Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
15 ก.พ. 2022 เวลา 12:27 • กีฬา
ฟลุคที่ไม่ฟลุค สตีเฟ่น แบรดบิวรี่ : นักสเก็ตที่ได้เหรียญทองเพราะคู่แข่งพากันล้มหมด | MAIN STAND
การแข่งขันสปีดสเก็ตติ้งระยะ 1,000 เมตรชาย ที่โอลิมปิกฤดูหนาวปี 2002 ได้กลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะว่านักกีฬาตัวเต็งคว้าแชมป์ทุกรายพากันลื่นล้มระเนระนาดกันในช่วงโค้งสุดท้าย จนส่งให้ สตีเฟ่น แบรดบิวรี่ เข้าป้ายคว้าเหรียญทองไปแบบแม้แต่เจ้าตัวก็ยังไม่เชื่อสายตาตัวเอง
หากดูแบบผิวเผินนี่คือการคว้าแชมป์แบบมากับดวงขั้นสุด แต่เมื่อได้เจาะลึกลงไปยังชีวิตของนักแข่งชาวออสซี่รายนี้แล้ว เส้นทางสู่การเป็นผู้ชนะของเจ้าตัวแทบไม่เคยประสบกับความราบรื่นเลย และแถมยังเกือบต้องเลิกเล่นจากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพร่างกายของ แบรดบิวรี่ มาแล้ว
นี่คือเรื่องราวของแชมป์โอลิมปิกที่พลิกล็อกถล่มถลายที่สุด ที่ยืนหยัดด้วยความเชื่อมั่น จนนำพาเจ้าตัวข้ามเส้นชัยเป็นคนแรกได้สำเร็จ
นักบุกเบิกของชาติ
แม้จะเป็นชาติใหญ่และเข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 70 ปี แต่กับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวแล้ว ออสเตรเลีย กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากสักเท่าไหร่
ด้วยสภาพภูมิอากาศที่ไม่ค่อยเอื้อต่อกีฬาฤดูหนาวหรือวัฒนธรรมกับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ไม่มากพอ จนทำให้เหล่านักกีฬาชาวออสซี่เหล่านี้ต้องเน้นเข้าร่วมมากกว่าเข้ารอบแทน
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจากการเข้ามาของ เจฟ เฮนเก้ ผู้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการโอลิมปิกออสเตรเลีย ด้วยการเป็นอดีตนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ผู้เคยชวดเดินทางไปลงแข่งขันในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1956 เพียงเพราะทางคณะกรรมการไม่เคยตอบกลับคำขอไปร่วมแข่ง แม้ว่าทีมฮอกกี้น้ำแข็งจะยอมออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองแล้วก็ตาม
1
เมื่อเคยสัมผัสประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดมาด้วยตนเองแล้ว เฮนเก้ จึงทราบดีว่าการขาดแรงสนับสนุนนั้นก็เพียงพอต่อการตัดโอกาสของนักกีฬารุ่นใหม่ ดังนั้นในปี 1981 เจ้าตัวจึงพาคณะกรรมการไปร่วมประชุมกันที่เทือกเขาแอลป์ของออสเตรเลีย เพื่อเป็นการพาไปซึมซับบรรยากาศของกีฬาฤดูหนาวอย่างแท้จริง
1
1
“นั่นคือครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าคณะกรรมการให้การสนับสนุนทีมกีฬาฤดูหนาวอย่างแท้จริง” เจ้าตัวเปิดเผยหลังสิ้นสุดการประชุม ซึ่งนั่นก็สะท้อนออกมาผ่านผลงานในสนาม เพราะ ออสเตรเลีย ใช้เวลาอีกเพียงแค่ 10 ปี ในการส่งทีมสเก็ต 5,000 เมตร ขึ้นไปคว้าแชมป์โลกรายการแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศได้
สตีเฟ่น แบรดบิวรี่ คือหนึ่งในนักกีฬาชุดคว้าแชมป์โลกครั้งดังกล่าว พร้อมกับได้เดบิวต์โอลิมปิกครั้งแรกด้วยวัยเพียง 19 ปี ด้วยการอยู่ในทีมชุดความหวังของชาติ ในการคว้าเหรียญรางวัลแรกในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย
แต่แล้วการลื่นล้มในรอบรองชนะเลิศ ก็ทำให้ทีมนักกีฬาชาวออสซี่ต้องจอดป้ายด้วยการจบอันดับที่ 7 เท่านั้น ซึ่ง แบรดบิวรี่ ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรทีมได้ เนื่องจากเจ้าตัวถูกวางชื่อไว้เป็นเพียงตัวสำรองเท่านั้น ออสเตรเลีย จึงปิดฉากโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1992 แบบคว้าน้ำเหลวไปอีกหน
สู่เหรียญแรกอย่างยิ่งใหญ่
โอกาสแก้มือของ แบรดบิวรี่ มาถึงในอีกสองปีให้หลัง เนื่องจากมีการปรับกำหนดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ให้ไม่จัดชนกับโอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งในครั้งนี้ แบรดบิวรี่ ได้เก็บเลเวลกับทีมมาเพียงพอที่จะยึดตำแหน่ง 1 ใน 4 นักสเก็ตตัวจริง
แทคติกสำคัญของทีมนักสปีดสเก็ตกิ้งในรอบนี้คือห้ามล้มเป็นอันดับแรก และอย่าไปทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงให้ตัวเองโดนตัดสิทธิ์ได้ ซึ่งส่งให้ทีมเข้ามาสู่รอบชิงเหรียญรางวัล แบบจบอันดับที่สองในรอบรองชนะเลิศอย่างไม่ยากเย็นนัก
ทีนี้ในรอบชิงชนะเลิศ มีทีมเข้าแข่งอยู่ทั้งสิ้น 4 ชาติเท่านั้น ได้แก่ แคนาดา เจ้าของเหรียญเงินเก่า, อิตาลี เจ้าของสถิติโอลิมปิก, และ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อโอกาสคว้าเหรียญรางวัลเปิดกว้างขนาดนี้ จึงทำให้เหล่านักสเก็ตชาวออสซี่ตัดสินใจเอากลยุทธ์เดิมมาใช้ต่อ นั่นคือพวกเขาจะไม่ไปไล่บี้แข่งขันกับชาติข้างหน้ามากนัก แต่จะรอโอกาสแซงถ้ามีใครสักคนเกิดพลาดขึ้นมา
และแล้วความซวยครานี้ก็ไปตกอยู่กับนักสเก็ตจาก แคนาดา ที่เกิดลื่นล้มไปรอบหนึ่ง จนส่งให้ ออสเตรเลีย ขึ้นไปอยู่ตำแหน่งคว้าเหรียญรางวัลได้แบบสบาย ๆ แถมยังมีโอกาสลุ้นเบียดแย่งตำแหน่งเหรียญเงินกับนักแข่งจาก สหรัฐอเมริกา อีกด้วย ก่อนที่ ริชาร์ด นิเซลสกี (Richard Nizielski) นักแข่งคนสุดท้ายจะตัดสินใจถอยออกมา เพื่อป้องกันการโดนปรับแพ้หรือหลุดจากตำแหน่งเหรียญทองแดงไป เนื่องจากเจ้าตัวคือคนที่เคยล้มมาเมื่อปี 1992 จนทำให้ทีมอดลุ้นเหรียญรางวัลมาก่อนแล้วรอบนึง
นี่คือเหรียญทองแดงแรกและเหรียญรางวัลแรกในประวัติศาสตร์ของ ออสเตรเลีย ที่จุดประกายความหวัง ความสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมาก แต่ทว่าเส้นทางของ แบรดบิวรี่ กลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หนำซ้ำเจ้าตัวมักโดนหนามแหลมคมทิ่มแทงเป็นส่วนใหญ่เสียอีก
1
หยาดเหงื่อ คราบเลือด และรอยน้ำตา
กีฬาสปีดสเก็ตติ้ง โดยเฉพาะประเภทสนามระยะสั้น เป็นชนิดกีฬาที่มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากการแข่งขันที่เน้นในเรื่องความเร็วสูง นักกีฬาแต่ละคนจะต้องคอยแย่งตำแหน่งระหว่างกันและกัน โดยเฉพาะระหว่างเข้าโค้ง กับระยะทางสนามที่มีเพียง 111 เมตรต่อรอบ แถมยังมีใบมีดที่ค่อนข้างแหลมบริเวณปลายรองเท้าสเก็ต ซึ่งถูกใช้เพื่อยึดเกาะกับน้ำแข็งบนพื้นสนาม อันอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาได้
และคนที่ดวงแตกในรอบนี้ ก็คือ แบรดบิวรี่ ผู้โดนใบมีดจากนักกีฬาอีกรายผ่าเข้าที่ต้นขาขวาของตนระหว่างแข่งขันที่ แคนาดา ในปี 1995 จนเจ้าตัวเสียเลือดจากร่างกายไปเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นที่ถ้าเขาเกิดหมดสติไปก่อนเดินทางไปยังโรงพยาบาลก็อาจหมายความว่าเจ้าของเหรียญทองแดงรายนี้อาจไม่ฟื้นกลับมาอีกเลยก็เป็นได้
เคราะห์ยังดีที่การรักษาดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ถึงกระนั้น แบรดบิวรี่ ก็โดนเย็บแผลไปมากกว่า 111 เข็ม โดยไม่สามารถขยับขาขวาได้นานกว่า 3 อาทิตย์ แถมยังต้องใช้เวลานานกว่าปีครึ่ง ก่อนที่เจ้าตัวจะฟื้นฟูสภาพร่างกายกลับมาพร้อมลงแข่งขันต่อได้
แต่เมื่อกลับมาลงเล่นต่ออีกครั้ง เจ้าตัวก็ยังไม่สามารถเรียกฟอร์มเก่งกลับมาได้ ไม่ว่าจะเป็นประเภทเดี่ยวหรือทีมก็ตาม โดยเฉพาะการแข่งขันแบบเดี่ยวที่เขานั้นเกิดลื่นล้มแล้วไปชนเข้ากับนักแข่งรายอื่นทั้งในประเภท 500 เมตร และ 1,000 เมตร จนไม่สามารถทำเวลาผ่านรอบคัดเลือกได้เลย
ถ้านั่นยังเลวร้ายไม่พอ แบรดบิวรี่ ยังต้องมาประสบกับอุบัติเหตุอีกครั้งในเดือนกันยายน ปี 2000 เมื่อเจ้าตัวพยายามกระโดดหลบนักแข่งที่ล้มไปตรงหน้า จนเกิดสะดุดแล้วหัวไปฟาดเข้ากับบริเวณข้างสนามแข่งขันอย่างจัง
กระดูกสันหลังส่วนคอ C4 และ C5 ของเขาร้าว จนต้องมีการเจาะกะโหลกเพื่อเอาอุปกรณ์ดามให้หลังกับหน้าอกของเขาช่วยประคองน้ำหนักของศีรษะเอาไว้นานกว่าเดือนครึ่ง พร้อมกับได้รับคำแนะนำจากคุณหมอว่าเจ้าตัวไม่ควรกลับไปลงแข่งสเก็ตอีกแล้ว
1
แน่นอนว่าบทความนี้คงไม่เกิดขึ้นหากเจ้าตัวเชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์ นั่นเพราะ แบรดบิวรี่ ตัดสินใจว่าเขาอยากกลับมาแก้มืออีกสักหน หลังจากพลาดท่าลื่นล้มในโอลิมปิกครั้งก่อน คืออย่างน้อยเขาอยากลองฝีมือสักนิดว่าถ้าเจ้าตัวไม่ล้ม โดยเอาแทคติกที่เคยพาให้เขาคว้าเหรียญแรกได้มาใช้อีกครั้งมันจะเป็นอย่างไร
ในหัวของ แบรดบิวรี่ ไม่เคยหวังถึงเหรียญทองเลย คือแน่ล่ะว่านักกีฬาต้องมีแอบคิดบ้าง แต่เขาก็ยอมรับว่าโอกาสที่จะคว้ามาได้นั้นมันช่างเลือนรางเหลือเกิน
ล้มแล้วต้องลุก
สตีเฟ่น แบรดบิวรี่ เดินทางมาร่วมแข่งโอลิมปิกอีกครั้งกับทีมชาติออสเตรเลีย ด้วยการทำเวลาผ่านเกณฑ์ทั้งประเภททีม และเดี่ยวที่ระยะทาง 500, 1,000, และ 1,500 เมตร
รอบนี้เจ้าตัวไม่ล้มแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าความเร็วของเขาไม่อาจทัดเทียมเหล่านักแข่งรุ่นใหม่ได้เลย แม้เขาจะพาเพื่อนร่วมทีมเข้าป้ายอันดับ 3 ในรอบรองชนะเลิศ แต่ก็ไม่เร็วพอที่จะส่งให้ ออสเตรเลีย เข้าไปชิงเหรียญรางวัลได้ จนกระทั่งมาถึงการแข่งขันรายการที่สองของเจ้าตัว อย่างสปีดสเก็ตติ้งระยะ 1,000 เมตร ที่เรื่องราวปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ได้บังเกิดขึ้น
แบรดบิวรี่ ผ่านรอบคัดเลือกมาด้วยการจบอันดับหนึ่ง ก่อนจะถูกจับมาอยู่สายเดียวกับ อโพโล โอโน นักแข่งดาวรุ่งพุ่งแรงของ สหรัฐอเมริกา ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ที่จะคัดเอาเพียงนักกีฬา 2 คนแรกของแต่ละสายเข้าไปแข่งขันต่อในรอบรองชนะเลิศ
ผลคือ แบรดบิวรี่ จบที่อันดับสาม ซึ่งตามหลักแล้วเจ้าตัวจะต้องตกรอบนี้ไป ทว่าคณะกรรมได้ปรับแพ้ฟาวล์ มาร์ค แกกนอน (Marc Gagnon) จาก แคนาดา อดีตเจ้าของเหรียญทองแดงในรายการนี้เมื่อปี 1994 ด้วยสาเหตุจากการไปบังทางนักแข่งชาว ญี่ปุ่น จนทำให้อานิสงส์ไปตกอยู่กับนักแข่งชาว ออสเตรเลีย ให้เขาทะลุเข้าสู่รอบรองได้สำเร็จ (เช่นเดียวกับ นาโอยะ ทามูระ ที่โดน แกกนอน ขวางทาง ก็ได้เข้ารอบไปด้วย)
พอมาถึงรอบรองชนะเลิศแล้ว แบรดบิวรี่ ทราบดีว่าเจ้าตัวไม่ได้มีความเร็วเหมือนกับนักแข่งคนอื่น ด้วยอายุที่มากที่สุดเป็นอันดับสองของการแข่งขัน แถมยังต้องลงเล่นต่อเนื่องตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบชิงเหรียญในวันเดียวกัน จึงทำให้เจ้าตัวตัดสินใจนำแทคติกเดิมจากเมื่อปี 1994 มาใช้
สเก็ตไปเรื่อย ๆ ตามจังหวะของตนเอง ไม่ต้องไปไล่บี้แข่งกับใครข้างหน้า และภาวนาให้พวกเขาก่อข้อผิดพลาดขึ้นมาเอง
“ผมรู้ดีกว่าทุกคนว่าอะไร ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้”
และในรอบสุดท้ายของการแข่งรอบรองชนะเลิศ แบรดบิวรี่ ผู้รั้งท้ายอยู่ไกลลิบ ก็ได้แซงหน้านักแข่งจากเกาหลีใต้ที่ลื่นล้มไปในทางตรง ก่อนที่นักกีฬาจาก จีน และ แคนาดา จะเกี่ยวกันล้มในโค้งสุดท้าย ส่งให้ แบรดบิวรี่ เข้าเส้นชัยเป็นอันดับสอง แถมยังถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นที่หนึ่ง เมื่อ ซาโตรุ เทราโอะ (Satoru Terao) จาก ญี่ปุ่น ผู้เข้าเส้ยชัยเป็นคนแรก ถูกปรับแพ้ฟาวล์ไปอีกราย
อย่างไรก็ตามคู่แข่งในรอบชิงของเขานั้นเหมือนเป็นการรวมดาวเลย ไม่ว่าจะเป็น หลี่ เจียจุน แชมป์โลก 10 สมัย, แมตธิว ธัวคอตต์ (Mathieu Turcotte) แชมป์โลก 3 สมัย, อโพโล โอโน แชมป์โลก 2 สมัย ตัวเต็งคว้าเหรียญทองอันดับหนึ่ง และ อัน ฮยอง ซู (Ahn Hyun-soo) ดาวรุ่งจากเกาหลีใต้ ซึ่งดูแล้วยังไง แบรดบิวรี่ ก็ไม่น่าติดอันดับลุ้นเหรียญได้เลย
“Bring this on” คือสิ่งที่เจ้าตัวกล่าวกับกล้องถ่ายทอดสด หลังทราบว่าเขาจะได้ลงแข่งในรอบชิง หรือถ้าแปลให้ตรงกับบริบทตามสถานการณ์ ก็คงไม่พ้นคำว่า “ก็มาดิค้าบ”
เมื่อสัญญาณออกสตาร์ทดังขึ้นในค่ำคืนนั้น แบรดบิวรี่ เข้าไปอยู่ในตำแหน่งรั้งท้ายตั้งแต่ตอนออกตัว และค่อย ๆ ถูกทิ้งระยะห่างไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ ทีละนิด จนดูไม่เห็นแววว่าเขาจะสามารถแซงใครได้เลย
“ผมไม่เห็นว่ามีเหตุผลอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแผนนะ” แบรดบิวรี่ ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในรอบชิงของเขา ซึ่งในมุมที่ว่าการเข้าถึงรอบชิงก็เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แล้ว และการแข่งจบโดยไม่ล้มก็คงเป็นสิ่งที่เติมเต็มความฝันของชายคนนี้ได้ไม่น้อย โดยไม่ต้องไปหวังถึงการขึ้นไปยืนอยู่บนโพเดียมร่วมกับเหล่าสายเลือดใหม่ที่กำลังหํ้าหั่นกันอยู่ข้างหน้าเขา
แต่แล้วที่โค้งสุดท้าย เหตุการณ์ที่เหมือนฉายภาพซ้ำจากรอบรองชนะเลิศก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ หลี่ เป็นคนแรกที่ล้มลง จากการพยายามเร่งความเร็วขึ้นมาแซง โอโน ต่อด้วย อัน ผู้นำในขณะนั้นที่เกิดลื่นระหว่างกำลังออกจากโค้งมาเข้าเส้นชัย พร้อมกับกวาดเอาทั้ง ธัวคอตต์ และ โอโน ออกจากไลน์การแข่งขันไปด้วย
1
ทีนี้ แบรดบิวรี่ ที่อยู่ห่างออกไป ก็เลยเป็นคนเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปฏิกิริยาลูกโซ่ครั้งนี้ และสามารถวิ่งเข้าเส้นชัยไปแบบง่ายดาย ท่ามกลางความช็อกของผู้คนในสนาม และเช่นกันกับตัวของ แบรดบิวรี่ เองด้วย
เหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของ ออสเตรเลีย มาจากคนที่น่าจะอยู่นอกสายตาที่สุดคนหนึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ ในรายการที่พวกเขาไม่เคยแม้แต่จะทะลุเข้าไปถึงรอบชิงเหรียญรางวัลมาได้เลย
เมื่อกลับมาถึงบ้านเกิดของตน สตีเฟ่น แบรดบิวรี่ กลายเป็นผู้โด่งดังไปในทันที เรื่องราวของเขาเปรียบดั่งหลุดมาจากนิทานอีสปเรื่องกระต่ายกับเต่า แถมยังเกิดเป็นวลีที่ว่า “Doing a Bradbury” อันแปลว่าการประสบความสำเร็จแบบไม่คาดคิด ซึ่งถูกเพิ่มลงในคลังศัพท์อย่างเป็นทางการของ ออสเตรเลีย ในปี 2016 อีกด้วย
“ผมยอมรับเหรียญทองนี้นะ แต่ไม่ใช่จากช่วง 90 วินาทีในสนามแข่ง ผมขอรับมันจากการทำงานหนักมากว่า 14 ปีของตัวเอง” แบรดบิวรี่ เปิดเผยถึงเหรียญทองประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ที่ได้ปิดฉากเส้นทางอาชีพนักสเก็ตลงอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับเป็นจุดเริ่มต้นของหนึ่งในเรื่องราวสุดคลาสสิกแห่งการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวเลยทีเดียว
บทความโดย กรทอง วิริยะเศวตกุล
แหล่งข้อมูล:
https://olympics.com/en/news/olympic-cinderellas-steven-bradbury-s-unforgettable-short-track-gold-medal
https://www.youtube.com/watch?v=vN7ih576VYM
http://news.bbc.co.uk/winterolympics2002/hi/english/skating/newsid_1826000/1826962.stm
https://archive.sltrib.com/article.php?id=3332953&itype=NGPSID
14 บันทึก
18
3
13
14
18
3
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย