14 ก.พ. 2022 เวลา 01:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัพเดตสถานการณ์การลงทุน 14 ก.พ. 65 – In Brief
ภาพจาก Investing.com
Happy Valentine’s Day นะคร้าบ ขอให้วันแห่งความรักปีนี้ เป็นปีที่สดใสของทุกคนนะครับ
ตลาดสัปดาห์ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวผันผวน หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งขึ้นมากสุดในรอบเกือบ 40 ปี ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นแตะ 2.0% และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติมหาอำนาจในยุโรป ทำให้ตลาดกังวลว่าอาจทำให้เกิดสงครามระหว่างกัน
• สหรัฐฯ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯพลิกกลับจากบวกเป็นลบในช่วงท้ายสัปดาห์ จากปัจจัยกดดัน 2 ปัจจัย ได้แก่
1. ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ เงินเฟ้อ (CPI) เดือน ม.ค. ที่ประกาศในวันพฤหัสบดี เร่งตัวขึ้นถึง +7.5%YoY มากสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 1982 หรือในรอบเกือบ 40 ปี จากราคาอาหาร, น้ำมัน, ที่อยู่อาศัย และยานพาหนะที่ปรับตัวขึ้น 7-27% จากปีก่อนหน้า ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 6-7 ครั้งในปีนี้** และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมลรัฐมิชิแกน (Michigan Consumer Expectation) เดือน ก.พ. ที่ขยายตัวน้อยกว่าคาด
เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งขึ้นมากสุดในรอบ 40 ปี ในเดือน ม.ค.- ภาพจาก CNBC.com
2. ความตึงเครียดในยุโรป หลังสหรัฐฯสั่งย้ายทหารและเจ้าหน้าที่การทูตออกจากยูเครน ในขณะเดียวกัน ปธน. Biden ขู่ว่าจะคว่ำบาตรรัสเซียทันที หากรัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน ความขัดแย้งนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงแรงจนพลิกกลับมาติดลบในสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ ผมคาดว่า ตลาดจะยังคงกังวลเกี่ยวกับแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะกดดันให้ตลาดไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะนี้
ภาพจาก CNBC.com
• ยุโรป
ตลาดหุ้นยุโรปรีบาวน์ขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่บริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทประกาศกำไรไตรมาส 4 ดีกว่าคาด ด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาดเช่นกัน ได้แก่ เงินเฟ้อเยอรมนี ที่ขยายตัว +0.4%MoM และ GDP ไตรมาส 4 อังกฤษที่ขยายตัว +6.5%YoY ทำให้ GDP ทั้งปี 2021 เติบโต +7.5%YoY จากการทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มเดินหน้าต่อ
สัปดาห์นี้ ติดตามเหตุการณ์ความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด ล่าสุด ทั้งสองฝ่ายยังตรึงกำลังอยู่บริเวณพรมแดนยูเครน แม้ว่าจะมีการเจรจาระหว่างสองฝ่ายเกิดขึ้นหลายครั้งก็ตาม
ภาพจาก CNBC.com
• เอเชีย
ตลาดในฝั่งเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น ก่อนเหตุการณ์ความตึงเครียดในยุโรปครั้งล่าสุดในวันศุกร์ ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาแย่กว่าคาด ได้แก่ ยอดใช้จ่ายภาคครัวเรือน (Household Spending) เดือน ธ.ค. ของญี่ปุ่น ที่หดตัวลง -0.2%YoY แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว +0.3%YoY ส่วนตัวเลขอื่นๆไม่มีนัยต่อตลาดมากนัก
• น้ำมัน
ราคาน้ำมันปรับตัวพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ หลังที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ นาย Jake Sullivan กล่าวเตือนว่า รัสเซียอาจรุกรานยูเครนในช่วงที่มีการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ทำให้ตลาดกังวลว่า จะกระทบกับการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ที่เป็นประเทศผลิตพลังงานที่สำคัญของยุโรป ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI พุ่งขึ้นแตะ 94 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล นอกจากนี้ อีกหนึ่งแรงหนุนของราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ การที่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ออกประมาณการปริมาณการใช้น้ำมันของโลกในปีนี้จะแตะ 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังการผ่อนคลายนโบบายปิดเมือง
ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI สหรัฐฯ และ Brent ทะเลเหนือ อยู่ที่ 93.90 และ 94.40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ผมมองว่า ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก หากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วอาจทำให้ “ราคาน้ำมันย่อตัวลง” หากความขัดแย้งต่างๆคลี่คลาย เชื่อว่า ระดับราคาน้ำมันจะค่อยๆปรับตัวลดลงมาสู่ระดับที่มีความเหมาะสมบริเวณ 86-88 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ได้ในช่วงปลายปีครับ
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ นาย Jake Sullivan - ภาพจาก ABCnews.go.com
• ทองคำ
ราคาทองคำ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนจากแรงหนุนด้านเงินเฟ้อและความตึงเครียดในยุโรป ล่าสุด ราคาทองคำ อยู่ที่ 1,860.60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ Mr. เต่า มองว่า ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อถึงแนวต้านถัดไปที่ 1,875 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ จากความกังวลเกี่ยวกับรัสเซียที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก หากทองคำสามารถผ่านแนวต้านตรงนี้ไปได้ แนวต้านต่อไปมองไว้ที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ครับ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนีปิดเฉลี่ย -1.66%, ยุโรป STOXX600 +1.61%, จีน Shanghai +3.02%, ญี่ปุ่น +1.67%, อินเดีย Nifty 50 -0.81% และไทย +1.49%
ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์ที่ผ่านมา มีทั้งบวกและลบ ได้แก่
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Caixin Service PMI) เดือน ม.ค. ของจีน ที่ชะลอตัวลงเป็น 51.4 จุด, ยอดใช้จ่ายภาคครัวเรือน (Household Spending) เดือน ธ.ค. ของญี่ปุ่น ที่หดตัวลง -0.2%YoY แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว +0.3%YoY และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมลรัฐมิชิแกน (Michigan Consumer Expectation) เดือน ก.พ.ชะลอตัวเป็น 61.7 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ 67.2 จุด
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ประกาศออกมามากกว่าที่ตลาดคาด ได้แก่ เงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) เดือน ม.ค. เร่งตัวขึ้น +0.6%MoM และ +7.5%YoY มากกว่าที่ตลาดคาด, เงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมอาหารและพลังงาน (Core CPI) ขยายตัว +0.6%MoM และ +6.0%YoY มากกว่าที่ตลาดคาด และ GDP ไตรมาส 4 ของอังกฤษ เติบโตขึ้น +6.5%YoY มากกว่าที่ตลาดคาด
สิ่งที่น่าติดตาม ?
(14 ก.พ.) GDP ไตรมาส 4 ของญี่ปุ่น คาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัว +1.4%QoQ
 
(15 ก.พ.) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (ZEW Economic Sentiment) เดือน ก.พ. ของเยอรมนี คาดว่าจะขยายตัว 53.5 จุด + ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ ขยายตัว +0.5%MoM
(16 ก.พ.) เงินเฟ้อ (CPI) เดือน ม.ค. ของอังกฤษ คาดว่าจะทรงตัวที่ +5.4%YoY + ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัว +1.8%MoM + รายงานการประชุม Fed (Fed Minutes)
(17 ก.พ.) ยอดขออนุญาตสร้างบ้าน (Building Permits) เดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น +1.75 ล้านหลัง + ดัชนีการผลิตมลรัฐฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia Fed Manufacturing) เดือน ก.พ. คาดว่าจะลดลงเป็น 20.0 จุด
(18 ก.พ.) ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ม.ค. ของอังกฤษ คาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัว +0.6%MoM + ยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) เดือน ม.ค. คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน
ทิศทางตลาดสัปดาห์นี้ ?
Mr. เต่า มองว่า ตลาดสัปดาห์นี้จะยัง “เคลื่อนไหวผันผวน” หลังแรงหนุนการประกาศกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4 เริ่มหมดไป ทั้งนี้ คาดว่า ตลาดจะ “ให้ความสนใจกับเรื่องเงินเฟ้อและความขัดแย้งในยุโรป” เป็นหลัก ซึ่งทั้งสองประเด็นจะ “ส่งผลลบมากกว่าบวก” ต่อตลาดในสัปดาห์นี้ครับ
ฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 - ภาพจาก Earnings Whispers Twitter
ติดตาม ถ้อยแถลงของนาย James Bullard ประธาน Fed สาขา St. Louis ที่สัปดาห์ก่อนออกมาสนับสนุนให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในเดือน มี.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือน ม.ค. สหรัฐฯ วันอังคาร และรายงานการประชุม Fed ในวันพุธ รวมทั้ง ท่าทีระหว่างรัสเซีย และชาติมหาอำนาจ ว่าสุดท้ายทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้หรือไม่ ประเด็นนี้จบไม่ง่ายแน่ๆ แต่ถ้าจบลงได้จะดีกับทุกฝ่ายและดีกับตลาดในภาพรวมพอสมควรครับ
แนะนำ ลงทุนใน “หุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ” เช่นเดิม เพราะมองว่า หุ้นกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจำกัด จากการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางต่างๆมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายลงในปีนี้
โชคดีในการลงทุนทุกท่าน รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ
Mr.เต่า
** อ่านเพิ่มเติมจากบทความ “Flash : เอาไงดี ?? เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งสุดในรอบ 40 ปี” ได้ที่ลิงค์ https://bit.ly/3BrGVhL”
ค้นหาบทความเต่าน้อยลงทุนผ่าน Facebook ได้อีกช่องทางที่
#อัพเดตการลงทุน #เต่าน้อยลงทุน
ติดตามเพจ “เต่าน้อยลงทุน” ได้ที่
Source: “Inflation surges 7.5% on an annual basis, even more than expected and highest since 1982” – CNBC.com
“UK economy grew 7.5% in 2021, mostly recovering from its pandemic plunge” – CNBC.com
โฆษณา