Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE BRIEFBOOK
•
ติดตาม
7 ก.พ. 2022 เวลา 15:04 • หนังสือ
เปลี่ยนงานบ่อยๆนั่นเป็นพวก “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ”
...ความเชื่อโบราณที่เหมือนจะซึมลึกลงในเกลียวดีเอ็นเอของคนไทย กลายเป็นบรรทัดฐานไว้คอยตัดสินคนใดก็ตามที่ไม่อดทนทำงานเดิมๆได้นาน เราทุกคนเคยได้ยิน รู้สึกถึงมัน และบางทีอาจเคยตัดสินคนอื่นด้วยแนวคิดนี้ด้วยกันทั้งนั้น
...แน่นอนว่าความจริงจะเปลี่ยนแปลงตามบริบทที่มันแวดล้อม แต่กรอบความเชื่อนั้นล้วนแข็งทื่อ การนำความเชื่อนั้นไปตัดสินคนอื่นๆ ไม่ต่างกับการถือค้อนแล้วมองหาตะปู เพื่อทุบ ทุบ ทุบและก็ทุบ ความง่ายคือการทุบ แต่สิ่งที่ยากนั้น คือการวางค้อนนั่นลง และตระหนักรู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีเพียงตะปู…
...การไหลไปตามความเชื่อเดิม การหลอมไปตามเสียงผู้คนส่วนมาก นั้นง่ายสบาย แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่ามันจะวิ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง David Epstein ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ มิใช่เพียงผู้ที่กล้าตั้งคำถาม แต่เขายังนำคำตอบมาวางไว้ตรงหน้าเราอีกด้วย
• เราควรเลือกเก่งไปสักทางไหม ?
• เราควรน้อยเนื้อต่ำใจหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้จริงจังกับอะไรสักอย่าง ?
• เราจะเปลี่ยนงานได้ตามใจ โดยไม่กังวลกับสายตาและคำตัดสินได้อย่างไร ?
...หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือจิตวิทยา ระหว่างทางมันอาจไม่เยียวยาคุณ แต่คำตอบของมันจะทุบกรอบความเชื่อที่คุณมีให้แตกเป็นเสี่ยงๆ คุณจะพอใจกับการเป็นเป็ดมากขึ้น ไม่ใช่สิ เป็นตัวเองมากขึ้น คุณจะหลุดจากการโดนทุบ ไม่ใช่เพราะคนอื่นไม่ทุบคุณ แต่เพราะคุณจะไม่ทุบตัวเองอีกต่อไป
____________________________________
...ระหว่าง “ไทเกอร์ วูดส์” ที่ฝึกเล่นกอล์ฟมาตั้งแต่ 2 ขวบ และไม่เคยเปลี่ยนอาชีพเลย กับ “โรเจอร์ เฟดเดอเรอร์” ที่ก่อนจะเป็นนักเทนนิส เขาเล่นกีฬามาอย่างหลากหลาย ก่อนที่สุดท้ายจะรู้ตัวว่าเขาถนัดเทนนิสมากที่สุด
...เราควรเลือกความถนัดให้เร็วที่สุด หรือควรให้เวลากับการค้นหาตัวตนให้มากที่สุด ?
...จะว่าไปแล้วการสร้างความเป็นเลิศเฉพาะทางตั้งแต่เด็กนั้น ก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก รู้หรือไม่ว่า นักหมากรุกที่ฝึกเล่นหมากรุกหลังอายุ 12 ปี จะมีโอกาสไปถึงระดับมาสเตอร์นานาชาติ ลดลงจากหนึ่งในสี่ เหลือเพียงหนึ่งในสิบห้าเท่านั้น หมายความว่ายิ่งคุณเริ่มฝึกช้า โอกาสที่จะขึ้นเป็นระดับแนวหน้าของวงการยิ่งลดลง
...ถ้าคุณไปสัมภาษณ์นักกีฬา นักดนตรีที่ประสบความสำเร็จ คุณอาจจะพบว่าเค้าเหล่านั้นบ่มเพาะทักษะมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้ว และนั่นอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทเกอร์ประสบความสำเร็จ
...แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมอัจฉริยะที่ฝึกตนตั้งแต่วัยกระเตาะ มีเพียงน้อยคนนักที่จะขึ้นเป็นผู้นำในแต่ละวงการ แต่กลับเต็มไปด้วยบุคคลที่ลองผิดลองถูกมากมายกว่าจะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่เดินออกจากห้องผ่าตัดระหว่างเรียนแพทย์ และไม่กลับไปเรียนอีกเลย มุราคามิ ที่อยากเป็นนักดนตรี เป็นเจ้าของบาร์แจ๊ส แต่กลับจบลงด้วยการเป็นนักเขียนนวนิยายระดับโลก แวนโก๊ะ ที่เป็นทั้งคนขายงานศิลปะ ผู้ช่วยครู มิชชันนารี เสมียนร้านหนังสือ ว่าที่บาทหลวง นักเทศน์เร่ร่อน และลงเอยด้วยการเป็นจิตรกรเลื่องชื่อผู้มีผลงานมากกว่า 2000 ชิ้น
...มีผู้คนอีกมากมายที่ก้าวสู่ความเป็นเลิศโดยที่ไม่ได้บ่มเพาะทักษะนั้นๆมาตั้งแต่เด็ก งานวิจัยหนึ่งของเยอรมัน พบว่าชุดผู้เล่นที่ได้แชมป์โลกปี 2014 มักเป็นคนที่เลือกเล่นกีฬาเฉพาะทางภายหลัง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เล่นเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงก่อนอายุ 22 ปี แล้วอย่างนี้การเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อมันเป็นข้อเสียอย่างไรล่ะ !
____________________________________
...Epstein ได้ให้คำตอบไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นความรู้ลึกหรือรู้รอบ ก็มีความสำคัญต่อความสำเร็จทั้งสิ้น แต่เราต้องแยกประเภทให้ได้ก่อนว่าทักษะนั้นๆเป็นทักษะที่มีแพทเทิร์นตายตัวหรือไม่
...กล่าวคือ ทักษะหรืออาชีพที่มีแพทเทิร์นของปัญหา ซ้ำๆ เดิมๆ มีตัวแปรที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ไม่มากเกินไป การฝึกตั้งแต่วัยเด็กจะยิ่งมีแต้มต่อที่ดีกว่า เช่น ดนตรี กีฬา หรืองานศิลปะบางประเภท โดยเฉพาะ หมากรุก เด็กที่จำแพทเทิร์นการเดินหมากได้มากกว่า และฝึกตอบสนองต่อแพทเทิร์นนั้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จะก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นได้มากกว่า
ดังนั้น ยิ่งฝึกตั้งแต่เด็กจะยิ่งได้เปรียบมากกว่า แต่เมื่อลองเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่างที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบที่จดจำหรือฝึกฝนมา เขาพบว่าอัจฉริยะเหล่านี้แก้ปัญหาได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป หรือบางทีอาจแย่กว่าด้วยซ้ำ
...ส่วนอาชีพที่มีตัวแปรมากมายส่งผลต่อผลลัพธ์นั้น การรู้กว้างจะมีแต้มต่อที่ดีกว่า เช่น นักเศรษฐศาสตร์ ผู้นำองค์กร นักธุรกิจ ผู้นำประเทศ หรืออาชีพอื่นๆที่ต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะที่หลากหลายประกอบกัน เพื่อสะสมมุมมอง ประสบการณ์ และความเฉียบแหลมในการแก้ปัญหา
...การทดลองของดันบาร์ ยืนยันแนวคิดนี้ได้อย่างดี เขาแยกกลุ่มทดลองออกเป็นสองห้อง เพื่อแก้ปัญหาเดียวกัน ห้องแรก คือผู้เชี่ยวชาญสาขาเดียวกันรวมตัวกัน ส่วนอีกห้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา
เขาพบว่าห้องที่มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาสามารถแก้ปัญหาได้ทันทีในที่ประชุมเลย ส่วนห้องที่มีแต่ผู้เชี่ยวชาญสาขาเดียวกันกลับต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะพบคำตอบ
...ข้อเสียของความเชี่ยวชาญ คือการพยายามใช้ความรู้เฉพาะที่ตนรู้ไปแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น บวกกับอคติที่มั่นใจในความเชี่ยวชาญของตนทำให้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนด้วยมุมมองที่แคบเกินไป
นี่อาจเป็นจุดอ่อนของมนุษย์ เพราะมีการทดลองแล้วว่า มนุษย์จะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตนมีความรู้และคุ้นเคยมากกว่า แต่กลับไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งที่ตนเองยังไม่รู้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า แม้จะมีความเชี่ยวชาญอย่างสูงก็ตาม แต่ถ้าต้องนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับเรื่องที่ซับซ้อน ไร้แพทเทิร์น ผู้เชี่ยวชาญอาจมีโอกาสตกหลุมพรางนี้โดยไม่รู้ตัว
____________________________________
...จริงอยู่ที่ว่า คนที่ฝึกทักษะมาตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีแต้มต่อด้านรายได้หลังจบมหาวิทยาลัย แต่จากการศึกษาพบว่า คนที่ฝึกที่หลังสามารถชดเชยเรื่องนี้ได้ด้วยการหางานที่เหมาะกับตัวตนและบุคลิกของตัวเองได้มากกว่า และแม้จะเสียโอกาสในการสะสมชั่วโมงบินในช่วงแรกไป ทักษะหลากหลายที่ได้มาก็ออกดอกผลตอบแทนได้คุ้มค่าไม่ต่างกัน
...ประเด็นนี้อ้างอิงได้จาก การศึกษาที่ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกของ “โอเฟอร์ มาลามัด” นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น
มาลามัดทดลองเปรียบเทียบระบบการศึกษาของ 2 ประเทศ ในประเทศอังกฤษ นักศึกษาจะถูกบังคับให้เลือกสาขาเอกตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย แต่สก๊อตแลนด์จะให้เลือกวิชาเอกเมื่ออยู่ในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เราอาจคิดว่าการเลือกวิชาเอกเร็วกว่าย่อมทำให้เชี่ยวชาญกว่าส่งผลต่อรายได้ที่ดีกว่าในอนาคต
...แต่ผลการทดลองกลับไม่เป็นเช่นนั้น แม้ว่าช่วงแรกนักศึกษาจากอังกฤษจะมีรายได้ที่สูงกว่า แต่นักศึกษาสก๊อตแลนด์กลับมีรายได้ตามทันในภายหลัง นั่นก็เพราะว่านักศึกษาอังกฤษมีอัตราการเปลี่ยนสายงานที่สูงมาก ทำให้ต้องไปเริ่มต้นงานใหม่ในสายงานที่ไม่ได้ถนัด ในขณะที่นักศึกษาสก๊อตแลนด์กลับค้นพบสายงานที่ถนัดและมีความสุขกับงานมากกว่า
...การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าการถูกบังคับให้เลือกวิชาที่ถนัดเร็วเกินไป โดยที่ยังไม่รู้ถึงความชอบและความถนัดที่แท้จริงของตน ส่งผลต่อความพึงพอใจและความมั่นคงต่องานที่ทำในอนาคต
สุดท้าย นักศึกษาสก๊อตแลนด์ที่เลือกสาขาเอกช้ากว่ากลับได้ประโยชน์มากกว่า นั่นก็เพราะตัวระบบให้ความสำคัญกับ ‘การค้นหาตัวตน’ มากกว่า ‘การเร่งผลิตผู้เชี่ยวชาญ’
...ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การเริ่มช้า กลับกัน การเริ่มช้า คือองค์ประกอบที่ขาดเสียไม่ได้สำหรับความสำเร็จสุดท้ายต่างหาก !
____________________________________
…จากการศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า การเริ่มช้า การเปลี่ยนงาน การเสียเวลาไปกับการค้นหาตัวตน หรือที่เราถูกตีขลุมไปว่าเป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อนั้น หาใช่เรื่องน่าอายไม่ แท้จริงกลับเป็นกระบวนการค้นหาตัวตน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่จะกำหนดความสุขและรายได้ของคุณในอนาคต
…อย่าเสียใจเมื่อคุณยังไม่เจองานที่ชอบ อย่านอยไปถ้ายังไม่เจออาชีพที่ถนัด และอย่ากลัวสายตาใครถ้าคุณต้องเปลี่ยนงานบ่อยๆ มันคือกระบวนการ และที่สำคัญอย่าปล่อยให้กรอบกรงของสังคมมาจำกัดการค้นพบตัวของคุณ
...บทสรุปของวิชารู้รอบก็คือ คุณสามารถเริ่มได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ถ้าคุณพบว่าคุณชอบอะไรและทักษะเหล่านั้นเป็นทักษะที่มีแพทเทิร์นชัดเจน แต่ถ้าเป็นทักษะที่มีตัวแปรมากมายที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ ให้คุณลองทำและเรียนรู้หลายๆด้าน ค้นหาเลือกเฟ้นสิ่งที่สอดคล้องกับจิตวิญญาณและตัวตนของคุณ ทั้งนี้เพื่อให้สาขาวิชาต่างๆนั้นช่วยเสริมมุมมองและเขี้ยวเล็บให้กับคุณ แม้จะเสียเวลากับการลองผิดลองถูกในช่วงแรกไป แต่จงมั่นใจว่าผลที่ได้มันจะคุ้มค่าอย่างแน่นอน
สุดท้าย… เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจว่า ทุกทักษะและการกระทำที่เราประสบพบเจอและผ่านพ้น มันไม่ได้สูญหายไปไหนเลย มันหลอมรวมอยู่ในตัวเราเสมอ
คุณอาจไม่ใช่พริกที่เผ็ดจัด มะนาวที่เปรี้ยวจี๊ด หรือเกลือที่แสนเค็ม แต่โดยรวมแล้วคุณนั่นแหละคือ “ต้มยำที่โคตรอร่อย”
#เพราะไม่มีการกระทำใดที่จะสูญเปล่า
//พะโล้
10 บันทึก
11
4
10
11
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย