16 ก.พ. 2022 เวลา 09:19 • ประวัติศาสตร์
[ตอนที่ 58] ประเด็นจากประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภาฯ : ชื่อบ้านนามเมือง “บางกอก-กรุงเทพฯ”
แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาของฝรั่งเศสในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 แสดงชื่อ Bankok (ภาพซ้าย) และหนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ในฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1893 พร้อมชื่อภาพ VUE DE BANGKOK “ทิวทัศน์แห่งบางกอก” (ภาพขวา)
จากร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565
- เว็บไซต์รัฐบาลไทย : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/51583
ร่างประกาศฯ จากเว็บไซต์รัฐบาลไทย
ชื่อเมืองหลวงที่มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมซึ่งมีประเด็นอยู่ [ที่มา: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา]
ชื่อเมืองหลวงที่มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมในร่างประกาศของสำนักราชบัณฑิตยสภา ทำให้เกิดประเด็นน่ากังวลอยู่ 2 ประเด็น
  • 1.
    ชื่อ Bangkok ที่เก็บใส่วงเล็บ
  • 2.
    การเพิ่มชื่อเมืองหลวงตามการออกเสียงและเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาท้องถิ่น
สำหรับเนื้อหาในตอนนี้จะกล่าวถึงเฉพาะข้อ 1. ชื่อ Bangkok ที่เก็บใส่วงเล็บ
[ชื่อ Bangkok ที่เก็บใส่วงเล็บ]
1
ประกาศราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2544 ระบุว่าชื่อภาษาอังกฤษสำหรับเมืองหลวงของประเทศไทยเป็น Krung Thep Maha Nakhon; Bangkok แสดงว่าสามารถเลือกใช้ชื่อใดชื่อหนึ่ง โดยที่สองชื่อนี้มีสถานะเท่ากัน ซึ่งในทางปฏิบัติ คนไทยจะเลือกใช้ Bangkok เพราะใช้งานง่ายกว่า เขียนหรือพิมพ์สั้นกว่า และเป็นชื่อพื้นที่แถบเมืองหลวงของประเทศไทยที่คนท้องถิ่นเรียกกันมานานแล้วจนคนต่างชาติที่มาติดต่อค้าขายกับสยามเรียกชื่อ “บางกอก” ตามตั้งแต่สมัยอยุธยา
ขณะที่ในประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภาฯ พ.ศ.2564 ระบุว่า “ให้เก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ” กลายเป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)
เมื่อย้อนกลับไปดูหลักการใช้วงเล็บของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาฯ ระบุการใช้วงเล็บ 2 ข้อแรก ดังนี้
**อ้างอิง : http://legacy.orst.go.th/?page_id=10431
ที่มา: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
- ใช้กันข้อความที่ขยายหรืออธิบาย จากข้อความอื่น และข้อความในระหว่างวงเล็บนั้น จะอ่านหรือเว้นเสียก็ได้โดยไม่ทำให้เนื้อความเสียไป
- ใช้ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
จาก 2 ข้อนี้ ถ้าใช้ชื่อเมืองหลวงของประเทศไทยในภาษาอังกฤษตามร่างประกาศ พ.ศ.2564 เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) จะสามารถมองว่าเป็นกการเน้นให้น้ำหนักกับชื่อ Krung Thep Maha Nakhon มากกว่า Bangkok เพราะชื่อในวงเล็บสามารถเว้นได้ จากเดิมที่ให้น้ำหนักกับทั้ง 2 ชื่อเท่ากัน
1
ปัญหาจะเกิดทันทีด้วยหลายปัจจัย จากความกังวลของผู้คนเรื่องการบังคับใช้ชื่อในส่วนราชการเมื่อพิมพ์ชื่อเมือง โดยชื่อ Krung Thep Maha Nakhon ยาวกว่าชื่อ Bangkok แล้วหน่วยงานราชการจะจำกัดให้ใช้แต่ชื่อแรกมากกว่า
3
- ชื่อ Bangkok เป็นชื่อที่นิยมใช้ในทางปฏิบัติมากกว่าอยู่แล้ว
- หากต้องพิมพ์ลงกระดาษในเอกสารราชการมาก ๆ การออกแบบป้าย การทำบล็อกตัวอักษรติดป้ายจะสิ้นเปลืองมากขึ้น หรือแม้แต่ความจุที่คอมพิวเตอร์ใช้ก็สิ้นเปลือกมากขึ้นเช่นกัน แม้แต่เว็บไซต์องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของเมืองหลวงแห่งนี้ ยังเลือกใช้ชื่อ Bangkok (http://www.bangkok.go.th/)
ความกังวลเรื่องความสิ้นเปลืองหากปรับมาใช้ชื่อภาษาอังกฤษเป็น Krung Thep Maha Nakhon ในการบังคับใช้ของหน่วยงานราชการ สำหรับเรื่องการเปลี่ยนฟอนต์แล้วประหยัดงบประมาณลงในสหรัฐฯ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2014/03/27/living/student-money-saving-typeface-garamond-schools/index.html [ที่มา: Theerapat Charoensuk]
