Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิพากษ์ประวัติศาสตร์ CRITICAL HISTORY
•
ติดตาม
17 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
“อุบากอง” แม่ทัพพม่าเชื้อสายไทยในหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ผู้เขียนเพิ่งได้มีโอกาสดูละครเรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” เลยขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์อย่าง “อุบากอง” แม่ทัพพม่าเชื้อสายไทยผู้เป็นที่มาของวิธีดูฤกษ์ยามที่เรียกว่า “ยามอุบากอง” หรือ “ยามพม่าแหกคุก” ให้ได้ทราบกันสักหน่อยครับ
"อุบากอง" จากละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี แสดงโดย จิรายุ ตันตระกูล
ข้อมูลเกี่ยวกับ “อุบากอง” ที่เผยแพร่โดยทั่วไปมักอ้างอิงจากหนังสือ “ตำราพรหมชาติ” ความว่า
“อุบากอง เป็นนายทหารยศขุนพล ได้คุมกำลังเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๔๐ คราวที่พระเจ้าปะดุงยก ๙ ทัพมาตีไทยนั่นเอง แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏ อุบากองถูกฝ่ายไทยจับกุมตัวได้ คราวนั้นพ่อเมืองเชียงใหม่ ได้คุมตัวอุบากองส่งลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อขึ้น ๘ ค่ำ เดือนหก ๖ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๔๐ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงสั่งให้สอบสวนอุบากองทันที ปรากฏว่าอุบากองเป็นคนไทยเกิดในเมืองไทย เพราะมีพ่อเป็นเชื้อสายพม่า แต่แม่เป็นเชื้อสายคนไทยแถบเมืองธนบุรี พระองค์จึงทรงพระเมตตา พระราชทาน เสื้อผ้า และให้นำไปจำขังไว้ที่คุกวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ ในปัจจุบัน) แถวกรมรักษาดินแดนเดี๋ยวนี้
1
ระหว่างที่อุบากองกับพวกถูกจองจำคุมขังที่คุกวัดโพธิ์ เขาได้สอนตำรายันต์ยามยาตราให้กับพรรคพวก ซึ่งยามนี้สามารถแหกคุกที่คุมขังได้ เมื่อพรรคพวกสามารถเรียนยามยาตราได้ตามที่ตนบอกแล้ว อุบากองก็ทำพิธีตามหลักโหราศาสตร์ พอได้ฤกษ์งามยามดี จึงสามารถพากันแหกคุกวัดโพธิ์หลบหนีไปได้อย่างปลอดภัย โดยอุบากองกับพรรคพวกพากันหลบหนีไปยังเมืองพม่าได้
แต่ยามที่อุบากองบอกกับพรรคพวกนี้นั้น บังเอิญมีนักโทษพม่าที่เป็นเชื้อสายไทยบางคน ไม่ได้หลบหนีไปด้วย จึงบอกเล่ากับผู้คุมนักโทษ จึงมีการนำมาเล่าเรียนกัน และให้ชื่อยามยาตรานี้ว่า "ยามอุบากอง" ตามชื่อเจ้าของยามยาตรานั่นเอง
1
อนึ่ง ยามดังกล่าวปรากฏว่า มีผู้นับถือว่าแม่นยำ ได้ผลจริงๆ ด้วย จึงศึกษาเล่าเรียนสืบๆ กัน มาตราบเท่าทุกวันนี้”
อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้เมื่อตรวจสอบกับหลักฐานประวัติศาสตร์อื่นๆ แล้วพบว่ามีจุดที่ไม่ตรงกันหลายประการ
“อุบากอง” (ဥပါကောင်း บางแห่งสะกดว่า “อุปกอง” "อุปปะคอง") ไม่ใช่ชื่อเฉพาะ แต่เป็นตำแหน่งในราชสำนักมอญ-พม่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ดั้งเดิมเป็นตำแหน่งของชาวมอญ ในวรรณกรรมมอญเรื่องราชาธิราชกล่าวถึง “สมิงอุบากอง” ว่าเป็นหนึ่งในขุนพลมอญฝ่ายหงสาวดี ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาก็กล่าวถึง “สมิงอุบากอง” ที่เป็นขุนนางมอญในยุคราชวงศ์ตองอูอยู่ด้วย
1
ราชสำนักอยุทธยารับตำแหน่งของราชสำนักมอญมาใช้ในกรมอาสามอญจำนวนมาก ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองมีตำแหน่ง “สมิงอุบากอง” เป็นตำแหน่งหนึ่งในปลัดกอง 15 คน ศักดินา 600 ไร่ อยู่ในกรมดั้งทองขวาที่เป็นกรมย่อยของกรมอาสามอญ
.
สำหรับ “อุบากอง” แม่ทัพพม่าเชื้อสายไทยผู้ถูกจับเป็นเชลยถูกกล่าวถึงอยู่ในหลักฐานประวัติศาสตร์หลายชิ้น แต่กล่าวถึงในฐานะแม่ทัพมากกว่าเรื่องวิชาดูฤกษ์ยาม
ในประเด็นเรื่องเชื้อสายของบิดามารดาของ “อุบากอง” ผู้นี้ ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่ามีบิดาเป็นเชื้อสายพม่าตามที่ตำราพรหมชาติระบุ พิจารณาจากตำแหน่งที่เป็นของชาวมอญแล้ว เป็นไปได้ที่ “อุบากอง” ผู้นี้จะมีเชื้อสายมอญ
มีหลักฐานว่าอุบากองมีความสัมพันธ์กับขุนนางชาวมอญในเมืองไทย คือหนังสือที่อุบากองส่งมาถึงเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) จางวางกรมอาสามอญเพื่อขอเจรจาสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับพม่าใน พ.ศ. 2345 (ค.ศ. 1802) หลังจากที่หนีกลับไปพม่าแล้ว อุบากองขึ้นต้นหนังสือว่า “ข้าพเจ้าอุบากองผู้หลานให้มาถึงลุงท่าน เจ้าพระยามหาโยธารามัญญาธิบดีศรีพิชัยรณรงค์” ในขณะที่เจ้าพระยามหาโยธามีหนังสือตอบเรียกอุบากองว่า “ผู้หลานเรา” (หนังสือสองฉบับนี้ตีพิมพ์ใน ‘ประวัติต้นสกุลคชเสนี’)
1
หนังสือตอบกลับเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ยังกล่าวถึงอุบากองว่า “...เจ้าผู้หลานเราก็เป็นลูกไทย แต่หากว่าพลัดไปอยู่เมืองพะม่าแต่เล็ก เจ้าอังวะไม่รู้ ก็ตั้งเจ้าเลี้ยงเป็นขุนนางให้เป็นนายทัพนายกองยกมาตีเมืองเชียงใหม่ด้วยอินแซะหวุ่น กองทัพจับได้แจ้งว่าเป็นไทยจึงส่งลงมา ณ กรุง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้สืบถามรู้ว่าเป็นลูกไทยจริง อยู่บ้านบางแค มารดาพี่ชายและน้องชายญาติก็ยังอยู่ ที่เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็มีบ้าง...”
ภาพวาดนายทหารพม่า เขียนโดยจิตรกรพม่าเมื่อประมาณ ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430)
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ระบุว่า “อุบากอง” เป็นหนึ่งในนายทัพพม่าที่ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ในจุลศักราช 1157 หรือ พ.ศ. 2338 (ค.ศ. 1795) แล้วถูกกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจับเป็นเชลยศึก ไม่ใช่สงครามเก้าทัพตามที่ตำราพรหมชาติระบุ
แต่หลักฐานของพม่าและเชียงใหม่ เพลงยาวสุนทรพิทักษ์ และหนังสืออุบากองระบุตรงกันว่าเขาถูกจับเป็นเชลยในสงครามพม่าตีเมืองเชียงใหม่เมื่อจุลศักราช 1159-60 หรือช่วง พ.ศ. 2340-41 (ค.ศ. 1797-98) จึงเข้าใจว่าพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์บันทึกปีที่จับ “อุบากอง” คลาดเคลื่อน
.
หลักฐานพม่าคือ มหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว (Hmannan Maha Yazawindawgyi) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสงครามตีเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2340-41 (ค.ศ. 1797-98) ว่าพระเจ้าโบดอพญา (Bodawpaya) หรือพระเจ้าปดุงมีรับสั่งให้ เนมโยจอถิงสีหสู (Nemyo Kyawdin Thihathu) ผู้เป็นอินแซะหวุ่น (Einshe Wun เสนาบดีฝ่ายวังหน้า) เป็นแม่ทัพใหญ่คุมทหาร 96 ทัพยกไปตีเมืองเชียงใหม่ ในจำนวนนี้มี “อุบากอง” (Upagaung) เป็นนายทัพคุมทหาร 11 ทัพ มีจำนวนทหาร 5,500 คน
มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ระบุว่าอุบากองเป็น “นายทหารเอก” และบันทึกบทบาทในสงครามตีเมืองเชียงใหม่ไว้ว่า
“...ครั้นถึงหัวเมืองขึ้นเมืองเชียงใหม่ก็เข้าตีริบเก็บเสบียงอาหารได้เปนอันมาก แล้วขนไปไว้ที่เมืองเชียงใหม่ตามแม่ทัพสั่งเสร็จแล้วมีจดหมายไปถึงแม่ทัพที่เมืองไนยว่าได้เสบียงอาหารไว้มากแล้ว ครั้นแม่ทัพทราบก็ให้พลทหารมาล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ แล้วแม่ทัพจัดให้อุบากองนายทหารพม่าเที่ยวตีเก็บริบเสบียงอาหารแถวชาวเมืองเชียงใหม่ได้เปนอันมากแล้วก็ขนไว้ในค่าย
...ในขะณะนั้นฝ่ายวังหน้าพระยาพิศณุโลกย์ได้เสด็จยกกองทัพอยุทธยามาช่วยเปนอันมาก แล้วพระองค์ทรงรับสั่งให้นายทัพนายกองพลทหารแลพลทหารอยุทธยาเข้าตีล้อมเข้าไป ฝ่ายนายทัพนายกองพม่าแลพลทหารก็ได้ต่อสู้รบพุ่งเปนสามารถ แล้วพระองค์ทรงขับให้พลทหารเข้าตีที่วัดจองต่อยีเปนสามารถ แล้วพระองค์ก็เข้าเมืองเชียงใหม่ได้ ครั้นพระองค์เข้าเมืองเชียงใหม่ได้ก็ขับให้กาวิละเจ้าลาวทั้งปวงคุมพลทหารออกตีกองทัพพม่าๆ ทนฝีมือไทยแลลาวไม่ได้ก็แตกหนีถอยไป ทางเมืองปั่นทางหนึ่ง ทางเมืองสวนทางหนึ่ง แล้วแม่ทัพพม่าได้เก็บรวบรวมพลทหารทั้งสิ้น แล้วไปตั้งอยู่ที่เมืองปั่น อนึ่งขะณะที่รบพุ่งกันนั้นสังแช๊ดหวุ่นนายทหารพม่าต้องอาวุธตาย อุบากองนายทหารเอกที่แม่ทัพพม่าใช้ให้ไปตีกองทหารซุ่มไทยที่ตำบลวัดจองจ่อยีนั้น ไทยจับอุบากองกับพลทหาร ๑๐๐๐ ม้า ๑๐๐ ไว้ได้สิ้น...”
1
.
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เรียกอุบากองว่า “ม่านอุปปะคองโป่” บันทึกเรื่องสงครามครั้งนี้ไว้ว่า
“...แล้วทูลขอกองทัพล้นเกล้าล้นกระหม่อมกรมพระราชวังบวรสถานมงคลวังหน้าเป็นแม่ทัพใหญ่กระสัตรเสิกมีพล แสน 1 เสด็จขึ้นมาเถิงเมืองเถิน แล้วแย่งแบ่งกองทัพกันที่นั้น หื้อเจ้าอินปัทม์ เจ้าลำนวนอันเป็นโอรสบุตรทัง 2 องค์พี่น้องเป็นแม่ทัพคุมริพล 4 หมื่น ขึ้นมาทางเมืองลี้ ม่านอิงเซะโป่ แต่งริพลไปต้อนรบเถิงเมืองลี้ต่อสู่รบกันได้ 3 วัน 3 คืน กองทัพม่านต้านทานบ่ได้ แตกถอยขึ้นมาจั้งอยู่เมืองละพูน กระสัตรเจ้าวังหน้ายังอยู่เมืองเถิน แต่งริพลขึ้นมาทางเมืองละคอนมาบรรจบกันยังเวียงละพูน เข้าตีม่านยังเวียงป่าซางเวียงละพูน ม่านแตกกระจาย แล้วเลยขึ้นมาตีม่านอันล้อมเวียงเชียงใหม่ ม่านอิงเซะโป่ต้านทานบ่อได้ ก็แตกกระจายไปนับเสี้ยง จับยับได้ม่านอุปปะคองโป่ที่โท่งช้างคลานกับไพร่ม่านเป็นอันมาก”
.
จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ 1 ได้บันทึกกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเล่าเรื่องศึกที่กองทัพกรมพระราชวังบวรฯ จับตัว “อุบากอง” ได้ให้พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) ฟัง ความว่า
“...เมื่อครั้งพม่ายกมาล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ ยกกองทัพหลวงขึ้นไปถึงก็ยั้งทัพรออยู่ ยังหาเข้าตีไม่ อ้ายพม่ารู้ข่าวว่ากองทัพหลวงยกขึ้นไปก็พากันตื่นแตกถอยออกจากที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ ยังเหลือค่ายพม่าอยู่ลูกหนึ่ง จึงแต่งให้อุบากองเป็นนายทัพยกลงมา ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ ให้หม่อมลำดวน ให้กลาโหม (ราชเสนา) ทองอิน ยกขึ้นไปตีทัพอ้ายอุบากอง ทัพหลวงก็ยกหนุนขึ้นไป ทัพอ้ายอุบากองพากันแตกกระจัดกระจายจับนายทัพนายกองอ้ายพม่าได้หลายคน อ้ายพม่าจึงได้เลิกถอยแตกไปจากเชียงใหม่ ความเป็นอย่างนี้ ฟังแล้วจำไว้”
.
หลักฐานชั้นต้นคือ "เพลงยาวพระยาสุนทรพิทักษ์" แต่งโดยพระยาสุนทรพิทักษ์ จางวางกรมมหาดไทยฝ่ายพระราชวังบวร เมื่อตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไปในสงครามที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2340 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนอุบากองถูกจับตัวว่า อุบากองปลอมตัวเป็นไพร่พม่าหลบหนี แต่เพราะมีเครื่องยศจึงถูกจับได้ว่าเป็น "โป" คือแม่ทัพพม่า
"เห็นอะนาถครั้งนี้สุดใจ พม่าแพ้กับไทยสิสิ้นที จนจับได้โปพม่าอุบากอง เข้าซ่องติดรกซุกหนี คุมทัพห้าพันขยันดี พลัดหมู่ไม่มีกระจายไป ทิ้งม้าอาวุธเสื้อผ้า แปลงเป็นพม่าหมู่ไพร่ ได้เครื่องอุปโภคโภไค จึงแจ้งใจว่าโปพม่ามาราวี"
อุบากอง" จากละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี แสดงโดย จิรายุ ตันตระกูล
หนังสืออุบากองถึงเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ได้บรรยายเหตุการณ์ในช่วงที่ตนเองถูกจับที่กรุงเทพฯ และการหลบหนีว่า
“และเมื่อปีมะเมีย (จุล) ศักราช ๑๑๖๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๔๐) เดือน ๕ แรมค่ำ ๑ จับข้าพเจ้าได้ (ที่เมืองเชียงใหม่) ส่งลงมา ณ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ถึงกรุงให้จำข้าพเจ้าไว้ แล้วอยู่ประมาณเดือนหนึ่งสองเดือนให้ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้า ตรัสถามข้าพเจ้าว่า ณ เมืองอังวะนั้นข้าวปลา ปืนใหญ่ปืนน้อย ผู้คน กระสุนดินประสิวมีมากน้อยเท่าใด แล้วถามว่าเจ้าเมืองมัตมะใช้ให้สิริเวส่อถือหนังสือเข้ามา (ยังกรุงเทพ ฯ) ข้าพเจ้าได้กราบทูลพระกรุณาตามสัตย์จริง ทรงพระกรุณาดีพระทัยนักตรัสว่า ถ้าเมืองอังวะกับกรุง (ศรีอยุธยา) เป็นทางพระราชไมตรีกันแล้ว จะปล่อยให้ข้าพเจ้ากลับออกไป แล้วมิได้หาข้าพเจ้าเข้าไปอีกหามิได้ ข้าพเจ้าต้องพันธนาจองจำอยู่ ๓ ปีเศษ ด้วยเจ้าอังวะมีบ่อเงิน บ่อทอง บ่อโคบุก สรรพรัตน์บ่อทั้งปวง ข้าพเจ้าจึงหนีไปได้ ณ ศักราช ๑๑๖๓ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ข้าพเจ้าไปถึงเมืองอังวะ...”
หนังสือเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ตอบอุบากอง กล่าวถึงเรื่องอุบากองว่าหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบว่าอุบากองเป็นลูกคนไทย “...จึงให้หาเจ้าเข้าไปหน้าพระที่นั่ง แล้วตรัสถามราชการเมืองอังวะ เจ้ากราบทูลถ้วนถี่กว่าคำพะม่านายกองทั้งปวง เห็นเป็นสุจริตจึงทรงพระเมตตาพระราชทานเสื้อผ้าเงินตรามิให้ขัดสนอดอยาก และซึ่งเจ้าผู้หลานเราว่าต้องพันธนาอยู่ถึง ๓ ปีเศษหนีมาได้นั้นก็แจ้งอยู่แก่ใจด้วยกันแล้ว”
.
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 บันทึกว่า ในช่วงที่ถูกขังอยู่ที่กรุงเทพฯ อุบากองมีวิชาทำลูกแดงขายได้เงินมากจึงแบ่งเงินให้ผู้คุม ผู้คุมเห็นว่าอุบากองเป็นลูกคนไทย จึงเพียงแต่จำตรวนแล้วปล่อยให้ออกจากคุกไปเที่ยวอิสระได้ (สันนิษฐานว่าคงจะได้สนิทสนมกับเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ในช่วงนี้) ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงยกทัพไปรับศึกพม่าที่เชียงใหม่ อุบากองจึงหนีกลับไปพม่า
1
“ในปีนั้นอุบากองนายทัพพม่า ซึ่งจับมาได้แต่ปีเถาะสัพตศก โปรดให้จำไว้ไม่ประหารชีวิตรเพราะจะเอาไว้ไต่ถามข้อความที่เมืองพม่า ครั้นอยู่มาอุบากองมีวิชาทำลูกแดงที่คั่นลูกประหล่ำขายได้เงินมาก ก็แบ่งให้พัศดี ทำมะรง ผู้คุมเห็นว่าเป็นบุตรไทยไม่ใช่พม่าแท้ ได้เงินแล้วก็จำกรวนลตอุบากอง เที่ยวไปข้างไหนก็ไปได้ จนมีเพื่อนฝูงที่สนิทก็คิดหนีไปเมืองพม่า ครั้นแจ้งว่ากรมพระราชวังบวร เสด็จขึ้นไปทางเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ลงเรือนอ้ยออกทางปากน้ำเมืองสมุทรสงคราม แล่นเลียบไปทางริมฝั่งขึ้นท่าที่สิงขร ทางสิงขรนั้นเดิรวันหนึ่งก็ตกเมืองมฤท โปรดให้ติดตามก็ไม่ได้ตัว ลูกแดงนั้นเขาว่ามันทำดว้ยปูนแดงบ้างศีลาอ่อนบ้าง ไม่มีผู้ใดได้วิชาของมันไว้”
ในพระราชพงศาวดารไม่ได้ระบุว่าอุบากองใช้วิชาดูฤกษ์จับยาม “แหกคุก” อย่างที่กล่าวกัน เพราะอุบากองใช้เงินทำให้ได้รับการผ่อนปรนให้ออกไปเที่ยวอยู่นอกคุกอยู่แล้ว เพื่อแต่ให้ใส่ตรวนไว้เท่านั้น เรื่องนี้ในหนังสืออุบากองกล่าวว่าตนหลบหนีได้เพราะ “ด้วยเจ้าอังวะมีบ่อเงิน บ่อทอง บ่อโคบุก สรรพรัตน์บ่อทั้งปวง” คล้ายบอกเป็นนัยว่าใช้สินบน
นอกจากนี้ยังไม่พบหลักฐานการแหกคุกของเชลยพม่าในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นไปได้ว่าเรื่องการใช้วิชาดูฤกษ์ยาม “แหกคุก” นี้อาจจะมาการเล่าต่อๆ กันมาในสมัยหลัง โดยคนรุ่นหลังอาจนำเหตุการณ์เชลยศึกพม่าแหกคุกใน พ.ศ. 2359 (ค.ศ. 1816) สมัยรัชกาลที่ 2 มาผสมด้วย
.
ถึงกระนั้นวิชาดูฤกษ์จับยามที่กล่าวกันว่าได้รับถ่ายทอดมาจากอุบากองตอนอยู่ในคุกก็ยังคงเป็นที่เชื่อถือกันมากในสมัยโบราณ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในพงศาวดารเรื่องไทยรบพม่าว่า
“มีเรื่องเกร็ดเนื่องจากการสงครามครั้งนี้เรื่องหนึ่ง คืออุบากองนายทัพพม่าที่จับได้คราวนี้ มีตำราดูฤกษ์อย่างหนึ่ง ทำเป็นยันต์คล้ายๆ ตาหมากรุก มีตัวเลขในยันต์สักติดตัวไว้ที่แขน แล้วคิดคำนวณในเลขตามยันต์นั้นให้รู้ฤกษ์ดีและฤกษ์ร้าย เมื่ออุบากองมาต้องจำอยู่ในคุกได้บอกตำรานี้แก่ไทย จึงเรียกกันว่า “ยันต์อุบากอง” แต่ก่อนนี้มีผู้เชื่อถือมาก มักพอใจสักไว้ที่แขน แล้วผูกวิธีดูฤกษ์ตามตำรานี้ไว้เป็นกลอนท่องจำกันได้ว่า
“สูญหนึ่งอย่าพึงจร........แม้นรานรอนจะอัปรา
สองสูญแม้นยาตรา..............จะได้ลาภสวัสดี” เป็นต้น
ยามอุบากอง
หลังจากกลับไปพม่า อุบากองมีบทบาทเป็นตัวแทนฝ่ายพม่าส่งหนังสือมาถึงเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ใน พ.ศ. 2345 (ค.ศ. 1802) เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีตามที่กล่าวไว้แล้ว แต่ผิดจากธรรมเนียมปกติจะต้องมีศุภอักษรจากเสนาบดีพม่ามาถึงเสนาบดีไทยโดยตรง ข้อนี้มีการสันนิษฐานว่า ถ้าให้เสนาบดีพม่ามีศุภอักษรมาโดยตรงแต่ฝ่ายไทยไม่รับจะทำให้พม่าเสียหน้า จึงให้อุบากองเขียนหนังสือมาถึงเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ที่คุ้นเคยเป็นการส่วนตัวเพื่อลองทาบทามก่อน
หนังสืออุบากองอ้างสาเหตุที่หลบหนีว่า “ใช่ว่าข้าพเจ้าผู้หลานจะทนพันธนาจองจำไม่ได้จึงหนีนั้นหามิได้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ๒ พระนครเป็นเสี้ยนศึกกันอยู่ ไพร่ฟ้าประชากรจะได้ความทุกข์ยากลำบาก เพื่อจะให้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาประการหนึ่ง แก่พระผู้เป็นเจ้าประการหนึ่ง แก่สัตว์ทั้งปวงประการหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงไปทั้งจำ”
เมื่อกลับไปแล้วทางขุนนางพม่าคิดจะยกทัพมาตีกรุงเทพฯ และเมืองเชียงใหม่ อุบากองแจ้งว่า “ข้าพเจ้าไม่คิดแก่ชีวิตจึงทูลห้าม เจ้าอังวะทรงทศพิศราชธรรมทรงพระปัญญาให้งดไว้มิให้ ๒ พระนครเป็นศึกกัน”
อุบางกองยังกล่าวถึงการเมืองในล้านนาที่เป็นประเทศราชสยาม โดยแจ้งว่าพระเจ้าปดุงทรงแต่งตั้งราชาจอมหงส์ลงมาอยู่เมืองปุ เมืองสาด เมืองฝาง ให้มาเจริญสัมพันธไมตรีกับพระยากาวิละแห่งเชียงใหม่ แต่พระยากาวิละกลับลวงจับตัวราชาจอมหงส์กับบุตรภรรยา และนำไพร่พลมาสังหารบ้าง กวาดต้อนชาวเมืองมาจำนวนมากและจุดไฟเผาเมือง ทำให้พระเจ้าปดุงทรงพระพิโรธ
นอกจากนี้เมืองจอปะกัน (เชื่อว่าคือเมืองตังเกี๋ย) ได้ส่งน้องสาวสองคนกับบรรณาการมาถวายพระเจ้าปดุงเพื่อขออาสาตีกรุงเวียงจันทน์ เมืองเชียงใหม่ แต่อุบากองได้ทูลขอว่าจะส่งหนังสือมาถึงเจ้าพระยามหาโยธาก่อนเพื่อให้ปรึกษาอัครมหาเสนาบดีเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีต่อไป ทำให้พระเจ้าปดุงทรงห้ามทัพเมืองจอปะกันไว้ก่อน
เนื้อหาบางส่วนในหนังสืออุบากองส่งถึงเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) เมื่อ พ.ศ. 2345 ตีพิมพ์ในหนังสือ ‘ประวัติต้นสกุลคชเสนี’
เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มีหนังสือตอบกลับอุบากองไปใน พ.ศ. 2346 (ค.ศ. 1803) ความว่า พระยากาวิละแห่งเชียงใหม่แคลงใจไม่เชื่อว่าราชาจอมหงส์จะมาเจริญสัมพันธไมตรีจริง เพราะอังวะยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ เมืองนคร (ลำปาง) หลายครั้งแล้ว จึงให้จับตัวราชาจอมหงส์มาถาม ก็ได้ความว่าพระเจ้าปดุงสั่งให้มาตั้งมั่นที่เมืองสาดทำนาซ่องสุมผู้คน 2-3 ปีเพื่อให้มีเสบียงไปตีเมืองเชียงใหม่และกรุงเทพฯ แต่ที่อุบากองทูลห้ามไม่ให้พระเจ้าปดุงยกมาตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มีความยินดีนัก
ส่วนเรื่องที่อ้างว่าเมืองจอพะกันส่งน้องสาวไปพม่า เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้พระเจ้านำก๊ก (องเชียงสือ กษัตริย์เวียดนาม) ยกทัพไปตีเมืองเว้ เมืองจอพะกันแตก รวมถึงจับตัวเจ้าเมือง ขุนนางผู้ใหญ่ และญาติวงศ์เจ้าเมืองประหารหมดแล้ว “...ยังหลงพูดอยู่ฉะนี้เล่า ลุงมิรู้ที่จะเอาเนื้อความขึ้นกราบเรียนแก่ท่านอัครมหาเสนาธิบดีได้ แต่ทว่าคิดถึงคำหลานท่านที่ได้เจรจากันไว้ จึงเอาขึ้นกราบเรียนแก่ท่านอัครมหาเสนาบดี ๆ เห็นหนังสือก็ชวนกันยิ้มสรวลอยู่ แล้วว่าเหตุใดอุบากองไปถึงอังวะแล้วกลับมาว่าดังนี้เล่า ไม่รู้ที่จะนำเอาขึ้นบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ หนังสือมาถึงเจ้าพระยามหาโยธาก็ให้เจ้าพระยามหาโยธาตอบไปถึงหลานเถิด....”
