13 ก.พ. 2022 เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์

กำเนิดอิสราเอล

กำเนิดอิสราเอล รอยยิ้มบนคราบน้ำตา (1)
“พวกเขาจับตัวเราออกมาทีละคน แล้วเริ่มยิงคนแก่ พอลูกสาวส่งเสียงร้องก็โดนยิงไปด้วย เขาเรียกให้มูฮัมเมดพี่ชายผมให้เดินออกมาแล้วก็ยิงเขาล้มลงต่อหน้าพวกเราทุกคน แม่ของผมกรีดร้องแล้วล้มลงกอดเข้าไว้พร้อมกับน้องสาวคนเล็กที่ยังดูดนมแม่อยู่ แม่ก็โดนยิงไปอีกคน”
Fahim Zaydan
นั่นคือคำบอกเล่าของ Fahim Zaydan เด็กชายวัย 12 ปี ที่รอดจากการสังหารหมู่มาอย่างปาฏิหารย์ ในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ.1948 Zaydan อาศัยอยู่กับครอบครัวในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อ Deir Yassin บนเนินเขาทางทิศตะวันตกของเยรูซาเล็ม วันที่ชีวิตของเด็กชายชาวปาเลสไตน์ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล
ภาพการสังหารหมู่ในสงครามอิสราเอล-อาหรับ ปี 1948
หายนะของชาวปาเลสไตน์ น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่การก่อกำเนิดขององค์กรที่มีแนวคิดแบบอุดมคติสุดขั้ว (อันนี้ป้าหมอแปลเองจากคำว่า extremist ideology) ที่เรียกตัวเองว่า Zionist
ถ้าจำกันได้จากเรื่องเล่าในตอนที่ผ่านมา กระแสการต่อต้านยิวเริ่มจากการเมืองในยุคศาสนาจักรรุ่งเรืองตั้งแต่ยุคกลางที่ทำให้ยิวต้องอพยพกระจัดกระจายไปทั่วโลก
ก่อนเกิดเหตุการณ์ Holocaust หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวครั้งใหญ่ในยุโรปจากการกระทำของนาซีนั้น คาดกันว่ามีชาวยิวอยู่ในยุโรปประมาณ 9-10 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันออก เฉพาะในโปแลนด์มีชาวยิวอยู่มากถึง 5 ล้านคน ชาวยิวเหล่านี้อพยพมาตั้งแต่ยุคสมัยโรมันเข้ายึดครองเยรูซาเล็ม หมายความว่าพวกเขามาตั้งรกรากอยู่ในยุโรปนานนับ 2000 ปีแล้ว แม้รูปร่างหน้าตาจะกลมกลืนไปกับชาวยุโรป แต่ก็ยังคงรวมกลุ่มอยู่ด้วยกัน มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง อาจจะเพราะเหตุนี้เลยทำให้คนบางกลุ่มมีอคติและรู้สึกแปลกแยกกับชาวยิว
จริง ๆ แนวคิดที่เชื่อว่าชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกจะต้องกลับไปสู่ดินแดนแห่งพันธะสัญญาซึ่งก็คือปาเลสไตน์นั้นมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-17 แต่แนวคิดนี้ถูกผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่างจากกระแสต่อต้านยิวในยุโรปที่เริ่มจากรัสเชียในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
ในปีค.ศ.1897 Theodor Herzl ชาวยิวเชื้อสายออสเตรีย ได้จัดการประชุม The First Zionist Congress ที่เมืองบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีแนวคิดว่าชาวยิว ไม่สามารถจะหลุดพ้นจากกระแสต่อต้านหรือการถูกข่มเหงรังแกได้ ตราบใดที่พวกเขายังไม่มีรัฐหรือประเทศเป็นของตนเอง “ลัทธิ Zionism ปรารถนาจะสร้าง “บ้าน” ที่เป็นของยิวและได้รับการรับรองตามกฏหมายในปาเลสไตน์”
พร้อม ๆ กันนั้นได้มีการก่อตั้ง Jewish National Fund (JNF) เพื่อระดมทุนในการสานฝันสร้างประเทศอิสราเอล ด้วยการเอาไปลงซื้อที่ดินในปาเลสไตน์เพื่อให้ชาวยิวที่ได้รับผลกระทบจากกระแสการต่อต้านยิวที่นำมาสู่การก่อความรุนแรงต่อชาวยิวในรัสเซียที่เรียกว่า โพกรอม (popgroms) ทำให้ชาวยิวในรัสเซียจำนวนมากอพยพไปที่อิราเอล
การทำร้ายและขับไล่ชาวยิวในรัสเซีย (pogrom)
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 พบว่ามีชาวยิวอพยพไปที่ปาเลสไตน์ราว ๆ 1 แสนคน ในช่วงนั้นปาเลสไตน์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมาน จนเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในอีก 3 ปี ต่อมา (ค.ศ.1917) ปาเลสไตน์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ผลจากการผลักดันจากชาวยิวเชื้อสายรัสเซีย 2 คนที่มีอิทธิพลทางการเมืองในอังกฤษทำให้เกิดประกาศที่เรียกว่า Belfour Declaration ที่มีเนื้อหาว่า “อังกฤษจะให้การสนับสนุนการก่อตั้งรัฐของชาวยิวในอิสราเอล”
อย่างไรก็ตาม ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนชาวยิวที่อพยพไปที่ปาเลสไตน์ก็ยังไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ ระหว่างนั้น กลุ่ม Zionist ก็มีการเตรียมการเพื่อทำให้ปาเลสไตน์กลายเป็นประเทศของยิวอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำ “village files” บันทึกรายละเอียดของชุมชนชาวปาเลสไตน์เพื่อวางแผนในการยึดครองภายหลัง การตั้งกองกำลังทหารและหน่วยรบพิเศษของตนเอง และการดำเนินการต่อรองทางการเมืองกับอังกฤษ
กระแสการอพยพของชาวยิวที่เพิ่มขึ้นในปาเลสไตน์จาก 5% เป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ทำให้มีกระแสต่อต้านจากอาหรับปาเลสไตน์ จนทำให้เกิดการปราบปรามครั้งใหญ่จากอังกฤษพร้อม ๆ กับที่อังกฤษเริ่มออกกฏจำกัดการอพยพเข้ามาของชาวยิว การปราบปรามในช่วงปีค.ศ.1936 นี้ทำให้กองกำลังที่จะป้องกันตัวเองของปาเลสไตน์อ่อนแอลง ผุ้นำหลาย ๆ คนโดนจับ
จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และเหตุกาารณ์ Holocaust จะเกี่ยวข้องยังไง จะขอเล่าในตอนต่อไป
ปล.ก่อนที่ลัทธิ Zionism จะเชื้อเชิญให้ชาวยิวจากยุโรปอพยพมายังปาเลสไตน์ มีชาวยิวจำนวนหนึ่งอพยพมาอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใกล้่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในเยรูซาเล็ม ทั้งยิวและมุสลิม รวมทั้งชาวคริสต์จำนวนหนึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ชาวยิวในเยรูซาเล็มไปสวดภาวนาที่กำแพงเมืองเก่า
ชาวปาเลสไตน์ในยุคออคโตมาน
โฆษณา