12 ก.พ. 2022 เวลา 12:39 • หนังสือ
LVD151: หนังสือที่ฉันอ่าน ตอนที่ 1|2022
สวัสดีครับทุกท่าน แล้วก็ขออนุญาติสวัสดีวันแห่งความรักไว้ล่วงหน้าครับ ตอนนี้เราก็เข้าสู่ช่วงเดือนที่สองของปีแล้วนะครับ หวังว่าเป้าหมายที่เพื่อนๆวางไว้จะยังอยู่ดี สำหรับวันนี้ ผมก็ขอทำตามธรรมเนียมเดิมของ LVD ที่จะมารีวิวหนังสือที่อ่านในเดือนที่ผ่านมาแบบสั้นๆให้ฟัง จะมีเล่มไหนบ้างลองติดคามไปพร้อมกันกับซีรีย์ "หนังสือที่ฉันอ่าน" ตอนที่ 1/ 2022
1
คือมันอย่างนี้ครับ...
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมพยายามเลือกจับหนังสือเบาๆที่ให้แนวคิดดีๆที่เหมาะกับเป็นเทียนจุดประกายปัญญาในช่วงต้นปี แต่พอหยิบมาอ่านจริงๆก็อาจจะไม่ได้เบาขนาดนั้นนะครับ แต่ก็สามารถให้แนวคิดสำหรับปีนี้ได้อย่างดี มาตามกันทีละเล่มครับ
เล่มที่ 1 : แปดสิ่งที่คนเก่งมากๆมีร่วมกัน
เขียนโดย คุณผรินทร์ สงฆ์ประชา
จำนวน 317 หน้า
ผมตั้งใจหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเป็นเล่มแรกของปี ส่วนหนึ่งเพราะผมรู้จักกับผู้เขียน คุณอ๋อง ผรินทร์ แห่ง Nasket เป็นการส่วนตัว และก็เป็นแฟนข้อเขียนของคุณอ๋องมายาวนาน เรารู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งคุณอ๋องก็มีความโดดเด่นในเรื่องแนวคิดและวิธีทำงานมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วละครับ
สำหรับหนังสือแปดสิ่ง ก็ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวังเลย หนังสือเล่มนี้คุณอ๋องใช้เวลาถึง 7 ปีในการเขียนโดยรวบรวมเอาบทความใน facebook ของคุณอ๋องที่แกเขียนเป็นประจำและถูกแชร์เป็นจำนวนมาก (บางบทความก็แขร์หลักหลายพัน) มารวมเล่ม ด้วยสไตล์การเขียนที่เป็นแบบฟาดตรงๆ พูดตรงจุดด้วยวาทะแบบเจ็บแต่จริง ทำให้การเขียนแม้จะเป็นความสั้นๆ แต่ก็ชวนให้คิดต่อ ชวนให้เกิดอาการเบรคจิ๊กในใจบ่อยครั้ง โดยเฉพาะข้อเขียนส่วนใหญ่เองก็มักจะมาจากบทเรียนส่วนตัวของตัวคุณอ๋องเอง ก็ทำให้บทความที่ถ่ายทอดออกมามีความสมจริงและถึงใจมากขึ้น
เอาเป็นว่า ลองหามาอ่านดูดีกว่าครับ ถ้ายังไม่แน่ใจอีก ผมมีรีวิวหนังสือเล่มนี้ไว้ 2 ตอน ตามไปอ่านได้จาก link ด้านล่างนี้เลยครับ
LVD149: 20 ข้อคิดจากหนังสือแปดสิ่งที่คนเก่งมากๆมีร่วมกัน ตอนที่ 1 (10 ข้อคิดแรก) #แปดสิ่ง
LVD150: 20 ข้อคิดจากหนังสือแปดสิ่งที่คนเก่งมากๆมีร่วมกัน ตอนที่ 2 (ข้อ 11-20) #แปดสิ่ง
เล่มที่ 2: เกิดเป็นกระต่าย ต้องคิดให้ได้อย่างหมาป่า (Predatory Thinking)
เขียนโดย คุณ Dave Trott
จำนวน 311 หน้า
หนังสือเล่มที่สองของคุณ Dave Trott ที่ผมได้อ่านต่อจาก One+One=Three ซึ่งก็ไม่ทำให้ผมผิดหวังเลย วิธีคิดผ่านมุมมองนักโฆษณาระดับตำนานทำให้การเล่าเรื่องมีชั้นเชิง หักมุม และทรงเสน่ห์ ผมอาจจะลองหยิบตัวอย่างบางเรื่องมาเล่าให้ฟังเป็นน้ำจิ้มเรียกน้ำย่อยละกันครับ
1. เรือธีซุส ในยุคกรีกโบราณใช้สำหรับการเดินทางค้นหาดินแดนใหม่อันไกลโพ้น ทุกครั้งที่เรือกลับมา ช่างจะเข้ามาปรับปรุงเรือใหม่หมด เรียกว่าใหม่หมดจริงๆ เพราะเปลี่ยนทุกอย่าง ตะปูทุกตัว ไม้กระดานทุกชิ้น ชิ้นส่วนเรือเก่าก็จะกองเอาไว้ คำถามคือ ไม้ที่ถูกต่อเป็นเรือใหม่ หรือกองไม้ขากเรือธีซุสเดิม อะไรกันแน่ที่เป็นเรือธีซุส? เนื้อแท้ของเรือธีซุสอาจไม่ใช่สิ่งนี้ แต่เป็นความคิดเกี่ยวกับเรือที่มาจากความว่างเปล่า เช่นเดียวกับความคิดสร้างสรรค์ใช้สร้างสิ่งต่างๆจากความว่างเปล่า
2. อิสระมีสองประเภท คือ เชิงบวกและเชิงลบ อิสระเชิงบวกคือ ความอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ไม่มีใครห้าม อิสระเชิงลบคือ อิสระจากสิ่งเขิงลบต่างๆ เช่น ความไม่ปลอดภัย ความหิวโหย อิสระทั้งสองด้านเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ถ้าคุณมีอิสระในการขับรถเร็วโดยไม่มีการควบคุม คุณก็จะมีอิสระจากความไม่ปลอดภัยน้อยลง สสารไม่ได้หายไป เช่นเดียวกับการแข่งขันที่ต้องมีคนแพ้และชนะ
3. ในชั้นเรียนตำรวจใหม่ ขณะที่ครูผู้สอนกำลังเขียนเนื้อหาบนกระดาน ก็มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามานำสิ่งของมาให้ครูฝึก แล้วเดินออกไป ทันใดนั้นการทดสอบก็เริ่มขึ้น "คนที่เดินมาเมื่อกี้ อายุเท่าไร ใส่เสื้อสีอะไร หนักเท่าไร ไว้เคราไหม" คำถามที่พรั่งพรูแต่ไม่มีใครตอบได้ ครูฝึกตำรวจก็ย่อมเอ็ดตโร เพราะตำรวจมีหน้าที่ใส่ใจรายละเอียดและต้องเห็นในสิ่งที่คนธรรมดาไม่เห็น... แต่กลายเป็นวันนี้การทำโฆษณากลับสื่อสารกับคนทั่วไปราวกับว่าเขาเป็นตำรวจที่ฝึกสังเกตอย่างช่ำชอง เราใส่ตั้งแต่ คุณสมบัติสินค้า บุคลิกของแบรนด์ ความหมายของสี คำเสียดสี ขนาดตัวอักษร จังหวะโลโก้ตอนท้ายที่พอดีเป๊ะ เอาจริงๆพวกเขาไม่ได้เหลือบตามอง ไม่ได้สนใจ พวกเขาไม่ใช่ตำรวจแต่เป็นแค่คนทั่วไป โจทย์แรกของโฆษณาจึงไม่ใช่อะไรพวกนั้นเลย แต่เป็นว่าทำไงให้คนทั่วไปสังเกตเห็น
เอาเบาๆสามเรื่องเป็นเนื้อหาเรียกน้ำย่อยละกันครับ ถ้าท่านอยากได้ความคิด วิธีเล่าเรื่องเปรียบเปรยที่ลึกแต่เรียบ ผมแนะนำให้ลองหยิบ Predatory Thinking มาอ่านครับ ไม่ผิดหวังแน่นอน
เล่มที่ 3: ทักษะที่หายไปในศตวรรษที่ 21 The Lost Skill
เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร. นภดล ร่มโพธิ์
จำนวน 204 หน้า
ผมเป็นแฟนตัวยงของอาจารย์นภดล โดยเฉพาะการฟังจาก Nopadol's Story Podcast จึงทำให้หยิบหนังสือของอาจารย์มาอ่านอย่าฃไม่ต้องลังเล แต่ก็ยอมรับว่าเนื้อหาในหนังสือมีความต่างกับที่ผมคิดไว้ เพราะจากชื่อหนังสือ "ทักษะที่หายไปในศตวรรษที่21" ชวนให้ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงทักษะอนาคตอย่าง AI, Coding หรืออะไรที่มันล้ำๆ ซึ่งเนื้อหาจริงๆกลับไม่เป็นเช่นนั้น...
"ทักษะที่หายไป" ที่อาจารย์หมายถึงกลับเป็นทักษะพื้นฐานที่พวกเราลืมไปมากกว่า นั่นก็คือ การอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ ซึ่งอาจารย์ได้บอกว่าทักษะทั้งสามนี้จะช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องใหม่และเข้าใจผู้รับสารได้ดียิ่งขึ้น และไม่ว่าเราจะอยู่ในยุคใด ทักษะเหล่านี้ย่อมเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างแน่นอน เพราะการที่เรามีจิตใจที่อยากจะเรียนรู้มันทำให้เรามีความยืดหยุ่น ซึ่งก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่านี่คือสิ่งที่เราทุกคนต้องมีในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ ภาษาที่เรียบง่ายอ่านสบาย และอาจารย์ยังช่วยสรุปเป็นหนึางประโยคให้ในทุกๆบท ทำให้เทคนิคต่างๆอาจารย์ถ้ายทอดถูกย่อยเอาไว้แล้ว และนำไปใช้ได้ทันที
สำหรับ 3 เล่มแรกของปี 2022 ไม่แน่ใจว่าถูกใจเล่มไหนกันบ้างนะครับ ถ้าใครชอบเล่มไหนก็ทิ้งความเห็นมาคุยกันได้ครับ อย่าลืมนะครับโลกวันนี้เราต้องเรียนรู้ทุกวัน และการอ่านก็น่าจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายและถูกที่สุดครับ สวัสดีวันแห่งความรักล่วงหน้าอีกครั้งครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา