10 ก.พ. 2022 เวลา 11:39 • ข่าว
“กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังบอกผู้มีอำนาจว่า
พวกท่านพรากสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวจากพวกเราไป”
นี่คือเสียงของ ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ - ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ระหว่างการประชุมสภาเมื่อวานนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2565) ที่เสนอแก้ไข ป.พ.พ.มาตรา 1448 และประมวลอีกหลายมาตราที่กีดกัน LGBT+ ก่อนที่ถูกสภาลงมติเลื่อนพิจารณาไปอีก 60 วัน
ธัญวัจน์ได้ยกเหตุผลมาว่าบทบัญญัติในประมวลแพ่งและพาณิชย์หลายมาตรานั้น ขัดต่อบทในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 วรรค 3 ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ ทั้งสิทธิในเรื่องการหมั้น จดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นทายาทโดยชอบธรรม การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดกจากคู่สมรส
จึงต้องการแก้ไขให้บุคคลทุกคนนั้นได้รับความเท่าเทียม ได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย ตามที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ โดยธัญวัจน์ได้ยกข้อเสนอมาทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้
1.แก้ไขให้ชายหญิง หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันสามารถหมั้น สมรสกันได้ตามกฎหมาย
2.แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาและคู่สมรส และกำหนดให้ตัดคำว่าสามีและภริยา และให้เพิ่มคำว่าคู่สมรส
3.ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ซึ่งบุคคลสองคนสมรสกัน มีสิทธิ์ หน้าที่และความคุ้มครองตามกฎหมาย
4.แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 4 จากเดิมทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา เป็นทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
5.เรื่องสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน
6.เรื่องการสิ้นสุดการสมรส การเพิกถอนการสมรส การหย่าขาดจากการสมรส การจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดการสมรส การเรียกค่าทดแทน ค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังสิ้นสุดการสมรส
7.ให้คู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกัน ซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้มีสิทธิและหน้าที่ร่วมกัน
8.กรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ฆ่าคู่สมรส กำหนดให้เป็นผู้ถูกกำจัดมิสมควรให้รับมรดก
9.คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายหรือคู่สมรสที่หย่าร้างหรือแยกทางกัน โดยมิได้หย่าร้างตามกฎหมาย มีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิต
“การที่ชายหญิงตัดสินใจสร้างครอบครัวและจดทะเบียนสมรสใช้ชีวิตร่วมกัน โดยมีสิทธิ์ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการ แต่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้เป็นการเรียกร้องมากกว่าผู้อื่น แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังบอกผู้มีอำนาจว่า พวกท่านพรากสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวจากพวกเราไป” - นี่คือสิ่งที่ธัญวัจน์ได้กล่าวหลังจากเสนอข้อแก้ไขข้างบนไป
อีกทั้งธัญวัจน์ยังได้เผยข้อมูลอีกว่า กลุ่ม LGBT+ ในไทยนั้นมีถึง 4 ล้านคน และอาจมีถึง 7 ล้านคน เพราะไม่เปิดเผยตัวตน และจากข้อมูลของกรุงเทพธุรกิจได้ระบุไว้ว่ากลุ่มที่มีอายุมากกว่า 15 ปี
มีจำนวนถึง 3.6 ล้านคน หรือมีสัดส่วนเป็น 5% ของประชากรทั้งหมด
ทาง ‘อนุชา นาคาศัย’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า จะขอนำร่างที่ธัญวัจน์เสนอ กลับไปพิจารณาก่อน 60 วัน ก่อนจะนำกลับมาให้สภาฯ ลงมติวาระที่ 1 ซึ่งในที่ประชุมก็ได้โหวตเห็นด้วย ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 227 ต่อ 157 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ทำให้การดำเนินการแก้ไขสมรสเท่าเทียมถูกเลื่อนไปอีกเป็นเวลา 60 วัน
และเป็นอีกครั้งที่แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ก็ได้พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังจากการประชุมสภาครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า สิทธิ์ในการจดทะเบียนสมรสซึ่งควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ได้ถูกเลื่อนออกไปอีกแล้ว ทางเราขอขอบคุณคุณธัญวัจน์ และทุก ๆ คนที่ได้ผลักดันให้เรื่องนี้ได้ถูกพูดถึง สมรสเท่าเทียมยังเป็นสิ่งที่เราต้องสู้กันต่อไป และหวังว่ามันจะได้เกิดขึ้นประเทศไทยสักวัน
#สมรสเท่าเทียม #MarriageEquality
#LOVEisLOVE #HumanRights
#1448ForAll #สมรสต้องเท่าเทียม
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
อ้างอิง
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์: https://bit.ly/3HGkqrD
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
โฆษณา