21 ก.พ. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา AI กำลังเข้ามาท้าทาย อาชีพนักแสดง
ในยุคปัจจุบัน เราต่างก็ได้เห็นบทบาทการเข้ามาแทนที่มนุษย์ของหุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะภาคธนาคาร โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร
เร็ว ๆ นี้ ก็ดูเหมือนจะมีอีกอาชีพหนึ่ง ที่กำลังถูกแย่งงานไปทีละนิดจากหุ่นยนต์ นั่นคือ นักแสดง
ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมา แต่ได้วิวัฒนาการควบคู่ไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงมาอย่างยาวนาน
แล้วหุ่นยนต์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มนุษย์พัฒนาขึ้น
จะเข้ามาแย่งงานนักแสดงซึ่งถือเป็นอาชีพทางด้านศิลปะได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
มนุษย์เราพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เราพบเจอ รวมถึงปัญหาหลายอย่างที่ตัวเราเองไม่สามารถทำได้
โดยหลักคิดง่าย ๆ นี้ ก็ได้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมบันเทิงมาอย่างยาวนาน แต่มาในรูปแบบของการยกระดับคุณภาพของงาน อย่างเช่น
- เทคโนโลยีกล้องที่พัฒนาจากขาวดำสู่ระบบภาพที่คมชัดระดับ 4K
- คอมพิวเตอร์กราฟิก ที่เนรมิตฉากสวย ๆ เหนือจินตนาการ
และในปัจจุบัน เทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างมาก และเริ่มขยับจากงานเบื้องหลังเข้าสู่งานเบื้องหน้า ซึ่งแม้แต่นักแสดงก็กำลังทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่ภาพยนตร์​ฮอลลีวูดใช้คอมพิวเตอร์ แต่งเติมรูปร่างหน้าตาของนักแสดงให้ออกมาตามต้องการ
ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง Avatar ที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างทั้งฉากและตัวละครทั้งตัว โดยอาศัยเพียงโครงร่างของนักแสดงเพื่อกำหนดโครงสร้างของหน้าตาและการเคลื่อนไหวเท่านั้น
ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ผลงานแล้ว เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นถึงขนาดที่ว่าไม่ต้องใช้คนจริง ๆ แสดงเลย อย่างเช่นเรื่อง Toy Story ที่เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติ ทุกตัวละครถูกสร้างขึ้นมาด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และใช้เพียงคนพากย์แค่เสียงเท่านั้น
แต่ล่าสุดในซีรีส์เรื่อง The Book Of Boba Fett ซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาคแยกของจักรวาลหนัง Star Wars โดยฉายทางช่อง Disney+ Hotstar ก็ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยี ที่ใช้ในการผลิตที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น
2
ที่พูดแบบนั้น ก็เพราะว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เป็นการนำตัวละครหลักของจักรวาล Star Wars อย่าง ลุก สกายวอล์คเกอร์ กลับมาขึ้นจออีกครั้งในช่วงอายุของตัวละครสมัยที่ยังหนุ่ม ทั้ง ๆ ที่นักแสดงที่รับบทนี้ตัวจริงจะมีอายุมากถึง 70 ปีแล้ว
2
โดยที่ทำได้แบบนี้เพราะทีมงานไม่ได้ใช้นักแสดงตัวจริงมาแสดง แต่พวกเขาใช้นักแสดงควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี “Deepfake” ที่สามารถเปลี่ยนหน้าตาของนักแสดงได้ตามต้องการ
บวกกับการใช้เสียงของนักแสดงตัวจริง แต่เป็นการรวบรวมเสียงตั้งแต่สมัยที่นักแสดงตัวจริงยังหนุ่ม ๆ ตั้งแต่ตอนที่เขายังแสดงเรื่อง Star Wars ช่วงปี 1980
โดยเป็นเสียงจากภาพยนตร์ รายการสัมภาษณ์และวิทยุ แล้วใช้ AI หรือ Artificial Intelligence โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ มาช่วยในการถอดรูปแบบเสียงของนักแสดง แล้วเปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูดตามที่เขียนบทไว้
3
นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีในตอนนี้ ทำให้เราสามารถสร้างนักแสดงตัวปลอมที่หน้าและเสียงเหมือนตัวจริงแต่ดูหนุ่มกว่า ให้มารับบทเดิมได้แล้ว
แล้วถ้าเทคโนโลยี Deepfake ถูกนำมาใช้มากขึ้น จะเกิดอะไรบ้าง ?
- เราจะได้เห็นดารานักแสดงหลายคนที่เสียชีวิตหรือลาวงการไปแล้วมาสวมบทบาทเดิม
- โอกาสทางด้านอาชีพการแสดงเปิดกว้างมากขึ้น เพราะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องหน้าตาของนักแสดง
- สามารถลดต้นทุนการผลิตจากค่าตัวนักแสดงได้ เพราะเพียงขอซื้อสิทธิ์ในเสียงและหน้าตาของดาราดังมาปรากฏบนภาพยนตร์ โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องมาถ่ายทำแต่อย่างใด
1
แม้เรื่องนี้จะดูไกลตัวสำหรับคนไทย แต่เรื่องราวคล้าย ๆ กันก็ได้เกิดขึ้นแล้วในบ้านเรา ในรูปแบบของ Virtual Influencer ที่เป็นพรีเซนเตอร์คอยโปรโมตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ
ซึ่งงานลักษณะนี้ ก็เป็นงานที่สร้างรายได้ให้กับเหล่านักแสดงหลายคนในปัจจุบัน
อย่างเช่น น้องกะทิ ที่เป็นผลงานของบริษัทสื่อโฆษณาอย่างบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เลมอนซ์ บางกอก จำกัด
2
ทำให้ในอนาคต เราอาจจะเห็น Virtual Influencer เหล่านี้ก้าวเข้ามาสู่วงการบันเทิงในฐานะนักแสดงคนหนึ่งก็ได้
แล้วอาชีพนักแสดงในอนาคต จะมีพื้นที่ให้มนุษย์อยู่หรือไม่ ?
จริง ๆ แล้วในการผลิตสื่อบันเทิง ยังจำเป็นต้องพึ่งพาความสามารถของนักแสดงเป็นหลักอยู่
เช่น การตีความบทละครจากในหนังสือ แล้วใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวนักแสดง ในการถ่ายทอดการแสดงออกมา
ซึ่งความสามารถทางการแสดงนี้เอง ที่หลายครั้งกลายเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้หนังมีมิติ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเป็นศิลปะที่ AI ยังทำไม่ได้
อีกปัจจัยหนึ่งคือ ตัวตน ชื่อเสียง และภาพลักษณ์ประจำตัวของนักแสดง ก็กลายเป็นสิ่งที่ยังคงดึงดูดผู้คนและสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นกับตัวนักแสดงเอง ซึ่งต่อให้จะมีการสร้างหุ่นยนต์ที่คัดลอกทุกอย่างไป แต่ความนิยมที่เกิดจากตัวตนมนุษย์ ก็อาจจะยังลอกเลียนแบบกันได้ยาก
1
เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือ ต่อให้มีการสร้าง AI โดยถอดแบบมาจาก ลิซ่า BLACKPINK ความนิยมที่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถสู้ลิซ่าต้นฉบับได้
2
เพราะคำว่า ลิซ่า BLACKPINK เกิดมาจากหลากหลายองค์ประกอบที่มากกว่าเพียงรูปร่างหน้าตาและท่าเต้น
อย่างไรก็ตาม ความสามารถของ AI คือความสามารถในการเรียนรู้ และระบบการเก็บข้อมูลที่ไม่เสื่อมสลาย อีกทั้งยังถ่ายโอนระหว่างกันได้โดยไม่ตกหล่น
นั่นหมายความว่า หุ่นยนต์ อาจจะเรียนรู้ และพัฒนาจนมีความสามารถทางการแสดง
ที่ใกล้เคียงมนุษย์ ซึ่งแม้จะไม่เทียบเท่า แต่ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอีกตัวเลือกหนึ่ง
1
ซึ่งอาจจะต้องรอจนถึงวันนั้น วันที่ AI สามารถสร้างตัวตนที่เป็นต้นฉบับของตัวเอง และทำให้มนุษย์หลงใหลได้ ถ้ามันเป็นจริง นักแสดงที่เป็นมนุษย์ ก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป..
3
โฆษณา