9 ก.พ. 2022 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
ล้มละลาย กับ ฟื้นฟูกิจการ ต่างกันอย่างไร ?
ถ้าเราเป็นเจ้าของธนาคาร ปล่อยกู้ให้กับบริษัท 100,000,000 บาท
วันดีคืนดี บริษัทนั้นประสบปัญหาและมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้
1
ในเวลาต่อมา หากเราตามทวงหนี้สินจนสุดทางแล้ว แต่ทางบริษัทก็ยังไม่สามารถชดใช้ได้
ทางออกที่จะแก้ปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ ก็จะเหลืออยู่ 2 วิธี
คือไม่ปล่อยให้ล้มละลาย ก็ต้องเป็นการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
แล้ว 2 วิธีนี้ ต่างกันอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าตามกฎหมายแล้ว
ผู้ถือหุ้นของกิจการไม่ต้องชดใช้หนี้สินใด ๆ ที่ก่อขึ้นในนามบริษัท
1
เนื่องจากการก่อตั้งนิติบุคคลในรูปของบริษัทจำกัดนั้น
คำว่า “จำกัด” คือ การจำกัดความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้น ให้ไม่เกินกว่าส่วนที่ได้ลงทุนไป
1
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ไม่ว่าบริษัทจะมีหนี้สินเท่าไร
ผู้ถือหุ้นก็รับผิดชอบเท่ากับส่วนที่ได้ลงทุนไปแล้วเท่านั้น
ทำให้เจ้าหนี้ ไม่สามารถตามหนี้กับตัวผู้ถือหุ้นได้ เพราะหนี้ถูกก่อขึ้นในนามบริษัท นั่นเอง
3
แล้วมีวิธีใดบ้าง ที่เจ้าหนี้จะได้รับการชดใช้หนี้สินที่เหลืออยู่ ?
สำหรับทางออกของปัญหานี้ มีอยู่ 2 ทางคือ
1. ปล่อยล้มละลาย
2. เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
2
จริง ๆ แล้ว ทั้ง 2 วิธีนี้ มีจุดประสงค์เดียวกันเลยก็คือ เป็นวิธีหาทางชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
แต่พอมาดูในรายละเอียดแล้ว ก็ต้องบอกว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เริ่มที่การล้มละลาย
2
การล้มละลายเกิดขึ้น โดยมีเจ้าหนี้ฟ้องร้องต่อศาล ว่าลูกหนี้มีหนี้สินคงค้างจำนวนมาก เกินกว่าที่จะบริหารจัดการ หรือกระทบต่อการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ได้
2
โดยตามกฎหมายแล้ว มีข้อกำหนดชัดเจนคือ ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล ต้องมีหนี้สินไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท และ 1 ล้านบาทสำหรับบุคคลธรรมดา จึงเข้าข่ายที่จะถูกฟ้องล้มละลาย
ซึ่งเมื่อเกิดการฟ้องล้มละลาย และศาลพิจารณาแล้วว่า ลูกหนี้ไม่สามารถชดใช้หนี้ได้
กระบวนการต่อมาที่จะเกิดขึ้นเรียกว่า “พิทักษ์ทรัพย์”
1
พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล และรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ มาชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผ่านการยึดหรืออายัด แล้วนำมาขายทอดตลาด โดยที่ลูกหนี้ไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ กับทรัพย์สินได้
1
ในขณะที่การฟื้นฟูกิจการนั้น เกิดขึ้นหลังจากมีการยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการ
โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อรักษาสภาพการดำเนินกิจการของลูกหนี้
หากศาลเห็นว่ายังพอมีช่องทางที่ลูกหนี้สามารถชดใช้หนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ได้
1
โดยมีเงื่อนไขคือ บริษัทขนาดใหญ่มีหนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
และบริษัทขนาดกลางและเล็ก มีหนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท
1
สำหรับการจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่นั้น
ศาลจะพิจารณา จากแผนการฟื้นฟูกิจการที่ถูกจัดทำขึ้น
หากศาลเห็นว่า มีโอกาสที่จะปฏิบัติได้สำเร็จตามแผน ก็จะออกคำสั่งฟื้นฟูกิจการแก่ลูกหนี้
3
หลังจากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู แล้วยังไงต่อ ?
ผลจากคำสั่งฟื้นฟูกิจการคือ การพักการชำระหนี้
หรือก็คือการรักษาสภาพคล่องของกิจการให้ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ในช่วงเวลาที่พักชำระหนี้ ลูกหนี้ก็สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ
เพียงแต่ไม่สามารถ ทำธุรกรรมที่จะเพิ่มภาระ หรือข้อผูกมัดต่อทรัพย์สินของลูกหนี้ได้
เช่น ห้ามจำหน่าย ห้ามโอน ห้ามให้เช่า หรือห้ามก่อหนี้เพิ่มเติมแล้ว
ยกเว้นศาลอนุญาตให้ทำ หรืออยู่ในแผนฟื้นฟูที่ศาลอนุมัติ
1
ตัวอย่างบริษัทที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการที่เรารู้จักกันดี ก็คือ บริษัท การบินไทย จำกัด
เนื่องจากภาวะขาดทุนของบริษัท ที่สะสมมานานหลายปีติดต่อกัน ทำให้มีหนี้สะสมอยู่แสนล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากรายได้ของการบินไทย จึงเป็นเรื่องยากที่การบินไทยจะชดใช้หนี้ที่มีอยู่ได้
2
สุดท้ายแล้ว การบินไทยก็ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และทำให้เกิดการพักชำระหนี้เกิดขึ้น
ซึ่งตามแผนการฟื้นฟูที่ถูกจัดทำร่วมกัน หลายฝ่ายก็ยินยอมให้มีการกู้ยืมเงินบางส่วน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูกิจการ
1
จากที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ย่อมดีกว่ากระบวนการล้มละลาย
เพราะการฟื้นฟูกิจการนั้น ทำให้ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการ และเปิดโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อความอยู่รอดขององค์กร
ในขณะที่เจ้าหนี้ก็มีโอกาสที่จะได้รับการชดใช้หนี้สินมากกว่าการล้มละลาย
ที่ไม่แน่ว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ หลังจากขายทอดตลาด จะมีมูลค่ามากขนาดไหน
อีกทั้งการฟื้นฟู ก็ยังช่วยรักษาการจ้างงาน และห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งก็จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่ลูกค้าของกิจการก็ตาม..
3
โฆษณา