9 ก.พ. 2022 เวลา 10:40 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Web3 คืออะไร? สรุปแบบง่าย
1
Web3 คืออะไรกันแน่?
Web3 คือเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของอินเตอร์เน็ท ที่คาดหวังกันว่าจะมาเป็นพระเอกช่วยให้เกิดการกระจายศูนย์อำนาจ (decentralize) ออกไปจากบรรดาบริษัท Tech Giant หรือกลุ่มอภิมหาบริษัทที่ส่วนใหญ่มาจากซิลิคอนแวลเลย์ เช่น กูเกิล ไมโครซอฟท์ อามาซอน เฟสบุ๊ค
1
เรารู้กันว่าปัจจุบันบริษัทพวกนี้ผูกขาดข้อมูลของคนส่วนใหญ่ในโลก และด้วยข้อมูลที่เป็นทั้งสินทรัพย์และอำนาจต่อรองมหาศาล รวมไปถึงความมั่นคงปลอดภัยของพวกเรา ก็ดูเหมือนว่าน่าจะดีที่จะดึงการผูกขาดนี้ออกมาจากกลุ่มบริษัทสัญชาติอเมริกันเพียงจำนวนหยิบมือนี้ ออกมาให้คนตัวเล็กตัวน้อยทั่วโลก ใช่ไหมครับ?
1
แต่ก่อนที่เราจะด่วนสรุปเช่นนั้น ลองมาดูกันก่อนสักนิดว่า เทคโนโลยีเบื้องหลัง Web3 คืออะไร และมันทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง?
  • Blockchain ทำให้เกิด Web3
เบื้องหลังของ Web3 ก็คือเล็ดเจอร์เทคโนโลยี หรือ blockchain ที่พวกเรารับรู้กันมาพักใหญ่แล้ว และนี่ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดสกุลเงินคริปโต bitcoin, NFT, และอีกมากมายที่คงไม่ต้องอธิบายในที่นี้ รายละเอียดหากสนใจหาอ่านได้ใน Blockdit นี่เอง มีมากมายครับ
1
แสดงว่า Web3 ก็มีมานานได้พักหนึ่งแล้ว? ถูกต้องครับ ข้อสำคัญก็คือเทคโนโลยี blockchain ไม่ได้มีไว้หรือจำกัดอยู่แค่เพื่อให้มีสกุลเงินคริปโตเท่านั้น แต่สินทรัพย์ดิจิทัลทุกชนิด และยูสเคสอื่น ๆ อีกมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา แต่ผู้ใช้ในวันนี้ก็น่าจะยังแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังใช้ Web3 อยู่ เพราะหน้าตาของมันไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก การเข้าถึงก็ยังใช้เบราเซอร์เหมือนที่ผ่านมา ไม่ได้ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ
2
ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์เกือบทุกชนิดต้องมีเงื่อนไขหนึ่ง คือความเชื่อถือ (Trust) เข้ามาเกี่ยวช้องเสมอ และคนที่สร้างความเชื่อถือมักจะต้องเป็นรัฐบาล หรือคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายหรือทุกคนเชื่อถือมาช่วยรับรอง เช่น ธนาคารเป็นคนกลางที่เราควรเชื่อถือในเวลาที่ทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุค Web3 คือ เวลาทำความตกลง ดำเนินการซื้อขายทางธุรกิจ หรือความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนใด ๆ ก็ตามที่ทำบนอินเตอร์เน็ท เมื่อผ่านเทคโนโลยี Blockchain เราแทบไม่ต้องกังวลเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ เรียกมันว่า เอา Trust ออกไปจากสมการได้เลย บางคนเรียกสิ่งนี้ว่า trustless society ไม่ใช่ว่าไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่สามารถตัดประเด็นนี้ออกไปได้เลย ไม่ต้องเอามาคิดอีก
1
ในยุคของ Web3 คุณและผมหรือใครก็สามารถเปิดร้านค้าได้ง่าย ๆ สามารถสร้าง social media อย่างทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือระบบ e-mail ขึ้นมาเองได้ หรือแม้แต่ตั้งธนาคารได้ สร้างสกุลเงินขึ้นมาใหม่ก็ยังได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องค่อย ๆ สร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาก่อน เพราะความน่าเชื่อถือได้ถูกฝังอยู่ในระบบเรียบร้อยแล้ว
1
smart contract ทำให้ผู้ใช้ตัดข้อกังวลเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจออกไปจากสมการ เพราะอยู่ใน code แล้ว นี่คือไอเดียของ bitcoin หรือ DeFi นั่นเอง
  • แล้วก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร?
ตั้งแต่มีอินเตอร์เน็ทและเว็บ ในยุคแรกๆ ต่างคนก็ต่างจะสร้างหน้าเว็บของตัวเอง แล้วกระจายข้อมูลโดยอาศัยการเชื่อมต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่าไฮเปอร์ลิ๊งค์ เกิดคำพูดว่า web surfing หรือการเล่นเว็บกระโดดไปเรื่อย ๆ เหมือนนักโต้คลื่นกระโดดจากยอดคลื่นลูกหนึ่งไปยังอีกลูกหนึ่ง และการดูหน้าเว็บเรียกว่าเบราซ์ ผ่านโปรแกรมเว็บเบราเซอร์ เรียกว่าดูผ่าน ๆ ไปเรื่อย ต่อมาเริ่มมีผู้เข้ามาช่วยจัดการข้อมูลด้วยการทำโปรแกรมค้นหา (search engine) เช่นยาฮู และกูเกิล สปีดของอินเตอร์เน็ทเวลานั้นช้ามาก ถึงขั้นมีการล้อว่า นี่คือ world wide wait
ต่อมาบริษัทพวกนี้เริ่มเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ไปทำ big data เพื่อวิเคราะห์และขายข้อมูลที่วิเคราะห์นั้น ไปมีอิทธิพลมากมายแม้กระทั่งในการเลือกตั้งของอเมริกา หลังจากที่ฟองสบู่ดอทคอมแตกในช่วงต้นยุคปี 2000 ก็เกิด Web 2.0 ที่ผู้ใช้กลายเป็นผู้สร้างข้อมูล (เหมือน Blockdit ตอนนี้) เกิดสื่อสังคมหรือ social media และบริษัทอย่าง Facebook ก็เกิดในเวลานี้ จนเข้าสู่ยุคของการรวมศูนย์อำนาจ (centralize) ข้อมูลทั่วโลก ขณะที่ในการชำระเงินก็จะต้องมีผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ (เช่น ธนาคาร หรือบริษัทบัตรเครดิต) เป็นตัวกลางให้คนเชื่อมั่น
ในยุคของ Web3 ผู้ใช้เว็บทั่วโลกจะสามารถปลดแอกตัวเองออกจากการถูกผูกขาดข้อมูลโดยบรรดาบริษัท Tech Giant ที่กล่าวถึงข้างต้นครับ เพราะว่าในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของเว็บไปเรียบร้อยแล้ว และมีอิทธิพลต่อโลกมากมาย เมื่อ Web3 ทำให้ไม่ต้องคิดเรื่องความน่าเชื่อถืออีก ก็ทำให้เกิดความคาดหวังว่า อำนาจที่เคยรวมศูนย์จะถูกกระจายศูนย์หรือ decentralize เราก็จะไม่ต้องง้อบริษัทที่ผูกขาดข้อมูลพวกนี้อีกต่อไป
ในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งที่รัฐบาลไม่สามารถวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ไม่สามารถสร้างระบบการให้บริการที่มีความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้ ก็อาจจะได้ประโยชน์จาก Web3 ที่เข้ามาตอบโจทย์ ประชาชนจะไม่ต้องกังวลเรื่องบริการภาครัฐที่ไม่แน่ไม่นอนหรือเชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป เพราะความกังวลเรื่อง trust มันจบไปแล้ว
  • แต่...ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป
1
Web3 ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เหมือนถ้าเป็นเครื่องบินก็ยังอยู่ในยุคเครื่องใบพัดปีกสองชั้น ในอนาคตมันมีแนวโน้มจะกลายเป็นเครื่องบินเจ็ทความเร็วเหนือเสียง ตอนนี้จึงยังเร็วไปที่จะบอกว่าอนาคตของ Web3 จะเป็นอย่างไรต่อไป คงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเริ่มชัดขึ้นครับ
ส่วนความคาดหวังเรื่องการกระจายอำนาจผูกขาด ยังมีหลายคนที่ไม่เชื่อเช่นนั้น แน่นอนการกระจายอำนาจคงจะเกิดขึ้นจริง แต่มันใช่ว่าอำนาจจะไปอยู่ในมือของผู้ใช้ทุกคน เพราะผู้ใช้หลายคนก็ไม่ได้คิดว่าอยากจะเข้าไปเป็นผู้เล่นอย่างเต็มตัวเสียเมื่อไหร่ ดีไม่ดีหลังจาก decentralize ก็อาจจะเกิดการ re-centralize ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของคอมพิวเตอร์ก็เป็นเช่นนั้น จากยุคของเครื่องเมนเฟรมขนาดใหญ่ ก็กระจายอำนาจออกมาเป็น PC เข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ทก็เหมือนจะเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน กลับมาถูกครอบงำโดย Tech Giants เสียอีก และในครั้งล่าสุดนี้ก็เป็นผู้ใช้เองที่ยินยอมพร้อมใจให้ข้อมูลส่วนตัวไปเพื่อแลกกับบริการที่จะได้มา เราจะป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีกได้หรือไม่
นอกจากนี้ Web3 ยังต้องเจอกับปัญหาเรื่องความสิ้นเปลืองในการยืนยันตัวตนและการใช้พลังงานที่มหาศาลของระบบ blockchain อย่างเช่นระบบของสกุลเงิน Ethereum ต้องใช้พลังงานแต่ละปีพอ ๆ กับพลังงานของประเทศปานามาทั้งประเทศ และว่ากันว่า blockchain ต้องใช้พลังงานพอ ๆ กับพลังงานที่ใช้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ทีเดียว
3
เรายังจะต้องติดตามเรื่องราวการเติบโตของสัตว์ประหลาดตัวใหม่ที่ชื่อว่า Web3 กันต่อไปครับ
  • อ่านเพิ่มเติม
โฆษณา