8 ก.พ. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
WoodSpoon แอปส่งอาหารโฮมเมด ที่บริษัทแม่ของ Burger King ลงทุน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาถึงของบริการดิลิเวอรีต่าง ๆ ทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น
และถ้าพูดถึงแอปพลิเคชันส่งอาหารในประเทศไทย ก็น่าจะมีชื่ออย่าง Grab, Foodpanda, LINE MAN
หรือล่าสุด ShopeeFood ที่กำลังเป็นน้องใหม่ไฟแรงในช่วงนี้
1
ซึ่งแต่ละราย ก็มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะชูเรื่องความหลากหลายของร้านค้า การบริการ รวมถึงโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม กันอย่างยกใหญ่ ยอมขาดทุนเพื่อดึงให้คนมาใช้งาน
เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่กำลังอยู่ในน่านน้ำสีแดง หรือ “Red Ocean”
โดยเรื่องนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น อย่างในสหรัฐอเมริกาก็ยังมีผู้เล่น ในตลาดส่งอาหารอยู่หลายราย เช่น Deliveroo, Uber Eats หรือ DoorDash
แต่ด้วยความที่ตลาดนี้มีขนาดใหญ่ โดยในปี 2020 มีการประเมินมูลค่าตลาดสั่งอาหารออนไลน์ทั่วโลกเอาไว้สูงถึง 3.7 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก
ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นสมรภูมิที่ร้อนแรงแค่ไหน ก็ยังมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่พยายามหาช่องว่างเข้ามาแย่งส่วนแบ่งจากตลาดนี้
WoodSpoon เองก็เป็นหนึ่งในนั้น..
ที่น่าสนใจคือ WoodSpoon ก่อตั้งขึ้นได้เพียง 2 ปี กลับสามารถหาจุดยืนที่แตกต่าง จนทำให้ปัจจุบัน ระดมเงินทุนไปได้กว่า 520 ล้านบาทแล้ว
แล้ว WoodSpoon แตกต่างจากแอปพลิเคชันดิลิเวอรีเจ้าอื่นอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จริง ๆ แล้ว WoodSpoon ก็มีโมเดลเหมือน ๆ กับแอปพลิเคชันส่งอาหารทั่วไปตามท้องตลาด
แต่จะต่างกันตรงที่อาหารที่ส่งนั้น จะไม่ได้มาจากร้านอาหาร แต่จะมาจาก “เชฟในท้องถิ่น”
หรือก็คือ WoodSpoon เป็นแอปพลิเคชันส่งอาหารที่เปิดโอกาสให้เชฟ หรือบุคคลที่มีฝีมือด้านอาหาร
สามารถทำอาหารขายผ่าน WoodSpoon ได้ ส่วนคนสั่งอาหาร ก็สามารถมองหาอาหารโฮมเมด
รสชาติบ้าน ๆ ที่ปรุงใหม่ ๆ ผ่าน WoodSpoon ได้เช่นกัน
โดยเจ้าของแอปพลิเคชัน WoodSpoon คือคุณ Oren Saar และคุณ Merav Kalish Rozengarten ทั้งคู่เป็นชาวอิสราเอลที่อาศัยในนิวยอร์ก และโหยหาการทานอาหารรสชาติแบบบ้านเกิด
จนตัดสินใจลองติดต่อหาเชฟ หรือคนในท้องถิ่นที่มีฝีมือในการทำอาหารหลาย ๆ คนมารวมกัน
และเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้มาแบ่งปันวัฒนธรรมและความหลงใหลในอาหารกับผู้อื่น
ที่มีความชอบเหมือนกันได้ผ่าน WoodSpoon
ทั้งนี้ เชฟหรือคนที่เลือกจะทำอาหารขาย จำเป็นต้องแสดงหลักฐาน การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยของอาหาร และ WoodSpoon ก็จะส่งคนไปตรวจสอบห้องครัวของเชฟ เพื่อความปลอดภัย ความสะอาด
จึงไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ ที่จะสามารถมาทำอาหารขายได้
ที่น่าสนใจคือ ช่วงเวลาที่ WoodSpoon เปิดตัวตอนต้นปี 2020 เป็นตอนที่ทั้งโลกเจอกับวิกฤติโรคระบาด
ทุกคนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน จึงเป็นช่วงเวลาที่ส่งผลให้ธุรกิจส่งอาหารเติบโตอย่างรวดเร็ว
ซึ่ง WoodSpoon ก็ได้รับประโยชน์ในช่วงเวลานี้เช่นกัน
ที่สำคัญ นอกจากจะเป็นช่องทางให้ลูกค้าได้สั่งอาหารแบบโฮมเมดแล้ว ด้านเชฟบางคนที่ร้านอาหารถูกปิด ก็ยังสามารถทำอาหารขาย เพื่อสร้างรายได้ได้ แม้จะไม่ได้ขายผ่านหน้าร้านแล้วก็ตาม
และความพิเศษที่ทำให้ WoodSpoon ขายได้ แม้จะอยู่ในน่านน้ำสีแดง ที่มีคู่แข่งจากแอปพลิเคชันส่งอาหารด้วยกัน
รวมไปถึงร้านอาหารต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายเต็มไปหมดคืออะไร ?
ลองจินตนาการว่า ในตอนที่เราไปเที่ยวต่างประเทศเป็นเวลานาน ๆ พอกลับมาถึงเมืองไทย เราก็คงจะโหยหา ส้มตำ ต้มยำ กะเพราหมู ผัดไทย หรือรสชาติจัดจ้านที่เราคุ้นเคยใช่ไหมคะ
ตัวผู้ก่อตั้ง WoodSpoon ก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน แต่กลับกันตรงที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ ทำให้ต่อให้อยากทานอาหารของบ้านเกิดแค่ไหน มันก็เป็นเรื่องยากที่จะหารสชาติที่ถูกใจ จากร้านอาหารในท้องที่ที่อาศัยอยู่
และแน่นอนว่า กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในต่างแดนหลายคน ก็น่าจะมีความรู้สึกลักษณะนี้เช่นกัน
เรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนกับจุดขายเล็ก ๆ ที่แตกต่างของ WoodSpoon ไม่ได้เน้นแค่ส่งอาหารจากร้านอาหาร เหมือนแอปพลิเคชันส่งอาหารอื่น
ซึ่งถ้าใครที่อาศัยอยู่ต่างประเทศนาน ๆ ก็อาจจะเคยเห็นกลุ่มในเฟซบุ๊กที่รวบรวมคนจากประเทศเดียวกันไว้
ผู้ก่อตั้ง WoodSpoon ก็อาศัยช่องทางนี้ในการตามหาเชฟฝีมือดี รวมไปถึงลูกค้าที่โหยหาอาหารพื้นเมือง
ปัจจุบัน WoodSpoon มีเชฟและพนักงานอยู่ภายใต้การดูแล 200 คน
และระดมเงินทุนไปได้แล้วกว่า 520 ล้านบาท
โดยหนึ่งในบริษัทที่ร่วมลงทุนก็คือ Restaurant Brands International เจ้าของร้านอาหารและเครื่องดื่ม อย่าง Popeyes และ Tim Hortons รวมถึงเป็นบริษัทแม่ของ Burger King
จริง ๆ แล้ว WoodSpoon ใช้โมเดลธุรกิจแบบ Sharing Economy ไม่ต่างจากบริษัทอื่น ๆ
อย่าง Grab, Uber หรือ Airbnb ที่วางตัวเป็นช่องทางให้กลุ่มคนที่มี “บางสิ่งเหลือ” มาเจอกับคนที่ “ขาดสิ่งนั้น”
แต่ถึงจะใช้โมเดลที่ไม่ต่างกัน แต่ด้วยจุดยืนที่ชัดเจนก็ทำให้ WoodSpoon ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดุเดือด..
โฆษณา