Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
10 ก.พ. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
AirAsia กำลังทำอะไร ในวันที่ต้องเป็นมากกว่า สายการบิน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับความผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด 19 คือ “อุตสาหกรรมการบิน”
เพราะการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ การงดการเดินทาง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้สายการบินหลายแห่งประสบปัญหาอย่างหนัก
และแม้ว่า วิกฤติโควิด 19 จะเริ่มดูคลี่คลายลงเมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ธุรกิจสายการบินต้องปรับตัวไปจากเดิมค่อนข้างมาก
หนึ่งในนั้นคือ AirAsia ที่ในวันนี้ได้มีการขยับปรับตัวกันไปแล้ว
AirAsia ทำอย่างไร ในวันที่ต้องเป็นมากกว่าสายการบิน THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ AirAsia กันก่อน
AirAsia เป็นสายการบินราคาประหยัดของประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 และเริ่มเปิดการบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในปี 1996
AirAsia เป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซียเมื่อวัดตามขนาดฝูงบินและจุดหมายปลายทาง โดยมีจำนวนฝูงบินกว่า 255 ลำซึ่งมีการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางกว่า 165 แห่ง ใน 25 ประเทศ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 สายการบินราคาประหยัด (Low Cost Airline) ได้รับความนิยมมากขึ้นมาโดยตลอด และเติบโตไปตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา
ด้วยราคาที่คนจำนวนมากเข้าถึงได้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้โดยสารมาใช้บริการสายการบินลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ลองมาดูจำนวนการเติบโตของผู้โดยสารที่ใช้บริการของ AirAsia ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2016 จำนวนผู้โดยสาร 26.4 ล้านคน
ปี 2017 จำนวนผู้โดยสาร 39.0 ล้านคน
ปี 2018 จำนวนผู้โดยสาร 44.4 ล้านคน
ปี 2019 จำนวนผู้โดยสาร 51.6 ล้านคน
ปี 2020 จำนวนผู้โดยสาร 13.3 ล้านคน
แต่แล้วการเกิดขึ้นของวิกฤติโควิด 19 ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อหลายอุตสาหกรรม หนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นเหยื่อของเรื่องนี้ก็ อุตสาหกรรมสายการบิน
เรามาดูผลประกอบการของ AirAsia ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร
ปี 2020 รายได้ 24,700 ล้านบาท ขาดทุน 46,500 ล้านบาท
9 เดือนแรก ปี 2021 รายได้ 8,000 ล้านบาท ขาดทุน 22,200 ล้านบาท
ดูตัวเลขแบบนี้ก็ต้องบอกว่า AirAsia นั้นยังเหนื่อยอยู่ ไม่ต่างกับสายการบินอีกหลายแห่ง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ AirAsia จึงต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ เพื่อทำให้บริษัทก้าวเดินต่อไป มากกว่าการเป็นเพียงแค่สายการบินเหมือนที่ผ่านๆ มา
โดยคุณโทนี่ เฟอนันเดส Group CEO ของ AirAsia ได้มีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรใหม่ และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ในชื่อว่า “Capital A”
ความตั้งใจของคุณโทนี่ เฟอนันเดส ในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คือ เขาอยากเปลี่ยนบริษัท AirAsia จากเดิมที่เป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการด้านสายการบิน มาเป็นผู้ให้บริการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ดิจิทัลแบบครบวงจร
ซึ่งเขามองว่าจะช่วยลดและกระจายความเสี่ยงของธุรกิจสายการบิน ที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากผลกระทบของวิกฤติโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
เขากล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจสายการบินนั้น บริษัทจะยังคงใช้แบรนด์ AirAsia ต่อไป เนื่องจากการเป็นแบรนด์ชั้นนำและแข็งแกร่งในสายการบินราคาประหยัดของเอเชีย
แต่ในส่วนของ Capital A จะถูกมอบหมายให้เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่เข้าไปลงทุนถือหุ้นในธุรกิจใหม่ ๆ ของกลุ่มบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจให้บริการจัดส่งอาหารและพัสดุ การเรียกรถ และการชำระเงินทางดิจิทัล เป็นต้น
ซึ่งคุณโทนี่ เฟอนันเดส เชื่อว่า ธุรกิจใหม่เหล่านี้จะช่วยทำให้กลุ่ม AirAsia มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ดี
เนื่องจากกลุ่มบริษัทนั้น มีฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งของลูกค้า ซึ่งสร้างขึ้นมานานกว่า 2 ทศวรรษ
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คุณโทนี่ เฟอนันเดส มองว่าจะช่วยทำให้รายได้ที่ไม่ใช่ของสายการบิน (non-airline business) จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นของรายได้รวมของกลุ่ม AirAsia ในอนาคต
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า อนาคตของกลุ่ม AirAsia หลังจากการปรับตัวในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร บริษัทจะกลับมาเติบโตเหมือนอย่างสมัยก่อนที่จะเกิดไวรัสโควิด 19 ได้หรือไม่
ที่สำคัญจะเป็นมากกว่าสายการบินอย่างที่คุณโทนี่ เฟอนันเดส หวังไว้หรือไม่ เวลาเท่านั้นจะคอยให้คำตอบแก่พวกเรา..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า ข้อมูลจาก สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (the International Air Transport Association) ระบุว่า
ในปี 2022 นี้ แม้สถานกาณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลายประเทศผ่อนคลายล็อกดาวน์ คนมีการเดินทางโดยสารด้วยเครื่องบินมากขึ้น
แต่ธุรกิจสายการบินทั่วโลกน่าจะยังได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อเนื่องจากปีก่อน โดยตีเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1.7 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเสียหายนี้ ก็ยังถือว่าดีขึ้นจากปี 2021 ที่ไวรัสโควิด 19 ได้สร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจสายการบินทั่วโลกรวมกันสูงกว่า 4.6 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว..
References
●
https://www.forbes.com/sites/jonathanburgos/2022/01/31/tycoon-tony-fernandes-airasia-renamed-capital-a-as-loss-making-airline-pivots-to-digital-businesses/?sh=629ab7b12b60
●
https://en.wikipedia.org/wiki/AirAsia
●
https://capitala.airasia.com/5_year_financials.html
●
https://capitala.airasia.com/misc/quarterly_report_2021_09_31.pdf
airasia
4 บันทึก
12
5
4
12
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย