9 ก.พ. 2022 เวลา 14:57 • ธุรกิจ
สรุปจาก Building the Golden Era for Thai Startups’ Opportunities: How Can We Become the Next Leading Country for Startups?
=============================
1. ถึงจะเกิดวิกฤติโรคระบาดในสองปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลข startup ecosystem ในไทยยังเติบโตได้ค่อนข้างดี มีจำนวนดีลที่ raise fund ได้เยอะ ทำไมวงการ Startup ในปี 2021 ถึงเติบโตอย่างก้าวกระโดด
=============================
[Dr.Tarit]
- เป็นเพราะความตั้งใจในการปรับตัวของทุกคนมันมากขึ้น ทุกคนเริ่มรู้ว่าการขาย product หรือ service แบบเดิมมันทำไม่ได้แล้ว โรคระบาดทำให้ demand และ landscape เปลี่ยนไป แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ ก็ลำบาก มีตัวอย่าง startup ที่ยังเติบโตได้ดี มีบาง sector มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจน เป็นโอกาสให้คนตัวเล็กได้ลอง แม้แต่คนตัวใหญ่ๆ ก็อยากลงมาเล่น มีการลงทุน startup ในบาง sector สูงขึ้นจริงๆ
=============================
2. หลายคนชอบบอกว่า SEA (South East Asia) เป็น The Next China จริงๆ แล้วตลาดใน SEA ถ้าเทียบกันจีนแล้วเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
=============================
[Komsan]
- มีทั้งส่วนที่ใช่และไม่ใช่ ในเชิงของเทคโนโลยีและแผนธุรกิจถือว่าใช่ จะเห็นว่าบริการหรือ busines model หลายๆ อย่างที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนหรือสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้ามาภูมิภาคเรามากขึ้น ทั้งไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มีหลายๆ บริษัทที่เอาโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศแล้วเอามาปรับใช้กับในบ้านเรา
- แต่ภูมิภาคบ้านเราต้องยอมรับว่ามีความซับซ้อนมากกว่าประเทศจีน ทั้งเรื่อง ภาษา กฎหมาย วัฒนธรม ซึ่งจีนเป็นประเทศที่ใหญ่มาก เราสามารถทำธุรกิจในประเทศจีนที่ใช้ภาษาเดียวกัน กฎหมายเดียวกันได้เลย แต่บ้านเราการที่จะ scale up ไปยังหลายๆ พื้นที่หรือหลายๆ ประเทศยังต้องใช้เวลา
=============================
3. ถ้าเทียบกับใน SEA มีหลากหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่มียูนิคอร์นค่อนข้างเยอะ เวียดนามก็มีก่อนเรา อะไรคือความท้าทายของประเทศไทยเกี่ยวกับการทำ startup
=============================
[Dr.Tarit]
- มีหลายปัจจัยที่อาจจะทำให้ประเทศเราช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน มีอีกหลายส่วนที่น่าจะพัฒนาไปได้อีกเยอะ กำลังคนก็เป็นเรื่องสำคัญ การที่เราจะต้องสร้าง talent pool รวมถึง vision ของ team management ในการที่จะเป็น local, international, หรือ regional player ซึ่งอาจจะมีไม่กี่ startup ที่ต้องการมองตัวเองให้เป็นผู้เล่นในระดับ regional อีกทั้งยังมีเรื่องของ regulation ที่ตอนนี้ก็มีหลายภาคส่วนพยายามผ่อนคลายในหลายๆ เรื่องอยู่ ก็เป็นปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน
[Komsan]
- ประเทศไทยยังขาดอยู่หลายปัจจัย เรายังขาดการเรียนรู้ ทั้งแบบการค้นหาข้อมูลหรือการมีต้นแบบ infrastructure ที่จะซัพพอร์ตผู้ลงทุน ข้อกฎหมายที่พร้อมจะสนับสนุน startup ที่สำคัญคือในส่วนของการเรียนรู้ให้กับน้องๆ จากพี่ๆ ที่เคยทำงานมาจากต่างประเทศหรือเคยทำบริษัทที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
=============================
4. เรื่องของการยกเลิก capital gain tax และ ESOP (​​Employee Stock Ownership Plan) จะทำให้ดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนใน startup มากขึ้นไหม
=============================
[Dr.Tarit]
- การแก้ปัญหาในการดึง investor มาลงทุนใน startup ด้วยความน่าดึงดูด แน่นอน capital gain tax ก็อาจจะมีส่วนช่วยในการจูงใจ แต่อาจจะยังไม่ใช่สูตรสำเร็จ การที่จะยกเว้น capital gain tax ได้ แปลว่า capital gain มันต้องเกิดขึ้นได้ก่อน ถึงจะเกิด capital gain tax การที่เราจะเข้าถึงแหล่งลงทุน ดึงดูด talent ก็ควรจะต้องมี foundation ที่ดีก่อน
[Komsan]
- ขอบคุณภาครัฐที่ช่วยเปิดโอกาส ครั้งนี้ภาครัฐให้ความสำคัญและตอบกลับเสียงตอบรับของพวกเราจริงๆ ขอบคุณพี่ๆ ในวงการด้วย ที่ว่าเร็วๆ นี้เราจะยกเลิกเรื่องของ capital gain tax แต่นอกจากเรื่องเงินทุนแล้วยังมีส่วนของทักษะ นอกจากโมเดลธุรกิจแล้วยังมีบุคคลากร ศักยภาพภายใน บ้านเรายังขาดอีกเยอะ ถ้าจะมีคนมาลงทุน ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เราแข็งแรงก่อน ถึงจะเป็นการดึงดูดนักลงทุนเข้ามา
- ESOP ถ้าเรามีการผ่านจริงๆ ก็ยังจะมีส่วนที่ค่อนข้างจะซับซ้อนอยู่ เช่น เกณฑ์ของการแบ่งว่าเป็น startup หรือ SME อยากให้หาทางออกด้วยการดูตัวอย่างกฎเกณฑ์ของต่างประเทศที่เขายกเลิกหรือยกเว้น สำหรับ startup เรื่องของ ESOP เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าเงินลงทุน นอกจากความฝันแล้วทุกคนที่ทำงานก็อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น แค่รับเงินเดือนอาจจะไม่พอ เขาก็อยากมีความเป็นเจ้าของ ESOP จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้
=============================
5. ESOP (​​Employee Stock Ownership Plan) เหมาะสำหรับบริษัท startup ที่อยู่ในช่วง growth stage ที่ไม่ใช่ช่วงต้นของบริษัทที่ valuation ยังไม่สูงหรือเปล่า
=============================
[Komsan]
- จริงๆ แล้ว ESOP มีความหมายตั้งแต่วันเริ่มก่อตั้งเลย เป็นตัวกำหนดว่าองค์กรธุรกิจนี้จะมีเจ้าของคนเดียวหรือร่วมกันหลายๆ คน คนที่จะมา join กับเราต้องไม่มองแค่ value ในปัจจุบัน แต่มองว่าในอนาคตมันจะมี value เท่าไหร่ มันไม่ได้สำคัญแค่กับบริษัทที่อยู่ใน stage สูงๆ แล้วเท่านั้น จริงๆ แล้วสำหรับ startup ก็มีการเติบโต 10 - 20 หรืออาจจะ 100 เท่า โดยทุกบริษัทต้องมีการเริ่มจากหนึ่งในวันแรกเหมือนกันหมด
=============================
6. อะไรเป็นสาเหตุให้บริษัท Flash ประสบความสำเร็จ
=============================
[Komsan]
- ต้องยอมรับก่อนว่าเราคิดว่า Flash ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เรายังต้องขยายบริการใหม่ๆ ที่มากกว่าแค่ขนส่งอยู่ ถ้าเราเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ก็แข่งได้ แต่ถ้ามีแหล่งเรียนรู้ก่อนจะทำ startup คิดว่าจะยิ่งช่วยทำให้ประสบความสำเร็จได้
=============================
7. ตอนน้ี startup หน้าใหม่ในประเทศไทยไม่ค่อยเกิดขึ้นเยอะ ส่วนใหญ่การระดมทุนในช่วงนี้ก็จะเป็น series B, C จะทำยังไงให้มี startup หน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น
=============================
[Dr.Tarit]
- ต้องใช้หลายๆ อย่างเป็นองค์ประกอบรวมกัน ทั้งบรรยากาศในประเทศ ประตูเปิดกว้างแค่ไหน ฝันแล้วเป็นจริงได้ไหม ถ้าจะเกิดขึ้น จะต้องมีกลไกระบบ mentor จากรุ่นพี่ startup ธุรกิจใหญ่ ถ้าเริ่มมาไกด์ มาช่วยตั้งแต่ต้นก็จะดี
- ประเทศไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง startup กลายเป็นประเภทของธุรกิจชนิดนึงที่เป็นตัวเลือกในการทำธุรกิจในปัจจุบัน เป็น mainstream ไม่ใช่แค่แฟชั่นอีกต่อไป ระบบหลายๆ อย่างก็เริ่มแข็งแกร่งขึ้น ทาง True Digital Park ก็พยายามสร้าง ecosystem ของนักลงทุน และ startup ทั้งเจ้าใหญ่เจ้าเล็ก ถ้าคุณเริ่มจากศูนย์จะเห็นเลยว่ามีรุ่นพี่ มีนักลงทุนที่พร้อมสนับสนุน ถ้าแผนที่ startup วางไว้ทำต่อไปไม่ไหว จะเปลี่ยนไปทำโปรเจคกับ corporate หรือมีทางภาครัฐช่วยส่งเสริมได้ไหม ตรงนี้เราก็พยายามจะสนับสนุนอยู่
=============================
8. มีอะไรที่น่าสนใจและเราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับ startup ในประเทศจีนได้บ้าง
=============================
[Komsan]
- ที่ประเทศจีนจะมีศูนย์รวมของ startup ในแต่ละเมืองเลย จะมี community ใหญ่ๆ เป็นสถานที่ให้เช่าออฟฟิศที่ให้ startup ไปรวมตัวกันได้หมด สมมุติบริษัท A เป็น developer บริษัท B ทำการตลาด ก็จะสามารถใช้ทรัพยากรของบริษัทข้างๆ ร่วมกันได้ ไม่ต้องใช้ทีมงานตัวเอง หรือบางครั้งสุดท้ายก็จะมีการรวมตัวกันเป็นบริษัทเดียวก็ได้ ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ไวกว่าผู้อื่น
- ที่นู่นจะมีบริษัทให้ training รวมถึงหน่วยงานมหาลัย อย่างผมก่อนที่จะเริ่มธุรกิจ ผมก็เคยมีการไปอบรมมาก่อนที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นคอร์สสั้นๆ สามวันแต่ได้เรียนรู้ทุกอย่าง ตั้งแต่การสร้างทีม การระดมทุน ไปจนถึงการ exit เราควรรู้ก่อนว่าจะมีทางไหนให้เราเลือกไปได้บ้างในกรณีที่เจอวิกฤติหรือโอกาส
=============================
9. อยากบอกอะไรกับน้องๆ รุ่นใหม่ที่อยากก้าวเข้ามาทำ startup อยากที่จะเป็น next unicorn ในประเทศไทย มี sector ไหนที่น่าสนใจเป็นพิเศษไหม
=============================
[Dr.Tarit]
