15 ก.พ. 2022 เวลา 09:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บจ.แห่ลงทุนเหมืองขุดคริปโท
หรือเป็นแค่สตอรี่ เกมสร้างราคาหุ้น
.
กรณีที่ปรึกษาการเงินอิสระ JTS มีข้อสรุปว่าผู้ถือหุ้นควรลงมติ "ไม่อนุมัติ" การลงทุนเหมืองขุดบิตคอยน์ วงเงิน 3,300 ล้านบาท สะท้อนว่าอาจไม่คุ้มค่าการลงทุน แล้ว ZIGA-UPA-ECF-AJA-NRF-COMAN จะเหมือนกรณี JTS หรือไม่ หากได้ไม่คุ้มเสีย แล้วจะประกาศทำธุรกิจขุดเหมืองบิทคอยน์ เพื่อ....! หรือทั้งหมดเป็นแค่สตอรี่ ของเกมสร้างราคาหุ้น
.
กระแสการประกาศเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency mining) กำลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสตอรี่ ของเกมส์ปั่นราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัท
.
เพราะหลายบริษัทที่ประกาศลงทุนธุรกิจเหมืองขุดสกุลเงินดิจิทัล ล้วนส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างหวือหวาร้อนแรง
.
โดยเฉพาะกรณีของบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ JTS ซึ่งเป็นบริษัทแรกในตลาดหุ้น ที่ประกาศทำธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อนแรง จากราคา 1.93 บาท ณ 30 ธ.ค.2563 ล่าสุด วันที่ 14 ก.พ.2565 ราคาอยู่ที่ 268 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 13,786%
.
จากมาเก็ตแคป 1,363.46 ล้านบาท ตอนสิ้นปี 2563 ขยับขึ้นมาเป็น 189,330.56 ล้านบาท
.
และกลายมาเป็นแบบอย่าง ทำให้บริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทพาเหรด มาลุยธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์กันเป็นจำนวนมาก
.
11.ต.ค. 2564 บริษัท โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ COMAN อนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อลงทุนในธุรกิจขุดคริปโทเคอร์เรนซี ลงทุน 60 ล้านบาท ซื้อเครื่องขุดคริปโทเคอร์เรนซี 140 เครื่อง
.
10 ธ.ค. 2564 บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA จัดซื้อเครื่องขุด บิทคอยน์ 200 เครื่อง จัดเตรียมระบบไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มูลค่าการลงทุน 90 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565
.
16 ธ.ค.2564 บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF อนุมัติให้บริษัท อีซีเอฟ โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดสกุลเงินดิจิทัล มูลค่าลงทุน 80 ล้านบาท แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน
20 ธ.ค.2564 บริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA อนุมัติการลงทุนในธุรกิจการขุดเหมืองบิทคอยน์ ซื้อเครื่องขุดบิทคอยน์ 200 เครื่อง มูลค่า 103.1 ล้านบาท
.
23 ธ.ค. 2564 บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปร์ดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ตั้งบริษัทย่อยในอเมริกา ทำธุรกิจดิจิทัล (Digital business)มีส่วนร่วมในธุรกิจขุดเหมืองคริปโทเคอร์เรนซี
.
14 ก.พ.2565 บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA ประกาศลงทุนขุดเหมืองคริปโทเคอร์เรนซี ในสปป.ลาว วงเงินประมาณ 817.7 ล้านบาท ลงทุนในเครื่องขุดคริปโทเคอร์เรนซี 2,000 เครื่อง
การประกาศลงทุนในธุรกิจใหม่ เหมืองขุดบิทคอยน์ทุกบริษัท ล้วนมีผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง จนตลาดหลักทรัพย์ต้องออกมาเตือนนักลงทุน ให้ระมัดระวังการลงทุน เพราะพบว่ามีสภาพการซื้อขายในลักษณะเก็งกำไรสูง ทั้งราคา มูลค่าการซื้อขาย และอัตราการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ (%Turnover ratio) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง
.
โดยเฉพาะเมื่อวาน(14ก.พ.)
.
หุ้น ZIGA ราคาซิลลิ่ง บวก 2.70 บาท เพิ่มขึ้น 29.35% จาก 9.20 บาท มาปิดที่ 11.90 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,867 ล้านบาท
.
หุ้น UPA ราคาซิลลิ่ง บวก 0.13 บาท เพิ่มขึ้น 28.26% จาก 0.46 บาท มาปิดที่ 0.59 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,448 ล้านบาท
หุ้น ECF ราคาซิลลิ่ง บวก 0.56 บาท เพิ่มขึ้น 29.47% จาก 1.90 บาท มาปิดที่ 2.46 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,073 ล้านบาท
.
หุ้น AJA ราคาบวก 0.10 บาท เพิ่มขึ้น 16.13% จาก 0.62 บาท มาปิดที่ 0.72 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,987 ล้านบาท
.
โดยเฉพาะหุ้น ZIGA ราคาร้อนแรงปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอด 7 วันที่ผ่านมา จากราคา 4.88 บาท เมื่อ 4 ก.พ. มาอยู่ที่ 11.90 บาท หรือบวกขึ้นมาแล้วกว่า 143.85%
.
การเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงของหุ้นที่ประกาศทำเหมืองขุดบิทคอยน์ ทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีอีกหลายบริษัทประกาศจะทำเหมืองขุดคอยน์กะเขาบ้าง เพื่อช่วยกระตุ้นราคาหุ้น
.
แต่ประเด็นที่น่าสนใจ และนักลงทุนควรจะต้องศึกษา และติดตาม หากคิดจะลงทุนในบริษัทที่ประกาศลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยท์ คือ มันคุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือไม่
เพราะกรณีของ JTS ที่ประกาศจะลงทุนเพิ่ม ซื้อเครื่องขุดบิทคอยน์อีก 6,300 เครื่อง พร้อมระบบไฟฟ้าและระบบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ คิดเป็น มูลค่าลงทุน 3,300 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะขออนุมัติความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 22 ก.พ.นี้
.
แต่ในความเห็นของบริษัทหลักทรัพย์ ไอวี โกลบอล ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ มีข้อสรุปว่าผู้ถือหุ้นควรลงมติ "ไม่อนุมัติ"
.
เพราะศึกษาแล้วพบว่า เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง และผลกระทบของความผันผวนของตัวแปรต่างๆ ที่บริษัทฯ ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมีความเสี่ยงสรุปได้ดังนี้
.
1.ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาบิทคอยน์
2. ความเสี่ยงจากการพึ่งพาผู้ผลิตเครื่องขุดบิทคอยน์รายใหญ่ เนื่องจาก เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ผู้ผลิตเครื่องขุดบิทคอยน์ที่มีประสิทธิภาพสูงมีน้อยราย
3. ความเสี่ยงจากการมีรัฐบาลเข้ามาควบคุมดูแลธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ เนื่องจากสกุลเงินดิจิทัลมีความผันผวนสูง
4. ความเสี่ยงจากวิกฤตพลังงาน เมื่อผู้ประกอบธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์มากขึ้น อาจทําให้มีความเสี่ยงของราคาพลังงาน และผลกระทบจากมาตรการของทางภาครัฐเกี่ยวกับการควบคุมการใช้พลังงาน
5.ความเสี่ยงจากการโดนโจรกรรม เพราะต้องฝากเหรียญสกุลเงินดิจิทัลไว้กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
6.ความเสี่ยงจาการเสื่อมสภาพของเครื่องขุดบิทคอยน์ เพราะเครื่องขุดใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ 3-6 ปี
7. ความเสี่ยงที่เกิดจากไฟฟ้าไม่เสถียรหรือไฟฟ้าดับ
8.ความเสี่ยงจากการแข่งขัน เมื่อมีผู้ประกอบการเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะแย่งส่วนแบ่งผลตอบแทน ทำให้ขุดเหรียญได้น้อยลง
9. ความเสี่ยงจากผลการดำเนินงานที่ผันผวนจากราคาบิทคอยน์ที่เปลี่ยนแปลงไป
.
ความเห็นของที่ปรึกษาการเงินอิสระ สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนเหมืองขุดบิตคอยน์ของ JTS วงเงิน 3,300 ล้านบาท อาจไม่คุ้มค่าการลงทุน
.
และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศเตือนผู้ถือหุ้น JTS ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในการรักษาประโยชน์ของตนเอง ในการโหวตวันที่ 22 ก.พ.นี้
.
จึงมีคำถามตามมาว่า แล้วอีกหลายบริษัทที่จะลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ทั้ง ZIGA - UPA - ECF - AJA - NRF - COMAN จะไม่คุ้มค่าการลงทุน เหมือนกรณีที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ที่ให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้น JTS หรือไม่
.
หากได้ไม่คุ้มเสีย แล้วแต่ละบริษัทจะประกาศทำธุรกิจขุดเหมืองบิทคอยน์ เพื่อ....!
.
หรือทั้งหมดเป็นแค่สตอรี่ ของเกมส์สร้างราคาหุ้น
.
โฆษณา