8 ก.พ. 2022 เวลา 03:44 • ความคิดเห็น
อันที่จริงคำว่า "อีโก้" มาจากคำว่า Ego หนึ่งในทฤษฎีบุคลิกภาพของบิดาต้นเรื่องจิตวิทยา ซิกมัน ฟรอยด์ ที่บอกว่า Id, Ego และ Superego เป็นโครงสร้างของจิต 3 ระดับที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน Id คือจิตไร้สำนึก, Ego คืออัตตา และ Super Ego คืออภิอัตตา ทั้งหมดนี้ใช้เพื่ออธิบายความสลับซับซ้อนในวิธีคิด การกระทำ และกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ (ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับมาถึงปัจจุบัน และยังไม่มีทฤษฎีอื่นมาลบล้างทฤษฎีนี้ ดังนั้นต้องเข้าใจว่ามันเป็นเพียงทฤษฎี ไม่ใช่กฎ)
คนไทยหยิบเอามาคำเดียว คือ "อีโก้"และเติมคำว่าสูงเข้าไปเพื่อเป็นการขยายให้เห็นภาวะที่มีอยู่มากจนส่งภาพออกมาในเชิงลบ แต่ที่จริงแล้ว อีโก้นั้นมีนิยามว่า คืออัตตา หรือตัวตนแห่งความเป็นจริง ซึ่งเป็นตัวตนของเราที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้พฤติกรรมของเราสามารถถูกยอมรับได้ในสังคม และปัจจัยความคาดหวังของสังคมก็มีหลายอย่าง เช่นกาละเทศะ บรรทัดฐาน และวัฒนธรรม มันจึงมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน
ดังนั้น เราจึงไม่ค่อยจะหยิบศัพท์คำว่าอีโก้มาใช้พร่ำเพรื่อ เรามักพูดว่า "นางเป็นคนที่มีอัตตาสูงนะ อย่าคิดว่านางจะเข้าใจเรื่องนี้ง่ายๆ" ซึ่งไม่ได้แปลเชิงลบว่านางร้าย แต่มันแปลว่า นางเป็นตัวของตัวเองสูง และจุดยืนชัดเจน เพราะนางเก่ง และได้รับบทเรียนเป็นผู้ถูกกระทำมามาก เราไม่อาจทราบได้เลยว่า แต่ละคนผ่านอะไรมาบ้าง เจออะไรในชีวิตมาบ้าง และถูกหล่อหลอมมาอย่างไรบ้าง
แต่ที่เราเคยประสบด้วยตัวเอง แล้วรับไม่ได้มากที่สุด คือ คนประเภทจมไม่ลง เท้าไม่ติดพื้น เมื่อถึงเวลาต้องจม ก็จมไม่ลง เช่น เคยยิ่งใหญ่ เป็นบิ๊กมาก่อน มีหน้ามาตามาก่อน แต่เมื่อถึงคราวชีวิตดิ่งเหว และมีทางเลือกให้ไปเป็นลูกจ้างคนอื่น ก็ไม่สามารถยอมรับสภาพแบบนั้นได้
โฆษณา