20 ก.พ. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
อีกมุมของอาชีพ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
2
“อินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์” กลุ่มอาชีพที่มาแรงในช่วงหลัง ด้วยภาพลักษณ์งานที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ รายได้ที่ดี แถมไม่ต้องทำงานประจำ
ทำให้อาชีพเหล่านี้กลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่
1
อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์งานที่สวยหรู ก็อาจจะไม่ได้งดงามอย่างที่ทุกคนคิด
แล้วเบื้องหลังอาชีพ ที่บางคนก็มองว่าสบายเป็นอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จริง ๆ แล้วเมื่อพูดถึงอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์
หลายคนอาจจะสงสัยว่า อาชีพเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ?
ในความเป็นจริงแล้ว ทุกอาชีพที่กล่าวมา จะมีลักษณะการทำงานที่เหมือนกันก็คือ การทำคอนเทนต์
เช่น หากเป็นบิวตีบล็อกเกอร์ ก็สามารถจะเป็นยูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์ไปพร้อม ๆ กันได้
ขึ้นอยู่กับว่าเราทำคอนเทนต์ลักษณะไหนลงบนแพลตฟอร์มอะไร
ทำให้สิ่งที่คนทำงานสายอาชีพนี้มีเหมือนกันคือ “คอนเทนต์” ที่ผลิตออกมา
รวมไปถึงช่องทางทำมาหากินอย่าง “โซเชียลมีเดีย” ที่ใช้ในการเผยแพร่คอนเทนต์
อ่านมาแบบนี้ การเริ่มต้นอาชีพนี้ก็ดูจะไม่ยากใช่ไหมคะ ?
เพราะเพียงแค่ทำคอนเทนต์ลงบนแพลตฟอร์ม ก็ดูเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้
แต่ความเป็นจริงทุกอย่างย่อมมีต้นทุน ทั้งในแง่ของเวลาและเงินทอง
เช่น หากเราทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการให้ความรู้ เราอาจจะไม่ได้ต้องใช้ต้นทุนด้านเงินทอง
แต่เราก็ต้องหมดเวลาไปกับการหาข้อมูล และวิเคราะห์เนื้อหาออกมา
หรือหากเราทำคอนเทนต์แนวความงาม เราก็จำเป็นต้องเสียเงินเพื่อซื้อของมารีวิวและค่าอุปกรณ์
และเมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้น ถึงจะมีสปอนเซอร์ หรือมีแบรนด์ต่าง ๆ มาจ้างงาน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็หมายความว่ากว่าอาชีพเหล่านี้จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเราได้
ก็ต้องสั่งสม “ชื่อเสียง” ให้ได้มากเสียก่อน และแน่นอนว่าไม่มีใครตอบได้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไร
อาจจะเป็น 1 เดือน 1 ปี หรือ 10 ปี ก็เป็นไปได้
มากไปกว่านั้น ต่อให้เรามีชื่อเสียงอยู่ในมือ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำรายได้ได้มากเพียงพอ
ที่จะเลี้ยงชีพของตัวเองได้ เพราะด้วยปริมาณอินฟลูเอนเซอร์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแพลตฟอร์ม
ทำให้เกิดการแข่งขันกันในวงการ จนส่งผลให้เกิดการ “กดราคา” กันเอง
โดยปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์จะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ระดับ ได้แก่
Nano มีผู้ติดตามประมาณ 1,000-10,000 บัญชี
Micro มีผู้ติดตามประมาณ 10,000-100,000 บัญชี
Macro มีผู้ติดตามประมาณ 100,000-1,000,000 บัญชี
Mega หรือ Celebrity มีผู้ติดตามประมาณ 1,000,000 บัญชีขึ้นไป
และในแต่ละระดับก็จะมีรายได้ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่อินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นอยู่
เพราะความยากง่าย ในการสร้างคอนเทนต์ที่แตกต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์ม
1
โดยจากการสำรวจรายได้ของอินฟลูเอนเซอร์ระดับ Nano ในยุโรป จากแต่ละแพลตฟอร์ม ของ Influencer Marketing Hub พบว่า
1
Twitter ประมาณ 2-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ หรือประมาณ 60-600 บาท
TikTok ประมาณ 5-25 ดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ หรือประมาณ 150-750 บาท
Instagram ประมาณ 10-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ หรือประมาณ 300-3,000 บาท
YouTube ประมาณ 20-200 ดอลลาร์สหรัฐต่อวิดีโอ หรือประมาณ 600-6,000 บาท
Facebook ประมาณ 25-250 ดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ หรือประมาณ 750-7,500 บาท
เมื่อดูที่รายได้ขั้นต่ำของแต่ละแพลตฟอร์มจะพบว่า เป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำมาก
แถมยังมีอินฟลูเอนเซอร์บางคนที่โหยหาคอนเทนต์มาก ๆ และยอมรับงาน “ฟรี”
จนกลายเป็นว่า “การรับงานฟรี” เป็นการทำร้ายอินฟลูเอนเซอร์คนอื่น ที่ต้องทำมาหากินกับอาชีพนี้
และยิ่งถ้าแบรนด์จ้างอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมาก ๆ หลายแบรนด์ก็พยายามจะมองหา “ช่องทางฟรี”
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และด้วยปริมาณอินฟลูเอนเซอร์ที่ล้นตลาด ก็ทำให้แบรนด์ไม่จำเป็นต้องง้อ
อินฟลูเอนเซอร์ที่คิดเงิน เพราะอย่างไรก็ยังมีตัวเลือกอื่นอีกเยอะ ที่มีโอกาสจะรับงานแบบฟรี ๆ
ด้านอินฟลูเอนเซอร์เอง ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ถ้าอยากมีงานและสร้างชื่อเสียงสำหรับงานในอนาคต
ช่วงแรก ๆ ก็จำเป็นต้องทำงานฟรีก่อน เพื่อให้แบรนด์เห็นผลงาน เห็นคอนเทนต์ มีจำนวนผู้ติดตาม
และเปิดโอกาสไปสู่การว่าจ้างงานต่อไป
นอกจากนั้น สำหรับตลาดต่างประเทศ อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมก็คือ Affiliate Marketing
หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า “การตลาดแบบพันธมิตร”
ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้อินฟลูเอนเซอร์มีรายได้ โดยที่แบรนด์ไม่ได้ให้เป็นค่าจ้าง แต่จ่ายเป็นค่าคอมมิชชันแทน หากอินฟลูเอนเซอร์สามารถขายสินค้าได้
ด้วยการให้อินฟลูเอนเซอร์ใส่ลิงก์ขายสินค้าไว้ในช่องทางโซเชียลของตนเอง ส่วนแบรนด์ก็จะได้คอนเทนต์ที่มีความเรียล มาใช้ในการโปรโมตเพื่อทำการตลาดต่อไป
2
เช่น แบรนด์ Foxybae ก็ใช้การตลาดนี้เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยสร้างคอนเทนต์
จนอุปกรณ์ทำผม ซึ่งเป็นสินค้าหลักของแบรนด์ขายได้กว่า 900 ล้านบาท หลังเปิดตัวเพียง 4 ปีเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ก็มีอินฟลูเอนเซอร์หลายคน ที่เมื่อเริ่มมีชื่อเสียง มีผู้ติดตามจำนวนมาก หรือมีเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์ ก็เริ่มทำแบรนด์และขายสินค้าควบคู่ไปด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรอการจ้างงานจากภายนอกเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ความยากของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่อง “รายได้” อย่างเดียวเท่านั้น
รู้หรือไม่ว่า 19.2% ของการบุลลีกันเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ
บางคนก็ต้องจากโลกนี้ไป เพราะไม่สามารถอยู่กับคำก่นด่าของสังคมโลกออนไลน์ได้
1
อย่างกรณีของ ซอลลี อดีตสมาชิกวง f(x) จากค่าย SM Entertainment
ซึ่งแม้เธอจะไม่ได้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ แต่ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า เพราะสังคมออนไลน์ เนื่องจากทุกคนสามารถแสดงความเห็นอะไรก็ได้
โดยไม่คิดถึงจิตใจของคนที่ได้อ่าน
จนเป็นสาเหตุที่ทำให้จิตใจของเด็กสาวคนหนึ่งแตกสลาย จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อีกต่อไป
ถึงเราจะเริ่มเห็นหลายคนลุกขึ้นสู้ ด้วยการฟ้องร้องคนที่มาแสดงความเห็นเสีย ๆ หาย ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้มแข็งพอที่จะก้าวข้ามความโหดร้ายเหล่านั้นไปได้
และในทางกลับกัน ด้านอินฟลูเอนเซอร์เอง ก็ต้องระวังเวลาที่จะพูดอะไรออกไปสู่สังคมออนไลน์เช่นกัน
เพราะเมื่อ “คำพูด” ถูกอัปโหลดสู่อินเทอร์เน็ต ก็จะกลายเป็น “สาธารณะ” ที่ทุกคนมีสิทธิ์วิจารณ์
1
และหลายครั้งสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์พูด ก็ไม่ได้มีความหมายที่อยากจะโจมตีใคร เป็นเพียงการ “แสดงความคิดเห็นส่วนตัว” เท่านั้น
1
แต่ในสังคมที่ทุกคนมีความคิดแตกต่างกัน จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจความหมายที่ต้องการจะสื่อ หรือในขณะเดียวกัน เมื่อความคิดของเราไม่ตรงกับมาตรฐานของสังคม ก็ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับ
1
ฉะนั้น “อินฟลูเอนเซอร์” ที่หลายคนอาจมองว่าสบายและง่าย แค่ถ่ายรูป ทำวิดีโอ หรือเขียนคอนเทนต์ลงบนโลกโซเชียล
อาจมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่มากกว่านั้น เพราะทุกอาชีพบนโลกใบนี้ไม่มีคำว่า “ง่าย”
3
และลงทุนเกิร์ลอยากขอเป็นอีกกระบอกเสียงให้ทุกท่าน “คิดก่อนพิมพ์”
เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า คอมเมนต์ที่เราพิมพ์ไปนั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนที่ได้อ่านบ้าง
อย่ามองว่า มันเป็นแค่เรื่องสนุก
แต่ให้คิดไว้เสมอว่า ถ้าคนนั้นคือตัวเอง
เราจะรู้สึกอย่างไร..
References:
-รายงาน Influencer Marketing Outlook ประจำปี 2020 จัดทำโดย Influencer Marketing Hub
โฆษณา