14 ก.พ. 2022 เวลา 03:17 • ปรัชญา
รักตัวเอง หรือ เห็นแก่ตัว?
บางคนบอกว่ารักตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วเห็นแก่ตัวหรือเปล่า มาลองเช็คกัน
มีคำพูดหนึ่งของท่านพุทธทาสว่า คนที่รักตัวเองคือคนที่สามารถยกมือไหว้ตัวเองได้อย่างสนิทใจ
นั่นคือเราต้องรู้สึกเคารพและนับถือตัวเองได้จากใจจริง เราถึงจะรู้สึกว่าไหว้ตัวเองได้
2
จุดแตกต่างของความรักตัวเองและความเห็นแก่ตัวก็คือ คนที่รักตัวเองจะพยายามไม่นำสิ่งไม่ดีมาใส่ตัว ส่วนคนเห็นแก่ตัวนั้นจะทำตรงข้าม..
ถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามว่า แล้วบางคนที่พยายามเอาสิ่งไม่ดีออกจากตัวเอง รับเอาแต่สิ่งดีๆ เข้ามา โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร นี่เรียกว่ารักตัวเองด้วยหรือ?
ขอให้ลองย้อนคิดดี ๆ ว่าหากเราทำเช่นนั้น เข้าข่ายการพยายามไม่นำสิ่งไม่ดีมาใส่ตัวหรือไม่
เมื่อทำร้ายผู้อื่น วันใดวันหนึ่งเขาก็อาจย้อนกลับมาทำร้ายเรา เมื่อเราทำบ่อย ๆ กับหลาย ๆ คนเข้า ก็จะไม่มีใครอยากเข้าใกล้ กลายเป็นการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความสุข เครียด และหวาดระแวง
คนรักตัวเองจะพิจารณาด้วยปัญญาว่าอาจเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นในอนาคต จึงจะไม่เริ่มกระทำเพื่อนำสิ่งที่ไม่ดีมาใส่ตัวตั้งแต่ต้น
ชนิดที่ว่าต้นดีปลายร้ายนี่ก็ไม่เอา
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตที่ใช้แยกแยะระหว่างความรักตัวเองกับความเห็นแก่ตัว โดยสามารถดูได้จากสิ่งต่อไปนี้
1. คนที่รักตัวเอง จะรู้จักให้อภัยตัวเอง และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ส่วนคนเห็นแก่ตัวจะโทษตัวเอง และไม่สนใจใคร
เช่น พอมีเรื่องทุกข์ใจ เกิดปัญหา แล้วคุณโทษตัวเอง ซ้ำเติมตัวเอง นี่ก็เรียกว่าเป็นความเห็นแก่ตัว เพราะคุณกำลังนำสิ่งไม่ดีเข้ามาสู่ตัวคุณเอง
2. คนที่รักตัวเองจะมองเรื่องราวตามความเป็นจริง และแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี เป็นคนรู้จักปล่อยวาง ซึ่งการปล่อยวางในที่นี้ไม่ใช่การละทิ้ง แต่เป็นการมองตามความเป็นจริง และรู้จักแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา
ส่วนคนเห็นแก่ตัวจะไม่มองเรื่องราวอย่างมีสติ และจะแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่สนใจว่าผู้อื่นจะเป็นอย่างไร
3. คนที่รักตัวเองมีความยับยั้งชั่งใจ หรือว่า ยินดี อ่อนน้อม ถ่อมตน ส่วนคนเห็นแก่ตัวมักอิจฉา ริษยา ยโส โอหัง
4. คนที่รักตัวเองรู้สึกว่าต้องพัฒนาตนให้ดีขึ้น ไม่ไปทางเสื่อม แต่เมื่อใดก็ตามที่เราด้อยค่าตัวเอง ไปนินทาว่าร้าย จับผิด คิดว่าคนนั้นคนนี้ดีกว่าไม่ได้ นี่คือคนเห็นแก่ตัว
พูดอีกแง่คือ คนเห็นแก่ตัวจะพาตัวเองลงต่ำ ส่วนคนรักตัวเองจะพาตนไปสู่ความเจริญงอกงาม
5. คนที่รักตัวเอง เมื่อตัวเรารู้สึกดีแล้วก็อยากจะเสียสละ อยากทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ส่วนคนเห็นแก่ตัวจะหลงตัวเอง คิดว่าเราดี เราเก่ง มักเอาตัวรอด เอาเปรียบ ขอแค่ตัวเองรอดเป็นพอ
ในแง่นี้จะเห็นว่าคนที่ชอบช่วยเหลือมักจะสบายใจกว่าคนที่เอาตัวรอดอย่างเดียว ดังนั้นคนรักตัวเองจะไม่เลือกนำสิ่งไม่ดีเข้ามาสู่ตัว และในขณะเดียวกันก็อยากสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองอยู่เสมอ
6. ข้อนี้เป็นตัวตัดสินที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนมาก คือ คนที่รักตัวเอง คนรอบข้างจะรู้สึกว่าคน ๆ นี้น่าอยู่ด้วย มีกระแสแห่งความเมตตา ถ้าอยู่กับคนเห็นแก่ตัว จะเหมือนอยู่ใกล้กับมลพิษ ทำให้รู้สึกไม่อยากอยู่ด้วย เพราะอึดอัด รำคาญใจ
ดังนั้นใครที่คิดว่าเราเป็นคนรักตัวเอง แต่มองไปรอบ ๆ แล้วไม่มีใครรักเราเลย เราอาจจะต้องมาลองสังเกตตัวเองอีกที
1
เมื่อใดก็ตามที่เรารักตัว เราจะไม่อยากเอาอะไรไม่ดีใส่ตัวเรา เราจะพยายามรักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่เสมอ นี่เรียกว่าคนรักตัวเอง
1
ส่วนคนที่เห็นแก่ตัว จะหาความสุขจากความทุกข์ของคนอื่น ไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นยังไง ตกเป็นทาสของความโลภ โกรธ หลง จะมีตัวตน มีสัญชาตญาณของความเป็นสัตว์ คือจะอยากได้อย่างเดียวเพื่อความอยู่รอด.. นี่ถือเป็นความเห็นแก่ตัวในระดับที่ต่ำที่สุด
2
ถัดมาคือพวกเป็นทาสของกิเลส ยึดตัวเรา ของเรา อยากได้ อยากมี อยากเป็น และ ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น
เหนือไปกว่านั้นคือความเห็นแก่ตัวแบบติดดี เช่น คนปฏิบัติธรรมที่ตัดสินคนอื่น ชี้นั่นดีนี่เลว หรือบางคนเลือกอาหารการกิน จะกินเฉพาะของดีเท่านั้น หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ฯลฯ ใครทำตรงกันข้ามกันออกจากชีวิตหมด เพราะคิดว่าเราดี เขาไม่ดี นี่ก็เรียกว่าเป็นการสร้างความเครียดอย่างหนึ่ง
คนที่รักตัวเองจะอยากทำตัวเองให้สะอาดทั้งกายและใจ ด้วยการพยายามรักษากาย วาจา ใจ ให้ดีอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีเรื่องหรือผลกระทบใด ๆ ตามมาทีหลังให้ต้องร้อนรนใจ
1
ขอให้ลองพิจารณาดูว่า เมื่อร่างกายไม่สะอาดสะอ้าน เราก็ยังไปชำระล้างด้วยการอาบน้ำได้ แต่จิตใจของเราล่ะ ถ้ารู้สึกว่ามันหมักหมมไม่สะอาด จะต้องทำอย่างไร?
อาบน้ำชำระกายแล้ว ก็ต้องรู้จักการ ‘อาบใจ’ ด้วย คือการฝึกทำให้ใจเราสะอาด
โดยวิธีการอาบใจก็ทำได้ด้วยวิธีการให้ ‘ทาน’
1
ทาน คือการให้ ซึ่งถือเป็นการเอาสิ่งที่หมักหมมอยู่ในใจออกไป
โดยทานมีอยู่ 4 รูปแบบ ดังนี้
1. การให้สิ่งของ หรือเงินทอง การสละออกไปเพื่อเป็นการลดความตระถี่เหนียว ความงกในใจ ลดตัวตน ซึ่งถือเป็นการทำทานแบบที่ง่ายที่สุด
2. การให้ความรู้ความสามารถ ให้ไอเดีย เรียกว่า วิทยทาน ไม่หวงแหนความรู้
3. อภัยทาน คือรู้จักให้ภัยตัวเอง และผู้อื่น คำว่าภัยคือความไม่ดี อภัยจึงหมายความว่าการไม่เอาสิ่งไม่ดีมาใส่ตัว
4. ธรรมทาน คือให้การตื่น ให้คนตื่นรู้ตามความเป็นจริง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความรักเสมอตนไม่มี
หมายความว่า เราต้องรู้จักรักและเมตตาตัวเองก่อน
รักตัวเองไม่ได้หมายความว่า ให้เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้
แต่คือ ให้รู้จักรักตัวเอง อยากให้ตัวเองมีความสุข
รักษาสุขภาพใจดี มีความสบายใจได้ทุกสถานการณ์
พระพุทธเจ้าตรัสอีกว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ทุกข์เป็นความจริงของชีวิต
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ของตัวเราเอง ของญาติพี่น้องเป็นทุกข์
เมื่อเราต้องอยู่กับคนที่ไม่ชอบใจ สิ่งที่ไม่ชอบใจ
เมื่อเราต้องพลัดพรากจากคนที่เรารัก สิ่งที่เรารัก
เมื่อเราปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ในสิ่งนั้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์
ถ้ามีเมตตาแก่ตัวเองแล้ว เราก็สามารถรักษาความสบายใจ มีความสุขได้ในทุกสถานการณ์
1
เพียงแต่ให้เข้าใจถูกต้องว่าเรามีโอกาสที่จะเมตตาแก่ตัวเองได้เท่าเทียมกันทุกคน
ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร ไม่ว่าจะสุขภาพดีหรือไม่ดี
จะเกิดมาเป็นลูกใคร จะอยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ จะกระท่อมหลังน้อย
หรือแม้แต่อยู่ในเรือนจำ ทุกคนมีโอกาสเท่ากันที่จะมีความสุขใจได้
ถ้าเรารู้จักรักและเมตตาแก่ตัวเอง
สุขสันต์วันแห่งความรักทุกท่านค่ะ
โฆษณา