Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THANAKORN
•
ติดตาม
18 ก.พ. 2022 เวลา 08:17 • ประวัติศาสตร์
ปลายปี พ.ศ. 2445 พัสดุกล่องหนึ่งถูกส่งมาจากเมืองโอเดนส์ ประเทศเดนมาร์ก ถึงท่าเรือเมืองสยาม โดยเรือของบริษัทอีสต์เอเชียติก
ภายในกล่องเป็นโกโก้ยี่ห้อ Van Houten หก กระป๋อง และรองเท้าบูตหนังใหม่หนึ่งคู่
ชื่อผู้รับคือ
ฮันส์ มาร์กวาร์ด เจนเซน
(Hans Markvard Jensen)
ส่งมาจากครอบครัวของเขา
ปีนั้น ฮันส์ เจนเซน อายุ 24
เขามาอยู่ในเมืองสยามแล้วสองปี ทำงานเป็นตำรวจไทย
ชาวเดนมาร์กเป็นตำรวจไทย? ใช่เรื่องอำหรือไม่?
…………………
ฮันส์ มาร์กวาร์ด เจนเซน เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2421 ณ Vindegade 54, Sct. Knuds Parish เมืองโอเดนส์ ประเทศเดนมาร์ก
Vindegade เป็นย่านเก่าแก่ในเมือง ใกล้สถานที่เกิดของนักเล่านิทาน ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน
บิดาของฮันส์เป็นช่างไม้ มารดาเป็นแม่บ้าน มีพี่สาวหนึ่งคน ที่กรุงโคเปนเฮเกน เขาเป็นร้อยตรีใน The Royal Life Guards เขายังดำรงสถานะ E.K 3a (egnet for krigstjeneste) หมายถึงพร้อมรับราชการสงคราม
และเขาก็เข้าสู่สงคราม ไม่ใช่ในยุโรป แต่ในประเทศที่ตนไม่รู้จักมาก่อน
ประเทศสยาม
เวลานั้นสยามประเทศกำลังพัฒนาในทุกด้าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพัฒนากิจการตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาค โดยได้ชาวเดนมาร์กมาช่วย ได้แก่ นาย เอ. เย. ยาดิน (A. J. Jardine) และนายกุสตาฟ เชา (Gustav Schau) หรือ ยี. เชา (G. Schau) ก่อตั้งตำรวจภูธรขึ้นในปี พ.ศ. 2419 กรมตำรวจเวลานั้นจึงมีชาวเดนมาร์กหลายคน
ทำไมรัชกาลที่ 5 ทรงใช้ชาวเดนมาร์ก?
คำตอบคือ พระองค์ทรงกำลังพัฒนาชาติ และลำพังคนไทยไม่สามารถทำเอง ต้องพึ่งเทคโนโลยีของฝรั่ง ทว่าเวลานั้นประเทศรอบสยามกลายเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส หากพึ่งประเทศนักล่าอาณานิคม สยามอาจตกเป็นเมืองขึ้นชาติอื่นได้ จึงต้องอาศัยชาติยุโรปเล็กๆ ที่เป็นกลาง หรือไม่มีความอยากได้ไทยเป็นอาณานิคม หนึ่งในนั้นก็คือเดนมาร์ก
ด้วยเหตุนี้แม่ทัพเรือคนหนึ่งของกองทัพเรือสยามจึงเป็นชาวเดนมาร์กชื่อ Andreas Richelieu อธิบดีกรมตำรวจภูธรคนแรกก็เป็นชาวเดนมาร์กชื่อนายกุสตาฟ เชา (Gustav Schau) หรือ ยี. เชา ต่อมาได้รับยศเป็น พล.ต. พระยาวาสุเทพ
ในปี พ.ศ. 2440 ประเทศสยามก่อตั้งกรมตำรวจภูธรแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง โดยนาย ยี. เชา (พลตรีพระยาวาสุเทพ) รับตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจภูธร เป็นอธิบดีกรมตำรวจภูธรคนแรกในประเทศไทย
สามปีต่อมา ฮันส์ในวัย 22 ได้รับการชักชวนจากพระยาวาสุเทพให้เข้ารับราชการในกรมตำรวจ ในหน้าที่ที่เรียกว่า ‘Gendarmerie’ คือทหารที่ทำหน้าที่ตำรวจ ยศร้อยตรี ประจำการที่นครราชสีมา ต่อมาย้ายไปที่ปราจีนบุรี อยุธยา และในต้นปี 2445 ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก เป็นครูฝึกตำรวจภูธรที่เชียงใหม่
ฮันส์ เจนเซน ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ว่าไปประจำที่จังหวัดใด ข้าวของเครื่องใช้มีเพียงมุ้งหนึ่งหลัง เต็นท์ เตาถ่าน โต๊ะ และข้าวของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ไม่มีของมีค่าใดๆ
…………………
เวลานั้นรัฐสยามแทบไม่มีความสามารถควบคุมสถานการณ์ทางภาคเหนือ เพราะพื้นที่ต่างๆ ทางเหนือยังไม่รวมเป็นของสยามเต็มตัว แม้รัฐเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ผูกกับรัฐสยามส่วนกลางโดยแต่ละจังหวัดมีผู้แทนพระองค์
นอกจากนี้ชาวฉาน (หรือ เงี้ยว) มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ทางการสยามเนืองๆ ในที่สุดพวกฉานก็ยกกำลังบุกเมืองแพร่ ฆ่าเจ้าเมืองและข้าราชการหลายสิบคน ยึดอาวุธได้ หลังจากนั้นก็ยกกำลังไปตีลำปาง
ยามนั้นพม่าอยู่ในความปกครองของอังกฤษ ชาวฉานหรือเงี้ยวจึงเป็นคนของอังกฤษ หากการรุกของเงี้ยวสำเร็จ อาจหมายถึงการเข้ามาของกำลังอังกฤษเพื่อครองภาคเหนือของสยาม ดังนั้นการปราบกบฏเงี้ยวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำโดยระมัดระวัง
ต้นเดือนสิงหาคม 2445 มีข่าวพวกเงี้ยวยกกำลังเข้าตีนครลำปาง ร.อ. ฮันส์ เจนเซน ที่เวลานั้นเพิ่งถูกส่งมาจากเชียงใหม่ประจำที่ลำปาง กับ ร.ท. ชุ่ม คุมกำลังทหาร 54 นายไปดูแลสถานการณ์ที่ลำปาง
อรุณรุ่งวันที่ 4 สิงหาคม 2445 ฝ่ายเงี้ยวก็บุก ทหารตำรวจหลายคนหนีตาย แต่ ร.อ. ฮันส์ เจนเซน ยืนหยัดนำกำลังที่เหลือสู้ รบทั้งกลางวันและกลางคืน ป้องกันเมืองอย่างเต็มที่
การรบกินเวลาหลายวัน หัวหน้ากลุ่มเงี้ยวถึงแก่ความตาย ที่เหลือหนีไป ป้องกันนครลำปางไว้ได้
ครั้นถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2445 ร.อ. ฮันส์ เจนเซน ตัดสินใจตามล่าฝ่ายกบฏที่หนีไปทางจำหวัดแพร่ คุมกำลังตำรวจและทหาร
คืนนั้นขณะที่กำลังทหารนอนหลับ ร.อ. ฮันส์ เจนเซน กับ ร.ท. ชุ่ม พร้อมตำรวจ 23 นาย เดินหน้าไปก่อน เช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคมที่บ้านแม่กาท่าข้าม เมืองพะเยา พวกเขาก็ตกในวงล้อมข้าศึก มีพวกเงี้ยวจากลาวมาเสริม ฝ่ายตรงข้ามยิงกระหน่ำต่อเนื่อง ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือด
ร.อ. ฮันส์ เจนเซน หลบอยู่หลังต้นไม้ขณะยิงสู้กับกบฏ ถูกยิงที่หน้าอกสามนัด ถึงแก่ความตาย กำลังของเขาถอยกลับ
…………………
ร.อ. ฮันส์ เจนเซน เสียชีวิตในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2445 ขณะที่เรือของบริษัทอีสต์เอเชียติกลำหนึ่งแล่นจากเมืองโอเดนส์ เดนมาร์ก มุ่งหน้าสู๋ท่าเรือเมืองบางกอก ส่งพัสดุชิ้นหนึ่งถึงเขา
หนึ่งเดือนต่อมา พัสดุกล่องนั้นก็ถึงจุดหมาย
เจ้าหน้าที่บริษัทซึ่งรู้ข่าวความตายของบุคคลผู้มีชื่อบนห่อส่งพัสดุชิ้นนั้นต่อไปให้สถานกงสุลเดนมาร์กในสยาม
เมื่อเปิดห่อ พบว่าภายในเป็นโกโก้ยี่ห้อ Van Hoyten หกกระป๋อง และรองเท้าบูตหนังใหม่หนึ่งคู่ เป็นข้าวของที่นางมารี เจนเซน มารดาส่งให้บุตรรัก แต่มันไปไม่ถึงมือลูก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปการะ มารดาของฮันส์ไปตลอดชีวิต รัฐบาลไทยส่งเงินค่าดูแลให้นางมารี เจนเซน ปีละสามพันบาท จนนางเสียชีวิตในปี 2479
ที่จังหวัดพะเยา ณ จุดที่ตำรวจไทยชาวเดนมาร์กเสียชีวิต ทางการได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ ป้ายสีน้ำตาลตัวหนังสือสีขาวเขียนว่า ‘นายร้อยเอก แฮนส์ มากว๊อร์ต เย็นเซ่น’
เชิดชูวีรกรรมและรำลึกถึงตำรวจหนุ่มชาวเดนมาร์กผู้ตายในต่างแดน ต่อสู้เพื่อประเทศที่เขาไม่รู้จักมาก่อน.
วินทร์ เลียววาริณ
https://www.facebook.com/1501588676783760/posts/2247385568870730/
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย