15 ก.พ. 2022 เวลา 07:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Special Topic (14 กุมภาพันธ์ 2565):
🔥การสร้างความสมดุล สู่การส่งผ่านเงินเฟ้อ 🔥
2
คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล โดยธรรมทัช ทองอร่าม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี
🤳 เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา มีการปรับเพิ่มราคาสินค้าบริโภคทำให้ประชาชนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และค่าครองชีพของประชาชน บทความนี้ขอนำเสนอกลไกการส่งผ่านราคาวัตถุดิบไปยังราคาสินค้าผู้บริโภคว่าเป็นอย่างไร และมีแนวทางใดที่จะช่วยสร้างความสมดุลการส่งผ่านนี้ให้กระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
🤳 การสร้างความสมดุลในการเพิ่มราคาสินค้า มีปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ กลไกการส่งผ่านราคาวัตถุดิบของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าผู้บริโภคที่เร่งให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น โดยจะนำข้อมูลราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สินค้าหมวดอาหาร มาเป็นใช้ในการวิเคราะห์เกี่ยวข้องกับต้นทุนผู้ประกอบการและค่าครองชีพประชาชน ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาในอดีต พบว่า มีเหตุการณ์ที่ราคาสินค้าวัตถุดิบอาหารฝั่งผู้ผลิตเพิ่มขึ้น นำไปสู่การปรับราคาสินค้าอาหารฝั่งผู้บริโภค ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 เหตุการณ์ คือ
การส่งผ่านเงินเฟ้อ 2 รอบ คือ รอบที่ 1 ต้นทุนวัตถุเพิ่ม รอบที่ 2 ค่าจ้างเพิ่ม จำเป็นต้องใช้เครื่องมือของภาครัฐในการช่วยสร้างความสมดุล
1) ช่วงปี 2551 สาเหตุเกิดจากราคาน้ำมันสูง ทำให้ราคาวัตถุดิบ พลังงาน และขนส่งสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งผ่านไปยังราคาสินค้าประเภทอาหารฝั่งผู้บริโภคสูงขึ้น
2) ช่วงกลางปี 2552 สาเหตุเกิดจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมันปรับตัวสูงทำให้เกิดปัญหาด้านอุปทาน (ภัยธรรมชาติ) พร้อมกับภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารฝั่งผู้ผลิต และผลักดันให้ราคาอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้นตามมา
✍️ หากพิจารณาการส่งผ่านราคาจากสองเหตุการณ์ดังกล่าว จะพบการทำงานของกลไกที่ก่อให้เงินเฟ้อ 2 รอบ กล่าวคือ เงินเฟ้อรอบที่ 1 “สาเหตุจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นนำไปสู่การขึ้นราคาสินค้าฝั่งผู้บริโภค” ผลของเงินเฟ้อรอบที่ 1 ก่อให้เกิดภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะรายได้ผู้บริโภคเท่าเดิมแต่ซื้อของแพงขึ้น จึงเกิดเป็นเงินเฟ้อรอบที่ 2 “ สาเหตุจากราคาสินค้าผู้บริโภคที่สูงขึ้นนำไปสู่การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ” เพื่อรักษาค่าครองชีพของประชาชนจากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้กลไกการส่งผ่านราคาวัตถุดิบไปยังราคาสินค้าผู้บริโภคดังที่กล่าวมาเป็นเงินเฟ้อแบบต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (Cost - Push Inflation) ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจภาพรวมมากขึ้น
✍️ จากความเข้าใจในเรื่องกลไกที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นของเงินเฟ้อ 2 รอบข้างต้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความสมดุลการปรับราคาสินค้าให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคไม่ให้เดือดร้อนมากนัก ซึ่งอาจใช้การดำเนินนโยบายของภาครัฐเข้าช่วย ผ่านการประเมินแนวโน้มการขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นค่าจ้าง เพื่อรักษาระดับค่าครองชีพ โดยใช้มาตรการอย่างรอบคอบและถูกจังหวะ ได้แก่ การควบคุมราคาสินค้า การบรรเทาความเดือดร้อนในยามที่ราคาสินค้าปรับขึ้นชั่วคราว หรือการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ฯลฯ
✍️ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอยกตัวอย่าง จากเหตุการณ์ในปี 2564-65 นี้ ราคาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบของผู้ผลิตสูงขึ้น การสร้างกลไกสมดุลการส่งผ่านราคาสินค้า อาจวางแนวทางและวางแผนได้ดังนี้
📌 ประเมินสินค้าเกษตรที่เป็นต้นทุนอาหารแต่ละชนิดว่ามีแนวโน้มปรับขึ้นระดับเท่าใด อะไรคือ สาเหตุของการปรับขึ้นราคา และในอดีตใช้เวลาในการปรับขึ้นนานเท่าไหร่ เมื่อทราบถึงทิศทางเหล่านี้ ก็จะพอคาดการณ์ได้ว่าในอีก 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้า ราคาวัตถุดิบฝั่งผู้ผลิตจะเป็นอย่างไร จากนั้นประเมินการส่งผ่านราคาไปยังสินค้าผู้บริโภค และระหว่างที่มีการส่งผ่านราคานี้ ภาครัฐควรพิจารณาความจำเป็นการเพื่อใช้มาตรการดูแลควบคุมราคาสินค้า เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพ และ/หรือ มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านราคาสินค้าประชาชนชั่วคราว
📌 หากประเมินแล้ว พบว่าผู้ผลิตได้รับผลกระทบมาก การใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าขายจะทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้จำเป็นต้องปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น และเมื่อมีการปรับราคาย่อมกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญและเป็นวงกว้าง ภาครัฐอาจต้องพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพ
📌 ดังที่กล่าวข้างต้นจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น และเกิดการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ารอบที่ 2 สาเหตุจากต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ดังนั้น การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม คือ ในช่วงที่ราคาสินค้าวัตถุดิบอยู่ในระดับทรงตัวหลังจากขยับตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว การใช้ช่วงนี้เป็นจังหวะในการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะลดกระแสเรียกร้องของผู้ประกอบการลดได้ เนื่องจากต้นทุนผู้ประกอบการมีการปรับในระดับคงที่
📌 โดยทั่วไป สินค้าวัตถุดิบประเภทอาหารส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เป็นปกติเมื่อราคาปรับขึ้นสูงจนเริ่มคงที่จะมีทิศทางกลับตัวลดลง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่ม เป็นแรงจูงทำให้เกษตรเพิ่มผลผลิต และในเวลาต่อมา ราคาสินค้าเกษตรก็จะลดลงเป็นไปตามทฤษฎีใยแมงมุม (Cobweb Theory) ฉะนั้น การอาศัยจังหวะราคาสินค้าวัตถุดิบอาหารเพิ่มสูงสุดในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่ส่งผลต่อการปรับเพิ่มเงินเฟ้อมากนัก เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เงินเฟ้อที่มีแรงผลักดันจากการปรับค่าจ้างจะลดลงตามต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารฝั่งผู้ผลิตที่ปรับลดลงมาชดเชยนั่นเอง
📌 จะเห็นว่าการสร้างความสมดุลของการส่งผ่านเงินเฟ้อ ต้องกระทำอย่างรอบคอบ โดยประเมินแนวโน้มราคาสินค้าวัตถุดิบและระยะเวลาการส่งผ่านการปรับขึ้นราคาที่เหมาะสม และใช้มาตรการหรือนโยบายเป็นเครื่องมือบรรเทาหรือคลี่คลายในการแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบหรือราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมราคาสินค้า การเพิ่มอุปทานสินค้าจนถึงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคให้น้อยที่สุดและที่ไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อสูงเกินไปจนกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
ที่มาแหล่งข้อมูล:
โฆษณา