17 ก.พ. 2022 เวลา 11:39 • คริปโทเคอร์เรนซี
7 เลเวลที่ต้องรู้ ปูทางสู่ Metaverse พร้อมทำความเข้าใจเรื่อง "ห่วงโซ่คุณค่า"
www.springnews.co.th
Metaverse จะสร้างอาชีพและมูลค่ามหาศาลในอนาคตให้แก่ผู้ประกอบการ ครีเอเตอร์ ฟรีแลนซ์ แต่ปัจจุบันยังมีคนอีกมากไม่รู้ว่า ห่วงโซ่คุณค่าที่จะเกิดขึ้นจาก Metaverse มีอะไรบ้าง SPRiNG จะพาไปสำรวจผ่านบทความ "The Seven Layers of the Metaverse" ในบล็อกของ Jon Radoff นักออกแบบเกมและซีอีโอ Beamable แพลตฟอร์มที่ให้ครีเอเตอร์เป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาเกม โดยอธิบายตั้งต้นจากประสบการณ์ที่ผู้คนมองหา ไปจนถึงเทคโนโลยีที่เอื้อให้เกิด Metaverse ได้จริงนั้น มีทั้งหมด 7 เลเวล (หรือเลเยอร์) ดังนี้
1. EXPERIENCE
อย่างแรกคือ ประสบการณ์ที่ได้รับในโลกเสมือน เช่น การเล่นเกม การแข่งอีสปอร์ต การใช้โซเชียล การดูหนัง การช็อปปิง การร่วมงานอีเวนต์ ที่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่และเสมือนจริง
2. DISCOVERY
สิ่งที่ช่วยให้ผู้คนได้ประสบการณ์ใหม่ๆ แบบเรียลไทม์ เช่น โฆษณา โซเชียล คะแนนความนิยม แพลตฟอร์มร้านค้าต่างๆ ซึ่งสามารถเป็น สินทรัพย์ทางการตลาด (Marketing Asset) ได้
3. CREATOR ECONOMY
องค์ประกอบหรือปัจจัยที่ทำให้เกิด เศรษฐกิจนักสร้างสรรค์ (Creator Economy) เช่น เครื่องมือที่ใช้ออกแบบ ตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ตัวช่วยในการจัดระบบงาน โดยพัฒนาจาก Pioneer Era ยุคแรกซึ่งเป็นยุคบุกเบิก เช่น การสร้างเว็บไซต์ด้วยโค้ด HTML
ตามมาด้วย Engineering Era เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น หลายๆ อย่างมีความซับซ้อนเพิ่ม มีแอปให้ใช้งานเพิ่ม เครื่องมือทั้งหลายทำงานช้าและหน่วงลง (Overloaded) จึงต้องพัฒนาในด้านวิศวกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถหรือศักยภาพอื่นๆ เข้ามา เช่น เว็บไซต์ที่ขับเคลื่อนด้วย Data, เกมที่ประมวลผล 3D กราฟิก ได้โดยที่โปรแกรมเมอร์ยังไม่มีความรู้ด้านการเขียนโค้ดขั้นสูง
และปัจจุบัน เราอยู่ในยุค Creator Era หรือยุคของนักสร้างสรรค์ มีนักสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ จึงเกิดการพัฒนาเครื่องมือ มีเทมเพลต มีตลาดกลางที่ขายคอนเทนต์ต่างๆ ได้ กราฟิก 3D ก็ได้รับการพัฒนามากขึ้น รวมถึงการสร้างเว็บไซต์ก็ทำได้โดยไม่ต้องเขียนโค้ด
พัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ประสบการณ์ใน Metaverse มีความสดใหม่ ทันสมัย และอยู่ร่วมกันเป็นสังคมมากขึ้น เช่นสังคมในเกม Roblox
The Seven Layers of the Metaverse, Jon Radoff
4. SPATIAL COMPUTING
การประมวลผลเชิงพื้นที่เพื่อผสานโลกจริงกับโลกเสมือน เช่น การใช้เครื่องประมวลผลสามมิติเพื่อแสดงลักษณะทางกายภาพร่วมกับแอนิเมชัน เทคโนโลยี VR/AR/XR การจดจำเสียงและลักษณะท่าทาง การอินทิเกรตข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT และลักษณะทางชีวภาพจากตัวบุคคล
5. DECENTRALIZATION
การกระจายอำนาจหรือข้อมูลแบบไร้ตัวกลาง เช่น การใช้เทคโนโลยี Edge Computing, Microservices ระบบที่แยกย่อยหรือขยายตัวจากแอปขนาดใหญ่ได้ เทคโนโลยี Blockchain ที่ทำให้เงินดิจิทัลทำงานแบบกระจายอำนาจ ไม่มีตัวกลางคอยควบคุม เช่น การซื้อขายผลงานดิจิทัล NFTs ซึ่งนำไปต่อยอดในเกม อีสปอร์ต ไลฟ์สตรีมต่อได้ การใช้ DeFi (Decentralized Finance) รวมถึงการใช้แอปเพื่อเพิ่มสินทรัพย์ในเกมโดยเลเวลที่ 5 นี้ก็คือ พื้นที่นวัตกรรม Web 3.0 นั่นเอง
6. HUMAN INTERFACE
อุปกรณ์เชื่อมสัมผัสของมนุษย์จะฉลาดขึ้น ใกล้ตัวเรายิ่งขึ้น เช่น มือถือจะไม่ได้เป็นแค่มือถือ แว่นตาอัจฉริยะอาจทำงานได้อย่างสมาร์ทโฟน ควบคู่ไปกับการพัฒนา AR, VR ถุงมืออัจฉริยะ อุปกรณ์สวมใส่หรือเสื้อผ้าที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3D ไบโอเซ็นเซอร์จิ๋วๆ ที่อาจพิมพ์บนผิวหนัง ตลอดจนตัวรับสัมผัสหรือสื่อสารกับระบบประสาทของเรา
7. INFRASTRUCTURE
โครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้อุปกรณ์หรือฮาร์ดแวร์ต่างๆ เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้วทำให้การนำเสนอคอนเทนต์ใน Metaverse รวดเร็ว ไหลลื่น เช่น เทคโนโลยี 5G/6G/Wi-Fi 8 คลาวด์ที่ประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ชิปประมวลผลกราฟิกประสิทธิภาพสูง (GPUs) ฯลฯ พัฒนาเป็นโลกอินเทอร์เน็ต 3.0 ที่ก้าวล้ำจนเรียกได้ว่าเป็น Multiverse
โฆษณา