11 ก.พ. 2022 เวลา 14:26 • ยานยนต์
"เส้นจราจรที่เราเจอทุกวัน บอกอะไรเราบ้าง "
เส้นจราจรบนถนนที่แตกต่างกันหลากหลายแบบ ทั้งเส้นทึบ เส้นประ หรือเส้นทแยง ที่เราขับรถผ่านตากันอยู่ทุกวัน รู้มั้ยว่ามีความหมายอย่างไร แล้วบอกอะไรเราบ้าง เพราะการขับขี่ให้ปลอดภัยนอกจากกฎจราจรที่ทุกคนต้องรู้แล้วนั้น สัญลักษณ์ต่างๆ รวมถึงเส้นจราจรบนพื้นถนนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยทำให้การขับขี่ในถนนทุกเส้นทางปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและผู้ใช้ถนน ทางเพจจึงชวนมาทบทวนและอัพเดทความหมายของเส้นจราจรกันครับ
เขตปลอดภัย – อาจเรียกเส้นก้างปลา หรือ เกาะสี หรือเกาะสมมติ มีลักษณะเป็นเส้นทแยงสีขาวหรือสีเหลือง ล้อมรอบด้วยเส้นทึบสีขาวหรือสีเหลือง อาจตีไว้กลางถนนหรือริมด้านใดด้านหนึ่งของถนน โดยสีขาวจะพบบนช่องทางเดินรถทิศทางเดียว ส่วนสีเหลืองจะพบบนช่องทางเดินรถสวน ทั้งสองประเภทมีความหมายว่า "ห้ามขับรถล้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว" เพื่อให้คนสามารถหยุดยืนหรือรอข้ามถนน จำง่ายๆ หากพบอยู่กลางถนนให้คิดว่าเป็นเกาะกลาง หากพบริมถนนให้คิดว่าเป็นฟุตบาท ที่ไม่สามารถขับรถล้ำเข้าไปได้นั่นเอง
1
เส้นชะลอความเร็ว - ลักษณะเป็นเส้นนูนๆ ถี่ๆ อยู่ด้านในทั้งสองฝั่งของเส้นแบ่งช่องทางเดินรถ เพื่อให้ถนนมีพื้นผิวเป็นคลื่น มีไว้เตือนผู้ขับขี่ให้ชะลอความเร็ว เพราะข้างหน้าอาจจะมีทางโค้ง สะพาน ทางลาดเอียง หรือลูกระนาด ซึ่งลักษณะของเส้นที่นูนและถี่ ยังช่วยทำหน้าที่กระตุ้นเตือนผู้ขับขี่ที่อาจหลับในให้รู้สึกตื่นตัวได้ด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้
1
เส้นซิกแซก - เป็นเส้นที่ใช้เตือนให้ผู้ขับขี่ลดความเร็ว เพื่อที่จะหยุดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเขตข้ามทางม้าลาย เพื่อให้คนข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากผู้ขับขี่ที่ขับรถมาด้วยความเร็วมักจะอาจไม่ได้ทันสังเกตเห็นทางม้าลาย หรือมองไม่เห็นไฟจราจรที่อยู่ในระดับสูงจนเกินไป บ่อยครั้งจึงทำให้หยุดรถไม่ทัน โดยถนนที่มีการตีเส้นซิกแซกนั้นห้ามจอดรถ ห้ามแซงหรือเปลี่ยนเลนโดยเด็ดขาด
1
เส้นสีขาวขวางถนน – มี 2 เส้นที่สำคัญ ได้แก่ “เส้นแนวหยุด” เป็นเส้นทึบสีขาวขวางถนน โดยผู้ขับขี่ต้องหยุดรถก่อนถึงแนวเส้น เพื่อดูจังหวะรถว่างหรือรอให้คนข้ามในทางข้ามผ่านไปก่อน และ “เส้นให้ทาง” เป็นเส้นประสีขาวขวางถนน ซึ่งผู้ขับขี่ต้องชะลอรถให้ช้าลง แล้วดูให้รถคันอื่นที่ออกจากทางร่วมหรือคนเดินเท้าในทางข้ามผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงสามารถขับรถผ่านไปได้
1
เส้นทึบสีเหลือง – คือ “เส้นแบ่งทิศทางจราจร” ผู้ขับขี่จะต้องขับรถทางด้านซ้ายของเส้นสีเหลืองเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเจอเส้นทึบสีเหลืองอยู่กลางถนน หมายความว่า ถนนเส้นนั้นมีช่องจราจรทั้งขาไปและขากลับ ซึ่งเส้นทึบสีเหลืองมีทั้งแบบเส้นทึบเดี่ยวและเส้นทึบคู่ เรียกว่า “เส้นแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซง” หมายความว่าให้รถทุกคันขับทางด้านซ้ายของเส้น และบริเวณนี้ห้ามแซงหรือขับผ่านโดยเด็ดขาด กรณีเป็นเส้นทึบสีเหลืองคู่ หมายถึงห้ามแซงทั้งสองฝั่ง หากฝืนแซงตรงจุดนี้อาจโดนรถที่สวนมาชนได้ สำหรับเส้นทึบสีเหลืองคู่เส้นประสีเหลือง เรียกว่า “เส้นแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซงเฉพาะด้าน” รถที่อยู่ทางด้านเส้นทึบห้ามผ่านหรือคร่อมเส้นโดยเด็ดขาด ส่วนรถที่อยู่ทางด้านเส้นประ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยอาจแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น หรือข้ามเส้นดังกล่าวนี้ด้วยความระมัดระวัง
1
เส้นประสีขาว – ให้สังเกตที่ขนาดและการเว้นระยะห่าง โดยเส้นประสีขาว กว้าง 10 ซม. ยาว 100 ซม. เว้นช่องห่าง 300 ซม. เรียกว่า “เส้นแบ่งช่องเดินรถปกติ” มีเพื่อแบ่งให้รู้ว่าถนนเส้นนั้นๆ มีกี่ช่องเดินรถ และให้ขับรถอยู่ในช่องเดินรถนั้น ห้ามขับคร่อมเส้นหรือทับเส้น เว้นแต่จะต้องการเปลี่ยนเลน ส่วนเส้นประสีขาว กว้าง 15 ซม. ยาว 300 ซม. เว้นช่องห่าง 100 ซม. เรียกว่า “เส้นแบ่งทิศทางจราจรเตือน” เพื่อให้ทราบว่าใกล้จะถึงเขตทางข้าม ทางแยก เขตห้ามแซง แม้ผู้ขับจะยังสามารถเปลี่ยนช่องทางเดินรถหรือขับข้ามเส้นได้ แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
1
หวังว่าข้อมูลข้างต้นจะช่วยให้เพื่อนๆ ที่เคยลังเลเวลาขับรถแล้วเจอเส้นที่หลากหลายที่เราอาจยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และควรขับรถอย่างไร ก็จะสามารถตัดสินใจระหว่างการขับรถได้ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น หรือหากเพื่อนๆ ต้องการศึกษาเพิ่มเติมของเส้นจราจรอื่นๆ ที่ยังไม่มีในตัวอย่างข้างต้น สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3rHabgS
ขอบคุณข้อมูล จากเพจ. มาสด้าไทยแลนด์
โฆษณา