10 ก.พ. 2022 เวลา 04:06 • คริปโทเคอร์เรนซี
#Knowledge ถ้าวงการคริปโตมี Rug Pull ที่หมายถึงปรากฏการณ์ที่เจ้ามือเทขายเหรียญ ปิดแพลตฟอร์ม แล้วเชิดเงินหนีไป ในวงการ NFT ก็มีสิ่งที่เรียกว่า “Wash Trading” หรือกลการปั่นราคาเพื่อให้งานมีมูลค่าสูงเกินความเป็นจริง
และแม้หลายคนจะมองว่า NFT คือโอกาสของการลงทุนรูปแบบใหม่ แถมยังช่วยให้ศิลปินที่มีของ ได้แสดงผลงาน เพื่อลืมตาอ้าปากได้ แต่โดยพื้นฐานของ NFT นั้นพึ่งพาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ที่ทุกคนก็รู้ดีอยู่ว่ามีทั้ง ‘ความผันผวน’ และ ‘ความเสี่ยงสูง’
มากไปกว่านั้นงาน NFT ยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ไม่มีอะไรมากำหนดมูลค่างานไว้ตายตัว งาน NFT ชิ้นไหนดัง อยู่ในการรับรู้ของสื่อและคนทั่วไป ก็มีแนวโน้มที่จะประมูลได้ในราคาแพง
1
หนึ่งในวิธีซึ่งเป็นทริคที่ช่วยปั่นราคา NFT ให้สูงขึ้นได้คือ “Wash Trading” คำถามคือ แล้วกลโกงรูปแบบนี้คืออะไร TODAY Bizview จะพาไปทำความรู้จักกันในบทความนี้
1) Wash Trading ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกการลงทุนแบบปกติ
ในกลุ่มนักลงทุนหุ้นจะรู้จักคำว่า Wash Trading ดีอยู่แล้ว ซึ่ง Wash Trading ก็คือการปั่นราคาหุ้นด้วยการซื้อขายกันเองในช่วงเวลาอันสั้น แล้วจึงค่อยเพิ่มราคาขึ้นเรื่อยๆ มักดำเนินการโดยผู้ค้าและนายหน้าที่สมรู้ร่วมคิดกัน หรือบางครั้งก็ดำเนินการโดยนักลงทุนที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายหลักทรัพย์
Wash Trading เป็นเรื่องผิดกฎหมายสหรัฐฯชัดเจนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 เพราะถือว่ามีเจตนาทำให้นักลงทุนเข้าใจตลาดผิดๆ แต่ในโลกของคริปโตและ NFT ที่ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม Wash Trading ถือเป็นเรื่องที่ทำกันโดยทั่วไป
จากการวิจัยของสถาบัน Blockchain Transparency Institute พบว่ากว่า 80% ของคู่ซื้อขาย 25 อันดับแรกสำหรับเหรียญบิทคอยน์ในปี 2018 พบว่าเป็น Wash Trading
2) Wash Trading ในโลก NFT
สำหรับวิธี Wash Trading ในโลก NFT นั้น Reuters ได้ขยายภาพให้เห็นชัดขึ้นว่า การปั่นราคาในโลก NFT มีหน้าตาเป็นอย่างไร
เริ่มจาก Reuters ไปเจอ NFT มาร์เกตเพลสหน้าใหม่ชื่อว่า LooksRare เปิดตัวใหม่สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมานี้เอง และในช่วงเปิดตัวมีปริมาณการซื้อขายสูงกว่าเจ้าใหญ่อย่าง OpenSea สองเท่า
1
โดยตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. เป็นต้นมา Meebit งาน NFT ศิลปะตัวละครในแบบพิกเซล ได้ถูกซื้อขายกันระหว่างวอลเลตสามใบ มีจำนวนการขายมากกว่า 100 รายการ โดยราคาส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 3-15 ล้านดอลลาร์
และในช่วงสัปดาห์ที่ 12-19 ม.ค. ก็ยังพบอีกว่า งานที่ชื่อ Loot ซึ่งเป็นชิ้นงาน NFT แบบกระเป๋าเสมือนจริงสำหรับเกมผจญภัยออนไลน์ ถูกแลกเปลี่ยนในการขาย 75 รายการระหว่างวอลเลตอื่นอีก 2 ใบ เป็นเงิน 30,000-800,000 ดอลลาร์ต่อครั้ง
นี่เป็นปริมาณการซื้อขายที่สูงมากในระยะเวลาอันสั้น
3) ตัวเลขปริมาณการซื้อขายที่ดูผิดปกติ อาจเข้าข่าย Wash Trading
ข้อมูลจาก DappRadar แพลตฟอร์มวิเคราะห์และติดตามตลาด decentralized application และ NFT พบว่า ยอดขายสูงสุดที่บันทึกไว้ 27 อันดับแรกในอุตสาหกรรม NFT เฉพาะเดือน ม.ค. ปีนี้มีมูลค่ารวม 1.3 พันล้านดอลลาร์ และที่น่าสงสัยคือ เงินจำนวนมหาศาลนี้มาจากกระเป๋าวอลเลตเพียงสองใบที่ทำธุรกรรมบน LooksRare
1
ในขณะที่เมื่อไปเปิดดูยอดขาย 100 อันดับแรกบน LooksRare ปรากฏว่า มูลค่ายอดขายกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ มาจากการซื้อขายผ่านวอลเลตเพียงแค่ 16 ใบเท่านั้น แต่ได้สร้างปริมาณการซื้อขายใน LooksRare อย่างน้อยสูงถึง 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้านับรวมระยะเวลาที่เปิดตัวมา ก็เพียงแค่ 1 เดือนกว่าๆ เท่านั้นเอง
เมื่อดูจากตัวเลขที่บ้าคลั่งเหล่านี้ ทำให้มีการคาดเดาว่า นี่อาจเป็นการซื้อขายที่เข้าข่าย Wash Trading
Modesta Masoit ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและการวิจัยของ DappRadar กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "มีความเป็นไปได้สูงว่า นี่ไม่ใช่อุปสงค์ที่แท้จริง เพราะมันไม่ใช่การซื้อขายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ"
4) โมเดลคืนกำไรของ LooksRare กลายเป็นดาบสองคมให้เกิด Wash Trading
ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์กลการปั่นราคา NFT ในครั้งนี้ เราอาจเริ่มต้นจากการกลับมาดูที่ตัวแพลตฟอร์ม
ไม่นานมานี้ โฆษกของ LooksRare ออกมาระบุว่า บริษัทเราก่อตั้งแพลตฟอร์มขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่ดี เราอยากแบ่งปันผลกำไรภายในคอมมูนิตี้เดียวกัน และยังเคลมด้วยว่า เราเป็น NFT มาร์เกตเพลสแห่งแรก ที่ผู้ใช้งานได้รางวัลจากการเข้ามาร่วมซื้อขาย NFT ซึ่งจะให้เป็นโทเคน LOOKS บนแพลตฟอร์ม
โดยรางวัลจะคำนวณเป็นรายวัน และให้โทเคนกับผู้เทรดทันทีหลังจบวันนั้นๆ และที่สำคัญ ถ้ามีโวลุ่มการเทรดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะได้รางวัลโทเคน LOOKS มากขึ้นตามไปด้วย
แต่ทว่า ปัญหาก็คือ การให้รางวัลกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้เกิดการซื้อขายในระดับที่ผิดปกติ หรือ Wash Trading ขึ้นมานั่นเอง
เว็บไซต์ Cointelegraph ลองคำนวณสิ่งที่จะได้โดยอ้างอิงพฤติกรรมจากนักเทรดรายสองรายที่ซื้อขายผลงานกันจริงๆ บน LooksRare สมมติว่าชื่อ A กับ B
Cointelegraph สมมติสถานการณ์ต่อไปว่า ถ้านักเทรด A และนักเทรด B จริงๆ แล้วเป็นคนเดียวกัน ปริมาณการซื้อขายทั้งหมดจากนักเทรด A และ B ในวันที่ 19 ม.ค. จะอยู่ที่ 186 ล้านดอลลาร์
ซึ่งสามารถคำนวณรางวัลที่ได้รับจากการซื้อขายตามนโยบายของ LooksRare อยู่ที่ 6.2 ล้านดอลลาร์ หักค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์มอยู่แล้ว (คำนวณจาก 2% ของการซื้อขาย NFT ทั้งหมด และราคาเหรียญโทเคน LOOKS) เท่ากับ 3.7 ล้านดอลลาร์
นักเทรดรายนี้ ฟันกำไรไปเหนาะๆ 2.5 ล้านดอลลาร์
สรุปคือ ในโลกคริปโตและ NFT การฉ้อโกงยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป อย่างในวงการคริปโตมี Rug Pull ส่วน NFT มีการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน แอบอ้างเป็นเจ้าของผลงานมาขายเป็น NFT ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
และแม้ว่า LooksRare จะไม่ได้มีพฤติกรรมฉ้อโกงโดยตรง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า โมเดลการให้รางวัลแบบนี้ จะสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนนักสะสมผลงาน NFT ได้จริงอย่างไร
ชวนอ่านบทความ Rug Pull กลโกงโลกคริปโตฯ https://workpointtoday.com/one-post-for-rug-pull/
ที่มา :
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตาม TODAY Bizview จากทีม workpointTODAY
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาด การเงิน เทคโนโลยี
กับเพจ TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการ TOMORROW เทรนด์สำคัญของโลกเพื่อวันพรุ่งนี้
ทาง YouTube https://bit.ly/3prjBfI
 
ติดตามรายการของ workpointTODAY
ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
โฆษณา