13 ก.พ. 2022 เวลา 13:00 • บ้าน & สวน
มารู้จักผักสามัญประจำสวน ที่ปลูกง่ายได้ประโยชน์สารพัดกันเถอะ
3
ปลูกผักกินเองเป็นหนึ่งในวิธีลดค่าใช้จ่ายทำได้เรื่อยๆ และเห็นผลในระยะยาว ผักบางชนิดใช้พื้นที่ไม่มากมายจะปลูกในกระถางวางรอบบ้านในเมืองก็ทำได้ เพียงแต่ต้องรู้และศึกษาให้เข้าใจพืชผักที่จะปลูก คือ
1. ควรเลือกชนิดผักให้เหมาะกับพื้นที่ที่มีอยู่ เช่น หากบ้านมีพื้นที่ว่าง 2 – 4 ตารางเมตร ควรเลือกปลูกผักที่เป็นไม้พุ่มเล็ก ๆ ความสูงไม่เกิน 1.50 เมตร และใช้พื้นที่ด้านล่างปลูกผักอายุสั้น ซึ่งสามารถหมุนเวียนปลูกผักชนิดต่าง ๆ ได้เรื่อย ๆ
2. ตำแหน่งที่ปลูกควรได้รับแสงแดดเพียงพออย่างน้อยครึ่งวัน ถ้าเป็นผักกินผล เช่น พริก ถั่วฝักยาว บวบ หากได้รับแสงแดดไม่เพียงพอต้นจะไม่ออกดอก ลำต้นยืดยาวข้อห่าง ทรงพุ่มไม่สวยงาม
3. ถ้าต้องการปลูกเป็นไม้กระถาง ควรเลือกผักที่สามารถปลูกในภาชนะได้ หากเป็นผักที่เป็นไม้พุ่มและมีอายุหลายปีควรเลือกภาชนะที่มีขนาดใหญ่กว่า 30 เซนติเมตร
4. ควรเลือกปลูกผักที่นิยมบริโภคกันในครัวเรือน ถ้าผลผลิตมีมากก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้
5. ควรคำนึงถึงความยากง่ายในการปลูกเลี้ยงและการดูแลรักษาด้วย โดยเฉพาะมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มปลูก ควรเลือกผักที่เพาะขึ้นง่าย เลี้ยงง่ายมาปลูกก่อน
6. หลีกเลี่ยงปลูกผักเมืองหนาว หากอยู่ในพื้นที่อากาศร้อนอย่างภาคกลาง อาจทำให้ผักเจริญเติบโตไม่ดีนักหากต้องการปลูกควรเลือกผักเมืองหนาวบางชนิดที่แข็งแรงทนทาน เช่น บรอกโคลี ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม ปวยเล้ง พริกหวาน หากปลูกอาจจะต้องสร้างโรงเรือนเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิ
เมื่อรู้ทริคที่ช่วยให้ปลูกผักรอดกันแล้ว มาเลือกผักปลูกในสวนที่จะทำให้มีกำลังใจในการปลูกด้วย ผักสามัญประจำสวน เหล่านี้กัน
โหระพา
Common Basil, Sweet Basil : Ocimum basilicum L.
มีกลิ่นหอม นิยมบริโภคเป็นผักสดหรือใช้ประกอบอาหารหลายอย่าง ปลูกเลี้ยงง่าย หากปลูกด้วยเมล็ด หลังจากหว่านเมล็ดไว้ 7 – 10 วันจะเริ่มงอกเป็นต้นกล้า เมื่อต้นแตกใบจริงมากขึ้น ควรให้ปุ๋ยในอัตราเจือจาง จะช่วยให้ต้นอวบ ผลิใบสวยงามพร้อมเก็บกินได้ หากต้นผลิช่อดอกควรตัดแต่งออก จะช่วยให้ต้นเป็นพุ่มสวยงาม ผลิใบได้มากขึ้น และเก็บกินได้ตลอดปี ถ้าปลูกด้วยการปักชำกิ่งต้นจะแข็งแรงและเติบโตได้ดีภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ปัจจุบันมีพันธุ์ที่ให้ใบใหญ่อวบหนา มีกลิ่นหอมแรง และแข็งแรงทนทานให้เลือกปลูกโหระพาอาจพบหนอนผีเสื้อกัดกินใบบ้าง แต่ไม่เป็นปัญหามากนัก
โหระพามีกลิ่นหอมชวนกิน จึงกลายเป็นส่วนผสมของแกงเผ็ดหรือกินเป็นผักสด มีสรรพคุณช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ นอกจากนี้เมล็ดที่แช่น้ำจนพองยังนำมาใช้เป็นยาระบายและแก้บิดได้
กะเพรา
Holy Basil : Ocimum tenuiflorum L.
ผักกินใบ มีกลิ่นหอม เป็นไม้พุ่มอายุ 1 - 2 ปี โตเร็ว เลี้ยงง่ายชอบดินร่วนระบายน้ำดี เพียงโรยเมล็ดทิ้งไว้ 7 – 10 วัน ต่อมาเมล็ดจะเริ่มงอกเป็นต้นเล็ก ๆ หากต้นขึ้นเบียดกันแน่นต้องถอนแยกออกบ้างเมื่อต้นเจริญเป็นพุ่มควรหมั่นเด็ดมาปรุงอาหาร เพราะเมื่อต้นโตเต็มที่จะเริ่มผลิดอก ติดเมล็ด ทำให้ต้นแก่ โทรมเร็ว และไม่อร่อย เว้นแต่ว่าต้องการเก็บเมล็ดไว้ปลูกรุ่นต่อไป ส่วนก้านกะเพราที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ยังนำมาปักชำไว้ปลูกต่อได้ แต่ต้นอาจไม่งามนักกะเพราไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องโรค แต่อาจมีแมลงศัตรู เช่น มวนแก้วกะเพรา (Lace Bug) เป็นแมลงปากดูดตัวเล็ก ๆ สีดำที่คอยดูดน้ำเลี้ยงตามใต้ใบ ทำให้ใบแห้ง กรอบแดง โทรม คล้ายกับการขาดน้ำ มักระบาดในฤดูแล้ง จึงควรหมั่นฉีดน้ำใต้พุ่มใบอยู่เสมอจะช่วยป้องกันได้
กะเพรามีสรรพคุณช่วยขับลม ในอดีตมักนำใบมาต้มให้เด็กอ่อนดื่มแก้ท้องอืดเฟ้อ หรือนำใบสดมาขยี้ให้มีกลิ่น ใช้ไล่แมลงได้
มะเขือเทศ
Garden Tomato, Love Apple : Solanum lycopersicum L.
ไม้เลื้อยอายุสั้น ชอบดินร่วนระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูงมีแสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดจากผลที่สุกเต็มที่มาล้างเมือกลื่นออกให้หมด ผึ่งในที่ร่มให้แห้งแล้วหว่านเมล็ดลงในกระบะเพาะ ประมาณ 10 วันเมล็ดจะเริ่มงอกและแตกใบจริง จากนั้นจึงย้ายลงหลุมปลูก ให้ปุ๋ย และทำค้างเพื่อผูกต้นให้สูงขึ้น เมื่อต้นมีอายุ 3 – 4 สัปดาห์จะผลิดอกออกผลควรเริ่มให้ปุ๋ยบำรุงผล และเก็บผลเมื่อเริ่มสุกแดงประมาณหนึ่งในสามแล้วเก็บในตู้เย็น จะเก็บได้นานกว่าเก็บผลสุกสีแดงทั้งผลมะเขือเทศมักพบโรคใบแห้ง โรคโคนเน่า ผลเน่า เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว และหนอนเจาะผล
1
มะเขือเทศมีหลายพันธุ์ให้นำมาบริโภค ทั้งมะเขือเทศสีดา มะเขือเทศผลใหญ่ มะเขือเทศเชอร์รี่ และมะเขือเทศราชินี รวมทั้ง มะเขือส้ม พันธุ์พื้นบ้านของไทย แต่ทุกพันธุ์ต่างก็มีสารไลโคปีน (Lycopene) ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง แต่บางท่านอาจมีอาการแพ้ ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังและแผลในปาก มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือทำให้ปวดศีรษะสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรน
คะน้า
Chinese Broccoli, Chinese Kale : Brassica oleracea L. Alboglabra group
ผักกินใบอายุสั้น ปลูกเลี้ยงง่าย เพียงหว่านเมล็ดลงแปลงปลูกหรือในภาชนะที่มีดินร่วนระบายน้ำดี วางในที่มีแสงรำไรประมาณ 7 วัน เมื่อเมล็ดเริ่มงอกเป็นต้นกล้าก็นำออกมาให้ได้รับแสงแดดมากขึ้น เมื่อต้นมีอายุ 2 สัปดาห์จึงเริ่มให้ปุ๋ยในอัตราเจือจาง หากเป็นคะน้าพันธุ์เล็กจะสามารถเก็บได้เมื่อต้นมีอายุ 20 – 25 วัน พันธุ์ใหญ่เก็บเมื่ออายุ 45 – 55 วัน เวลาตัดควรใช้มีดหรือกรรไกรตัดให้มีใบเหลืออยู่สักสองใบ ไม่นานจะแตกยอดตามข้อเพิ่มขึ้น และสามารถตัดมากินได้อีก คะน้ามักพบหนอนผีเสื้อต่าง ๆ และด้วงหมัดกระโดดเข้ากัดกินใบอยู่เสมอ
คะน้าอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งแคลเซียม วิตามินซี และเบต้าแคโรทีนที่มีประโยชน์กับร่างกาย ที่บริโภคในบ้านเรามีทั้ง พันธุ์ใบแหลม พันธุ์ใบกลม และพันธุ์ยอดหรือก้าน
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
Chinese Cabbage : Brassica rapa L. Chinensis group
ผักกินใบอายุสั้น ปลูกได้ทุกภาคและตลอดปี พันธุ์ที่นิยมปลูกและบริโภคมีทั้งผักกวางตุ้งใบ ผักกวางตุ้งดอก และผักกวางตุ้งฮ่องเต้ นอกจากนี้ยังมีผักกาดจอหรือผักกาดจ้อน และผักกาดฮีนที่มีขอบใบหยักเว้า ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านของชาวเหนือและชาวอีสาน ปลูกเลี้ยงง่าย เพียงหว่านเมล็ดประมาณ 7 – 10 วันจะเริ่มงอกเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ เมื่อต้นเริ่มแตกใบจริงจึงให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง ประมาณ 1 เดือนหลังปลูกจึงเก็บผลผลิตได้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ถ้าเป็นผักกวางตุ้งใบเก็บได้ใน 40 วัน และผักกวางตุ้งดอกเก็บได้ใน 30 – 35 วันหลังปลูกกวางตุ้งมักพบปัญหาหนอนกินใบ ด้วงหมัดกระโดด และเพลี้ยต่าง ๆ
การปรุงผักกวางตุ้งให้อร่อยมีเคล็ดลับง่าย ๆ โดยนำผักกวางตุ้งมาผ่านความร้อนแบบไม่ต้องปิดฝา เพื่อให้สารไทโอไซยาเนต (Thiocyanate) ในผักระเหยออกไป เพราะหากร่างกายได้รับสารนี้ในปริมาณมากจะทำให้ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำได้
ผักบุ้ง
Swamp Morning Glory, Water Spinach : Ipomoea aquatica Forssk.
ผักบุ้งหรือผักทอดยอด เป็นผักกินใบที่เติบโตได้ทั้งบนบกและในน้ำ แต่ถ้าให้มีคุณภาพดี ควรปลูกผักบุ้งก้านแดงและผักบุ้งไทยไว้ในน้ำ ต้นจะอวบอ้วน กรอบอร่อยกว่า โดยใช้ส่วนของลำต้นปักลอยในอ่างบัวหรือสระน้ำในบ้าน ไม่นานก็จะเจริญต่อไปได้ส่วนผักบุ้งจีนควรปลูกลงดิน โดยหว่านเมล็ดลงแปลง ประมาณ 7 วันเมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ อีก 1 สัปดาห์จึงเริ่มให้ปุ๋ย หลังจากนั้นอีก 10 วันก็เก็บกินได้ผักบุ้งมักพบหนอนผีเสื้อกัดกินใบให้เสียหาย สำหรับพันธุ์ที่ปลูกในน้ำ หากเลี้ยงเต่าหรือปลาขนาดใหญ่ไว้ในบ่ออาจกลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำเหล่านั้นได้
ผักบุ้งอุดมด้วยวิตามินเอและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง ที่นิยมบริโภคมีอยู่ 3 พันธุ์ คือผักบุ้งก้านแดงที่กินกับส้มตำ ผักบุ้งไทย ลำต้นเขียวขนาดใหญ่ที่ใส่ในก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ และผักบุ้งจีนที่มีลำต้นเล็ก ใบเรียวยาว นิยมนำมาผัดไฟแดง
ผักกาดหอม
Lettuce : Lactuca sativa L.
ผักกินใบ ปลูกได้ตลอดปี เริ่มจากหว่านเมล็ดลงในพื้นที่ที่ต้องการปลูก ประมาณ 7 – 10 วันจะเริ่มงอก เมื่อต้นเริ่มผลิใบจริงควรถอนแยกเพื่อไม่ให้ต้นแน่นเกินไป ต่อมาอีก 1 สัปดาห์จึงเริ่มให้ปุ๋ยเมื่อต้นอายุ 40 – 45 วันนับตั้งแต่เพาะเมล็ดจึงเก็บไปกินได้ ระหว่างปลูกควรให้น้ำสม่ำเสมอ เพราะถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพอ ต้นจะแคระแกร็นไม่อร่อย และถ้าปลูกในที่อุณหภูมิสูงเกินไปจะทำให้มีรสขมและแทงช่อดอกเร็ว ผักกาดหอมเป็นผักสวนครัวที่อาจพบหนอนผีเสื้อกัดกินใบบ้างแต่ไม่มากนัก
ผักกาดหอมอุดมด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามินซี ธาตุเหล็ก และเฮโมโกลบิน ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง สำหรับพันธุ์ที่ปลูกในเมืองไทยมี 3 ประเภท คือ ผักกาดหอมห่อ (Head Lettuce) ใบห่อเป็นหัวผักกาดหอมใบ(Leaf Lettuce) ต้นเตี้ย ใบไม่ห่อ และผักกาดหอมต้น (Stem Lettuce) ลำต้นอวบ สูง แต่ไม่นิยมกันมากนัก
สะระแหน่
Kitchen Mint : Mentha cordifolia Opiz ex Fresen.
ผักกินใบ ทรงพุ่มเล็กกะทัดรัด ลำต้นสีม่วงแดงทอดเลื้อยไปตามผิวดิน หลายท่านมักกล่าวว่า สะระแหน่ปลูกและขยายพันธุ์ยาก สิ่งสำคัญคือ ดินปลูกต้องร่วนและระบายน้ำได้ดี มีแสงแดด รำไร อากาศชื้นเย็น ขยายพันธุ์ด้วยการนำกิ่งมาปักชำ รดน้ำให้ พอชื้น ประมาณ 10 วันหากยอดยังเขียวสดแสดงว่าเริ่มแตกรากแล้ว หมั่นดูแลเรื่องดิน น้ำ และความชื้นให้พอเหมาะ ไม่นานก็จะเติบโตต่อไป สามารถปลูกในภาชนะเตี้ย ๆ ได้เพราะมีระบบรากตื้น หากหมั่นเด็ดยอดอยู่เสมอ ตัดแต่งใบเสียใบแห้งออกบ้าง ออกบ้างก็จะได้ไม้พุ่มกระถางเล็กที่ให้ดอกสีม่วงตกแต่งสวนได้อย่างสวยงาม แต่ควรใช้กรรไกรที่คมและสะอาดตัดทุกครั้ง จะช่วยให้ยอดที่เหลือไม่เน่าตาย อาจพบหนอนผีเสื้อกัดกินใบบ้าง แต่ปัญหาหลักคือรากเน่าในช่วงฤดูฝน
สะระแหน่ช่วยตกแต่งอาหารให้ดูน่ากินยิ่งขึ้น ใบมีรสซ่าลิ้นและกลิ่นหอมที่เข้ากับเนื้อสัตว์ได้อย่างดี ทั้งยังมีสรรพคุณมากมาย อาจนำใบมาต้มน้ำดื่มในฤดูหนาวเพื่อแก้หวัด หรือนำใบมาขยี้ทาผิวเพื่อกันยุง
ผักชีฝรั่ง
Saw-leaf Herb, Thorny Coriander : Eryngium foetidum L.
ผักกินใบ ทรงพุ่มเล็กกะทัดรัด ปลูกเลี้ยงง่าย เพียงแค่นำต้นที่เหลือจากการปรุงอาหารมาปักชำในภาชนะที่มีดินร่วนระบายน้ำดีวางไว้ในที่มีแสงรำไร ประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมีแตกราก ผลิใบใหม่ เจริญเติบโตต่อไปได้ แต่ควรให้ปุ๋ยบ้างเล็กน้อยหากเริ่มมีแทงช่อดอกควรตัดทิ้ง เพราะจะทำให้ต้นโทรมและตายไป แต่ถ้าต้องการเก็บเมล็ดควรปล่อยให้ดอกเจริญจนติดเมล็ด แล้วค่อยนำมาเพาะต่อ ประมาณ 10 วันจึงเริ่มงอกเป็นต้นกล้าเมื่อมีอายุ 20 วัน จึงเริ่มให้ปุ๋ยในอัตราเจือจาง เมื่อต้นมีอายุ 4 เดือนจะเติบโตเต็มที่พร้อมเก็บไปใช้ได้ ผักชีฝรั่งอาจพบหนอนผีเสื้อกัดกินใบบ้าง ในฤดูฝนมักเกิดโรคเน่าควรพรวนดินหรือเปลี่ยนดินใหม่
ผักชีฝรั่งอุดมไปด้วยวิตามินเอ ให้กลิ่นหอม เข้ากับอาหารไทยได้ดี ไม่ว่าจะเป็นยำ ลาบ น้ำตก พล่า ต้มยำ หรือต้มโคล้งรสจัดมีสรรพคุณช่วยขับลมในกระเพาะ
แตงกวา
Cucumber : Cucumis sativus L.
ไม้เลื้อยอายุสั้น มีดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ปลูกได้ตลอดปี แต่เติบโตได้ดีในช่วงฤดูหนาว ชอบดินร่วนระบายน้ำดีแสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เพียงหยอดเมล็ดลงในกระบะเพาะหรือหลุมปลูกให้ห่างกัน 50 เซนติเมตร ประมาณ 7 – 10 วันเมล็ดจะเริ่มงอกเป็นต้นกล้า เมื่อต้นแตกใบจริงจึงย้ายปลูกตามที่ต้องการ (กรณีที่เพาะในกระบะ) จากนั้นเริ่มให้ปุ๋ย เมื่อต้นมีอายุ 25 วันจึงเริ่มผลิดอก หลังจากดอกบานและติดผลอีกหนึ่งสัปดาห์จึงเก็บผลได้ โดยเลือกเก็บผลที่มีหนามอ่อนเล็กน้อยและมีนวลสีขาวปกคลุมแตงกวามักมีโรคราน้ำค้างเข้าทำลายในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวที่มีหมอกลงจัด ส่วนฤดูแล้งมักมีเพลี้ยและแมลงอื่น ๆ เข้าทำลายต้องคอยดูแลอยู่เสมอ
แตงกวาเป็นผักที่กินได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ ไม่ว่าจะเป็นผักจิ้มหรือปรุงในเมนูต่าง ๆ นำมาแช่เย็นไว้กินเล่น หรือฝานบาง ๆ วางบนใบหน้าก็ช่วยรักษาผิวพรรณได้อย่างดี ทั้งยังเป็นยาระบายอ่อน ๆ แต่หากกินมากเกินไปอาจทำให้ท้องอืดเฟ้อได้
ฟักทอง
Pumpkin, Winter Squash : Cucurbita moschata Duchesne
ไม้เลื้อยอายุสั้น ให้ผลผลิตดีในช่วงฤดูหนาว ชอบดินร่วนเริ่มจากหยอดเมล็ดไว้ประมาณ 7 – 10 วันจึงงอกเป็นต้นกล้า เมื่อแตกใบจริงจึงย้ายกล้า ถ้าปลูกในหลุมควรถอนต้นอ่อนแอออกให้เหลือเพียงหนึ่งต้น มีระยะห่างระหว่างต้น 50 – 60 เซนติเมตรระวังไม่ให้มีแมลงกัดทำลาย เมื่อเริ่มเลื้อยอาจทำซุ้มให้เลื้อยหรือทอดเลื้อยไปตามผิวดิน หมั่นเด็ดยอดมากินบ้างเพื่อให้ต้นแตกพุ่มหลังจากออกดอกติดผลให้ปุ๋ยตัวท้ายสูง เมื่อผลมีอายุ 3 เดือนเริ่มมีนวล จึงเก็บมาบริโภค แต่ก่อนตัดผลควรงดให้น้ำ 1 – 2 สัปดาห์ แล้วตัดให้ติดขั้วผลมาด้วยจะเก็บรักษาได้นานเมื่อมีหมอกลงจัด มักมีโรคราน้ำค้างเข้าทำลาย ส่วนฤดูแล้งมักมีเพลี้ยและแมลงอื่น ๆ เข้ทำลาย ต้องหมั่นดูแลเสมอ
ฟักทองเป็นผักที่ปรุงอาหารได้ทุกส่วน ทั้งยอดอ่อน ดอก ผลอ่อนและผลแก่ อุดมด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าแก่ร่างกาย ให้ใยอาหารสูงไขมันน้อย และแคลอรีต่ำ จึงเหมาะเป็นอาหารควบคุมน้ำหนัก ปัจจุบันมีทั้งพันธุ์เลื้อย พันธุ์ต้นเตี้ย และฟักทองญี่ปุ่นที่มีผิวเกลี้ยงเนื้ออร่อย
ถั่วฝักยาว
Yardlong Bean : Vigna unguiculata (L.) Walp. subsp. sesquipedalis (L.) Verdc.
ไม้เลื้อยอายุสั้น ชอบดินร่วนระบายน้ำดี แสงแดดตลอดวันขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยหว่านในกระบะเพาะหรือภาชนะปลูกก็ได้ ประมาณ 7 วันจึงงอกเป็นต้นกล้า เมื่อเริ่มผลิใบจริงจึงย้ายปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ เมื่อต้นผลิดอก ติดฝักจึงให้ปุ๋ยหลังจากติดฝักมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงเก็บมากิน หากฝักบวมพองแสดงว่าแก่เกินไป ควรเด็ดทิ้งหรือเก็บไว้จนแก่เพื่อเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ถั่วฝักยาวมักพบโรคราแป้ง ราสนิม หนอนชอนฝัก และเพลี้ยต่าง ๆ
ถั่วฝักยาวเป็นผักที่มีความหวานกรอบ กินเป็นผักสดและนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง มีใยอาหารสูง ช่วยให้ถ่ายคล่อง นอกจากพันธุ์ฝักสีเขียวที่เห็นทั่วไปแล้ว ยังมีพันธุ์สีแดง และถั่วพุ่ม ฝักสีเขียวมีลายสีม่วง
มะเขือ
Egg Plant : Solanum spp.
มะเขือ ทุกชนิดเป็นไม้พุ่มที่มีอายุ 1-2 ปี ชอบดินร่วนระบายน้ำดี มะเขือทุกชนิดเป็นไม้พุ่มที่มีอายุ 1-2 ปี ชอบดินร่วนระบายน้ำดี มีแสงแดดส่องครึ่งวันหรือตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเท่านั้น หลังจากหยอดเมล็ดในกระบะเพาะ 7 – 10 วันจะเริ่มงอกเป็นต้นกล้าเมื่อเริ่มผลิใบจึงย้ายปลูกลงกระถางหรือหลุมปลูก จากนั้นเริ่มให้ปุ๋ย พอต้นโตและเริ่มผลิดอกออกผล จึงให้ปุ๋ยเพื่อบำรุงผลมะเขือกับโรคราแป้ง โรคผลเน่า เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ อยู่เสมอควรระวังไม่ให้เพลี้ยเข้าทำลาย สามารถให้ผลผลิตได้นานกว่าหนึ่งปี ยกเว้นมะเขือยาวและมะเขือม่วงจะมีอายุสั้น 8 – 10 เดือน
มะเขือที่บริโภคกันในบ้านเรามีหลากหลายพันธุ์และรูปทรง ไม่ว่าจะเป็นมะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือขื่น มะเขือตอแหล มะเขือไข่เต่ามะเขือม่วง หรือมะเขือพวง ซึ่งแต่ละชนิดนำมาปรุงในอาหารไทยได้หลายเมนู ความหวานของมะเขือช่วยให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อมขึ้นหรือจะกินสดก็กรอบอร่อย
พริก
Chili : Capsicum spp.
เป็นพืชที่มีอายุ 1 – 2 ปี ปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินร่วนระบายน้ำดีขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยหยอดเมล็ดลงในกระบะเพาะประมาณ 7 วันจึงงอกเป็นต้นกล้า เมื่อมีใบจริง 2 – 4 ใบจึงแยกกล้าปลูกในภาชนะปลูก หรือปลูกลงหลุมให้มีระยะห่างระหว่างต้น 50 – 60 เซนติเมตร เมื่อต้นตั้งตัวได้จึงเริ่มให้ปุ๋ย อาจเด็ดยอดทิ้งเพื่อให้ต้นแตกพุ่มและผลิดอกออกผลได้มากขึ้น หลังจากเก็บพริกแล้วควรให้ปุ๋ยทุกครั้งเพื่อบำรุงต้น ระวังอย่าให้ดินแฉะ เพราะอาจทำให้ต้นตายได้ฤดูฝนมักมีเพลี้ยต่าง ๆ คอยดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบ ควรหมั่นฉีดน้ำตามใต้พุ่มใบจะช่วยป้องกันได้ ส่วนโรคที่พบมากคือ โรคกุ้งแห้งซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคแอนแทร็คโนส
1
พริกมีหลายชนิด ทั้งพริกขี้หนู พริกขี้หนูสวน พริกกะเหรี่ยง พริกหนุ่ม พริกหยวก พริกชี้ฟ้า และพริกเหลือง ทุกชนิดต่างมีความเผ็ด เพราะสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งช่วยกระตุ้นต่อมน้ำลายให้ทำงานมากขึ้น เลือดไหลเวียนได้ดี ช่วยขับเหงื่อ แก้หวัดได้ แต่สำหรับท่านที่มีแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรังไม่ควรกินมาก เพราะจะทำให้ท้องอืดเฟ้อและบาดแผลลุกลามมากขึ้น
เรื่อง : กองบรรณาธิการ บ้านและสวน Garden & Farm
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา