18 ก.พ. 2022 เวลา 11:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ร่างทรง (2021) - หนังสยองขวัญเกาหลีที่ใส่ความเป็นไทย จนมีรสชาติที่แปลกตา
" แม้ว่าจะไม่ใช่งานออริจินัล... แต่ก็ถือว่า นำเสนอความสยองผ่านบริบทความเชื่อไทยได้ดี และดูแตกต่างจากหนังสยองขวัญไทยที่ผ่านมา "
สวัสดีครับทุกคน เนื่องจากผมไม่ได้มีโอกาสได้ชม ร่างทรง (2021) ในโรง (ซึ่งก็รู้สึกดีใจที่ไม่ได้ชม เพราะเป็นหนังที่ทำให้ขนลุกและตึงจริงๆ 😆) ดังนั้นผมจึงถือโอกาสชมหนังผ่าน Netflix และอยากจะมาแชร์มุมมองให้กับทุกๆ ท่าน เผื่อว่าใครสนใจนะครับ
[ เรื่องย่อ ]
ร่างทรง (2021) หรือ "The Medium" ได้รับการกำกับโดย คุณโต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล และมี นาฮงจิน (Na Hong-jin) ผู้กำกับชาวเกาหลีมาเป็น Producer ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งหนังเรื่อง The Wailing (2016) ที่แกทำไว้อย่างโด่งดัง รวมถึงได้รับเลือกเป็น Official Selection ของ Cannes Film Festival ก็เป็นหนังที่มีอิทธิพลต่อเรื่องร่างทรงอย่างที่เราได้ชมกันนั่นเอง
เนื้อเรื่องหลักของร่างทรง พูดถึงเรื่องราวความเชื่อในภาคอีสานของประเทศไทยเกี่ยวกับ "ร่างทรง"... เรื่องเริ่มต้นที่ทีมงานสารคดีกำลังถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับร่างทรง ทางทีมงานได้มีโอกาสพบกับ ป้านิ่ม (เอี้ยง - สวนีย์ อุทุมมา) ที่เป็นร่างทรงของ "ย่าบาหยัน" สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น ทว่าระหว่างถ่ายทำ ได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดกับ มิงค์ (ญดา - นริลญา กุลมงคลเพชร) หลานสาวของป้านิ่ม
เชื่อกันว่า เหตุการณ์พิศวงในครั้งนี้ บ่งบอกว่า ย่าบาหยันกำลังต้องการเปลี่ยนผ่านจากร่างของป้านิ่มไปสู่มิงค์ ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ได้อยากจะรับสืบทอดการเป็นร่างทรง...
[ ความรู้สึกหลังชม ]
อย่างแรกที่อยากพูดถึงคือ "คาแรคเตอร์ภาพยนตร์" เราอาจไม่สามารถเรียก "ร่างทรง" ว่าเป็นงาน Original 100% เพราะ ตัว Concept เรื่องค่อนข้างคล้ายกับสิ่งที่พบใน The Wailing (2016) อยู่มาก แต่เปลี่ยนจากบริบทจากความเชื่อเกาหลี (หมอผีเกาหลี) มาเป็นร่างทรงตามความเชื่อภาคอีสานไทยแทน
Poster เรื่อง The Wailing (2016) ของนาฮงจิน
ในส่วนวิธีการดำเนินเรื่องและการกดดันคนดู ก็คล้ายกับต้นฉบับอีกเช่นกัน ที่ไม่แสดงความสยองขวัญแบบโฉ่งฉ่าง แต่เลือกใช้บรรยากาศความพิศวง ทำให้คนดูรู้สึกผวาตึงเครียดแทน
ที่ต้องชมคือ "การดัดแปลงบริบท" อย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการหยิบเอกลักษณ์ความเชื่อของคนไทยมาใช้ เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญของภาคอีสาน, ความศรัทธาของผู้คนในสังคม หรือแม้แต่ ไอเดียการหนีเป็นร่างทรงโดยเลือกไปนับถืออีกศาสนา (ตลกร้ายทีเดียว)...
จุดที่หยิบมาเหล่านี้ เล่นกับความเชื่อในสังคมไทยได้ดี เพราะเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสังคมไทยมีการผสมผสานความเชื่อที่หลากหลายมาก โดยเฉพาะ พุทธ พราหมณ์ ผี
บรรยากาศของป่าเขาที่ดูน่าพิศวง
ดังนั้น "ร่างทรง" จึงอาจไม่ใช่งานใหม่ (หากเทียบกับงานที่อยู่ก่อนหน้าอย่าง The Wailing) แต่สามารถดัดแปลงเข้ากับความเป็นไทยได้น่าสนใจ หนังทำให้เราเชื่อและหลอนไปกับบรรยากาศอันน่าพิศวงของชนบทไทย รวมถึงเจาะลึกความเชื่อท้องถิ่นอีสาน (ที่คนภายนอกอาจไม่คุ้นเคย)... ทั้งยังสามารถกดคนดูให้ตึงได้ตั้งแต่ต้นเรื่องยันท้ายเรื่อง
สำหรับตัวเรื่อง วิธีนำเสนอยังคงคล้ายกับที่ต้นฉบับเคยทำ คือ "การใบ้ให้คนดู ที่เหลือให้ไปปะติดปะต่อเอง" ซึ่งก็ทำให้หนังย่อยยากหน่อย ต้องอาศัยการตีความสัญญะ - ความนัยในเรื่อง
การบูชาย่าบาหยันของชาวบ้านในท้องถิ่น
ตัวหนังเองก็เดินเรื่องอย่างฉับไว และไม่ได้มีเวลาให้คนดูคิดใคร่ครวญ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจปมทุกอย่างในเรื่องทั้งหมดในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้ชมจะยังพอจะปะติดปะต่อปมเรื่องโดยรวม ผ่านบริบทต่างๆ ที่ปรากฏได้บ้าง (แต่จะมากจะน้อย ขึ้นกับความสามารถของแต่ละคน)
จุดท้าทายที่น่าสนใจอีกอย่างคือ "วิธีการนำเสนอภาพยนตร์แบบ Mockumentary (การถ่ายทำแบบสารคดี)" ผมมองว่าเป็นวิธีที่สร้างสรรค์ เพราะทำให้หนังดูเรียลขึ้นจากการใช้มุมมองของบุคคลที่ 3 (มุมมองแบบสารคดี)
ทว่าด้วยการที่อาจจะไม่ได้วางแผนมาเนี้ยบ 100% ก็ทำให้การถ่ายทำแบบนี้ไปเปิดแผลให้กับหนังพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความมืออาชีพของตากล้องที่ "อะไรพี่แกจะถ่ายได้ยิกๆ ขนาดนี้" ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน
ญดา - นริลญา กุลมงคลเพชร ในบท "มิงค์"
- ส่วนจุดที่เป็นข้อเสียมากที่สุด ผมมองว่าเป็นเรื่อง "การหลุด Scope ในช่วงท้าย" เนื่องจากหนังเลือกจะเล่นท่ายาก / เล่นกับความโกลาหล ลักษณะของผีไทย - ร่างทรงที่โดนผีเข้าไม่ค่อยจะมีคาแรคเตอร์อะไรแบบนี้ (นี่มันซอมบี้เกาหลีชัดๆ 😭)
ในจุดนี้ถ้ามองในมุมผู้สร้าง อาจเป็นการตีความคล้ายกับตัวต้นฉบับที่ให้ภาพในลักษณะปีศาจ (หรือบางคนอาจมองในแง่เป็นวิญญาณสัตว์) ทว่าดูแล้วมันก็ไม่เข้ากับบริบทของไทยสักเท่าไหร่ แถม Mood จากที่เป็นหนังแนว Horror นิ่งๆ ก็ดูเตลิดไปเลยซะงั้นแทน
ความประทับใจสุดท้ายที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ก็คือ นักแสดงที่เล่นได้สมบทบาทกันทุกคน...
โดยที่ประทับใจเป็นพิเศษ ผมขอยกให้ พี่เอี้ยง สวนีย์ อุทุมมา (ป้านิ่ม) และ ญดา นริลญา กุลมงคลเพชร (มิงค์) ที่แสดงได้เยี่ยมจริงๆ
เอี้ยง - สวนีย์ อุทุมมา ในบท "ป้านิ่ม"
นอกจากนี้ยังมีอีกคนที่รู้สึกว่าแย่งซีนได้เยอะ ก็คือ พี่ปู ยะสะกะ ไชยสร (ลุงมานิต) โผล่มาทีไรก็แย่งซีนได้ทุกที แถมยังสร้างความฮาแบบตลกร้ายได้ด้วย 😂
[ สรุป ]
ร่างทรง (2021) เป็นหนังอีกเรื่องของ GDH ที่มีโมเดลน่าสนใจ อย่างการดัดแปลงไอเดียหนังต่างประเทศให้เข้ากับบริบทความเป็นไทย และใช้ Producer ต่างชาติมาช่วยพัฒนาหนังร่วมกับผู้กำกับไทย (One for the Road ก็ใช้วิธีนี้) ซึ่งก็ทำให้ผู้กำกับไทยมีประสบการณ์ที่หลากหลาย รวมถึงได้บทหนังและภาพรวมที่เนียนตาขึ้น...
Poster ร่างทรงในเวอร์ชันเกาหลี
ร่างทรงจึงมีโมเดลคล้ายกับงาน "คนละครึ่ง" ส่วนหนึ่งมาจากนาฮงจิน ในฐานะผู้สร้าง The Wailing ที่มีอิทธิพลต่อร่างทรง ทั้งเป็น Producer ให้กับหนัง ส่วนอีกส่วนหนึ่งเป็นของพี่โต้งในฐานะผู้กำกับและผู้ดัดแปลงจากต้นฉบับมาเป็นหนังไทย...
ด้วยโมเดลนี้เอง ก็ทำให้ทาง GDH เจาะตลาดของประเทศต้นทางง่าย รวมทั้งทำรายได้ไปอย่างงดงามในเกาหลี ในมุมผู้ชมชาวไทย ก็ได้รับชม Content คุณภาพที่มี Producer จากหนังต้นฉบับมาคอยดูแลโปรเจค เรียกว่า "วิน-วินกันทุกฝ่าย"
ในส่วนของตัวหนัง แน่นอนว่า ร่างทรงไม่ใช่ที่ดูง่าย ต้องอาศัยการตีความ และใช้พลังงานในการดู (หลายๆ ฉากดูน่าสะอิดสะเอียน) แต่ก็ถือว่าเป็นหนังที่สนุก สร้างความผวาให้กับเราได้ตลอดทั้งเรื่อง... อาจจะมีที่ไปตายน้ำตื้นบ้าง แต่โดยรวมแล้วผมมองว่าเป็นหนังไทยที่มีคุณภาพ ทะเยอทะยาน น่าชื่นชมอีกเรื่องหนึ่งเลยครับ !
ป.ล. ในหนังมีฉากน่าสะอิดสะเอียน (เช่น ฉากมีเลือด / ฉากที่ไม่เจริญหูเจริญตา) และฉาก 18+ ดังนั้นเด็กและผู้ที่มีขวัญอ่อนไม่ควรรับชม
ป.ล.2 อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากคุยหรือติดต่อกับผมนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา