความคลั่งไคล้วัฒนธรรมเกาหลีในประเทศจีนในเวลานั้น และหลังจากนั้นมา คำว่า “ฮัน-รยู” หรือ Korean Wave ก็ถูกใช้กันต่อไปอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน
หลังจากคำว่า “ฮัน-รยู” ได้เปิดตัวสู่สากล มาจนถึงวันนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กระแสความนิยมในวัฒนธรรมเกาหลี รวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ได้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ช่วงปลายปีที่แล้ว พจนานุกรมอังกฤษอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ได้คัดเลือกคำศัพท์ภาษาเกาหลีที่กลายเป็นคำที่คนทั่วโลกมักได้ยินและใช้บ่อยจนได้รับการยอมรับให้เป็นคำศัพท์สากลจำนวน 26 คำ บรรจุเพิ่มเติมลงในพจนานุกรม
คอลัมน์ เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า เลยไม่พลาดที่จะหยิบมานำเสนอ พร้อมอธิบายขยายความคำศัพท์นั้นๆ กัน จะมีคำว่าอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ...
1. Aegyo (애교)  :  อ่านว่า แอ-คโย แปลว่า แอ๊บแบ๊ว หรืออาการแสดงท่าที่ว่าน่ารัก ออดอ้อน
2. Banchan (반찬) : พันชัน เครื่องเคียงเกาหลีที่ร้านอาหารมักเสิร์ฟให้ฟรี มาพร้อมข้าวกับอาหารจานหลัก เติมได้ไม่คิดเงินเพิ่มขณะรับประทาน พันชันที่นิยมเสิร์ฟมักจะเป็น กิมจิหัวไชเท้า กิมจิผักกาดขาว ถั่วลิสง ไข่ตุ๋น หรือไข่นกกระทาดองซีอิ๊ว
3. Bulgogi (불고기) :    พุลโกกิ  ‘พุล’ แปลว่าไฟ ‘โคกี’ แปลว่าเนื้อ พุลโกกิ หรือพุลโคกิ คือเนื้อวัวหรือเนื้อหมูผัดบนกระทะร้อน เป็นหนึ่งในเมนูอาหารเกาหลียอดนิยมในหมู่คนต่างชาติ
4. Chimaek (치맥 ) :    ชีแม็ก คำว่า ‘ชี’ มาจาก ชีเก่น (치킨) ที่ทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ แปลว่าไก่ ส่วนคำว่า ‘แม็ก’ มาจากแม็กจู (맥주) ที่แปลว่าเบียร์ในภาษาเกาหลี “ชีแม็ก” คือเมนูไก่กับเบียร์ ที่ดังขึ้นมาจากซีรีส์เกาหลี เพราะตัวละครในเรื่องสั่งไก่ทอดมากินกับเบียร์ หลังจากซีรีส์ออกอากาศไป เมนูนี้เลยเป็นที่นิยม และร้านขายไก่ทอดในเกาหลีเลยนิยมเสิร์ฟไก่ทอดคู่กับเบียร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
5. Daebak (대박) :   แทบัก เป็นคำอุทานกึ่งชื่นชม แปลว่า “สุดยอด” “เจ๋ง” หรือ “ยอดเยี่ยม” ส่วนมากมักจะได้ยินในซีรีส์ที่ตัวละครเป็นเด็กวัยรุ่น แนวชมเพื่อนหรือพฤติกรรมของเพื่อนว่าเจ๋งว่ะ สุดยอดไปเลย
6. Dongchimi (동치미) : ทงชีมี เป็นชื่อของกิมจิน้ำชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยหัวไชเท้า ผักกาดขาว หัวหอม พริกเขียว ขิง และลูกแพร์เกาหลี หมักลงในน้ำเกลือ ทงชีมีเป็นกิมจิที่ไม่มีรสเผ็ด คำว่า ‘ทง’ มาจากรากศัพท์ภาษาจีนคือ冬 ที่แปลว่าฤดูหนาว ส่วน ‘ชีมี’ เป็นศัพท์เกาหลีโบราณที่หมายถึงกิมจิ