สรุปคือฝ่ายไทยเห็นว่าหนังสือที่อุบากองส่งมาอ้างว่าพม่าต้องการเจริญสัมพันธไมตรีไม่น่าเชื่อถือ หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าอุบากองได้ติดต่อหรือยุ่งเกี่ยวกับเมืองไทยอีก
.
“อุบากอง” เป็นหนึ่งในเชลยเชื้อสายไทยที่สามารถก้าวหน้าขึ้นมามีตำแหน่งราชการในราชสำนักพม่าได้ นอกจากนี้ยังมีเชลยเชื้อสายไทยที่ได้รับราชการในพม่าอีกหลายคนเช่น “เยสิดอง” ปลัดทัพพม่าที่ถูกกองทัพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจับตัวในสงครามรบกับพม่าที่เชียงใหม่ใน พ.ศ. 2345 (ค.ศ. 1802) เยสิดองมีชื่อจริงว่า “มาก” เป็นลูกคนไทยอยุทธยา บิดามารดามีบ้านอยู่ที่บางกะจะริมวัดพนัญเชิง เมื่อเสียกรุงจึงตกไปเป็นเชลยให้พม่าใช้สอยคุ้นเคยจนมีตำแหน่ง ในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็มีชาวไทยอยุทธยาในราชสำนักพม่าคือ “สุริยนันทสูร” บุตรชายจมื่นเสมอใจราชหัวหมื่นมหาดเล็กครั้งกรุงเก่า กับพราหมณ์ชื่อ “สังฆรัน” ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตให้ถือหนังสือพระเจ้าอังวะเข้ามาเจรจาความเมืองกับไทย เป็นต้น
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2551). พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า. กรุงเทพฯ: มติชน.
- ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (2538). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับโรงเรียนสวนกุหลาบ. กรุงเทพฯ: แสงไทยการพิมพ์.
- ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (2504). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา.
- พงศาวดารมอญพม่า คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1. (2520). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพ: บริษัทประชาชน จำกัด.[พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์ตรีหลวงบริณัยจรรยาราษฎร์ (มณฑล คชเสนี) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พุทธศักราช 2520]
- พระคลัง (หน), เจ้าพระยา. (2562). ราชาธิราช. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (2548). กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, (บรรณาธิการ). (2545). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (นายต่อ, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มติชน.
- สุนทรพิทักษ์, พระยา. (2539, มกราคม). เพลงยาวพระยาสุนทรพิทักษ์. รวมบทความประวัติศาสตร์. 18, 33-38.
- ห้องโหรศรีมหาโพธิ์. (2535). ตำราพรหมชาติ ฉบับสมบูรณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: อำนวยสาส์น.
- อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ. (2547). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์.
- อุดมสมบัติ (จัน), หลวง. (2554). จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 9). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
ภาษาต่างประเทศ
- Phraison Salarak, Laung. (Tran.). (1911). I Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawi (concluded). Journal of the Siam Society. 13(1), 1-65.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ทางเฟซบุ๊กที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
ประวัติศาสตร์
บันทึก
8
4
7
8
4
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย