16 ก.พ. 2022 เวลา 09:04 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำยังไงให้รวย โดย ราติ
ผมตั้งใจที่จะเขียนบทความนี้มานานมากแล้วแต่ไม่สบโอกาสซักที จวบจนเช้าวันนี้ก็ถูกความดีงามของหนังสือเล่มนี้ที่จรดปากกาถ่ายทอดโดยราติชักนำ ทำให้ผมบรรเลงเพลงนิ้วจิ้มมือถือต่อตัวอักษรเพื่อส่งต่อเนื้อหาการเงินที่ดีมากๆ ให้กับคุณผู้อ่านที่ติดตามกันมา
หลังจากที่ผมได้รู้จักหนังสือเล่มนี้ ก็ถึงกับร้องหึ่ย!!! มันเป็นข้อมูลที่ดีจริงๆนะนี่ ในโอกาสนี้ผมจะขอนำข้อมูลเหล่านั้นมาเล่าในรูปแบบของผมเอง โดยที่ทำการดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับประเทศไทยหากยังคงใจความสำคัญหลักที่ราติต้องการสื่อเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม
เนื้อความของหนังสือนั้นพุ่งไปที่คนส่วนมากที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการเงินมากนัก แต่ถ้าคุณมีความรู้ทางด้านนี้อยู่บ้างแล้วผมแนะนำให้เลือกวิธีดีๆเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้โดยเดินทางสายกลาง ปรับใช้ให้เหมาะกับตัวคุณเอง เพราะเราทุกคนนั้นมีต้นทุนและข้อจำกัดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่เราทำได้เหมือนกันคือนำความรู้ดีๆมาปร้บใช้ให้เรามีชีวิตโดยภาพรวมดีขึ้น มีความสุขขึ้น
!!!เริ่มกันเลยนะครับ!!!
ข้อที่ 1 “กำหนดคำว่ารวย”ของคุณเอง ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าคุณไม่มีจุดที่ชัดเจนคุณจะไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่จะถึงเป้าหมาย เมื่อไหร่กันที่เรียกว่ารวย ดังนั้นคุณจะต้องกำหนดมันให้ชัดเจน เนื่องว่าถ้ามันชัดเจนมากเท่าไหร่คุณก็จะทำมันได้ชัดเจนมากเท่านั้น
“ฉันจะรวย”
เป็นคำพูดที่กว้างไป เพราะคำว่ารวยของเรานั้นไม่เท่ากัน บางคนต้องมีเงิน 10 ล้านถึงจะรวย บางคนขอแค่มีเงินแสนเดียวก็รวยแล้ว เพราะฉะนั้น “กำหนดตัวเลขของคุณเอง”
“มีบ้านมีรถแล้วรวย”
ยังไม่พอ ระบุให้ชัดเลยครับว่าบ้านราคาเท่าไหร่ รถรุ่นไหน
“ฉันจะมีอิสระภาพทางการเงิน”
เป็นคำพูดที่ดูดี แต่ มันช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะมันเป็นเพียงคำพูดโก้ๆ ให้ดูดี คุณต้องกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่ามีรายได้โดยไม่ต้องทำงานเดือนละเท่าไหร่ เช่น 20,000 บาท เป็นต้น
จบไปแล้วนะครับข้อที่ 1 ซึ่งผมให้เป็นข้อที่สำคัญที่สุด และสำคัญมากๆๆๆๆๆ เพราะถ้าเราไม่รู้ว่ารวยเป็นยังไง ทำให้ตายยังไงก็ไม่รวย
เราไปต่อข้อที่ 2 กัน หลังจากคุณมีนิยามคำว่ารวย”ของตัวคุณเองแล้ว”
ข้อที่ 2 “เริ่มตอนนี้”
เบนจามินแฟร้งคลิ้น กล่าวว่า “จงทำสิ่งที่ทำได้ในวันนี้ ไม่ต้องรอพรุ่งนี้แล้วค่อยทำ” มันจะช่วยลดนิสัยผลัดวันประกันพรุ่งของเราลง
โอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างความร่ำรวยของเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันควรจะเป็น”10 ปีที่แล้ว” แต่ถ้าเราย้อนเวลาไม่ได้ โอกาสที่ดีที่สุดอีกครั้งก็คือ “ตอนนี้”
เราต้องเริ่มเลย งานที่ดีที่สุดคืองานที่เสร็จ มันมีเรื่องของ”กฎ 85%” อยู่ ถ้าเรามัวแต่รอนู่นรอนี่รอนั่นให้สมบรูณ์แบบ 100% ก่อนแล้วค่อยเริ่ม โลกเราคงไม่ได้ไปไหน เอดิสันทำไส้หลอดไฟที่ใช้ไม่ได้เป็นพันๆครั้ง กว่าจะเจอสิ่งที่ใช้ได้ สองพี่น้องตระกูลไรท์บินแล้วร่วงไม่รู้ตั้งกี่ครั้งต่อกี่ครั้งจนกว่าจะบินได้ ถ้าทั้งสองคนรอให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดก่อน ตอนนี่เราคงยังต้องใช้ตะเกียงและนั่งเรือข้ามประเทศกันอยู่ กฎ 85% มีอยู่ว่าจงทำทันทีแม้สิ่งๆนั้นจะมีความสมบูรณ์แค่ 85%
อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคิดว่าเงินแค่ 100 บาทมันน้อยมาก ออมไปก็เท่านั้น หรือเงินแค่ 100 เดียวเปิดพอร์ตหุ้นไปมันจะได้อะไรกัน เคยได้ยินสุภาษิต “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” กันมั้ยครับ ใช่ครับถ้าพูดถึงจำนวนเงินนั้นผมเองก็ไม่ปฏิเสธว่ามัน”น้อย” แต่มันยังมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากซ่อนอยู่ในจำนวนเงินน้อยนิดนั้นครับ มันคือ ”อุปนิสัยทางการเงินที่ดี” การออมเป็นอาวุธที่ทรงอาณุภาพชิ้นหนึ่งในการสร้างความรำ่รวย 100 บาท เก็บหนึ่งครั้งเราก็มี 100 เราเก็บ 100 ครั้ง เราก็มี 10,000 และถ้าเราเก็บหมื่นครั้ง เราจะมีเงินเก็บ 1,000,000 บาท เห็นมั้ยครับว่ามันไม่ธรรมดา จงเริ่มตั้งแต่วันนี้
ถึงตรงนี้ทุกคนมีเป้าหมายที่จะทำแล้ว แล้วพร้อมที่จะทำทันทีแล้ว แต่ทำอะไรหล่ะ ข้อต่อๆไปจะบอกในสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้รวย”ตามนิยามของเราเอง”
ข้อที่ 3 ใส่ใจในสิ่ง”ใหญ่”แทนสิ่ง”เล็ก”
ตัวอย่าง”สิ่งเล็ก” ได้แก่ การลดกาแฟแก้วละ 40 บาท 1 แก้ว, การพยายามใช้คูปองซื้อของแล้วลด 10%, หรือการพยายามหาแหล่งฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนเพิ่มอีก 0.1%
ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีนะครับ การประหยัดล้วนเป็นสิ่งดี แต่ที่ผมจะบอกคือการใส่ใจในภาพใหญ่นั้นสำคัญกว่า
และสิ่งใหญ่ที่เราต้องให้ความสนใจมีดังนี้
3.1 ทำระบบเงินอัตโนมัติ(จะอธิบายเพิ่มในข้อที่ 4)
3.2 รักษาเครดิตให้ดี ก่อหนี้แล้วจ่ายให้ตรง
3.3 ใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในเรื่องของโปรโมชั่น หรือคะแนนสะสม
3.4 เก็บเงินเพื่อการเกษียณ
3.5 จ่ายบัตรเครดิตให้หมด อย่าจ่ายขั้นต่ำ
3.6 ยกเลิกสมาชิกรายเดือน ของ ยูทูป หรือ เนตฟิกซ์ ฯ ถ้าต้องการดูให้ซื้อเป็นครั้งๆ ไป
3.7 ให้ถามตัวเองว่าเราใช้เงินในส่วนไหนมาก เช่น เราอาจจะดื่มกาแฟ 3,000 ต่อเดือน หรือ กินข้าวนอกบ้าน 5,000 บาท ซึ่งมากไป เป็นต้น แล้วจัดการมันให้เหมาะสม
3.8 เจรจาขอค่าแรงเพิ่ม (ถ้าทำได้)
3.9 ทำงานเสริม (ไม่เลือกงานไม่ยากจน)
3.10 และ 3.11 ซื้อรถและบ้านที่เหมาะสม ที่ผ่อนไหว นกน้อยยังทำรังแต่พอตัว เพราะถ้าเราทำเกินตัวแล้วจะลำบากในระยะยาว เนื่องจากการผ่อนบ้านและรถ เป็นการที่เรานำเงินในอนาคตของเราเองมาใช้โดยเสีย”ดอกเบี้ย” จากการสำรวจพบว่าด้วยค่าครองชีพและรายได้ต่อเดือน ประชาชนไทยส่วนมากควรซื้อบ้านที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
3.12 ลงทุนในระดับที่เหมาะสมกับคุณ (อธิบายเพิ่มในข้อที่ 5)
กรณีศึกษา
คุณกานดาเป็นคนที่ชอบซื้อรองเท้ามากกกก กอไก่เจ็ดตัว กานดามีเงินเดือน 20,000 บาท และต้องซื้อรองเท้าใหม่ทุกเดือน เป็นเงิน 4,000 บาท ซึ่งคิดเป็น 20% ของเงินเดือน
ถามว่าสิ่งที่กานดาทำมีความเหมาะสมมั้ย แล้วเธอจะมีหนทางสู่อิสระภาพทางการเงินหรือไม่???
คำตอบคือ…
กานดายังอยู่ในเส้นทางนี้
เพราะนอกจากนั้น กานดาทำอาหารกินเองเพื่อประหยัด กานดาเช่าห้องพักร่วมกับเพื่อน และกานดาใช้รถโดยสารสาธารณะ ทำให้กานดามีเงินเหลือเก็บต่อเดือน 10,000 บาท ซึ่งคิดเป็น 50% ของรายได้
แต่แน่นอน ถ้ากานดาซื้อทั้งรองเท้า กินข้าวร้านหรูเพื่อถ่ายรูปอัพโชว์บนโซเชียล ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เงินเก็บแทบไม่มี บางเดือนยังเป็นหนี้บัตรเครดิต ซึ่งแบบนี้กานดาจะต้องลำบากไปยันแก่แน่นอน
!!!คุณต้องหาสูตรสำเร็จของคุณเอง!!!
ใช้เงินอย่างมีสติ เพราะต่อให้เรามีเงินเย๊อะแค่ไหนถ้าเราใช้อย่างไม่คิด สุดท้ายแล้วก็คงไม่เหลือ ในประเทศเราเองก็มีให้เห็นในกรณีสามล้อถูกหวยกันอยู่มากมาย
การแบ่งส่วนเงินรายได้ก็เป็นสิ่งสำคัญ
🔘ค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่ากิน ค่าใช้จ่าย 50-60%
🔘เก็บลงทุน 10%
🔘ออม 5-10%
🔘เงินใช้จ่ายสันทนาการโดยที่ไม่รู้สึกผิด 20-35%
ตัวเลขนี้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้คุณนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม
ข้อที่ 4 “ใช้ระบบอัตโนมัติ”
คุณสามารถตั้งอัตโนมัติจ่ายค่าใช้จ่ายพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนได้
ข้อดีประการแรก คือ คุณไม่ต้องเสียเวลามาทำธุรกรรมเหล่านี้เลย ทำให้คุณสามารถนำเวลาอันมีค่านี้ไปใช้กับกิจกรรมอื่น
ข้อดีประการที่สอง คือ คุณสามารถตัดอารมณ์ที่เป็นอุปสรรคตัวฉกาจออกไปจากการออม หรือการลงทุนของคุณได้ เพราะระบบจะทำงานแทนคงที่และสม่ำเสมอ
ข้อที่ 5 เลือกการลงทุนที่เหมาะกับคุณ
ระดับที่หนึ่ง ให้ผู้ที่มีความรู้ด้านการเงินบริหารให้
ระดับที่สอง ลงทุนในกองทุนรวม หรือกองทุนดัชนี
ระดับที่สาม เลือกหุ้นด้วยตัวเอง
คุณสามารถเลือกลงทุนในระดับที่เหมาะสมกับคุณเองได้ โดยที่แต่ระดับมีข้อดีและข้อด้อยดังนี้
ระดับหนึ่งและสองนั้นอยู่ด้วยกัน และคนส่วนมากอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะการที่จะลงทุนให้ชนะตลาดนั้นเป็น”เรื่องยาก” การลงทุนกลุ่มนี้จะโตไปพร้อมกับตลาดซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดี ข้อเสียผลตอบแทนอาจจะไม่สูงมากนัก แต่ข้อดีที่โดดเด่นคือคุณสามารถเอาเวลาที่มีค่าไปทำอย่างอื่นได้เลย
ในกลุ่มระดับสามนี้จุดดีคือสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีมากๆกว่าค่าเฉลี่ยตลาดได้ แต่จุดด้อยคือคุณต้องใช้เวลาและความพยายามมากเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น และอีกอย่างที่จะลืมไม่ได้คือมีโอกาสทำผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดได้ด้วยเช่นกัน
จบแล้วครับโดยส่วนตัวผมว่าราติได้ให้ข้อมูลไว้ดีมากๆ และเป็นประโยชน์มากทีเดียว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันคงจะมีประโยชน์กับคุณผู้อ่านบ้างไม่น้อย พยายามหาจุดลงทุนที่เหมาะสมกับตัวคุณเองครับ จัดการการเงินอย่างมีสติ ผมเป็นกำลังใจให้อีกแรงนึง
🙏ขอบคุณมากเลยครับที่ติดตามอ่านผลงานของผมกันมา🙏
😊ใช้ชีวิตอย่างมีสตินะครับ😊
โฆษณา