8 ก.พ. 2022 เวลา 11:03 • หุ้น & เศรษฐกิจ
7 ข้อต่าง DR vs ลงทุนหุ้นต่างประเทศเอง
ช่วงนี้หลายคนน่าจะเห็นข่าวเรื่องของการเสนอขาย IPO ของ DR หุ้นจีนหุ้นหนึ่ง บางคนก็สงสัยว่าแล้ว DR คืออะไร ต่างจากซื้อหุ้นนั้นเองโดยตรงยังไง ในอนาคตบ้านเราอาจมีการทำ DR หุ้นต่างประเทศมากขึ้นก็ได้ มารู้จักเรื่องของ DR กัน
DR ย่อมาจาก Depositary Receipt ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
DR เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนสินทรัพย์ เช่น หุ้น หรือ ETF ต่างประเทศ ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ โดยมีตัวกลางคือ บริษัทหลักทรัพย์ หรือธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต ตัวกลางนี้จะซื้อหุ้น หรือ ETF ต่างประเทศมา และออกเป็น DR หุ้นหรือ ETF อ้างอิงนั้น การออกเป็น DR เพื่อให้สามารถซื้อขายหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นได้ด้วยเงินไทย ในตลาดหุ้นบ้านเรา โดยผู้ออกอาจกำหนดเป็น 1 DR ต่อ 1 หุ้น ซึ่ง DR นี้จะซื้อขายบนกระดานหุ้นบ้านเราตามปกติ
ข้อเด่นของ DR คือ ทำให้เราสามารถลงทุนหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศได้สะดวก และได้ผลประโยชน์คล้ายกับลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศนั้นโดยตรง โดยไม่ต้องเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศ สามารถใช้พอร์ตหุ้นเดิมที่เราซื้อขายหุ้นไทยอยู่แล้วได้ และไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศเพื่อซื้อหุ้นหรือ ETF ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ
ข้อที่ต้องพิจารณาเพิ่มในการลงทุน DR
เนื่องจากมีตัวกลาง ดังนั้นจะมีความเสี่ยงด้านเครดิต ความน่าเชื่อถือของผู้ออก DR ได้ และเมื่อมีตัวกลางอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่น เงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นอ้างอิง ในการส่งผ่านตัวกลางมายังผู้ถือ DR อาจมีการหักค่าใช้จ่าย ซึ่งตรงนี้ต้องอ่านเงื่อนไขรายละเอียดของ DR นั้นๆ ด้วย
และนอกจากจะมีความผันผวนจากสินทรัพย์นั้นเอง อัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังมีความผันผวนจากราคาของ DR เองได้ด้วย
1
การลงทุนใน DR ถึงแม้เราไม่ได้ต้องแลกเงินต่างประเทศเพื่อซื้อสินทรัพย์นั้นโดยตรงจากต่างประเทศ แต่ก็จะมีเรื่องความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ เช่น ถ้าราคาหุ้นต่างประเทศตัวนั้นขึ้น แต่เมื่อเปลี่ยนกลับเป็นเงินไทยแล้วติดลบ ก็อาจทำให้ DR ตัวนั้นไม่ขึ้นได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
การซื้อขาย DR ในกระดานหุ้นนั้นจะมีราคาเปิดปิด ราคา ceiling และ floor ช่วงราคาซื้อขายเหมือนหุ้นไทยตามปกติ แต่การซื้อขายหุ้นตามปกตินั้นจะซื้อขายเป็น Board lot อย่างน้อย100 หุ้น และเป็นจำนวนเพิ่มของ 100 แต่ของ DR นั้น ขั้นต่ำคือ 1 DR เท่านั้น
และในเรื่องของภาษี ถ้าเราลงทุน DR ก็จะได้ในส่วนของส่วนต่างกำไร (capital gain) ซึ่งตอนนี้ยังไม่ต้องเสียภาษี ส่วนเงินปันผลถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เหมือนเราลงทุนหุ้นไทยนั่นเอง
ในประเทศเรายังไม่ค่อยมี DR แต่จะเห็นว่าการลงทุนผ่าน DR ก็ทำให้ผู้ลงทุนอย่างเราสามารถลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์และทางเลือกให้กับผู้ลงทุนถ้าบ้านเรามีการทำ DR หุ้นต่างประเทศมากขึ้น
#DR #DepositaryReceipt #DRคืออะไร #ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ #ทางเลือกลงทุน #ลงทุนหุ้นต่างประเทศ #หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา