Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Nitihub
•
ติดตาม
15 ก.พ. 2022 เวลา 09:09 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Nitihub ชวนดู : ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ตอน ม้าสีแดงในเปลวเพลิง🔥
1
ฆาตกรรม กลอุบาย Mind Control การ์ตูนเด็กที่แฝงข้อกฎหมายได้อย่างแนบเนียน
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน (ญี่ปุ่น: 名探偵コナン) เป็นการ์ตูนแนวสืบสวนที่เรียกได้ว่าโตมากับใครหลาย ๆ คน ปัจจุบัน โคนัน เดอะ ซีรี่ส์ เข้าสู่ปีที่ 22 และมีจำนวนตอนมากกว่า 1,000 ตอน แต่ในวันนี้ Nitihub ขอเชิญชวนแฟนเพจมาย้อนวัย ดูโคนันตอนเก่า ๆ กัน!
TW : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวางเพลิง
*บทความสปอยด์เนื้อหาสำคัญ เพื่ออรรถรสในการอ่าน ควรดูให้จบก่อน
โคนัน เดอะ ซีรี่ส์ ปี 8 : ตอนที่ 350 - 352 ตอน "ม้าสีแดงในเปลวเพลิง" / "The Red Horse Among The Flames " ถูกแบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ภาคคดี ภาคสืบสวน และภาคปิดคดี
📌 เรื่องราวปริศนาการวางเพลิงต่อเนื่อง โดยเริ่มจากมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นครั้งแรกที่บ้านหลังหนึ่งในเมืองเบกะ หมู่ที่ 1 เจ้าของบ้านให้การกับตำรวจว่า มีตุ๊กตาม้าพลาสติกที่ไม่ใช่ของ ๆ เขาอยู่ในบ้าน ต่อมาก็มีการวางเพลิงต่อเนื่องในหมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 3 ตามมา ซึ่งแน่นอนว่าในสถานที่เกิดเหตุ ก็พบม้าสีแดงแบบเดียวกันกับที่พบในที่เกิดเหตุคดีแรก
ตำรวจจึงสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือคนร้ายรายเดียวกัน และอาจจะก่อเหตุวางเพลิงในหมู่ที่ 4 ต่อไป ส่วนสื่อก็ประโคมข่าวลงหนังสือพิมพ์ถึงปริศนาการวางเพลิงต่อเนื่องเรียงตามหมู่ ดังนั้น ตำรวจจึงได้วางกำลังกระจายตามหมู่ที่ 4 เพื่อป้องกันการก่อเหตุวางเพลิงไม่เลือกเป้าหมายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
ร้อนไปถึงยอดนักสืบฮัตโตริ เฮย์จิ (Hattori Heiji) นักสืบฝั่งตะวันตกเพื่อนซี้ของโคนันคุง หรือคุโด้ ชินอิจิร่างจิ๋ว ที่ถูกไหว้วานจากคนรู้จักให้ไปช่วยดูบ้านที่มีคนแจ้งเบาะแสว่าพบคนน่าสงสัยมาด่อม ๆ มอง ๆ ในเวลากลางคืน
เมื่อนักสืบทั้งสาม (โคนัน, โมริ โคโคโร่ และฮัตโตริ) ไปถึงบ้านของผู้แจ้งเบาะแสหรือ “โมโรซิมิ เรียวโกะ” ซึ่งอยู่ในหมู่ที่ 4 ก็ได้สวนกับชายน่าสงสัยที่มาตื้อเสนอแค็ตตาล็อกสินค้าพร้อมของที่ระลึกจากร้านของตนเอง แต่ถูกเรียวโกะไล่ตะเพิดไป พอเหล่านักสืบแนะนำตัวว่ามาตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งเบาะแส เรียวโกะเจ้าของบ้านกลับโมเมว่า ที่เคยแจ้งว่าพบเห็นคนน่าสงสัย คงดูผิดไปเอง และไล่นักสืบทั้งสามกลับไป
แน่นอนว่าน่าสงสัยขนาดนี้ หากยอดนักสืบทั้งสามกลับไปมือเปล่าคงจะเสียชื่อ ก่อนที่จะพบว่าบ้านหลังดังกล่าวถูกวางเพลิง ทำให้ “โมโรซิมิ เรียวโกะ” ถูกไฟครอกตายคาบ้าน เหล่านักสืบได้แอบซุ่มอยู่หน้าบ้านที่เกิดเหตุ และพบคนน่าสงสัยที่ต่างมีมูลเหตุจูงใจจะสังหารเรียวโกะ ได้แก่
“โซงะ มิซาโอะ”
ผู้ต้องสงสัยคนที่ 1 คือ ชายชู้ของเรียวโกะ หรือ “โซงะ มิซาโอะ” ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านฮวงจุ้ย โดยเรียวโกะแอบเก็บเทปหลักฐานความสัมพันธ์คบชู้ไว้เพื่อบีบบังคับให้โซงะเลิกกับภรรยาแล้วหันมาแต่งงานกับตน ซึ่งโซงะนั้นพยายามหาหลักฐานดังกล่าวมาทำลาย แต่กลับโดนเรียวโกะจับได้เสียก่อน
☀️ ในทางกฎหมายของไทย การคบชู้เป็นหนึ่งในเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) ภรรยาของโซงะมีสิทธิฟ้องหย่าสามีได้ (แต่หากคุณภรรยายินยอมหรือให้อภัย จะหมดสิทธิฟ้องหย่านะ! ทั้งนี้ตามมาตรา 1517 วรรคหนึ่งและมาตรา 1518)
หมอดูพี่สาวของเรียวโกะ
ผู้ต้องสงสัยคนที่ 2 คือ หมอดูพี่สาวของเรียวโกะ ที่กำลังมีปัญหาเรื่องเงิน หากน้องสาวตาย ตนจะได้รับมรดกของพ่อ เนื่องจากพ่อได้เขียนพินัยกรรมยกมรดกทั้งหมดให้แก่ลูกสาวคนเล็ก หรือเรียวโกะ (ผู้ตาย) โดยไม่ได้เขียนตัดมิให้ลูกสาวอีกคนหรือพี่สาวของเรียวโกะได้รับมรดก ดังนั้นหากเรียวโกะตาย พี่สาวซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของพ่อ ก็จะได้รับมรดกของพ่อไปแบบเต็ม ๆ
‼️ แต่นั้นเป็นเพียงความเข้าใจผิดของพี่สาวเรียวโกะ เพราะในทางกฎหมายนั้น มรดกทั้งหมดของพ่อตกแก่เรียวโกะซึ่งเป็นทายาทในฐานะผู้รับพินัยกรรมตั้งแต่เมื่อพ่อตายไปแล้ว กล่าวคือ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพ่อตกเป็นของเรียวโกะแต่เพียงผู้เดียวไปก่อนหน้าเรียวโกะตาย
☀️ เมื่อเรียวโกะตาย ก็จะต้องทำการแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งรวมถึงทรัพย์สมบัติของพ่อ ตามหลักกฎหมายว่าด้วยการตกทอดแห่งทรัพย์มรดกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635(2) เพราะคู่สมรสของเรียวโกะยังมีชีวิตอยู่ พี่สาวของเรียวโกะซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 3 ตามมาตรา 1629(3) จะได้รับมรดกของเรียวโกะและของพ่อเพียงแต่ครึ่งเดียวเท่านั้น (ต้องแบ่งกับสามีชอบด้วยกฎหมายของเรียวโกะคนละครึ่ง)
(ซ้ายสุด) “โมโรซิมิ อากิระ”
ผู้ต้องสงสัยคนที่ 3 คือ สามีของเรียวโกะ หรือ “โมโรซิมิ อากิระ” ซึ่งเป็นจิตแพทย์ ต้องการจะทุบบ้านของเรียวโกะซึ่งเป็นสินส่วนตัว แล้วสร้างโรงพยาบาลของตนเอง เนื่องจากบ้านไม่ใช่สินสมรสอันจะเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างสามีภรรยา อากิระจึงไม่มีสิทธิมีเสียงใดใด ในบ้านหลังนี้ แต่หากเรียวโกะภรรยาชอบด้วยกฎหมายของตนตายไปละก็ กรรมสิทธิ์ครึ่งนึงจะตกเป็นของตน (แต่อีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของทายาทโดยธรรมของเรียวโกะ ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น)
“เก็นดะ อาซาริโนะ”
ส่วนชายน่าสงสัยที่แว้บเอาแคตตาล็อกมาให้เรียวโกะที่บ้าน หรือ “เก็นดะ อาซาริโนะ” ตกเป็นผู้ต้องสงสัยคนที่ 4 แม้จะไม่มีมูลเหตุจูงใจที่จะฆ่าเรียวโกะ เพราะเป็นเพียงผู้จัดการร้านขายของเก่าที่แวะเข้ามาแจกของที่ระลึกเท่านั้น แต่ก็ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ เนื่องจากของที่ระลึกที่ว่า ดันเป็นตุ๊กตาพลาสติกรูปกวนอูขี่ม้าเซ็กเธาว์ (Red Hare) ม้าที่วิ่งได้วันละพันลี้ ตัวคู่ใจของกวนอู เทพเจ้าแห่งโชคลาภ การทำมาค้าขาย หรือม้าสีแดงที่พบในทุกที่เกิดเหตุนั้นเอง
“เก็นดะ อาซาริโนะ” นั้น ในอดีต เคยมีพ่อเป็นนักดับเพลิง แต่พ่อของเขาได้เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจ เหล่านักสืบจึงสันนิษฐานว่า เก็นดะอาจจะเป็นมือวางเพลิงต่อเนื่องตามหมู่ที่ 1 ถึง 4 เพราะคิดถึงพ่อของเขาที่ตายไป “หากเกิดไฟไหม้ละก็ พ่อของเขาอาจจะกระโจนออกมาก็ได้” สารวัตรยูมินางะ หรือเจ้าพ่อเพลิงไหม้ของกองที่ 1 อดีตเจ้านายของโมริ โคโคโร่ ได้กล่าวออกมาขณะสืบคดี
แต่คดียังไม่ทันได้คลีคลาย เก็นดะก็มอบตัวกับตำรวจแล้วสารภาพว่าตนเองเป็นคนวางเพลิงทั้งหมด
📌 จุดนี้ทำให้ยอดนักสืบม.ปลายแห่งตะวันตกและตะวันออก (aka ฮัตโตริและคุโด้หรือโคนัน) นึกถึงคดีฆาตกรรม ABC ในนวนิยายสืบสวนชื่อดังของ "อกาธา คริสตี้" ที่ทำให้ "เฮอรูล ปัวโรต์" นักสืบตัวเอกของเรื่องหัวหมุน นั้นคือ การวางแผนฆาตกรรมผู้ตายที่มีตัวอักษรตัวแรกตรงกับชื่อเมือง และฆ่าเรียงตามลำดับ ABC ไปเรื่อย ๆ โดยทุกครั้งจะวางหนังสือตารางรถไฟ ABC ไว้ข้างศพ เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นการกระทำของฆาตกรต่อเนื่องรายเดียวกัน และให้ทำดูเหมือนเป็นการฆ่าโดยไม่เจาะจงเป้าหมาย แต่แท้จริงแล้วคนร้ายต้องการฆ่าผู้ตายที่ตัวอักษรขึ้นต้นด้วยตัว C เท่านั้น
เก็นดะที่ดูเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง ขี้กลัว พอตำรวจสอบปากคำ เขาก็ให้การกับตำรวจว่า “ไม่ทราบ” บ้างล่ะ “ในตัวเขามีเขาอีกคน” บ้างล่ะ ตัวเขาเป็นโรคเดินละเมอบ้างล่ะ ทั้งตำรวจยังสืบสาวได้ความว่า เก็นดะนั้นรู้จักกับโซงะ นักดูฮวงจุ้ยชายชู้ของเรียวโกะ ที่ได้แนะนำให้เก็นดะไปที่เกิดเหตุในวันดังกล่าว ทั้งเก็นดะยังเป็นคนไข้จิตเวช ที่รักษาอยู่กับอากิระ หรือจิตแพทย์สามีของเรียวโกะ นอกจากนี้เก็นดะยังเป็นหนึ่งในลูกค้าของหมอดู พี่สาวเรียวโกะอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า เก็นดะมีความสัมพันธ์กับผู้ต้องสงสัยที่มีอาชีพเป็นนักดูฮวงจุ้ย จิตแพทย์ และหมอดู ซึ่งทั้งสามต่างก็มีความสามารถที่จะโน้มน้าวจิตใจ และชักจูงการกระทำของเก็นดะผู้ไม่มั่นใจในตัวเองได้ ไม่ว่าจะเรื่องให้เก็นดะซื้อของมูราคาแพง, ให้เก็นดะไปวนเวียนทำท่าทีน่าสงสัยในที่เกิดเหตุ หรือกระทั้งทำให้เก็นดะเชื่อว่าตนเองเป็นคนร้ายคดีวางเพลิงต่อเนื่องจนเข้ามอบตัวกับตำรวจ
เพราะพอเก็นดะเห็นข่าวว่า พบม้าสีแดงแบบเดียวกับของที่ระลึกของตนอยู่ในที่เกิดเหตุ ก็ทำให้เก็นดะเกิดความกังวลใจ เมื่อกลับบ้านหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ที่บ้านก็พบถุงเท้าและรอยรองเท้าเปื้อนโคลน พร้อมเสื้อเชิ้ตที่มีรอยไหม้ในถังขยะ ทั้งหมดล้วนแต่กระตุ้นให้เก็นดะเกิดความเชื่อว่า ตัวเขาอีกคนเป็นผู้ก่อคดีวางเพลิงต่อเนื่องจนมีคนตาย และเข้ามอบตัวกับตำรวจโดยดี
แต่เนื่องจากสารวัตรยูมินางะไม่ปักใจเชื่อว่าเก็นดะเป็นคนร้าย จึงเข้าไปทำการค้นบ้านของเก็นดะโดยไม่มีหมายค้น และได้พบเครื่องดักฟังและของต่าง ๆ ที่ดูจะจงใจชี้ตัวว่าเก็นดะเป็นคนร้าย ซึ่งจุดนี้ โมริ โคโคโร่ก็ได้ถามสารวัตรว่า “ไม่มีหมายค้น ทำไมมีกุญแจ” สารวัตรก็ตอบว่าเก็นดะเป็นผู้มอบกุญแจให้ เพื่อจะให้ตำรวจช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง
☀️ ตามกฎหมายไทย ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน คือ รวบรวมพยานหลักฐาน นอกจากจะกระทำเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดฯ พนักงานสอบสวนยังมีอำนาจรวบรวมหลักฐานอื่นเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (6) ประกอบมาตรา 2(11)
แต่ตามมาตรา 92 แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน ห้ามมิให้ตำรวจค้นในบ้านอันเป็นที่ “รโหฐาน” โดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่จะเข้าเหตุต่าง ๆ ที่ระบุไว้ (อาทิ มีเสียงร้องให้ช่วย, มีความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำในที่รโหฐาน ฯลฯ)
ในเรื่องราวนี้ ไม่ปรากฏเหตุยกเว้นให้สารวัตรสามารถค้นบ้านเก็นดะอันเป็นที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้นตามกฎหมายได้
☀️ อย่างไรก็ตาม มีหลักซึ่งเป็นข้อยกเว้นนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือ “หลักความยินยอม” ทำให้เจ้าพนักงานสามารถเข้าไปตรวจค้นที่รโหฐานได้เช่นกัน แต่ผู้ให้ความยินยอมนี้ จะต้องเป็นเจ้าของบ้าน หรือคู่สมรสของเจ้าของบ้านเท่านั้น (ฎีกาที่ 1164/2546) โดยจะให้ความยินยอมโดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายก็ได้ ดังนั้น สารวัตรที่เป็นเจ้าพนักงานจึงสามารถเข้าค้นบ้านเก็นดะได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นนั้นเอง
เมื่อเรื่องราวเดินมาถึงบทสรุป ฮัตโตริและโคนันได้ใช้จิตวิทยาวางอุบายซ้อนแผน ล่อให้ผู้ต้องสงสัยกลับมาเก็บเครื่องดักฟังและให้คนร้ายเข้ามาทำลายหลักฐานที่อยู่ภายในบ้านของเก็นดะ ทำให้สามารถจับคนร้ายตัวจริงได้โดยไม่ต้องรบกวนต้นคอของโคโคโร่นิทรา ซึ่งภายหลังจากจับคนร้ายตัวจริงได้แล้วนั้น ก็มีฉากที่โมริ โคโคโร่ ถามสารวัตรยูมินางะว่าจะทำอะไรกับผู้ต้องสงสัยที่แอบเข้ามาเก็บเครื่องดักฟัง สารวัตรกลับตอบว่าให้ลงบันทึกประจำวันไว้แล้วปล่อยตัวไปก็หมดเรื่อง
ดูถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะ เอ๊ะ! การดักฟังและการบุกรุกไม่มีความผิดอะไรเลยหรือ
ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตว่า ความผิดที่ดูจะเข้าข่ายได้แก่ ความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดฐานบุกรุก
ความผิดฐานฉ้อโกง เทียบได้กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ที่วางหลักว่า “ผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง...ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง”
การหลอกลวง จะต้องเป็นการแสดงข้อความที่ “เป็นเท็จ” จึงมีได้แค่การหลอกถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หรือที่เกิดในปัจจุบันเท่านั้น หากหลอกเรื่องในอนาคต เช่น การบริจาคเพื่อให้ได้ไปสวรรค์หรือพระนิพานหรือบรรลุโสดาบัน ไม่เข้าข่ายฉ้อโกง
