8 ก.พ. 2022 เวลา 11:03 • การเมือง
จับตา พรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ทุกฝ่ายมองว่าเป็น “ขาลง”
ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2565 เป็นต้นมาต้องยอมรับว่าปีนี้พรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเจอกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สู้ดี นับตั้งแต่การพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมถึง 3 เขต โดยเฉพาะในเขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ที่ผลคะแนนมันสะท้อนถึงความนิยมที่หายไปเป็นอย่างมาก แถมยังตามมาด้วยความขัดแย้งภายในจนถึงขั้นที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ถูกขับออกจากพรรคพร้อมกับ ส.ส. อีก 21 คน และล่าสุดการลาออกจากพรรคพลังประชารัฐของ “แรมโบ้อีสาน” นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปเข้าร่วมกับ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” พร้อมกับอีกหลายคน
เรื่องนี้นำไปสู่การวิเคราะห์ทางการเมืองจากสื่อ และคอการเมืองจำนวนมาก ที่มองว่านี่เป็นภาวะที่พรรคพลังประชารัฐกำลังอยู่ในช่วงขาลง และมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงมาก หากมองผลการเลือกตั้งซ่อม 3 เขตที่ผ่านมา โดยเฉพาะเขตหลักสี่ ที่คะแนนของพรรคพลังประชารัฐตกต่ำเหลือเพียงแค่ 7,906 คะแนน ซึ่งถือว่าคะแนนหายไปมากถึง -19.09% ที่น่ากลัวก็คือการแพ้พรรคกล้าซึ่งมีฐานเสียงเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ แสดงให้เห็นว่าคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐลดลงเป็นอย่างมาก
การออกจากพรรคพลังประชารัฐทั้งจากกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส และคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐ ยังมีความขัดแย้งภายใน โดยเป็นที่รู้กันดีว่า ร.อ.ธรรมนัส กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นน่าจะมีความไม่ลงรอยกันในบางเรื่อง จนเป็นเหตุให้เกิดคลื่นใต้น้ำในพรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาล ในขณะที่การออกจากพรรคพลังประชารัฐของกลุ่มคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ นั้นอาจเกิดจากความไม่มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะอยู่ในสถานะไหน เมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทำให้หลายฝ่ายมองว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ คือ พรรคสำรองของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป
แม้ว่าความขัดแย้ง และกระแส “ขาลง” ของพรรคพลังประชารัฐจะถูกปฏิเสธจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าไม่เป็นความจริง รวมถึงยังมั่นใจว่าสามารถคุมกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ได้ อีกทั้งแสดงความมั่นใจต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ด้านรักษาการเลขาธิการของพรรคก็ระบุว่าตอนนี้มีแต่คนอยากย้ายมาอยู่กับพลังประชารัฐ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของพรรคจะย้อนแย้งกับภาพที่เห็น แม้ว่า พล.อ.ประวิตร จะมั่นใจว่าสามารถพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส ได้ แต่คะแนนนิยมของพรรค รวมถึงคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นก็เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร ต้องคิดให้หนัก เพราะคะแนนนิยมของพรรค และ พล.อ.ประยุทธ์ ในเวลานี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็ยิ่งทำให้คะแนนนิยมของพรรคตกต่ำ แถมนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้จนถึงวันนี้นับกันไม่ไหวว่ากี่เรื่องที่ทำไม่สำเร็จ
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปทั้งสิ้น แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีความได้เปรียบหลายอย่าง แต่สถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปมากในวันนี้ ความได้เปรียบเหล่านั้นใช่ว่าจะสามารถทำให้ได้รับคะแนนเสียงเช่นเดิม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ ส.ส.ในพรรคต้องคิดด้วยเช่นกัน ว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปพรรคพลังประชารัฐยังจะเป็นแกนหลักให้ถือธงลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่
กระแสข่าวเรื่องพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะพรรคการเมืองสำรองของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เช่นกัน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจนอะไร แต่ฐานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ในพรรคพลังประชารัฐวันนี้อยู่ในจุดไหน? มี ส.ส. ในมือหรือไม่? หรือทุกวันนี้ พล.อ.ประวิตร คือ เดอะแบก ที่ทำให้หน้าที่ควบคุมพรรคและ ส.ส. ในมือ ถ้ามองในมุมนี้การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะหาทางมีพรรคสำรองเผื่ออุบัติเหตุทางการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
การเมืองไทยหลังจากนี้จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะขึ้นชื่อว่าการเมืองแล้ว ไม่เคยมีมิตรแท้ หรือศัตรูถาวร และความแน่นอนไม่เคยมีอยู่จริงในการเมืองของไทย!!!
การเมืองไทยหลังจากนี้จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะขึ้นชื่อว่าการเมืองแล้ว ไม่เคยมีมิตรแท้ หรือศัตรูถาวร และความแน่นอนไม่เคยมีอยู่จริงในการเมืองของไทย!!!
โฟกัสทุกความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยสาระ 
ที่ TopNewsFocus เลือกสรรมาให้คุณเติมอาหารสมองกันได้ทุกวัน
ติดตาม Topnewsfocus ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา