16 ก.พ. 2022 เวลา 11:41 • การศึกษา
การครอบแก้ว (Cupping Therapy) เป็นการใช้วัสดุ เช่น ถ้วย แก้ว หรือกระบอกไม้ไผ่ โดยใช้ความร้อนมาไล่อากาศภายในแก้วออก จากนั้นนำมาวางครอบบนร่างกาย เน้นบริเวณเส้นลมปราณตามตำราแพทย์จีน ส่วนใหญ่จะครอบบริเวณหลัง และแขนขา วัสดุดังกล่าวจะดูดผิวหนังจนมีเลือดมาคั่ง และทำให้ผิวหนังมีสีแดงหรือม่วงคล้ำขึ้น การครอบแก้วจะช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของเลือดลม ช่วยบรรเทาและรักษาหรือแก้อาการเจ็บป่วยได้
การครอบแก้ว (Cupping Therapy)
รูปแบบการครอบแก้วที่นิยม
รูปแบบการครอบแก้วทำได้หลายวิธี จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1.ครอบแก้วแบบแห้ง (Dry cupping) ครอบแก้วธรรมดา ใช้กระบวนการความร้อนสุญญากาศดูดบริเวณผิวหนัง
2.ครอบแก้วแบบเปียก (Wet cupping) เป็นการใช้เข็มเจาะผิวหนังเป็นรอยเล็กๆ แล้วทำการครอบแก้ว เพื่อทำให้มีเลือดไหลเมื่อครอบแก้ว
การครอบแก้ว拔罐ป๋าก้วน สามารถแบ่งออกตามวิธีการทำ ได้แก่
1.走罐โจ่วก้วน เป็นการครอบแก้วแบบเลื่อนตำแหน่งไปมา มักใช้เพื่อลดอาการปวดและชาตามกล้ามเนื้อ
2.留罐หลิวก้วน เป็นการครอบแก้วแบบปล่อยทิ้งไว้บนตำแหน่งเส้นลมปราณ ประมาณ 10 นาที ใช้เพื่อปรับสมดุลร่างกาย และลดอาการปวดเฉพาะจุด เช่น ปวดกล้ามเนื้อจากการเล่นกีฬา หลังการครอบแก้วจะเกิดรอยคล้ำแดงบนผิวหนังบริเวณที่ถูกครอบแก้ว
3.散罐ส่านก้วน เป็นการครอบแบบดึงเข้า-ออก เมื่อเกิดเลือดคั่งแล้วจึงหยุด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดใต้ผิวหนัง
ซือลั้วป๋าก้วน เป็นการครอบแก้วเพื่อให้เกิดเลือดคั่ง และใช้เข็มเจาะเพื่อเอาเลือดออก เชื่อว่าเป็นการระบายของเสียที่คั่งค้าง ใช้รักษาอาการปวดเคล็ดขัดยอก และโรคงูสวัด
4.留针拔罐หลิวเจินป๋าก้วน เป็นการครอบแก้วร่วมกับการฝังเข็ม เพื่อให้การฝังเข็มได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
อยากครอบแบบไหนเลือกตามใจไม่ได้นะคะ การเลือกรูปแบบการครอบแก้วให้เหมาะสม ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญประเมิน โดยอาศัยข้อมูลเรื่องภาวะและอาการที่คนไข้ต้องการรักษาด้วย
ขั้นตอนการครอบแก้ว
ก่อนทำการครอบแก้ว แพทย์ผู้ทำหัตถการจะสอบถามข้อมูลสุขภาพและความต้องการของคนไข้
หากไม่มีปัญหาหรือภาวะใดที่เป็นอันตราย สามารถทำได้ ผู้รับบริการจะต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อให้สะดวกต่อการครอบแก้ว เช่น เป็นเสื้อที่เปิดเปลือยแผ่นหลังได้ แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการครอบแก้ว ดังนี้
แพทย์ผู้ทำหัตถการทำการอุ่นแก้วด้วยแอลกอฮอล์เผาไฟให้เกิดความร้อน จากน้ันนำแหล่งกำเนิดความร้อนออกจากแก้ว แล้วครอบปากแก้วลงบนผิวหนังผู้รับบริการ (บางที่อาจใช้ลูกยางดูด แทนวิธีใช้ความร้อน) ทิ้งให้แก้วดูดผิวหนังและกล้ามเนื้อผู้ใช้บริการประมาณ 10-15 นาที อาจมีขั้นตอนอื่นร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับรูปแบบการครอบแก้วและดุลพินิจแพทย์ผู้ทำหัตถการ เมื่อแพทย์ผู้ทำหัตถการนำแก้วออก จากนั้นให้คนไข้รีบใส่เสื้อผ้าและหลีกเลี่ยงการโดนลมเย็นเป่าบริเวณที่ครอบแก้ว และอย่าเพิ่งอาบน้ำทันทีหลังจากครอบแก้ว ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย4-5ชั่วโมงค่อยอาบน้ำ
ครอบแก้วใช้บรรเทาหรือรักษาอาการใดบ้าง?
โดยส่วนใหญ่มักใช้ครอบแก้วเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนี้แล้ว ยังมีการใช้วิธีการครอบแก้ว ในการบำบัดรักษาอาการหรือภาวะอื่นๆ อีก เช่นการบรรเทารักษาอาการปวดคอบ่าและหลัง รักษาสิว ลมพิษ บรรเทาไมเกรน บรรเทารักษาอาการปวดข้อเข่าและส่งเสริมระบบภูมิต้านทานภายในร่างกาย
บทความนี้มีลิขสิทธิ์ห้ามผู้ใดนำไปคัดลอกเผยแพร่เป็นผลงานตนเอง ผู้เขียนอนุญาตให้นำไปเผยแพร่เป็นความรู้และวิทยาทานได้โดยอ้างอิงถึงที่มาบทความด้วย
Dr.Sayada Danthaiwattana
โฆษณา