16 ก.พ. 2022 เวลา 10:35 • สุขภาพ
หมอจีนทำไมต้องแมะ ? เพราะการแมะหรือการจับชีพจรเป็นหลักการตรวจวินิจฉัยโรคของศาสตร์การแพทย์แผนจีน การตรวจวินิจฉัยโรคของศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีหลักการเบื้องต้น4หลักการคือ1. การมอง 2.การฟัง 3.การถาม และ4.การจับซึ่งก็คือจับชีพจรนั่นเอง
วิธีการแมะ/จับชีพจร
แพทย์จะใช้นิ้วมือทั้ง 3 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง แตะลงบริเวณข้อมือตรงบริเวณเส้นเลือดแดง ใกล้ข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ โดยใช้นิ้วชี้วางถัดจากนิ้วกลางไปทางปลายนิ้วของคนไข้ (จุดชุ่น寸) นิ้วกลางวางตรงบริเวณที่กระดูกข้อมือนูนขึ้นมา (จุดกวน关) และใช้นิ้วนางวางถัดจากนิ้วกลางไปทางต้นแขน (จุดฉือ尺) โดยให้ทั้ง 3 นิ้ววางเรียงกัน
ลักษณะชีพจร
ชีพจรของคนปกติ จะมีลักษณะการเต้นของชีพจรที่ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ไม่ลึก ไม่เร็ว ไม่ช้า แต่ในชีพจรของคนปกตินั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามอายุ เพศ เวลา ร่างกาย สภาพจิตใจ เช่น คนออกกำลังกายมาใหม่ๆ จะมีชีพจรที่เต้นเร็ว หรือคนที่ทานอาหารอิ่มใหม่ๆชีพจรจะเต้นเร็วกว่าปกตินิดหน่อยเป็นต้น ส่วนในชีพจรของคนป่วย มีลักษณะหลายรูปแบบและซับซ้อนซึ่งจังหวะในการเต้นแต่ละแบบสามารถบ่งบอกอาการหรืออาการผิดปกติกับอวัยวะที่แตกต่างกันออกไป
เมื่อได้ข้อมูลจากการตรวจทั้ง4อย่างมาแล้ว แพทย์จึงจะวินิจฉัยโรค จากนั้นจะพิจารณาการรักษาว่าจะทำการรักษาคนไข้ในรูปแบบใด เช่น การใช้ยาสมุนไพร การฝังเข็ม การกดจุด การนวด หรือการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและโรคที่คนไข้เป็น ซึ่งจะต้องทำการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การแมะนับเป็นหลักสำคัญของการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติต่างๆ ภายในร่างกายสามารถสะท้อนออกมาทางชีพจรของคนไข้ได้ ซึ่งแพทย์จะต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ต้องทำควบคู่ไปกับทักษะการมอง การฟังและการสอบถามซักประวัติคนไข้ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ครบถ้วน และแม่นยำ
Dr.Sayada Danthaiwattana
โฆษณา