14 ก.พ. 2022 เวลา 15:50
มีรายได้น้อยออมเงินยังไงให้มีเงินเหลือใช้
วันนี้ผมมีแนวทางสำหรับวางแผนการเริ่มเก็บเงินที่จะไม่กระทบการใช้ชีวิตและยังรักษาเงินเก็บไว้ได้อีกด้วย ว่าแล้วก็ไปดูกัน
1. จำกัดค่าอาหารต่อวัน
เริ่มต้นกันด้วยการจำกัดค่าอาหารต่อวันของเรา วิธีดูเหมือนจะเป็นการประหยัดมากกว่าการออมเงิน แต่จริงๆ แล้ววิธีนี้นั้นจะช่วยให้เรารู้ว่าออมเงินได้เท่าไหร่ง่ายขึ้น เพราะเมื่อเราจำกัดค่าอาหารต่อวัน ก็จะทำให้เรารู้ยอดรวมค่าใช้จ่ายค่าอาหารคร่าวๆ ของเราในแต่ละเดือนแล้วว่าจะมีจำนวนเท่าไร จากนั้นก็นำไปรวมกับค่าใช้จ่ายประจำเดือนอื่นๆที่เราต้องจ่าย แล้วนำไปหักลบกับเงินเดือนที่เราได้รับ เหลือตัวเลขเท่าไหร่ก็คือ จำนวนของเงินที่เราจะสามารถนำมาออมเงินได้นั้นเอง
ตัวอย่างเช่น
เรากำหนดว่า จำกัดค่าอาหารต่อวันไว้ที่ 150 บาทต่อวัน 1 เดือนตีเป็นเลขกลมๆที่ 30 วัน จะ เท่ากับ 150 x 30 = 4,500 บาท โดยที่ 4,500 บาท นี้คือ ค่าอาหารของเราทั้งเดือน จากนั้นก็นำไปรวมกับค่าใช้จ่ายประจำเดือนอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 1,000 บาท ค่าโทรศัพท์ 500 บาท ค่าเช่าห้อง 5,000 บาท ค่ารถไปทำงาน 2,000 บาทต่อเดือน ค่าอินเตอร์เน็ตที่ห้อง 850 บาท
เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเท่ากับ 4,500 + 1,000 + 500 + 5,000 + 2,000 + 850 = 13,850 บาทต่อเดือน จากนั้นก็นำไปหักลบกับเงินเดือน คิดเงินเดือนที่ 15,000 บาท
เท่ากับ 15,000 - 13,850 = 1,150 บาท
เงินที่จะนำไปออมเงินได้โดยไม่เดือดร้อนการใช้ชีวิตคือ 1,150 บาท ต่อเดือน ซึ่งนอกจากเราจะรู้ส่วนนี้แล้วยังจะทำให้เราเห็นค่าใช้จ่ายต่างๆอีกด้วยว่า ค่าใช้จ่ายไหนที่มีการใช้จ่ายไปเยอะมาในแต่ละเดือน หากเราต้องการมีเงินออมมากขึ้น เราก็อาจจะไปตัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อนำมาเป็นเงินเก็บก็ได้
2. ออมเงิน 10% - 20% จากเงินเดือน
วิธีนี้จะต่างจากวิธีก่อนหน้านี้ เพราะเราจะไม่มีการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ก่อนที่จะนำเงินไปเก็บออม แต่เราจะเก็บเงินเลยทันทีที่ได้รับเงินเดือนมา โดยส่วนมากจะเก็บ ขั้นต่ำที่ 10% - 20 % ต่อเดือน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตของเรามากนัก แต่บางคนอาจจะเก็บมากกว่านี้ก็ได้ แต่ก็อยากให้คำนวณถึงการใช้ชีวิตของเราด้วย เพราะเก็บออมมากจนเกินไปจนใช้ชีวิตลำบาก ก็คงไม่ดี เดินทางสายกลางครับ เก็บแต่พอดี มีกิน มีใช้ มีเก็บ ดีที่สุดครับ
ตัวอย่างเช่น
เงินเดือน 15,000 บาท ออมเงิน 10% ทันทีเมื่อได้รับเงินเดือนมา จะเท่ากับ 15,000 x 10% = 1,500 บาท
เมื่อเรารู้จำนวนแล้วก็ให้เรานำเงินไปเก็บไว้ในบัญชีออมเงินของเราได้เลย ที่เหลือให้เรานำเงินเดือนมาแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อให้ใช้จ่ายได้จนครบเดือน
3. ออมวันรายวัน
ถ้าดูจากข้อแรกแล้ว เงินออมเหลือน้อยเหลือเกินแค่เดือนละ 1,000 นิดๆ ไม่ทันใจคนอยากจะเก็บ แต่รายจ่ายต่างๆ มันก็ตัดลดได้ยากเหลือเกิน เพราะว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็นทั้งนั้น เราก็มีวิธีการแสนง่ายเพียงแค่เรากำหนดไว้ว่าเราต้องออมเงินขั้นต่ำและมากสุดวันละเท่าไหร่จากนั้นในทุกวัน เราก็ต้องหยอดกระปุกตามที่เราตามได้กำหนดไว้ เพื่อที่เราจะได้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น
ตัวอย่าง
เรากำหนดว่าจะออมเงินต่ำสุดที่วันละ 20 บาท มากสุดที่วันละ 50 บาทหรือ วันละ 100 บาท จากนั้นในทุกๆ เย็นหลังเลิกงาน ก็ให้เรานำเงินมาหยอดกระปุกกำหนดไว้ โดยวันไหนเหลือเงินมากก็หยอดมากเหลือน้อยก็หยอดน้อย ค่อยๆเก็บไปเดี๋ยวก็ได้เป็นเงินก้อนใหญ่
4. เงินเดือนน้อย ก็ให้หารายได้เสริมมาช่วยเสริม
หากว่าจนแล้วจนรอดทุกวิธีการที่ใช้มายังไม่ได้เงินเก็บเท่าที่ใจหวัง แต่การใช้ชีวิตไม่มีปัญญา มีกิน มีใช้ มีเก็บ ไม่เดือดร้อน แต่ใจแค่อยากได้เงินเก็บเพิ่มมากขึ้น หากเป็นแบบนี้ก็หารายได้เสริม ตามที่ตัวเองมีความถนัดและมีความสามารถในตัวเอง เพราะเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นโอกาสในการเก็บเงินก็มากขึ้นตาม หากว่าเราอยากมีเงินเก็บ เยอะๆก็ควรที่จะมีรายได้เสริมเพื่อเพิ่มให้รายได้หลักมาก
ตัวอย่างรายได้เสริม เช่น ขายของออนไลน์ ขายภาพออนไลน์ เขียนบทความ ทำสติ๊กเกอร์ไลน์ขาย เป็นต้น และไม่แน่ว่าจากรายได้เสริมอาจจะกลายมาเป็นรายได้หลักขึ้นมาก็ได้ หากว่าเราเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเพื่อต่อยอดไปเรื่อยๆ
การรู้จักออมเงิน ถือเป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะถือเป็นการฝึกสร้างนิสัยและวินัยในการออมให้กับตัวเรา แต่อย่าให้เกินตัว ออมเงิน เท่าที่เราไหวไม่เดือดร้อนจะดีที่สุดครับ
เพื่อนๆสามารถลองนำวิธีที่นำมาฝากกันนี้ ไปปรับใช้กันได้นะครับ 😁
โฆษณา