- การที่จะประสบความสำเร็จได้ ไม่มีทางลัด ต้องใช้ทั้งกำลังใจ กำลังกาย commitment ลงไปตั้งแต่วันแรก ต้องผ่านอะไรหลายๆ อย่าง กว่าจะมาเป็น unicorn ได้ อย่าลืม enjoy the ride เพราะเราต้องเจอกับคนเยอะแยะมากมาย อยากให้เรียนรู้เยอะๆ
- Sector ที่น่าสนใจของประเทศไทยน่าจะเป็นเรื่อง foundation ของเทคโนโลยี ประเทศไทยเน้นการซื้อเทคโนโลยีมากกว่าทำเอง การที่เราจะมี R&D มี know-how, knowledge, deep tech ซึ่งอาจจะแปลงมาจาก basic research ซึ่ง basic research ก็เป็นตัวสำคัญ อยากส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์หลายๆ คน keep pushing แล้วพยายามเอาผลงานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้ จะได้ไม่เป็นแค่งานวิจัยที่ขึ้นหิ้งเอาไว้
[Komsan]
- คนที่จะทำ startup จริงๆ แล้วต้องลืมคำว่า unicorn ไปก่อน การที่จะเป็น unicorn ได้หรือเป็นไม่ได้ อยู่กับการโฟกัสกับสิ่งที่ทำก่อน ผลิตภัณฑ์คืออะไร สร้างคุณค่าอะไรให้ลูกค้าบ้าง startup กับบริษัทมีสิ่งที่เหมือนกันหลายอย่าง แต่สิ่งนึงที่แตกต่างนอกจากเทคโนโลยีคือบริษัทมองหากำไร ในขณะที่ startup นอกจากต้นทุน กำไร คือเราพยายามมองว่าเรากำลังแก้ไขปัญหาอะไรอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของลูกค้า ปัญหาของเรา หรือปัญหาของสังคม เราแก้ไขแล้วเรื่องนี้จะดีขึ้นยังไง สุดท้ายถ้าเราแก้ไขปัญหาได้ดีพอ ลูกค้าก็จะต้องการเรา มูลค่าและกำไรก็จะตามมาที่หลัง
- ไม่มีใครผ่านมาได้ง่ายๆ ผมยังเจอความท้าทายอีกมากมาย อย่าทำให้ตัวเองมีทางถอย ถ้าเรามีทางถอย เรามักจะเลือกเส้นทางที่ง่ายกว่าเสมอ ต้องทำให้เราไม่มีทางเลือก เราจะได้ฝ่าฟันมันไป
=============================
10. อีกหนึ่งคีย์สำคัญในการทำ startup คือการมี partner ที่ดี เรามีเทคนิควิธีการยังไงในการทำงานร่วมกันกับ corporate มีคำแนะนำอะไรเพื่อให้งานของทั้งสองฝ่ายมองไปในทิศทางเดียวกัน
=============================
[Komsan]
- เป็นคำถามที่ซับซ้อน และทุก startup มักจะเจออยู่ กับการไปอยู่กับบริษัทใหญ่เพื่อให้ได้ทรัพยากร แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ง่ายเลย บริษัทมีขั้นตอนที่แน่นอนอยู่แล้ว startup ที่จะเดินทางในระยะยาวแบบรวดเร็ว ไม่สามารถที่จะรอได้ ถ้าตอนที่ startup เรายังใหญ่ไม่พอ เราต้องวิ่งแข่งกับตัวเอง วิ่งแข่งกับคู่แข่งกัน การมีบริษัทใหญ่มาให้ความรู้เป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางกลับกันคือบริษัทใหญ่อยากมาลงทุนในบริษัทเล็กเพราะความคล่องตัว ถ้าเอาตัวเองไปผูกติดกับบริษัทใหญ่ทั้งหมดก็จะขาดความคล่องตัว
- อยากให้ในช่วงแรกอยู่กับตัวเองก่อน อย่าพึ่งไปเกาะใคร แล้วหลังจากนั้นถ้าถึงในขั้นที่ธุรกิจเราต้องมีการ scale up แล้วค่อยมองหา partner ที่ดี บริษัทที่เหมาะจะให้เรา scale up ขึ้นไปได้ เชื่อว่าทุกบริษัทเห็นความสำคัญของการลงทุน ซึ่งนอกจากทรัพยากรที่จะให้กับ startup แล้ว อยากให้บริษัทให้อิสระ startup ในการผิดพลาดได้ด้วย ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่เมื่อผิดพลาดแล้วเราต้องรู้ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากมัน ถ้าให้ startup ทำงานอยู่แต่ในกรอบ นวัตกรรมไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน
[Dr.Tarit]
- บริษัทก็ควรรู้ตัวเองก่อนว่าการที่เราจะลงทุน startup ในแต่ละราย เราลงเพื่ออะไร เพื่อเสริมสร้างธุรกิจที่มีอยู่แล้ว แตกไลน์ธุรกิจใหม่ เพื่อมี exposure กับ startup ได้คุยไอเดียใหม่ๆ หรือเพราะอะไร หลายๆ ครั้งที่มีการลงทุนใน startup แล้วก็ไม่เกิดอะไรขึ้น การ align เป้าหมายและทำ deal ร่วมกัน ต้องเห็นปลายทางเลยว่าจะจบยังไง สุดท้าย startup นี้จะ acquire ให้มารวมกัน หรือแค่ต้องการ capital gain ก็ปล่อยให้เป็นอิสระไปเลย ต้องชัดเจนตั้งแต่แรก ถ้าไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกก็จะไม่ชัดเจนตลอดไป
=============================
11. ฝากส่งท้าย
=============================
[Komsan]
- สิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้ มีทั้งการเรียนรู้ก่อนที่จะลงมือทำและการลงมือทำไปแล้วเรียนรู้ คิดว่าการเรียนรู้ก่อนที่จะทำก็ค่อนข้างสำคัญ เหมือนการเหลามีดก่อนที่จะไปตัดไม้ ไม่เสียเวลาเกินไปแน่นอนถ้าทำก่อน ถ้าเหลาไปตัดไปสุดท้ายอาจจะเสียเวลามากกว่าเดิม
- การเรียนรู้ทำได้หลายช่องทาง ทั้งทางอินเทอร์เน็ตหรือไปหาคนที่รู้ แต่การเรียนรู้จะเข้าใจที่สุดถ้าเราอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ บางทีอ่านไปแล้วยังไงก็ยังไม่เข้าใจ จนกว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ เช่น ตอนผมกำลังจะระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านไหน เราก็จะเรียนรู้ทุกๆ อย่างที่เกี่ยวกับมัน
[Dr.Tarit]
- ช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเป็นช่วงที่แปลก มีวิกฤติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลา แต่ก็มีประตูหลายบานเกิดขึ้น มี buzz word หลายๆ คำที่สร้างงาน สร้างอาชีพ ต้องเปิดหูเปิดตาให้มากๆ ไขว่คว้าหาโอกาส จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกไปหาเน็ตเวิร์กของตัวเอง และสุดท้ายก็กลับมาที่เดิมและลงมือทำ แนะนำให้ลงมือทำเยอะๆ ความช่วยเหลือรอบตัวจริงๆ ก็มีอยู่เยอะแต่เราอาจจะมองไม่ค่อยเห็น จริงๆ แล้วมีรุ่นพี่ที่พร้อมจะช่วยเหลืออยู่เสมอ
======================
Moderator:
- Oranuch Lerdsuwankij
Co-Founder & CEO, Techsauce Media
======================
Speaker:
- Komsan Saelee
Founder & CEO, Flash Express
- Dr. Tarit Nimmanwudipong
General Manager, True Digital Park
======================
Event: MegaTech Forum 2022 “Change for a better tomorrow”
Date: 9 Feb 2022 (14:20 - 15:00)
Host: Techsauce
#MegaTechForum2022 #Techsauce #Startup #FlashExpress #TrueDigitalPark #todayinoteto #วันนี้สรุปมา
โฆษณา