13 ก.พ. 2022 เวลา 03:21 • ประวัติศาสตร์

ปาเลสไตน์คือใคร

ปาเลสไตน์คือใคร
เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ขอพาย้อนเวลากลับไปจินตนาการย้อนหลังไปยุคอารยธรรมแรก ๆ ของมนุษยชาติที่เรียกว่าอารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ที่นับย้อนหลังไปราว ๆ 6,000-7500 ปีที่แล้ว (5,500-4,000 BC) ที่เรารู้เพราะมีการค้นพบร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้าง ข้าวของเครื่องใช้ แม้กระทั่งตัวอักษรในบริเวณแถบนี้
เมโสโปเตเมียคือบริเวณที่ราบที่อยู่ล้อมรอบแม่น้ำ 2 สายคือไทกริส (Tigris) และยูเฟรติส (Euphrates) ปัจจุบันคือก็บางส่วนของประเทศอิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน ซีเรีย และตุรกี
อารยธรรมแรก ๆ ของมนุษย์ที่ลุ่มเมโสโปเตเมียระหว่างแม่น้ำไทกรีสและยูเฟรติส ปัจจุบันคือบริเวณประเทศอิรัค
อาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในแถบเมโสโปเตเมียมี 4 อาณาจักรใหญ่ด้วยกันคือ ซูเมอเรียน (Sumerians) แอคคาเดียน (Akkadian) อัสซีเรียน (Assyrian) และบาบิโลเนียน (Babylonian)
(ถึงตอนนี้พอจะคุ้น ๆ ชื่อบ้างรึยัง 😂😂 ยังจำสวนลอยบาบิโลน หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณได้ไหม ร่องรอยของสวนที่ว่าเราก็เจอกันแถว ๆ นี้แหละ 😊)
พาย้อนไปซะไกลก็เพื่อจะบอกว่าหลักฐานแรก ๆ ที่เราพบเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์เราก็พบที่บริเวณใกล้ ๆ แหล่งอารยธรรมเหล่านี้ บนพื้นที่เล็ก ๆ ที่ติดกับฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงแม่น้ำจอร์แดน เป็นจุดที่เชื่อมระหว่างอาฟริกา (ทิศใต้ติดประเทศอียิปต์) กับเอเชีย (มีพื้นที่ติดกับซีเรีย จอร์แดน เลบานอน)
สมัยประมาณ 3,200 ปีก่อน ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มีหลายกลุ่มทั้งที่ถูกเรียกว่า Canaanites, Israelites รวมทั้ง Philistines ที่เชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบัน แต่ละกลุ่มมีความเชื่อ มีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันไปแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้
ในตอนนั้นยังไม่มีศาสนาคริสต์หรืออิสลาม ดังนั้นนอกจากยิวที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว (monotheism) คนเผ่าอื่น ๆ ก็มักจะบูชาเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheism) บางทีก็ถูกเรียกว่าพาแกน (pagan)
บริเวณนี้เป็นที่หมายตาของอาณาจักรต่าง ๆ ในยุคโบราณไม่ว่าจะเป็นบาบิโลน อัสซีเรีย โรมัน ซึ่งผลัดเปลี่ยนกันมายึดครอง โดยเฉพาะเมื่อดินแดนนี้เป็นที่เกิดของศาสนาคริสต์ และเมื่อศาสนาอิสลามกำเนิดขึ้นที่อาราเบียแล้วมีการแผ่อิทธิพลเข้ามายังบริเวณนี้ด้วยในยุคต่อมา ทำให้กลายเป็นดินแดนสมรภูมิครูเสด (สงครามระหว่างคริสตจักรกับมุสลิม) หลายครั้งในช่วงเวลาหลายร้อยปีในช่วงยุคกลาง (ศตวรรษที่ 11-13) จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนที่อาศัยอยู่จะมีทั้งชาวคริสต์ มุสลิม และยิว
ภาพจำลองเยรูซาเล็มก่อนการยึดครองของโรมัน
ในยุคที่อาณาจักรออตโตมาน (Ottoman) ของตุรกีเรืองอำนาจสามารถยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) จากโรมันได้ในปีค.ศ.1453 สิ้นสุดความรุ่งเรืองของไบแซนไทน์ (Byzantine) ก็เริ่มแผ่ขยายอำนาจยึดครองทั้งซีเรีย อาราเบีย อียิปต์รวมทั้งดินแดนปาเลสไตน์ด้วย
สภาพบ้านเมือง การใช้ชีวิตร่วมกันของอาหรับ คริสต์และยิวในปาเลสไตน์ยุคที่ยังไม่มีสงคราม
ในสมัยที่อยู่ใต้การครอบครองของออตโตมานยังไม่มีการกำหนดอาณาเขตหรือระบุชื่อปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ ผู้คนก็อยู่ร่วมกันดีไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 พร้อม ๆ กับการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรออตโตมาน สหราชอาณาจักรเข้ามาปกครองพื้นที่บริเวณที่เป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน รวมถึงพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (West Bank) เรียกบริเวณนี้ว่า “ปาเลสไตน์” (ปีค.ศ.1917 ยังไม่มีประเทศอิสราเอล)*
พื้นที่ตะวันออกกลางยุคไบแซนไทน์
พูดแบบชาวบ้าน ๆ คือปาเลสไตน์เพิ่งจะมีชื่อเรียก มีการกำหนดพื้นที่ชัดเจนช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครอง แต่คนที่เรียกตัวเองว่าปาเลสไตน์นั้นอยู่ตรงนี้มานานแล้ว ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนน้อยนับถือคริสต์ รวมทั้งมียิวอยู่ประมาณ 5% ของประชากรทั้งหมด คนปาเลสไตน์ที่นับถือมุสลิมบางทีก็ถูกเรียกว่าอาหรับ (Arab)
*เรื่องขอบเขตพื้นที่ของปาเลสไตน์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน เป็นที่เข้าใจกันว่าครอบคลุมตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน ตอนเหนือติดเลบานอน ตะวันตกติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ฉนวนกาซ่า หรือ Gaza Strip เป็นพื้นที่เล็กติดฝั่งทะเลนี้)
โฆษณา