17 ก.พ. 2022 เวลา 08:04 • ข่าว
“ถ้าเราร่วมกัน เราสามารถสร้างศาสนาพุทธเป็น
พื้นที่ปลอดภัย และครอบคลุมถึงชุมชนสีรุ้งของเราได้”
นี่คือคำโปรยของหนังสือ ‘ยินดีที่มีรุ้ง’ (Welcoming the Rainbow) คู่มือความเป็นหนึ่งเดียวกันของ LGBTQIA+ สำหรับชาวพุทธ ที่เขียนโดยปลายนิ้วมือของ ‘ภันเต อกาลิโก’ (Bhante Akaliko) พระสงค์เควียร์ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ‘Rainbodhi’ ที่เป็นมูลนิธิเพื่อความหลากหลายและความเป็นกัลยาณมิตรทางจิตวิญญาณชาวพุทธ
องค์กรที่น่าสนใจนี้ เป็นการรวมตัวกันของผู้นับถือศาสนาพุทธหลายนิกาย ณ เมืองนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนชาวพุทธที่โอบรับความหลากหลายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ อัตลักษณ์ทางเพศ สมรรถภาพ หรือรสนิยมทางเพศ
หนังสือที่เต็มไปด้วยภาพวาดอันน่ารักที่วาดโดย ‘Venerable Yodha’ เล่มนี้ ถูกทำขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้าใจ และความตระหนักรู้ในเพศหลากหลายสำหรับชาวพุทธ ที่ทางผู้จัดทำตั้งใจจะนำหนังสือเล่มนี้ไปไว้ในวัด องค์กรต่าง ๆ รวมไปถึงศูนย์ปฏิบัติธรรมต่าง ๆ ในประเทศอเมริกา บราซิล แคนาดา เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย สหราชอาณาจักร และอีกมากมาย
ตั้งแต่หน้าปกจนไปถึงหน้าสุดท้าย ก็ได้เขียนถึงคำศัพท์เกี่ยวกับ LGBT+ เบื้องต้น รวมถึงอธิบายวิธีการต่าง ๆ ที่สามารถสร้างพื้นที่อันปลอดภัยให้กับกลุ่มเพศหลากหลายในองค์กรทางพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นความหมายของการเรียกเพศผิด (Misgender) คำพูดที่ไม่ควรใช้กับเควียร์และคนข้ามเพศ หรือแม้แต่ความสำคัญของห้องน้ำทุกเพศก็ได้มีเขียนอธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย
“ชาว LGBTQIA+ นั้นมักจะถูกกีดกัน และกดทับโดยสังคมและศาสนาอยู่บ่อยครั้ง พระพุทธเจ้ามักจะต่อต้านการเลือกปฏิบัติอยู่เสมอ และเคยได้ตรัสไว้ว่าทุกชีวิตสมควรที่จะได้รับความรักโดยไม่มีการแบ่งแยก ดังนั้นเมื่อทุกคนนั้นสามารถที่จะตรัสรู้ได้ เราควรที่จะแน่ใจว่าเราไม่ได้กีดกันใครออกไปจากชุมชนชาวพุทธของเรา”
“เราอาจจะไม่ได้นึกถึงว่า สถานที่ทางศาสนาอย่างวัด หรือที่ปฏิบัตินั้นบางครั้งก็เป็นที่ ๆ ไม่ต้อนรับผู้คนจากชุมชน LGBTQIA+ บางคนอาจไม่เข้าใจว่า การกระทำและคำพูดของพวกเขาสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ได้ หลาย ๆ องค์กรอาจไม่ตระหนักในสิ่งที่พวกเขาได้กีดกันชาว LGBTQIA+ ออกไป ข่าวดีก็คือสิ่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลง และเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ได้เขียนในหนังสือ ‘ยินดีที่มีรุ้ง’ (Welcoming the Rainbow) เท่านั้น สำหรับใครที่สนใจสามารถตามไปอ่านได้เลยที่: https://bit.ly/3oCzizt
#ยินดีที่มีรุ้ง #WelcomingTheRainbow
#InclusiveBuddhism #Rainbodhi
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
อ้างอิง
PhraWoot Tongmun: https://bit.ly/3sxoO5V
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
โฆษณา