12 ก.พ. 2022 เวลา 16:11 • ท่องเที่ยว
ศาลาไทยที่งานเอ็กซ์โป ที่ ดูไบ Expo 2020 Dubai
ณ ตอนที่เขียนบทความนี้ ‘พาวิลเลียนของไทย’ (Thailand Pavilion) เป็นที่ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว กระนั้น พาวิลเลียนของไทยก็ยังได้รับความนิยมในระดับ 1 ใน 5 พาวิลเลียนที่มีผู้มาเยือนสูงสุด
ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจพอสมควรที่พาวิลเลียนขนาดไม่ใหญ่มากของประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้มาเยือนพาวิลเลียนมากล้นเกินความคาดหมาย ซึ่งจากการสังเกตการณ์เป็นเวลา 18 ชั่วโมงต่อวัน ยาวนานถึง 6 สัปดาห์ของผมนั้น ทำให้ทราบว่ามีปัจจัยสำคัญในการออกแบบบางประการที่ทำให้พาวิลเลียนของไทยกลายเป็นนิทรรศการยอดนิยมในงาน Expo ครั้งนี้ คือ การออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมโดยเฉพาะพื้นที่เปิดโล่งหน้าตัวอาคาร กิจกรรมการแสดงสดที่ตื่นเต้นน่าประทับใจ และนิทรรศการที่เข้าใจง่าย
เรามาลงรายละเอียดกันทีละปัจจัย
ปัจจัยแรกคือ อัตถประโยชน์เปิดโล่งหน้าอาคาร
พื้นที่เปิดโล่งสาธารณะที่ผู้ชมสามารถมารวมตัวกันได้ ลานโล่งที่ถูกเรียกว่า ‘Welcome Plaza’ นี้ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ร่มเงาให้กับผู้เข้าชมงานในโซนนี้ด้วย
ประเทศอื่น ๆ มักจะใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าจึงสร้างพาวิลเลียนให้เต็มพื้นที่ แต่พาวิลเลียนของไทยนั้นร่นระยะจากขอบของพื้นที่ที่ได้รับจัดสรร ทำให้ผู้ชม สามารถมองเห็นส่วนหน้าของตัวอาคารได้ชัดเจนมากขึ้น การออกแบบแบบนี้นอกจากจะทำให้ตัวอาคารดูโดดเด่น น่าสนใจ แตกต่างจากพาวิลเลียนของประเทศอื่น ๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างพื้นที่เปิดโล่งสาธารณะที่ผู้ชมสามารถมารวมตัวกันได้ ลานโล่งที่ถูกเรียกว่า ‘Welcome Plaza’ นี้ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ร่มเงาให้กับผู้เข้าชมงานในโซนนี้ด้วย
“Welcome Plaza เป็นพื้นที่สำหรับหลบไอร้อนและพักผ่อน เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเป็นไทยในเรื่องของความมีน้ำใจต้อนรับขับสู้”
คุณชัยวัฒน์ ลิมวัฒนานนท์ หัวหน้าทีมสถาปนิกจาก Design 103 International ได้กล่าวถึงแนวความคิดในการออกแบบ
ปัจจัยประการที่สองคือ การแสดงสดที่ดึงดูด
ระบบแสงที่ตกแต่งภายนอกอาคารในยามค่ำคืนพร้อมกับเสียงเพลงที่เข้ากับบรรยากาศ ดึงดูดให้ผู้ชมที่แม้จะอยู่ห่างไกลออกไปถึงครึ่งกิโลเมตรก็ยังสามารถหันมาให้ความสนใจกับการแสดงประจำวัน การแสดงบนลานแห่งนี้มี 3 ชุด ผลัดเปลี่ยนเวียนกันไป จัดแสดง 5 ครั้งในหนึ่งวัน ผู้ชมนับพันพากันหลั่งไหลเข้ามาชื่นชมการแสดงใน Welcome Plaza ที่กลายเป็นลานการแสดงที่ทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสสัมผัสการแสดง และนักแสดงอย่างใกล้ชิด
บรรยากาศที่หน้าเวลทีการแสดงสดที่ ‘พาวิลเลียนของไทย’ (Thailand Pavilion) ทุกวัน
“ในยุคสมัยที่เราถูกห้อมล้อมไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การได้ชมการแสดงที่เกิดขึ้นในโลกจริงเหมือนการแสดงประจำวันของพาวิลเลียนของประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกได้รับประสบการณ์ที่สดชื่น แปลกใหม่”
ยูทูปเบอร์ที่นำเสนอวิดิโอคลิปเกี่ยวกับพาวิลเลียนในงาน Expo ได้กล่าวถึงความประทับใจที่มีกับพาวิลเลียนของไทย
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าปัจจัยหนึ่งในความสำเร็จของพาวิลเลียนของประเทศไทย คือความสอดคล้องเข้ากันของสถาปัตยกรรมภายนอก และการออกแบบนิทรรศการภายใน
“สถาปนิก และนักออกแบบนิทรรศการทำงานร่วมกันตั้งแต่วันแรก ความสัมพันธ์ระหว่างตัวอาคารและการตกแต่งภายในจะต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน”
คุณเกรียงไกร กาญจนโภคิณ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Index Creative Village ผู้รับผิดชอบการออกแบบพาวิลเลียนของประเทศไทยได้บอกถึงที่มาที่ไปของการออกแบบที่แยบยล ปัจจัยที่สามคือความเรียบง่าย กระชับในการเล่าเรื่องแบบเข้าใจง่ายของนิทรรศการ (เรียกว่า ไม่ต้อง ‘ปีนบันได’ ดู)
นิทรรศการทั้ง 4 ห้องบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างเรียบง่าย เริ่มจากความเชื่อที่เป็นรากฐานวัฒนธรรม สู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเกี่ยวกับพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของ ‘น้ำ’ จากนั้นนิทรรศการก็เริ่มนำเสนอบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งของอุตสาหกรรมใหม่ และนำเสนอบทสรุปของความงดงามทางธรรมชาติ ที่นำพาอาคันตุกะให้มาเยือนและตกหลุมรักประเทศไทย โดยนิทรรศการทั้ง 4 ห้องนี้ ใช้เวลารับชมทั้งสิ้นประมาณ 18 นาที
ห้องที่หนึ่งก่อนที่นำเข้าไปสู่นิทรรศการหลักของ ‘พาวิลเลียนของไทย’ (Thailand Pavilion)
แม้ว่างาน Expo ครั้งแรก ๆ (‘ยุค Products’) จะจัดขึ้นในทวีปยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก แต่ประเทศไทยก็มีประวัติความเป็นมากับงาน Expo อย่างยาวนานไม่แพ้ประเทศอื่น ในช่วงเวลาที่ประชาคมโลกยังรู้จักในนามของ ‘ราชอาณาจักรสยาม’ โดย จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทูลเชิญให้รัชกาลที่ 4 จัดส่งผู้แทนของราชอาณาจักรสยามมา ‘ตั้งพาวิลเลียน’ ในงาน Exposition Universelle ที่มหานครปารีส เมื่อปี พ.ศ. 2410 รวมทั้งครั้งต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2421
งานไม้ของ ศาลาไทย ที่งาน Expo 1889 นครปารีส ที่มา: Library of Congress [LOT 6634, no. 184 (M) USE SURROGATE [P&P;]
ต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 สยามได้ส่งสิ่งของไปร่วม Paris Expo 1900 (หรือ พ.ศ. 2443 ที่มีชื่อเป็นทางการว่า ‘Paris Exposition Universelle’ หรืองานแสดงสินค้านานาชาติที่ปารีส) ซึ่งทั้งสองครั้งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมอย่างล้นหลาม ทำให้ราชอาณาจักรสยามเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ พาวิลเลียนของประเทศไทยก็ยังได้รับความสนใจอย่างล้นหลามทั้งใน ‘World Expo’ สองครั้งหลังสุด ที่ นครเซี่ยงไฮ้ (พ.ศ. 2553) เมืองมิลาน (พ.ศ .2558) และ ‘Specialized Expo’ เมืองแอสตาน่า ประเทศคาซักสถาน (พ.ศ. 2560) และ เมืองยอซู สาธารณรัฐเกาหลี (พ.ศ. 2555)
Thailand Pavilion ใน ‘World Expo’ ที่ นครเซี่ยงไฮ้ (พ.ศ. 2553) ที่มา: Gary Lee Todd, Ph.D., CC0, via Wikimedia Commons
ประเทศไทยเอง เคยจัดงานใหญ่ระดับนึ้หนึ่งครั้งคืองานนิทรรศการประจำชาติปี พ.ศ. 2425 ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า ‘The National Exhibition’ โดยจัดขึ้นในวาระฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 100 ปี ซึ่งเป็นงานนิทรรศการที่มีความสำคัญมากในการสร้างความรับรู้ให้กับคนไทยด้วยกันและต่างชาติแม้ว่านิทรรศการประจำชาติปี พ.ศ. 2425 นี้จะไม่ถูกนับว่าเป็นหนึ่งในงาน Expo เนื่องจากตอนนั้นไม่ได้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ
Thailand Pavilion ใน ‘World Expo’ เมืองมิลาน (พ.ศ .2558) ที่มา: Zairon, CC BY-SA 4.0 , via Wikimedia Commons
ส่วนงาน Expo อย่างเป็นทางการนั้น ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพงาน Expo หนึ่งครั้ง คือ Expo รูปแบบพิเศษด้านพืชสวน หรือที่เรียกว่า ‘Horticulture Expo’ ซึ่งคืองานพืชสวนโลก ปี พ.ศ. 2549–2550 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะจำกันได้นั่นเอง
ภาพมุมสูงของงาน พืชสวนโลก ปี พ.ศ. 2549–2550 จังหวัดเชียงใหม่ ที่มา: aiph.org
ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2556 นครดูไบชนะการประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพงาน Expo ซึ่งนานาประเทศต่างร่วมแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าภาพในการจัดงานไม่ต่างจากกีฬาโอลิมปิก หรือการประชุมนานาชาติที่สำคัญอื่น ๆ ด้วยแนวคิด ‘Connecting Minds, Creating the Future’ หรือ เชื่อมใจ สร้างอนาคต ในขณะนั้น ประเทศไทยของเราเองก็เสนอได้เมืองอยุธยาในการร่วมประมูลสิทธิ์นี้ด้วย โดยได้รับความสนใจจากคณะกรรมการของ BIE เป็นอย่างมากอันเนื่องมาจากความน่าสนใจของประเทศไทยทางด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม และชื่อเสียงของเมืองอยุธยาเองในความเป็นเมืองมรดกโลก
ทว่าเมืองอยุธยาก็ไม่ได้ผ่านเข้ารอบลึก ๆ ของการประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพงาน Expo อันเนื่องมาจากเหตุผลอื่น ซึ่งจะว่าไปก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ความโชคดี’ เพราะหากได้รับเลือก และต้องมาจัดงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้ การจัดงาน Expo คงจะกลายเป็นทุกขลาภที่ทำให้มีความยากลำบากไม่น้อยในการจัดงาน
ทั้งนี้คนไทยอาจจะได้เป็นเจ้าภาพ Expo กันอีกครั้ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 4,180 ล้านบาท ให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน “Specialized Expo” ณ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่องาน ‘Expo 2028 — Phuket, Thailand’ ในปี พ.ศ. 2571 โดยจะมีแนวความคิดหลักของงานเป็นเรื่องที่เกียวข้องกับสุขภาพและการสาธารณสุข
ภาพมุมสูงของงาน Expo 2020 Dubai ที่มา: https://openskiesmagazine.com/expo-2020-dubai-will-change-world/
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ Medium.com
โฆษณา