18 ก.พ. 2022 เวลา 07:37 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“มดลูก” เป็นสิ่งที่ถูกตีตรา ผูกติดกับผู้หญิง และการให้กำเนิดบุตรมาอย่างช้านาน ที่ได้สร้างวาทกรรมบทบาททางเพศต่าง ๆ ไม่ว่าจะผลักภาระ มองผู้หญิงให้เป็นเครื่องผลิตลูก ผูกติดการตั้งครรภ์ไว้แต่กับเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น แต่ถ้าในอนาคตมนุษย์นั้นไม่จำเป็นต้องใช้มดลูกเพื่อตั้งครรภ์อีกต่อไปล่ะ? มุมมองทางด้านสังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ หรือศีลธรรมจะถูกเปลี่ยนไปในทิศทางไหนบ้าง?
ในช่วงปี 70s นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นการทำเด็กหลอดแก้วได้สำเร็จ โดยนำอสุจิและเซลล์ไข่มาปฏิเสนธินอกร่างกาย และนำกลับเข้าไปให้เซลล์นั้นเจริญเติบโตในครรภ์ ทำให้มนุษย์สามารถให้กำเนิดทารกได้โดยที่ไม่ต้องมีเซ็กซ์ และสามารถนำไข่ที่ผสมแล้วไปให้คนอื่นอุ้มบุญแทนได้ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีการให้กำเนิดที่สร้างการถกเถียงในช่วงนั้น
แต่ปัจจุบันก็มีคนทำเด็กหลอดแก้วกันอย่างแพร่หลาย และดูเหมือนว่าในอนาคต เทคโนโลยีนี้ ก็อาจกำลังพัฒนาไปถึงขั้นที่ตัวอ่อนนั้นสามารถเติบโตนอกมดลูกตลอดระยะเวลา 9 เดือนได้ในอีกไม่นาน
อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง BBC ได้ปล่อยสารคดีชื่อว่า ‘What if women never had to give birth again?’ (จะเป็นอย่างไรถ้าผู้หญิงไม่ต้องคลอดบุตรอีกต่อไป?) ที่เป็นการนำผู้คนจากหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นนักเขียน อาจารย์ด้านชีวการแพทย์ ชีวจริยธรรม มาพูดคุยถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘มดลูกเทียม’ (Artificial Womb) ที่จะทำให้การให้กำเนิดมนุษย์นั้น มีการพัฒนาเติบโตภายนอกครรภ์ทั้งหมด ไม่มีการฉีดกลับเข้าไปเพื่อให้เติบโตในท้องเหมือนการทำเด็กหลอดแก้ว
แต่เดิมแล้ว ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (Preterm Baby) จำเป็นที่ต้องเข้าตู้อบ ที่มีสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้นที่ใกล้เคียงกับในร่างกายของผู้ให้กำเนิด เพื่อควบคุมอุณหภูมิของทารกแรกเกิดให้มีร่างกายแข็งแรงตามเกณฑ์ ซึ่งใน 1 ปีเฉลี่ยมีเด็กคลอดก่อนกำหนดถึง 15 ล้านคน แต่มีเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่รอดชีวิต
‘​​Frans N. van de Vosse’ อาจารย์วิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้บอกในสารคดีว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมดลูกเทียมนี้ ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลทารกที่คลอดเร็วก่อนกำหนดเป็นเวลานาน ที่อวัยวะภายในบางจุด (อย่างเช่นปอด) ยังไม่ได้พัฒนามากนักทำให้ไม่สามารถเข้าตู้อบได้ โดยเด็กทารกเหล่านั้นจะถูกนำไปรักษาพักฟื้นในมดลูกเทียมที่ว่าแทน
เทคโนโลยีนี้เคยทำสำเร็จมาแล้วกับแกะและกระต่ายแรกเกิด โดยการต่อท่อเข้ากับสายสะดือของสัตว์เหล่านั้น เพื่อเปลี่ยนทิศทางการหมุนเวียนของเลือด ทำให้สามารถทำการแลกเปลี่ยนอากาศในตัวของทารกได้ แทนปอดที่ยังไม่พัฒนา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าอย่างน้อยในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะมีโอกาสที่ได้พัฒนาการทดลองนี้กับมนุษย์
นอกจากจะสามารถช่วยเหลือทารกที่คลอดก่อนกำหนดแล้ว ‘Helen Sedgwick’ นักเขียนสายฟิคชันวิทยาศาสตร์ก็ได้บอกว่า มันจะเป็นการพลิกโฉมการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรแบบดั้งเดิมอีกด้วย เพราะทารกจะไม่ได้ออกมาจากครรภ์ของผู้ที่มีมดลูกอีกต่อไป ทุกคนจะสามารถมีลูกได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเซ็กซ์ หรือไม่ต้องตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ
“คนที่มีมดลูกนั้นถูกคาดหวังให้เป็นฝ่ายตั้งครรภ์อยู่แล้ว ถ้ามดลูกเทียมนี้สามารถใช้ได้จริงกับทุกคน ใช่ ฉันว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลงในบทบาททางเพศได้ ในทางหนึ่งเราอาจได้เห็นความลื่นไหลที่มากขึ้น แต่ฉันก็คิดว่ามันเป็นไปได้ที่เราจะเห็นมันเปลี่ยนไปในอีกทางหนึ่งเลย”
“เรายังอยู่ในสังคมที่ผู้หญิงนั้นถูกกดดันให้เป็นไปตามค่านิยมและความคาดหวังที่สังคมสร้างไว้ แต่สิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ นั้นไม่ใช่เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์หรอก แต่มันคือสิ่งที่สังคมจะตอบรับกับเทคโนโลยีนี้ต่างหาก” - นี่คือเสียงของ ‘Anna Smajdor’ ศาสตราจารย์สาขาชีวจริยธรรม
สารคดีเรื่องนี้ชวนให้เราคิดต่อว่า ในอนาคต ถ้ามดลูกเทียมเกิดขึ้นได้จริง นอกจากทารกที่คลอดก่อนกำหนดอีกหลายคนได้มีชีวิตอยู่ต่อแล้ว การตั้งครรภ์โดยใช้มดลูกเทียมจะมีประโยชน์ หรือถูกควบคุมไปในทิศทางไหน? ใครจะสามารถเข้าถึงได้บ้าง? และอุปทานในด้านการดูแลสุขภาพร่างกายของผู้ตั้งครรภ์จะเป็นอย่างไร? ถ้ามีผู้ตั้งครรภ์น้อยลงในอนาคต
ตลอดจนในเรื่องของการนิยามเพศของความเป็นชายหญิง ที่อาจจะถูกสั่นคลอนเนื่องจากการตั้งครรภ์นั้นไม่ได้ถูกผูกติดไว้กับผู้หญิง หรือผู้ที่มีมดลูกอีกต่อไป เพราะจะไม่มีเพศไหนถูกผลักภาระให้ตั้งครรภ์อีก สำหรับใครที่สนใจศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม สามารถดูสารคดีนี้ได้ที่: https://bbc.in/3sLGF9g
#ArtificialWomb
#GenderRole #Bioethics
#Technology #BBCNews
#Posthumanism #Transhumanism
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
อ้างอิง
Helensedgwick: https://bit.ly/3HXEshn
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
โฆษณา