18 ก.พ. 2022 เวลา 14:22 • หนังสือ
เมื่อองค์ความรู้ในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ คือ การตั้งคำถาม กับความรู้และความเชื่อที่เรายึดถือมา
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมนุษย์ชื่นชอบความรู้สึกที่คิดว่าตนเองถูก มากกว่าการรู้ว่าสิ่งที่ตนเองคิดนั้นถูกต้องแล้วจริงหรือไม่
โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เรามักมีกรอบความคิดที่ไม่เอื้อให้เราตั้งข้อสงสัยกับความรู้และความเชื่อของตนเอง เพื่อปรับกระบวนคิดใหม่อยู่เสมอ ซึ่งอดัม แกรนต์ ได้แบ่งวิธีการคิดของมนุษย์ทั่วไปออกเป็น 3 ประเภท
1. การคิดแบบนักเทศน์ (preacher) : กระบวนการคิดที่เชื่อมั่นว่าความเชื่อที่ตัวเองยึดถือนั้นคือความจริงสูงสุดที่ไม่อาจปฏิเสธได้และพร้อมปกป้องความเชื่อของตัวเองอย่างแรงกล้า
2. การคิดแบบทนายความ (prosecutor) : กระบวนการคิดที่พุ่งเป้าไปที่การหาข้อโต้แย้งเพื่อล้มล้างและเอาชนะความคิดของผู้อื่นดั่งทนายที่ชนะคดีด้วยการโจมตีจุดอ่อนของอีกฝ่าย
3. การคิดแบบนักการเมือง (politician) : กระบวนการคิดที่พุ่งเป้าไปที่การหาเสียงด้วยการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้คนเชื่อและอยู่ฝ่ายเดียวกันดั่งเช่นนักการเมืองทั้งหลาย
โดยในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน พวกเรามักจะเปลี่ยนกระบวนการคิดและเลือกใช้ความคิดแบบพระนักเทศน์ ทนายความและนักการเมืองตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
แต่คนส่วนใหญ่มักลืมกรอบความคิดอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุดในยุคสมัยนี้อย่าง “การคิดแบบนักวิทยาศาสตร์”
การคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ (scientist) เป็นกระบวนการคิดที่ยึดมั่นในการ “ตามหาความจริง” ด้วยหลักการของเหตุผล มีความสงสัยใคร่รู้อยู่ตลอดเวลาและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเองอย่างยืดหยุ่นตามหลักฐานและองค์ความรู้ล่าสุดโดยไม่มีความลำเอียง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้สิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำคือ การนำหลักคิดแบบนักวิทยาศาสตร์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด โดยเริ่มต้นจากการถ่อมตน คือ การยอมรับว่าตนเองไม่รู้อะไร เพื่อนำไปสู่การค้นคว้า และทดลอง เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเปิดใจเพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนความคิดใหม่ที่เกิดจากการรับผิดชอบของตัวเราเอง
✏️อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ : Think Again
✏️ผู้เขียน : Adam Grant
✏️สรุปและเรียบเรียงเนื้อหาโดยเพจ : ผิดเป็นครู
โฆษณา