17 ก.พ. 2022 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป DR เครื่องมือการลงทุนใหม่ ที่เราควรรู้จัก
ที่ผ่านมา เทรนด์การไปลงทุนในต่างประเทศนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะการลงทุนในต่างประเทศไม่เพียงแต่ช่วยในเรื่องของการกระจายความเสี่ยง
แต่ยังช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุน ได้มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้นในการลงทุน
ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้ดีขึ้น
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งเครื่องมือ
ที่จะช่วยให้เราไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น
นั่นคือ การลงทุนผ่านสิ่งที่เรียกว่า Depositary Receipt หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า DR
DR คืออะไร ทำไมจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการลงทุน ที่เราควรรู้จักในยุคนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
4
ถ้าวันนี้เราอยากซื้อหุ้น Apple จะมีวิธีไหนบ้าง ? แน่นอนว่าวิธีที่พวกเราคุ้นเคย เช่น
- เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศกับโบรกเกอร์
- ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ไปลงทุนในหุ้น Apple
แต่รู้ไหมว่า ยังมีอีกหนึ่งวิธี
ที่ทำให้เราสามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ผ่านตลาดหุ้นของประเทศเราได้
วิธีการที่ว่านี้คือ การซื้อขายผ่านตราสารที่มีชื่อว่า Depositary Receipt หรือ “DR”
Depositary Receipt คือ ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ
เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้นในตลาดหุ้นของประเทศนั้น ๆ
โดยหลักทรัพย์ที่ DR ใช้อ้างอิงนั้น ไม่เพียงแต่หุ้นรายตัวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกองทุน ETF ซึ่งทั้งหมดเป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศ
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เหมือนเป็นการยกหุ้นต่างประเทศ มาให้ซื้อขายได้บนตลาดหุ้นไทย แต่หุ้นที่ว่านั้นจะซื้อขายในรูปแบบ “ใบรับฝาก” ที่ชื่อว่า DR นั่นเอง
4
โดย DR จะมีชื่อเรียกเฉพาะในแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละประเทศ เช่น
- American Depositary Receipt (ADR) เป็นตราสารที่เป็นตัวแทนของหลักทรัพย์ ของบริษัทต่างประเทศที่ถูกซื้อขายในตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกา
- European Depositary Receipt (EDR) เป็นตราสารที่เป็นตัวแทนของหลักทรัพย์ ของบริษัทต่างประเทศที่ถูกซื้อขายในตลาดการเงินของยุโรป
2
ซึ่งต้องบอกว่า จริง ๆ แล้ว DR นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะในต่างประเทศ มีใช้กันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว
อย่างกรณีของ ADR นั้น มีการซื้อขายกันมาตั้งแต่ปี 1927 หรือกว่า 95 ปี มาแล้ว
7
โดยกลไกในการทำงานของ DR
คือผู้ออก DR (ซึ่งอาจจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์) เมื่อได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ในไทยคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ผู้ที่ออก DR ก็จะไปซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศดังกล่าวไว้ เพื่อใช้ออก DR แล้วนำ DR มาเสนอขายให้นักลงทุนทั่วไป ก่อนจะนำมาจดทะเบียนและซื้อขายผ่านตลาดหุ้น
แล้วในฐานะนักลงทุน เราจะได้ประโยชน์อย่างไร เมื่อลงทุนผ่าน DR ?
ต้องบอกว่า สิ่งที่นักลงทุนได้รับนั้น ไม่ต่างจากการลงทุนในหุ้นเลย
เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนใน DR ก็คือ
- กำไรจากส่วนต่างราคา (กรณีที่ราคา DR ปรับตัวขึ้น)
- เงินปันผล (กรณีที่หุ้นอ้างอิงนั้นจ่ายเงินปันผล) และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ
1
จุดสำคัญหนึ่งที่ถือว่า เป็นผลดีต่อผู้ที่ลงทุนใน DR
คือสามารถใช้บัญชีซื้อขายหุ้นในการซื้อขาย DR ในรูปสกุลเงินบาทได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมีภาระเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ หรือไปแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในการซื้อขาย DR จะมีตัวกลางที่เราเรียกว่า “Market Maker” ซึ่งเป็นผู้ที่นำคำสั่งซื้อจากนักลงทุนที่ซื้อ DR ไปดำเนินการซื้อหุ้นในต่างประเทศ
ดังนั้น ผู้ที่ลงทุนใน DR จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งประกอบไปด้วย
- ค่าธรรมเนียมซื้อขาย จะเหมือนกับกรณีที่เราซื้อขายหุ้นทั่วไปที่เสียให้กับโบรกเกอร์
- ค่าใช้จ่ายของการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บจากเงินปันผล หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญารับฝาก DR
2
แล้วความเสี่ยงที่ต้องรู้ เมื่อจะลงทุนใน DR มีอะไรบ้าง ?
- ความเสี่ยงของความผันผวน ของราคาสินทรัพย์อ้างอิง
1
เนื่องจาก DR ใช้ราคาของสินทรัพย์ในต่างประเทศเป็นตัวอ้างอิง
เช่น ถ้าเราลงทุนใน DR ที่ใช้หุ้นของ Apple เป็นสินทรัพย์อ้างอิง เมื่อผลประกอบการของ Apple ออกมาไม่ดี ราคาหุ้น Apple ปรับตัวลง ราคา DR ก็จะลดลงด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนใน DR เราก็ต้องทำการศึกษาและติดตามข่าว ผลประกอบการของสินทรัพย์ที่ใช้อ้างอิงด้วย
2
- ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
1
แม้เราจะลงทุนซื้อขาย DR ด้วยเงินสกุลท้องถิ่น เช่น เงินบาท
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า หุ้นที่ DR อ้างอิงนั้น จะซื้อขายด้วยเงินสกุลที่ประเทศนั้น ๆ อ้างอิงอยู่
ดังนั้น เมื่อค่าเงินเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมส่งผลกับราคา DR ในบ้านเรา ในบางช่วงบางเวลาได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเฉพาะตัวอื่น ๆ ของตลาดที่มี DR จดทะเบียนอยู่
เช่น หากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติอย่างสงคราม หรือภัยพิบัติ จนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในประเทศที่ DR จดทะเบียนอยู่ บางครั้งก็อาจส่งผลให้ราคาของ DR และหลักทรัพย์อ้างอิง ไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
1
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบันในตลาดหุ้นของไทย มี DR ที่เปิดให้ซื้อขาย คือ “E1VFVN3001” ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่มีหลักทรัพย์ต่างประเทศอ้างอิง คือ VN30 ETF
2
โดยที่ VN30 ETF เป็นดัชนีของหุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของเวียดนาม ซึ่งลักษณะจะคล้าย ๆ กับดัชนี SET 50 ของตลาดหุ้นไทย
และในเร็ว ๆ นี้ ก็จะมี DR ตัวใหม่คือ Alibaba DR ที่อ้างอิงกับหุ้นของ บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจ E-Commerce ในประเทศจีนที่เรารู้จักกันดี นั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อขายสินทรัพย์เหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
โฆษณา