13 ก.พ. 2022 เวลา 01:54 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดอิสราเอล รอยยิ้มบนคราบน้ำตา (2)
The old will die, the new generations will forget
David Ben-Gurion
วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1947 สำหรับชาวยิวคือวันชาติหรือวันประกาศอิสรภาพ แต่สำหรับชาวอาหรับปาเลสไตน์มันคือ al-Nakba หรือวันแห่งหายนะ (catastrophe)
David Ben-Gurion สำหรับชาวอิสราเอล เขาคือวีรบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศอิสราเอล แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์อาจจะเห็นต่างออกไป
Ben-Gurion เป็นชาวยิวที่เกิดและโตในโปแลนด์ มีพ่อเป็นหนึ่งในกลุ่ม Zionist เรียนในโรงเรียนฮิบรูที่ก่อตั้งโดยพ่อของเขาเอง เมื่ออายุ 18 ปีเขาเป็นผู้นำกลุ่มเยาวชน Zionist ที่เรียกตัวเองว่า Erza ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเชื่ออย่างสุดหัวใจเหมือน zionist ว่าดินแดนปาเลสไตน์นั้นคือดินแดนพันธะสัญญาที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้แก่ชาวยิว เขาย้ายมาตั้งรกรากที่ปาเลสไตน์เมื่ออายุ 20 ปี และพยายามทุกวิถีทางที่จะสถาปนาประเทศอิสราเอลขึ้นมาให้ได้ ทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการก่อตั้งกำลังทหารเพื่อขับไล่ชาวปาเลสไตน์และทำสงครามกับอาหรับ
David Ben-Gurion ในวัยหนุ่ม
ในช่วงที่ Ben-Gurion ค่อย ๆ ดำเนินตามแผนการสานฝันสร้างชาตินั้น แผ่นดินที่เขาต้องการครอบครองยังอยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมาน 85% ของผู้คนที่อาศัยคืออาหรับปาเลสไตน์ 10% เป็นชาวคริสต์ มีชาวยิวตั้งรกรากอยู่แค่ 5% แม้จะมีความพยายามชักชวนชาวยิวให้อพยพมาอยู่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการระดมเงินจาก Jewish National Fund (JNF) เพื่อค่อย ๆ กว้านซื้อที่ดินและเป็นทุนในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ...แต่ความฝันนั้นก็ยังอยู่ห่างไกลนัก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) Ben-Gurion เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มชาวยิวในอเมริกาเพื่อให้อังกฤษสนับสนุนให้มีการตั้งรัฐอิสราเอลในปาเลสไตน์ จนกระทั่งในปีค.ศ.1917 ดินแดนปาเลสไตน์ถูกเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พร้อม ๆ กับมีประกาศอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า Belfour Declaration โดยมีเนื้อหาว่าอังกฤษยินดีสนับสนุนให้ตั้งปาเลสไตน์เป็น “national home“ แก่ชาวยิว แต่ในประกาศนั้นก็ยังย้ำถึงการคุ้มครองสิทธิแก่ “non-Jewish communities” ที่อาศัยอยู่เดิม (อันนี้เป็นกุศโลบายของอังกฤษที่ต้องการเอาใจชาวยิวในอเมริกาเพื่อหาแนวร่วมในการทำสงคราม รวมทั้งหวังว่าจะช่วยให้อังกฤษรักษาคลองสุเอซจากการคุกคามของอียิปต์ไว้ได้ พร้อมกันนั้นก็ป้องกันตัวเองจากการถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิของชาวปาเลสไตน์....ตอนนั้นประชาคมโลกยังไม่นิยามคำว่า “สิทธิมนุษยชน”)
David Ben-Gurion (1955-1963) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล
หลังจากได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษ กระบวนการยึดครองปาเลสไตน์ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทั้งการซื้อที่ดินและชักชวนชาวยิวให้อพยพมาซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 1930s จากกระแสต่อต้านยิวในยุโรป แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่
ลองนึกภาพถ้าเราเป็นชาวอาหรับปาเลสไตน์ในขณะนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร
อยู่ ๆ เพื่อนบ้านของเราที่เป็นคนกลุ่มน้อย (แต่ก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบ) ก็อพยพพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ พร้อมกับมีข่าวลือว่าเขาจะมาขอแบ่งพื้นที่ไปเป็นบ้านของเขา เพราะที่ตรงนี้เมื่อหลายพันปีก่อนเขาเคยอยู่มาก่อนนะ
ชาวอาหรับเริ่มไม่พอใจ มีการจัดตั้งกลุ่มการเมืองพร้อม ๆ กับกระแสการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ยับยั้งการขายที่ดินให้ยิวและไม่ให้มีการอพยพคนยิวเข้ามาอีก รวมทั้งขอสิทธิในการปกครองตนเองจากอังกฤษ (ปาเลสไตน์ไม่เคยถูกเรียกว่าประเทศหรือรัฐอิสระเลย คนปาเลสไตน์ที่นับถืออิสลามก็อยู่ที่นั่นมานานนับหลายพันปีแบบไม่ได้เดือดร้อนอะไร) อังกฤษต้องการลดความขัดแย้งเลยเสนอให้แบ่งพื้นที่ปาเลสไตน์ให้เป็น 2 รัฐคืออิสราเอลและปาเลสไตน์
ถึงตอนนี้ถ้าเราเป็นคนปาเลสไตน์ก็อาจจะเริ่มรู้สึกงง ๆ ...ก็ในเมื่อเดิมนั้นเราเป็นเจ้าของบ้าน ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ เราเห็นคนลำบากอพยพมาก็แบ่งที่อยู่ให้ อยู่ไปอยู่มาคนกลุ่มนี้ก็ไปหาผู้มีอิทธิพลมาสนับสนุนแล้วก็บอกว่าที่ส่วนน้อยที่แบ่งให้ไม่พอนะ ฉันอยากได้อีกอย่างน้อยต้องแบ่งกัน 50/50 (หรือให้ดียกให้ฉันทั้งหมดเลยดีกว่า)
ถ้าเราเป็นคนปาเลสไตน์เราจะอยู่เฉย ๆ ได้เหรอ ??
แน่นอนว่าข้อเสนอของอังกฤษนำไปสู่การประท้วงใหญ่และอังกฤษก็แก้ปัญหาด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงปี 1936-1939 เหตุการณ์นี้ทำให้ปาเลสไตน์อ่อนแอลงมากทั้งทางการเมืองและการทหาร ผู้นำการต่อต้านหลายคนถูกจับขัง ไม่ก็ถูกขับออกนอกประเทศ กำลังทหานถูกริดรอนเหลือแต่ประชาชนชาวอาหรับที่เป็นชาวบ้าน อยู่กระจัดกระจายตามชนบท ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีแค่ผุ้นำชุมชนคอยดูแล ในทางตรงกันข้ามกองกำลังและการเมืองของอิสราเอลกลับเข้มแข็งขึ้น
ในระยะเวลา 20 ปีจำนวนประชากรชาวยิวเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 5% เป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด เมือง Tel Aviv กลายเป็นเมืองที่มีชาวยิวเป็นประชากรส่วนใหญ่
ปีค.ศ.1939-1945 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อม ๆ กับเหตุการณ์ Holocaust หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจากนาซีเยอรมัน ทำให้ชาวยิวในยุโรปตายไปถึง 6 ล้านจาก 9 ล้านคน หลังสิ้นสุดสงครามคนที่เหลือรอดชีวิตก็อพยพหนีตายไปที่อเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งก็มาที่ปาเลสไตน์ ถึงตอนนี้อเมริกาเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนการอพยพของยิวเข้ามายังปาเลสไตน์ด้วย ท่ามกลางความไม่พอใจของชาติอาหรับที่อยู่รอบ ๆ (ก่อนหน้า Holocaust ชาวยิวที่ตั้งรกรากในอเมริกามานานก็เป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลทั้งด้านการเงินและการเมืองอยู่แล้ว พวกนี้สนับสนุนแนวคิดของ zionist)
ภาพชาวยิวในค่ายกักกันของนาซี
ในปี 1947 (2 ปีหลังสิ้นสุดสงคราม) อังกฤษเตรียมถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ พร้อม ๆ กับมอบให้ UN (the United Nation) ซึ่งเพื่งก่อตั้งเมื่อปี 1945 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ตัดสินใจแบ่งพื้นที่การปกครองในปาเลสไตน์ คณะกรรมการที่ UN ตั้งขึ้นใช้เวลา 9 เดือนในการตัดสินใจแบ่งพื้นที่การปกครองในปาเลสไตน์เป็น 2 ส่วน แม้ว่าจะมีการคัดค้านจากชาติอาหรับถึงความชอบธรรมในการแบ่งแยกโดยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศคืออาหรับปาเลสไตน์ได้ครอบครองพื้นที่แค่ 45% แต่ยิวกลับได้ครอบครองถึง 55%
การประชุมครั้งแรกของ UN ในปี 1945 ก่อตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบด้วยสมาชิก 50 ประเทศ
ทันทีที่ได้รับคำตัดสินจาก UN พร้อม ๆ กับที่อังกฤษถอนกำลังทหารออกจากปาเลสไตน์ กลุ่มผู้นำยิวก็เริ่มปฎิบัติการทางทหารรบกับกองกำลังทหารอาสาจากชาติอาหรับ (เพราะปาเลสไตน์ตอนนั้นไม่มีกองกำลังทหารของตนเอง) เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์นี้ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะเรียกว่า Israel-Arab War
ภาพทหารอิสราเอลสู้รบในสงครามปี 1948
อิสราเอลอ้างความชอบธรรมในการทำสงครามปกป้องตนเองจากการรุกรานของกองกำลังอาหรับนานาชาติ แต่ในพื้นที่มันคือปฏิบัติการกวาดล้างเชื้อชาติ (Ethnic Cleansing)*
เพราะอิสราเอลรู้ว่าการแบ่งแยกพื้นที่ออกเป็น 2 รัฐไม่เพียงพอที่จะทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นของยิวโดยสมบูรณ์ จะมีเหตุอันใดที่จะอ้างเพื่อนำมาใช้ในการผลักดัน ขับไล่ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของบ้านออกไปได้ดีและเนียบเนียนไปกว่าการหนีภัยสงคราม
ผู้นำอิสราเอลสั่งให้ใช้กำลังทหารกวาดล้างขับไล่ชาวอาหรับปาเลสไตน์จากชุมชน หมู่บ้านต่าง ๆ ชาวบ้านปาเลสไตน์ต้องอพยพแบบบ้านแตก หมู่บ้านถูกระเบิด ไม่ก็เผาทำลาย หลายหมู่บ้านถูกสังหารหมู่ ผุ้ชายอายุตั้งแต่ 10-50 ปีถูกแยกออกมา คนที่ทหารเชื่อว่ามีส่วนกับการต่อต้านยิวจะถูฆ่าหรือไม่ก็จับไปขัง ส่วนผู้หญิงและเด็กถูกผลักดันให้หนีไปที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือแคมป์ผู้อพยพ
ภาพการสู้รบในปี 1948
อิสราเอลใช้เวลาประมาณ 2 ปี (ค.ศ.1947-1949) ในการทำสงครามและปฏิบัติการกวาดล้างนี้ ผลก็คือหมู่บ้าน พื้นที่เกษตรกรรม มัสยิด ถูกระเบิดไม่ก็เผาทำลาย ไม่เหลือร่องรอยของการที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยเดิมของชาวปาเลสไตน์
แล้วชาวปาเลสไตน์เจ้าของพื้นที่เดิม ประชากร 80% ของพื้นที่ไปอยู่ที่ไหน
สำหรับกลุ่มคนที่มีช่องทาง มีฐานะ ก็เริ่มอพยพไปอยู่ในประเทศอาหรับที่มั่นคงกว่าเช่นอียิปต์ตั้งแต่ก่อนสงคราม แต่ชาวบ้านที่หนีภัยสงครามนั้นส่วนหนึ่งก็อพยพข้ามชายแดนไปประเทศเพื่อนบ้านเช่นจอร์แดน เลบานอน ซีเรีย แต่ส่วนหนึ่งก็ไม่ยอมออกไปประเทศอื่น เพราะลึก ๆ ก็ยังเชื่อว่าจะได้กลับบ้าน อพยพไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ฉนวนกาซ่า หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนที่เรียกว่า West bank ซึ่งอยู่ในการควบคุมของจอร์แดน (ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคือประเทศจอร์แดน)
ปี 1949 เมื่อสิ้นสุดสงคราม นานาชาติและ UN รับรองการเป็นประเทศของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ สิ้นสุดการมีอยู่ของปาเลสไตน์ในพื้นที่เดิม เหลือเพียงพื้นที่เล็ก ๆ ตรงฉนวนกาซ่าที่อยู่ภายใต้การดูแลของอียิปต์ West Bankและฝั่งตะวันออกของเยรูซาเล็มภายใต้การดูแลของจอร์แดน
ภาพพื้นที่ปาเลสไตน์เดิมก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นอิสราเอลในปัจจุบัน
เมื่อ Ben-Gurion นายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล ฮีโร่ผู้ร่วมก่อตั้งประเทศอิสราเอล ถูกถามว่าจะทำอย่างไรกับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่และสูญเสียที่อยู่อาศัย ที่ทำกินไป เขาตอบว่า “คนแก่ ๆ เดี๋ยวก็ตายไป คนรุ่นใหม่เดี๋ยวก็ลืม”
คนที่ลืมอาจจะเป็นชาวอิสราเอลรุ่นใหม่ ที่เกิดมาก็อยู่ในอิสราเอลแล้ว พร้อมกับตำนานการสร้างประเทศอย่างชอบธรรมจากการลงทุนซื้อที่ดิน จากการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและทะเลทรายให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว จากการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ตั้งชื่อใหม่เพื่อลบล้างร่องรอยของการเป็นปาเลสไตน์ออกไปแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ ภาษา และเรื่องราวของยิวแทน เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าภายใต้พื้นดินเหล่านี้ ที่เป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า สวนสาธารณะ เคยมีหมู่บ้านของชาวปาเลสไตน์ตั้งอยู่ เคยเป็นมัสยิด เคยเป็นบ้านของใครสักคนมาก่อน
คนที่ไม่ลืมคือลูกหลานของชาวปาเลสไตน์ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเล่าให้ฟังว่าชีวิตของพวกเขาก่อนปี 1948 นั้น เคยเป็นเจ้าของสวนมะกอก เคยมีที่ทำกิน มีบ้านเป็นของตนเอง เคยอยู่อย่างอิสระไปไหนมาไหนได้ ไม่เคยอดอยาก นี่ไง โฉนดที่ดินในมือยังเก็บรักษาไว้ แม้ว่าตอนนี้ที่ดินจะกลายเป็นของคนอื่นไปแล้วก็ตาม
ภาพคุณยายชาวปาเลสไตน์แสดงหลักฐานการครอบครองที่ดินเดิม รวมทั้งร่องรอยของหมู่บ้านชาวปาเลสไตน์ในอดีต
เรื่องราวในประวัติศาสตร์หลายครั้งขึ้นอยู่กับว่า “ใคร” เป็นผู้เล่ามากกว่า “ความจริง” เป็นอย่างไร
การทำความเข้าใจความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ดำเนินมา 75 ปี ต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้มากกว่าประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องอาศัยการใคร่ครวญปราศจากอคติเพื่อให้เราเข้าใจ เห็นใจ มากกว่าที่จะกระโดดไปร่วมเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และที่สำคัญบทเรียนจากความขัดแย้งที่นำมาสู่การสูญเสียและความเจ็บปวดน่าจะนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
โฆษณา