11 ก.พ. 2022 เวลา 10:00 • ไลฟ์สไตล์
Metaverse โอกาสเจอคู่ชีวิต มิตรภาพใหม่ และคนที่รอ Coins
www.springnews.co.th
ในโลกความจริง เรามีโอกาสเจอผู้คนมากมาย รักๆ เลิกๆ จนเป็นธรรมดาของโลก แต่สำหรับโลกคู่ขนานอย่าง Metaverse คุณคิดว่า เราจะสามารถหาใครสักคนมาเป็นคู่รัก มาเป็นเพื่อน หรือเดอะแก๊ง ผ่านแอป ผ่านแพลตฟอร์ม หรือ Metaverse ได้จริงๆ มั้ย?
เราต่างก็เกิดและเติบโตในสังคมและครอบครัวที่แตกต่าง การจะหาใครสักคนที่พอดีและดีพอเพื่อเป็น "คู่ชีวิต" จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในยุคที่การหลอกลวงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งออฟไลน์ - ออนไลน์ โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านแอป ผ่านแพลตฟอร์ม ไหนจะต้องเตรียมตั้งรับโลกเสมือน Metaverse หรือ จักรวาลนฤมิต อีก ดูๆ แล้วอาจจะรู้สึกว่าอนาคตนั้น อยู่ยาก แต่ถ้าพิจารณาให้ดี เทคโนโลยีช่วยเราได้ ทำร้ายเราได้ เราก็ต้องศึกษา รู้เท่าทัน และรู้จักใช้ประโยชน์เพื่อทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น(ให้จง)ได้
:: ใน Metaverse อะไรคือความจริง? ::
เนื่องจากการพูดคุยหรือใช้ชีวิตในโลก Metaverse ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที เทคโนโลยีที่รองรับ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์ IoT ฯลฯ เพื่อให้เกิดการโต้ตอบเสมือนจริงและเป็นแบบอินเตอร์แอคทีฟ
ในที่นี้ให้มองข้ามประเด็นเชิงเทคนิคไปก่อน และสมมุติว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีในโลกเสมือนที่พร้อมมากๆ จนเราสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนและเห็นปฏิกิริยาที่คนอื่นแสดงออกได้แบบทันทีทันใด ทำให้ความเรียลปรากฏผ่านการโต้ตอบแบบสดๆ ต่างจากการพิมพ์ข้อความหากัน เพราะการพิมพ์มักจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว...อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง
เมื่อชีวิตจริงไม่เป็นอย่างใจ ผู้คนในยุคดิจิทัลจึงหันไปพึ่งพาชีวิตในโลกเสมือน และจะมากยิ่งขึ้นหลังจากนี้ ไม่ว่าจะผ่านทางแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มหาเพื่อน/หาคู่ เช่น Tinder, Coffee meets Bagel, Bumble, Badoo จึงต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการนำเสนอฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ผู้ใช้งานอยู่เสมอ รวมถึงเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลก Metaverse
Source : Tinder
:: ฟีเจอร์ Explore ของ Tinder สู่ Immersive Dating Ecosystem ::
“โลกยุคหลังโควิด-19 คนรุ่นใหม่ที่กำลังหาคู่ขอให้เราคิดหาวิธีใหม่ๆ ที่สนุกมากยิ่งขึ้น สร้างความสัมพันธ์แบบเสมือนจริง และควบคุมได้มากขึ้นว่า จะพบเจอกับใครบน Tinder” Renete Nyborg ซีอีโอ Tinder กล่าว
พูดถึง Tinder แอปหาคู่ที่เปิดตัวในปี 2555 และยังได้รับความนิยมเรื่อยมา เพราะมีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันให้บริการกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ด้วยยอดดาวน์โหลดมากกว่า 450 ล้านครั้ง รองรับการใช้งานกว่า 40 ภาษา และมีมากกว่า 65,000 ล้านคู่ทั่วโลกที่แมตช์กันผ่านแอปนี้
ยกตัวอย่าง Explore เทคโนโลยีช่วยหาคู่ของ Tinder ที่เกิดหลังการอัปเดตฟีเจอร์ปัดขวา (Swipe) ซึ่งทาง Tinder บอกว่า เทคโนโลยีนี้ช่วยสร้างประสบการณ์อินเตอร์แอคทีฟเชิงลึกให้แก่ผู้ใช้งานได้ โดยใช้ส่องโพรไฟล์คนที่มีความสนใจเหมือนกันและผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น
Source : Tinder
หลักการทำงานคือ ระบบจะช่วยคัดสรรคนที่มีความชอบเหมือนกัน จากสิ่งที่ผู้ใช้งานระบุทิศทางการจับคู่แมตช์ด้วยตัวเอง เช่น
- หาคู่แมตช์จาก “ขนมกินเล่น” ในหมวด Foodie
- หาเพื่อนจาก “เลเวลเกม” ในหมวด Gamer
- หาคนที่สามารถแบ่งหูฟังกันใช้ในหมวด Music Lover
- รวมถึงหาคู่หูผู้ประกอบการได้ในหมวด Entrepreneurs
นอกจากความชอบที่ระบุรายละเอียดในวงที่แคบขึ้น ยังมีระบบช่วยตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้งาน (Verified User) โดย Explore จะให้ผู้ใช้งานยืนยันตัวตนผ่านการถ่ายรูปเซลฟี่ (Photo Verification) แบบเรียลไทม์ จากนั้นเทคโนโลยี AI จะนำไปเปรียบเทียบกับภาพโพรไฟล์ที่แสดงอยู่ และเมื่อโพรไฟล์ได้รับการยืนยันก็จะเห็นเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าขึ้นที่รูปโพรไฟล์
จากพัฒนาการของแอปที่เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนได้ทั่วโลก เมื่อก้าวเข้าสู่กระแส Metaverse การแสดงออกและบทสนทนาแบบเดิมนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป โดย Tinder ต่อยอดจากการพูดคุยกันแบบตัวจริงเสียงจริงผ่าน Explore ไปสู่ Immersive Dating Ecosystem หรือ ระบบนิเวศการเดตที่สร้างประสบการณ์และความประทับใจในรูปแบบใหม่ๆ เช่น
- Virtual Avatar : ผู้ใช้งานสามารถสร้างคาแรกเตอร์อวตารที่มีรูปร่างหน้าตาหรือเชื้อชาติใดก็ได้ พูดคุยกับใครก็ได้
- Virtual Event : ผู้ใช้งานพบกันในแอปก็จริง แต่เมื่อคิดจะแต่งงานกลับเลือกจัดงานแต่งใน Metaverse
- Virtual Goods : ซื้อของให้คนรักในโลกเสมือน แล้วของนั้นๆ ก็เดลิเวอรีถึงบ้านได้จริง
- Virtual Currency : Tinder Coins เงินดิจิทัลที่ Tinder เตรียมออกผู้ใช้งานใช้จ่ายภายในแอปพลิเคชัน โดยคาดว่าจะได้ใช้ทั่วโลกภายในปี 2565
www.springnews.co.th
:: มาดูความต้องการทางใจของเจน Z ผ่านการใช้งานแอป Tinder ::
ในรายงาน The Future of Dating is Fluid ของ Tinder ซึ่งนำข้อมูลจากโพรไฟล์ (ที่ได้รับอนุญาตแล้ว) และกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนแอปพลิเคชันในช่วงมกราคม 2563 - กุมภาพันธ์ 2564 มาประมวลผล ทำให้รู้ว่า...
- 60% ของสมาชิก Tinder รู้สึกโดดเดี่ยว
- 50% ของสมาชิก Tinder ทั่วโลกเป็นคนเจน Z (อายุ 18-25 ปี)
- 40% ของสมาชิก Tinder ที่เป็นเจน Z มองหา "คนใหม่ๆ และคนที่แตกต่าง”
- 32% การพูดคุยบน Tinder ยาวนานขึ้นในช่วงโควิดระบาด
- เจน Z อัปเดตข้อมูลส่วนตัวบ่อยกว่าเดิม 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาด
- เกือบ 50% ของสมาชิกเจน Z ใช้วิดีโอพูดคุยกับคู่แมตช์ในช่วงโควิดระบาด
- 3 พันล้านครั้ง คือสถิติของการปัด (Swipe) สูงที่สุดในหนึ่งวัน และเกิดขึ้น 130 ครั้งในปี 2564
เทรนด์การพบปะผู้คนใหม่ๆ ผ่านประสบการณ์เสมือนจริงใน Tinder หรือแอปอื่นๆ จะก้าวล้ำเกินจินตนาการที่เรานึกคิดได้ในตอนนี้ โดยเฉพาะกับคนเจน Z ที่เติบโตมากับเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด การเว้นระยะห่าง การเรียนออนไลน์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยวเหงาเศร้าซึม และต้องหาทางคลายเหงาด้วยการเข้าไปใช้ชีวิตในโลก Metaverse มากกว่าโลกความเป็นจริง
โฆษณา