7. Fighting (파이팅) : พาอีทิ่ง ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษคือไฟท์ติ้ง ( fighting ) ที่หมายถึง “สู้ๆ” ซึ่งเป็นการให้กำลังในใจแบบของคนเอเชีย ซึ่งหากไปใช้พูดกับฝรั่งเจ้าของภาษา อาจจะงงได้ เพราะสำหรับภาษาอังกฤษ คำว่าไฟท์ติ้ง คือการสู้ หรือการต่อสู้ ส่วนเวลาให้กำลังใจ จะใช้คำว่า cheer up แทน
8. Galbi (갈비)  : คัลบี แปลตรงตัวว่าซี่โครง เป็นชื่อเมนูอาหารที่ใช้ซี่โครงหมู หรือซี่โครงวัวเป็นส่วนประกอบ เมนูที่นิยมกันมากคือซี่โครงหมูย่างบาร์บีคิว หรือ ทเวจิกัลบี รวมถึงซุปซี่โครงวัวอย่าง คัลบีทังด้วย
9. Hallyu (한류) :  ฮัน-รยู กระแสความนิยมเกาหลีใต้ นอกประเทศเกาหลี
10. Hanbok (한복) : ฮันบก  ชุดประจำชาติเกาหลี
11. Japchae (잡채) : จับแช หนึ่งในเมนูฮิตของชาวต่างชาติที่ชื่นชมในอาหารเกาหลี จับแชคือวุ้นเส้นเกาหลีผัดกับหมูเส้น แครอท เห็ดหูหนู และผักโขม โรยด้วยงาขาว มักนิยมกินเคียงกับอาหารเมนูเนื้อ หรือใช้กินเป็นจานหลักก็ได้
12. K-,comb :  เค-คำนาม เป็นตัวขยายคำศัพท์ต่างๆ ที่ต้องการจะพูดว่าสิ่งนั้นมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเกาหลี เช่น K-food คืออาหารเกาหลี หรือ K-pop คือเพลงป็อปเกาหลีนั่นเอง
13. K-drama (k -드라마) : เคดราม่า หรือ ซีรีส์เกาหลี
14. Kimbap (김밥) : คิมบับ หรือข้าวห่อสาหร่าย เป็นหนึ่งในเมนูสตรีทฟู้ดยอดนิยมของคนเกาหลี เพราะกินง่าย ราคาถูกและอิ่มท้อง
15. Konglish (콩글리시) : คองกริช คือการรวมกันระหว่างคำว่า Korean กับ English หมายถึงภาษาอังกฤษแบบสไตล์เกาหลี หรือสำเนียงเกาหลี
16. Korean Wave : กระแสความนิยมในวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้
17. Manhwa (만화): มันฮวา แปลว่าการ์ตูน โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงอย่างการ์ตูนหรือเว็บตูนกำลังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง การ์ตูนหลายเรื่องในเว็บตูนเกาหลี ก็ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ม็อกบัง รายการโชว์กินอาหารแบบไลฟ์ในเกาหลีใต้
18. Mukbang (먹방) : ม็อกบัง คำว่า ‘ม็อก’ มาจาก ม็อกตะ ( 먹다 ) ที่แปลว่ากิน ส่วนคำว่า พัง หรือบัง มาจากพังซง (방송 ) ที่แปลว่า ถ่ายทอดออกอากาศ ม็อกบังคือชื่อเรียกรายการไลฟ์โชว์การกินอาหารทางยูทูบที่ได้รับความนิยมมากในช่วง 2-3 ปีหลัง
19. Noona (누나) : นูนา แปลว่าพี่สาว เป็นคำเรียกที่ผู้ชายอายุน้อยกว่าใช้เรียกผู้หญิงที่อายุแก่กว่า
20. Oppa (오빠) :  โอปป้า  แปลว่าพี่ชาย เป็นคำเรียกที่ผู้หญิงอายุน้อยกว่าใช้เรียกผู้ชายที่อายุมากกว่า ในที่นี้จะเป็นพี่ชายแท้ๆ หรือเป็นแฟนกัน และผู้หญิงเรียกแฟนว่าโอปป้าก็ได้เช่นเดียวกัน
21. PC bang (PC방) : พีซีบัง คือร้านเกมหรือร้านอินเทอร์เน็ตในเกาหลีใต้ เป็นศูนย์รวมของนักเรียนมัธยมที่ชอบเล่นเกมออนไลน์มารวมตัวกันเพื่อเล่นเกมกับเพื่อน เพราะพีซีบังจะมีอินเทอร์เน็ตที่แรงและเร็วกว่าอินเทอร์เน็ตบ้านทั่วไป
