12 ก.พ. 2022 เวลา 16:39 • ประวัติศาสตร์
งานเอ็กซ์โป (World Expo) คืออะไร?
ที่มา: District 2020
ทุก ๆ 5 ปี นานาประเทศจะมารวมตัวกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นเวลายาวนานถึง 6 เดือน โดยประเทศเจ้าภาพที่จัดกิจกรรมนี้จะเชิญชวนให้ประเทศเหล่านี้มาร่วมกันสร้าง ‘พาวิลเลียน’ (Pavilion) หรือพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่สะท้อนอัตลักษณ์ของตนเอง
หากจะให้บรรยายว่ายิ่งใหญ่เพียงใดนั้น ต้องกล่าวว่าจำนวนผู้เข้าชมในสองครั้งล่าสุดของการจัดงานนี้ มีจำนวนรวมกันถึงกว่า 100 ล้านคน (เทียบกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกซึ่งมีผู้เข้าชมรวมกันทั้งหมดเพียงแค่ 14 ล้านคนเท่านั้น)
ข้อมูลสถิติมหกรรม World Expo และ Olympic Games
งานนี้อาจจะถูกเรียกขานแตกต่างกันไป อาทิ ‘งานแฟร์ของโลก’ (World’s Fair) หรือ ‘งานนิทรรศการนานาชาติ’ (International Exhibition) แต่ชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ ‘Expo’ ที่ย่อมาจากคำว่า Exposition ซึ่งมีความหมายว่า การจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ นั่นเอง
บทความนี้จะชวนคุยว่า Expo ที่ว่านี้คืออะไร?
งาน Expo ครั้งแรก จัดขึ้นที่ ‘The Crystal Palace’ หรือ ปราสาทเรือนแก้ว สิ่งก่อสร้างที่สร้างด้วยเหล็กหล่อและกระจกที่เดิมสร้างขึ้นที่ไฮด์พาร์คในกรุงลอนดอนในอังกฤษเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการแสดงนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Exhibition) ของปี ค.ศ. 1851 ที่มา: J. McNeven, Public domain, via Wikimedia Commons
ประวัติความเป็นมาของงาน Expo ที่ยาวนานเกือบ 200 ปีนั้น สามารถอธิบายโดยสรุปได้ด้วย ‘3 P’ คือ Products (ผลิตภัณฑ์) Progress (ความเจริญก้าวหน้า) และ Preparation (การเตรียมการ)
มร. ชาล์ลส์ ปับปาส (Charles Pappas) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติความเป็นมาของงาน Expo ได้กล่าวว่า
แนวคิดในการจัดงานนิทรรศการใหญ่ระดับโลกเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อกลุ่มผู้ประกอบการได้จัดงานกิจกรรมขึ้น ณ กรุงลอนดอนเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้กับทั้งผู้ผลิตได้เห็นศักยภาพของคู่แข่งขัน และคนทั่วไปได้ยลโฉมเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดย งานนิทรรศการขนาดใหญ่อีกกว่า 30 ครั้งที่เกิดขึ้นตามมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ล้วนเป็นงานที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งสิ้น
งาน Expo 1892 ณ นครชิคาโก ที่ว่ากันว่าเป็นงานมหกรรมการรวมตัที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของมวลมานุษยชาติ ที่มา:rUnknown author, Public domain, via Wikimedia Commons
โดยในช่วง 80 ปีแรกของงานนี้ เจ้าภาพจะหมุนเวียนกันไปไม่กี่ประเทศโดยหลัก ๆ คือ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา โดยมีครั้งหนึ่งที่ข้ามทวีปไปจัดงานไกลถึงนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย หากแต่ก็เป็นเพราะเวลานั้นออสเตรเลียยังเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีความต้องการที่จะให้ประเทศใหม่ในทวีปที่ห่างไกลนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
โปสการ์ดจากงาน Expo 1897 ณ นครบรัสเลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ที่มา: Anonymous Author, Public domain, via Wikimedia Commons
ความสนใจที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายประเทศอยากเป็นเจ้าภาพงาน Expo ประเทศฝรั่งเศสซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดงาน Expo ได้จัดตั้งสำนักนิทรรศการระหว่างประเทศ หรือ Bureau International des Exposition (มีชื่อย่อว่า BIE) ขึ้นมาเพื่อคัดเลือกเจ้าภาพในการจัดงานอย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้ต่างคนต่างจัดแล้วแย่งลูกค้าผู้เข้าร่วมงานกันเอง และไม่ให้เกิดความสับสนว่างานไหนคือของจริงงานไหนคือของปลอมซึ่งจะนำไปสู่ความสนใจที่ลดลงเนื่องจากคุณภาพของงานที่ด้อยลงไป ทำให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 เป็นต้นมา เมืองที่ต้องการเป็นเจ้าภาพจะต้องผ่านการรับรองและคัดเลือกจาก BIE เสียก่อน
หอไอเฟล ที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นเพื่องาน Expo ที่จัดขึ้น ณ มหานครปารีส (Exposition Universelle de 1889) เมื่อปี พ.ศ. 2432 ที่มา: The Library of Congress LOT 6634, no. 10 (M) USE SURROGATE [P&P;]
ผลกระทบจากสงครามโลกทั้งสองครั้งทำให้ประเทศผู้เข้าร่วมงานรวมถึงคณะผู้จัด เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์มาเป็น ‘ความเจริญก้าวหน้า’ (Progress) กล่าวคือ เป้าหมายของงาน Expo เปลี่ยนแปลงจากการแข่งขันทางธุรกิจ มาเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศแทน
ในงาน ‘Expo 1958 Brussels’ ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ณ กรุงบรัสเซลล์ นั้นงานสถาปัตยกรรมหลักของงานอย่าง ‘อะโตเมียม’ ก็ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึง ‘ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี’ ในมิติดังกล่าว โดยสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของนครบรัสเซลล์ระดับเดียวกับหอไอเฟลของนครปารีสนั้นคือโครงสร้างโมเลกุลของผลึกที่แสดงถึงแรงศรัทธาที่มีในพลังของวิทยาศาสตร์ เป็นโครงสร้างสแตนเลสที่มีขนาดใหญ่กว่าโมเลกุลของจริงถึง 165,000 ล้านเท่า เพื่อสื่อสารความนัยว่าโครงสร้างของโมเลกุลนั้น ‘เป็นกลาง’ ทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะเอาไปผลิตระเบิดปรมาณูเพื่อทำลายล้างกัน หรือสร้างพลังงานสะอาดเพื่อให้นานาประเทศได้พัฒนาร่วมกัน
อาคารอะโตเมียม (Atomium Building) แลนด์มาร์กสำคัญประจำเมืองบรัสเซลส์ ที่แสดงถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของเมืองได้เป็นอย่างดี ที่มา: Wikimedia Commons
ระหว่างทศวรรษที่ 70 ถึง 80 นั้นไม่มีการจัด ‘World Expo’ หรือ Expo หลักอีกเลย อันเนื่องมาจากเป็นช่วงที่ ‘กระแสของการจัดงานโอลิมปิก’ มาแรงมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ มุ่งเป้าไปที่การประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมากกว่า จะมีแต่เพียง ‘Specialized Expo’ หรือ Expo เฉพาะทางเท่านั้น โดยจัดขึ้นถึง 11 ครั้งระหว่างปี พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2534 โดยจริง ๆ แล้วประวัติศาสตร์ของงาน Expo และโอลิมปิกนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
EXPO’70 (The Japan World Exposition) ในช่วงระหว่างวันที่ 15 มีนาคม ถึง 13 กันยายน พ.ศ.2513 ซึ่งถือเป็นงานมหกรรมโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนับตั้งแต่มีการจัดงานมหกรรมโลก ที่มา: Wikimedia Commons
จริง ๆ แล้วโอลิมปิกเองต้องขอบคุณงาน Expo ที่ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมาอีกครั้ง เพราะหลังจากที่มีการรื้อฟื้นมาแข่งขันกันใหม่ในยุคสมัยใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2439 ณ นครเอเธนส์ นั้น โอลิมปิกยังเป็นแค่การจัดการแข่งขันกีฬาในสายตาของคนทั่วไป ไม่ได้มีความยิ่งหญ่จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จนผู้จัดงาน Expo ปี พ.ศ. 2443 ณ นครปารีส ดึงโอลิมปิกครั้งต่อมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘Expo 1900 Paris’ โดยเฉพาะในการสร้างความบันเทิงให้กับผู้เข้าชมงาน Expo ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับโอลิมปิกที่ดี เป็นที่รู้จัก และได้การยอมรับจากประชาคมโลกในทศวรรษต่อมา
การแข่งวิ่งมาราธอนในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่งาน ‘The Exposition Universelle of 1900’ หรือ ‘1900 Paris Exposition’ ที่มา: La Vie au grand air, Public domain, via Wikimedia Commons
การแข่งเรือพายในมหรกรรมกีฬาโอลิมปิกที่งาน ‘The Exposition Universelle of 1900’ หรือ ‘1900 Paris Exposition’ ที่มา: Wikimedia Commons
มาถึงปี พ.ศ. 2535 นั้น กลับกันกลายเป็นว่าผู้จัดงาน ‘Expo 1992 Seville’ ที่เมืองเซบิยา ประเทศสเปน ต้องมาจงใจจัดงานในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปีเดียวกันที่เมืองบาเซโลน่า เพื่อให้โอลิมปิกช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้คนมาเยือนประเทศสเปนในช่วงเวลานั้นเพื่อมางาน Expo ไปด้วย แบบ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ได้ทั้งมาดูกีฬา และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของสเปนในปีนนั้นไม่น้อยทีเดียว
เซบียาเอ็กซ์โป ’92 จัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบปีที่ 500 ของคริสโคลัมบัสถึงอเมริกา มีกว่า 100 ประเทศเป็นตัวแท และมีจำนวนผู้เยี่ยมชมกว่า 41 ล้านคน โดยได้อาณิสงค์จากคนท่ีมาเที่ยวงานโอลิมปิกด้วย ที่มา: Daniel VILLAFRUELA, CC BY-SA 4.0 , via Wikimedia Commons
ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 วัตถุประสงค์หลักของงาน Expo ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการนำเสนอการ ‘เตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิต’ (Preparation) และเจริญงอกงามของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในสังคมโลกที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของตนเอง ‘สาร’ ที่ผู้จัดต้องการจะสื่อ ณ ที่นี้ คือความร่วมมือในการป้องกันหายนะภัยตามที่แนวคิดหลักของงานได้ระบุไว้ โดยงาน Expo ที่จัดขึ้นหลังจากปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา มีการให้ความสำคัญกับการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เทคโนโลยีการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้งาน Expo 2020 มีความน่าสนใจในมุมมองของการวางแผน และการออกแบบ คือตัว P ลำดับที่ 4 กล่าวคือ ‘Post-Event’ หรือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่จัดงานหลังจากงาน Expo จบลง โดยงาน Expo มักจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าสนใจให้กับเมืองที่เป็นเจ้าภาพ ทำให้กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกหลังจากเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo ซึ่งมีหลายแห่ง อาทิ ซีแอตเทิล (พ.ศ. 2505) มอนทรีออล (พ.ศ. 2510) โอซาก้า (พ.ศ. 2513) เซบิยา (พ.ศ. 2535) และเซี่ยงไฮ้ (พ.ศ. 2553) โดยพื้นที่จัดงาน Expo ของเมืองเหล่านี้มีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเกือบทั้งหมดออก โดยมีเพียงแค่อาคารสำคัญ หลัก ๆ บางหลังที่ถูกเก็บไว้เป็นสัญลักษณ์ว่าครั้งหนึ่งเมืองนี้เคยเป็นเจ้าภาพมหกรรมการรวมตัวที่สำคัญที่สุดของมวลมนุษยชาติ
Expo 1967 จัดขึ้น นครมอนทรีออล มลรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ถือว่าเป็นงาน Expo ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดหนหนึ่ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากที่สุดจนถึงปัจจุบันและ 62 ชาติเข้าร่วม ที่มา: Wikimedia Commons
งาน Expo 2020 แตกต่างจากงาน Expo ในครั้งก่อน ๆ ตรงที่ทางเจ้าภาพได้วางแผนที่จะเก็บสิ่งก่อสร้าง และ ‘พาวิลเลียน’ ต่าง ๆ ไว้กว่า 2 ใน 3 ส่วนเพื่อการใช้งานหลังจากงานจัดแสดงได้สิ้นสุดลง แทนที่จะรื้อถอน ทำลาย ออกไปแทบทั้งหมดอย่างที่เกิดขึ้นกับงาน Expo ครั้งก่อน ๆ ทั้งนี้เนื่องจากความตั้งใจของนครดูไบเองที่จะใช้งาน Expo ในการสร้างเรื่องราวให้กับพื้นที่ใหม่กำลังจะพัฒนา และการให้ความสำคัญในประเด็นสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการเลือกเจ้าภาพจัดงาน เพราะโลกในปัจจุบันไม่เหมือนในอดีตที่มนุษย์จะสามารถใช้แรงเงินสร้างอาคารสถานที่ขึ้นมาแล้วรื้อถอนทิ้งขว้างตามอำเภอใจให้สิ้นเปลืองทรัพยากร
หลังจากงาน Expo สิ้นสุดหลังวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 พื้นที่จัดงาน Expo 2020 จะถูกเปลี่ยนเป็น ‘District 2020’ หรือ ศูนย์รวมนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นหรือ ‘สตาร์ทอัพ’ และธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ถึงแม้ว่าพื้นที่จัดงานตั้งอยู่ตรงสถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้าแห่งเมืองดูไบ แผนการสร้าง District 2020 นี้ก็ทำให้อุ่นใจได้ว่า พื้นที่ผืนใหญ่แห่งนี้จะไม่ถูกทอดทิ้งให้เวิ้งว้างว่างเปล่า
คุณ Tala Al Ansari ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมของ District2020 และ Scale2Dubai อธิบายแนวความคิดของการใช้พื้นที่ให้กับคณะของพวกผมที่เดินทางไปท่ีดูไบฟัง
บริษัทที่มีอิทธิพลหลายบริษัท อาทิ Siemens, Terminus และ DP World ได้ตกลงเช่าพื้นที่ของ District 2020 ต่อเรียบร้อยแล้ว ด้วยเป้าหมายที่ท้าทาย และมาตรการแรงจูงใจที่น่าดึงดูด เช่น การยกเว้นภาษีและค่าเช่า สำหรับธุรกิจที่มาใช้บริการ โครงการนี้จึงน่าเป็นที่จับตามองว่าจะดึงดูดธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลกที่มากความสามารถได้มากแค่ไหน โดยล่าสุดมีสตาร์ทอัพมากกว่า 600 รายที่ได้รับการคัดเลือกเบื้องต้นก่อนที่จะมีเพียงแค่ 80 รายที่จะถูกเลือกให้เป็น ‘รุ่นบุกเบิก’ (First Batch) ของ District2020 นี้
รูปภาพจำลองของ District 2020 หรือ ต้นแบบของ ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ สมาร์ตซิตี้ (Smart City) ด้านนวัตกรรมอย่างแท้จริง ที่มา: District 2020
งาน Expo 2020 Dubai ได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหลายบริษัทเพื่อออกแบบโครงข่ายพื้นฐานที่ล้ำสมัยที่สามารถใช้ในการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ District 2020 เป็นต้นแบบของ ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ สมาร์ตซิตี้ (Smart City) ด้านนวัตกรรมอย่างแท้จริง
อ่านบทความเต็มได้ที่ Medium.com
โฆษณา