นอกจากนี้ชื่อ Bangkok ยังเป็นชื่อที่มีรากทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าชื่อ Krung Thep Maha Nakhon
1) กรณีคนไทย : เรียกชื่อ “บางกอก” มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตามลักษณะภูมิประเทศ ถึงแม้จะยกชุมชนแถบนี้เป็นเมืองธนบุรีแล้ว ก็ยังเรียกพื้นที่ละแวกเมืองธนบุรีในสมัยอยุธยา-ธนบุรีว่า “บางกอก” จนย้ายเมืองหลวงมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแล้ว ก็ยังเรียกพื้นที่ละแวกนี้ว่า “บางกอก” ดังคำกล่าวในสมัยก่อนว่า “สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง” สะท้อนถึงรากความเป็นเรือกสวนผลไม้โดยรอบเมืองท่าด่านขนอนของเมืองธนบุรีในสมัยอยุธยา
**เรื่องที่มาของชื่อ “บางกอก” สามารถอ่านได้ที่บทความ “จากบางเกาะเป็นบางกอก:พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของคนสยามในลุ่มน้ำลำคลอง” โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
คนไทยยังใช้ชื่อ “บางกอก” จนถึงสมัยปัจจุบัน อย่างตามชื่อเพลงลูกทุ่ง เช่น
- โอ้โหบางกอก/โอ้โฮบางกอก
- ตะลุยบางกอก
- อย่าหลงบางกอก
- ลาก่อนบางกอก
- บางกอกโกหก
- บางกอกหลอกลวง
- แยกทางที่บางกอก
เพลง “ลาก่อนบางกอก” ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ
2) กรณีคนต่างชาติ : เรียกชื่อ Bangkok ตามชื่อ “บางกอก” ที่คนท้องถิ่นเรียก แผนที่ของฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยังเรียกบางกอกว่า Bancock (แผนที่ทางซ้าย แสดงเมืองธนบุรี+ป้อมบางกอก) ไม่ก็ Bankok (แผนที่ตรงกลาง) พอย้ายเมืองหลวงใหม่มาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คนต่างชาติก็ยังเรียก Bangkok (แผนที่ทางขวา)
ชื่อ "บางกอก/Bangkok" จึงเป็นชื่อบ่งชี้รากทางภาษา-ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมที่ผูกฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครเข้าด้วยกันในฐานะเมืองพี่เมืองน้องด้วยซ้ำไปครับ
ดังนั้น ผมจึงคิดว่าควรใช้ชื่อภาษาอังกฤษแบบเดิม (ประกาศราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2544) ว่า Krung Thep Maha Nakhon; Bangkok (2 ชื่อมีความทัดเทียมกัน เลือกชื่อได้ก็ได้) ไม่ควรใช้ชื่อตามแบบใหม่ที่กลายเป็นการเน้นให้น้ำหนักกับชื่อ Krung Thep Maha Nakhon มากกว่าชื่อ Bangkok จากชื่อที่เสนอใหม่เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) ด้วยปัจจัยสามอย่างคือ
- การใช้วงเล็บที่ลดทอนน้ำหนักส่วนในวงเล็บลง เพราะสามารถละส่วนในวงเล็บได้ รวมไปถึงความกังวลที่ส่วนราชการจะหันมาบังคับใช้แต่ชื่อ Krung Thep Maha Nakhon
- ความสะดวก-ประหยัดงบในการใช้งานชื่อ
- รากทางภาษา-ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมของชื่อบางกอก
หากคิดว่าอายชื่อ "Bangkok" ว่าจะเป็นคำสแลงภาษาอังกฤษว่า "ตีไข่"
- Bang = ตีอย่างแรง ฟาด (https://dict.longdo.com/search/bang)
- Cock = คำแสลงถึงอวัยวะเพศชาย (https://dict.longdo.com/search/cock)
จนต้องเอาชื่อ Bangkok นี้ใส่วงเล็บไปแอบไว้ข้างหลัง ก็ต้องโทษบรรพชนคนสยามว่าทำไมตั้งชื่อพื้นที่แถบเมืองธนบุรีว่า "บางกอก" แล้วครับ
แม้ว่าในเวลาต่อมา ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะประกาศว่าสามารถใช้ Krung Thep Maha Nakhon หรือ Bangkok ได้ตามเดิม แต่ส่วนตัวผมว่าหากใช้ได้ตามเดิมก็ควรกลับไปใช้ประกาศราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2544 ในชื่อ Krung Thep Maha Nakhon; Bangkok เนื่องจากความหมายในการใช้วงเล็บตามที่ผมได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ครับ
สำหรับประเด็นที่เหลือข้อ 2 "การเพิ่มชื่อเมืองหลวงตามการออกเสียงและเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาท้องถิ่น" จะกล่าวถึงต่อไปในตอนหน้า สามารถอ่านต่อได้ที่นี่ครับ https://www.blockdit.com/posts/620cc8cb2b8d9e4d0a1956ca
โฆษณา