22. Samgyeopsal (삼겹살) : อ่านว่า ซัมกยอบซัล เมนูหมูสามชั้นย่าง อีกหนึ่งเมนูยอดฮิตของคนเกาหลีหลังเลิกงาน
23. Skinship (스킨십) : ซือกินชิบ ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษคือคำว่า Skinship ที่แปลว่าสัมผัส หรือการถูกตัว
24. Tang soo do (당수도) : ทังซูโด คือชื่อเรียกศิลปะการป้องกันตัวแบบเกาหลีดั้งเดิม เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ต่อยอดมาจากเทควันโด
25. Trot (트로트) : ทือโรทึ หรือเพลงลูกทุ่งเกาหลีที่โด่งดังในช่วงยุคปี 1950-1960
26. Unni (언니) : ออนนี่  แปลว่าพี่สาว เป็นคำเรียกที่ผู้หญิงอายุน้อยกว่า ใช้เรียกผู้หญิงที่อายุแก่กว่า
จาก 26 คำศัพท์ที่ถูกบรรจุลงในพจนานุกรมอังกฤษอ๊อกซ์ฟอร์ด เราจะเห็นได้ว่า คำศัพท์ส่วนใหญ่แล้วมักเกี่ยวข้องกับอาหารเป็นหลัก รองลงมาคือศัพท์ที่ได้ยินบ่อยๆ เป็นคำที่ใช้เรียกบุคคล หรือพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งแทรกซึมอยู่ในซีรีส์เกาหลีแทบจะทุกเรื่อง ซึ่งสำหรับคนไทยอย่างเราๆ สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของใครหลายๆ คน เพราะกระแสความนิยมเกาหลีไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เริ่มมีเข้ามาบ้านเราตั้งแต่ช่วงปี 2000 แล้ว
ซีรีส์ Squid Game
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในช่วง 2-3 ปีหลัง พัฒนาการความนิยมของ Korean Wave กำลังก้าวขึ้นไปในระดับสากลและส่งอิทธิพลถึงหลายประเทศในแถบตะวันตกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาพยนตร์เรื่อง Parasite ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 2020 ตามมาด้วยซีรีส์ Squid Game เมื่อกลางปีที่แล้ว ที่โด่งดังและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งในเกาหลีใต้และหลายประเทศในฝั่งตะวันตก จุดนี้เองจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กำลังนำพาประเทศเกาหลีใต้สู่เวทีระดับโลก และนั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่รัฐบาลเกาหลีใต้จะสามารถใช้สร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยว การส่งออกอาหารแปรรูป การส่งออกทางวัฒนธรรมอย่างภาษาเกาหลี รวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง ที่สามารถต่อยอดและทำรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาลในอีกหลายปีต่อจากนี้
เพราะในวันนี้ เกาหลีใต้สามารถพัฒนาตนเองจนทำให้ทั่วโลกหันมามองและให้ความสำคัญได้ Korean Wave จึงไม่ใช่เพียงแค่คลื่นที่ซัดกระแทกแล้วหายไปแบบไร้ทิศทาง แต่เป็นคลื่นยักษ์ที่ถูกวางแผนและออกแบบมาเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศในระยะยาวโดยการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชนในเกาหลีใต้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล
ภาพประกอบ
เรื่องโดย ธัญญ์พิศา กิ๊ฟ
โฆษณา