ตามที่ปรากฏในเรื่อง แม้ผู้ต้องสงสัยจะแอบดักฟังข้อมูลของเก็นดะ เพื่อนำใช้อ้าง แล้วหลอกขายสินค้าราคาแพง แต่ตามเนื้อเรื่อง ยังไม่มีฉากที่ว่า ผู้ต้องสงสัย “นำ” ข้อมูลที่ได้จากการดักฟัง ไปหลอกลวงเก็นดะให้ซื้อของมู จึงยังมิได้เป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ จนได้ทรัพย์สินจากเก็นดะไป ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงที่มี ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการฉ้อโกง
อย่างไรก็ตาม! ถึงแม้ว่าจะ “เคย” มีการหลอกลวงให้เก็นดะซื้อของมูราคาแพงมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความกันได้ หรือความผิดต่อส่วนตัว ตามมาตรา 348 หากเก็นดะซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้เข้าแจ้งความว่าประสงค์จะดำเนินคดีกับตำรวจ ตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสองนั้นเอง ดังนั้นจึงไม่ผิดแปลกอะไรหากสารวัตรยูมินางะจะปล่อยตัวไปโดยแค่ลงบันทึกประจำวันไว้เฉย ๆ
แต่ในส่วนความผิดฐานบุกรุกนั้น เทียบได้กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ผู้ต้องสงสัยได้เข้าไปในบ้านของเก็นดะเพื่อเข้าไปเก็บเอาเครื่องดักฟังของตน อันเป็นการรบกวนการครอบครองของเก็นดะแล้ว คงเป็นความผิดต่อส่วนตัวเช่นกันกับความผิดฐานฉ้อโกง
แต่หากพิเคราะห์ให้ดีจะสังเกตได้ว่า ผู้ต้องสงสัยแอบเข้าไปในบ้านของเก็นดะในเวลากลางคืน จะตีความว่าเป็นความผิดต่อส่วนตัวก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 365(3) ซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแต่เป็นอาญาแผ่นดิน ทำให้ตำรวจที่พบเห็นการกระทำความผิดมีอำนาจสอบสวนได้ ดังนั้น หากจะเอาผิดผู้ต้องสงสัยจริง ๆ ก็พอมีทาง แต่ก็เฉพาะความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเท่านั้นที่ตำรวจจะดำเนินการสอบสวนได้โดยเก็นดะไม่ต้องร้องทุกข์
เห็นได้ว่าการ์ตูนเด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดีเรื่องนี้ แอบซ่อนประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจไว้อย่างแนบเนียน ทั้งนี้ ผู้เขียนเพียงใช้ความเห็นส่วนตัวที่มีต่อเนื้อเรื่อง มาลองตีความในมุมมองกฎหมายไทยและในมุมมองจิตวิทยาเท่านั้น
สำหรับเรื่องที่ว่าคนร้ายคือใคร ใช้กลอุบายการวางเพลิงอย่างไรให้ตนเองมีหลักฐานที่อยู่ชัดเจน สามารถติดตามดูต่อได้ที่ โคนัน เดอะ ซีรี่ส์ ปี 8 : ตอนที่ 352 ตอน "ม้าสีแดงในเปลวเพลิง" (ภาคปิดคดี) แบบถูกลิขสิทธิ์ทาง AIS PLAY และ VIU
อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สหรัฐ กิติ ศุภการ. (2564). หลักและคำพิพากษากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
Q&A : ร่างทรง หลอกลวงเอาเงินค่าครู ค่าวัตถุมงคล ค่าพิธีกรรมต่างๆ ผิดหรือไม่?
https://justicechannel.org/lawget/qa_rang-zong
ภาพประกอบ
@VIU Thailand
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย